สารส่องใจ Enlightenment

วิปัสสนา



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย




วันนี้จะเทศน์ถึงเรื่องการทำกัมมัฏฐาน มี ๒ อย่าง ได้แก่ สมถะและวิปัสสนา
สมถะ คือ การทำความสงบ
วิปัสสนา คือ การรู้แจ้ง



โดยส่วนมากพูดแต่เรื่องสมถะ
เนื่องจากพื้นฐานความสงบ มันยังไม่ทันมี จึงพูดเรื่องการทำความสงบมาก
เลยไม่ค่อยพูดถึงเรื่องวิปัสสนา วันนี้จะพูดถึงเรื่องวิปัสสนา



วิปัสสนา มีอาวุธอยู่ ๓ ประการ สำหรับประหัตประหารข้าศึกคือกองกิเลส
เรารู้ เราดู เราเห็น เราได้ยินได้ฟังต่างๆ ทั้งหลายทั้งหมด
ที่มันส่งส่ายออกไปตามอารมณ์ เรียกว่า อารมณ์ของจิต
ต้องใช้อาวุธ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๓ อย่างนี่แหละ เป็นเครื่องฟาดฟันประหัตประหาร
สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็จะหายไปหรือจะระงับไป



ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น อนิจจัง อยู่แล้ว ทุกขัง อนัตตา ก็เป็นอยู่
ตัวของเรานี่แหละไม่ต้องเอาอื่นไกล
ครั้นพูดถึงเรื่องกัมมัฏฐาน ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นไกล พูดเฉพาะในตัวของเราทั้งนั้น
พูดไปไหนๆ ก็ไม่หนีไปจากตัวของเรา
อย่างเช่นตัวเรานั่น แท้ที่จริงมันเป็น อนิจจัง อยู่ในตัว ตั้งแต่เกิดมามันก็แก่มาโดยลำดับ
แล้วมันเปลี่ยนแปลงสภาพไป เป็นของที่ไม่เที่ยง ไม่ถาวรตลอดกาล
มันแปรสภาพทรุดโทรมไปโดยลำดับนั่นแหละเรียกว่า อนิจจัง



ทุกขัง ก็เพราะของไม่เที่ยงนั่นแหละ
มีการเจ็บการปวดไม่สบาย เป็นไข้เป็นหนาว เจ็บศีรษะปวดท้องด้วยประการต่างๆ
ก็เพราะมันไม่เที่ยงนั่นเอง มันจึงเป็นอย่างนั้น มันแปรปรวนอยู่เสมอ
ทุกขัง แปลว่า ทนได้ยาก คือต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ด้วยประการต่างๆ เรียกว่า ทุกขัง



อนัตตา ของไม่ใช่ของเรา มันหากเป็นอยู่อย่างนั้น แต่ไหนแต่ไรมา
ตั้งแต่เรายังไม่เกิดก็เป็นอยู่อย่างนั้น เราตายไปแล้วก็เป็นอยู่อย่างนั้น
สภาพของโลกมันเป็นอยู่อย่างนั้น ถ้ามีโลกก็เป็นอนัตตา
ที่เราถืออัตตา คือเราไปถือตนถือตัวเลยเป็นอัตตา อัตตาก็เลยเป็นทุกข์
ถืออันใดเป็นทุกข์อันนั้น ถ้าไม่ยึดถือปล่อยตามเรื่อง มันก็เป็นสภาพตามเป็นจริงของมัน



จึงว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้แหละ เป็นจริงอยู่แล้วทุกประการ
เป็นสภาพอย่างนั้นตลอดกาลเวลา แต่เรานั้นไม่เห็นตามจริง
จึงมาทำภาวนาให้ถึงความสงบ แล้วจึงเห็นของเหล่านั้นตามเป็นจริง



ครั้นความสงบไม่มี มันส่งส่ายออกไปภายนอก ไม่เห็นเฉพาะภายในตัวเรา
ส่งส่ายไปเห็นของไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง อะไรๆ ทั้งหมดอยากจะให้เที่ยง
ทุกสิ่งทุกอย่างรูปร่างอัตภาพของตน ก็อยากจะให้เที่ยงอยู่อย่างนั้น
แล้วสมบัติภายนอกนอกจากตัวของเราก็อยากจะให้เที่ยงอยู่อย่างนั้น
นั่นแหละมันกลบของไม่เที่ยงไว้หมด



ของเที่ยงมันกลบของไม่เที่ยง แต่มันก็ไม่เป็นไปตามความอยากนั้น มันเลยทุกข์
คิดว่าจะให้เที่ยงมันเลยเป็นทุกข์ ทุกข์ใหญ่ไปกว่าเก่า
หากพอเห็นของไม่เที่ยงแล้วปล่อยตามเรื่อง
ทุกข์อันนั้นก็เห็นตามเรื่องตามสภาพของมัน อนัตตาก็เลยเกิดมีขึ้นในตัวเรา



เราไม่เห็นสภาพตามเป็นจริง นี่เพราะอะไร?
เพราะจิตใจของเราไปยึดอย่างเดียวไม่ใช่อื่นไกล
จึงมาตั้งใจกำหนดจิตตัวนี้แหละ ให้มันอยู่คงที่เสีย
เมื่ออยู่คงที่แล้ว จะเห็นสิ่งทั้งหลายนั้นตามสภาพเป็นจริง


ครูบาอาจารย์อธิบายให้ฟังก็ดี หรือจากตำรับตำราก็ดี
ได้ฟังมากมาย ถ้าไม่เห็นด้วยใจของตนเองแล้ว ก็จะไม่รู้สึกตัวขึ้นได้
พอมีความสงบอยู่คงที่เท่านั้น ก็รู้เห็นปรากฏขึ้นมาในตน
โอ้โห! ท่านพูดนักหนาว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันอยู่ตรงนี้เอง! อยู่ใกล้ๆ นี่เอง!
ไม่ใช่อยู่ที่ไหนหรอก อยู่ตรงนี้เอง เกิดความรู้ขึ้นมาเฉพาะของตน
ก็ไม่ใช่รู้อื่นไกลหรอก รู้อันนี้แหละ พูดก็พูดของอันนี้แหละ



เมื่อทำสมาธิแน่วแน่ลงไป โดยตั้งสติกำหนดจิตไว้ที่ใจแน่วแน่แล้ว
เห็นจิตตั้งหลักมั่น จับหลักจิตนั้นให้ได้ ให้มั่นคงเป็นสมาธิ
ทีนี้จิตนั้นมันอาจส่งส่ายด้วยประการต่างๆ
เราก็เอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่แหละฟาดฟันลงไป
สิ่งเหล่านั้นก็จะสงบระงับ จิตเข้ามาตั้งอยู่ที่ใจอันเดียว
เรียกว่ามีอาวุธครบในตัวของเรา



จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็อย่างเดียวกัน อิริยาบถใดๆ ก็อย่างเดียวกัน
เรียกว่า "เห็นตามเป็นจริง"
ของที่มีอยู่ทั่วไปในโลกอันนี้นั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันหมด เอาอันนี้แหละฟาดฟันลงไป
ครั้นจิตมันส่งส่ายไปยังของทั้งหลายในโลกอันนี้ ก็เอาสติควบคุมจิต
แล้วเอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฟาดฟัน
อันที่ส่งส่ายก็จะหายไป จะสงบลงไป จิตก็จะตั้งมั่นเข้า



เมื่อทำทีแรกยังไม่ทันจะชำนิชำนาญ ก็หัดทำสมาธิให้แก่กล้า พิจารณาอยู่อย่างนี้
โดยเบื้องต้นอนุโลมเสียก่อน อนุโลมให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แต่เมื่อชำนาญแล้ว คือทำสติแน่วแน่อยู่ที่เดียวแล้ว
โดยไม่ตั้งใจให้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แต่หากมันเกิดขึ้นเองเป็นเอง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันต้องเกิด



วิธีฝึกหัดกัมมัฏฐานก็มีเพียงแค่นี้ ไม่ใช่อื่นไกลอะไร
หัดสติให้แน่วแน่ ทำสมาธิให้มั่นคง คือ สติคุมจิตอยู่แน่วแน่แล้ว สมาธิก็มั่นคง
แล้วก็เกิดอุบายปัญญา วิปัสสนาก็เกิดขึ้น
ลงสภาวะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างราบเรียบหมด ไม่มีอะไรเหลือ
มนุษย์ เทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม เหมือนกันทั้งนั้น
คนมีคนจนเหมือนกันทั้งนั้น ไม่มีแตกต่างกันเลย
นั่นแหละเรียกวิปัสสนา เราควรที่จะบำเพ็ญด้วยประการอย่างนี้

เอาละ


นั่งสมาธิ
(พระอาจารย์อบรมนำก่อน)


การหัดสมาธิภาวนา นั่งขัดสมาธิขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
หรือจะนั่งพับเพียบ เอาตามความสะดวก
แล้วกำหนดจิตบริกรรมว่า "พุทโธ" ไม่ให้ยึดสิ่งใด ยึดพุทโธอันเดียวไว้ที่ใจ



"ใจ" หมายความถึงตรงกลาง ตรงกลางอก
ไม่ต้องไปเอาที่อื่น "ใจ" คือตรงนั้น เอาพุทโธมาไว้ที่นั่น ไม่คิดส่งไปทางไหน
มันจะคิดไปทางไหนก็ดึงคืนมา มันคิดไปหน้าไปหลังก็ดึงขึ้นมา
ให้มาอยู่ในแห่งเดียวนั้น



อย่างนี้เรียกว่า ผจญต่อสู้เรื่องกิเลส
ในใจของเรามันเที่ยวไปไม่มีที่สิ้นสุด ตั้งแต่เกิดจนวันตาย มันก็ไม่หยุดอยู่สักที
ถ้าเราไม่หัดอย่างนี้ มันก็ไม่มีเวลาจะหยุด



ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ท่านหัดใจให้อยู่ในอำนาจของท่าน ไม่ให้มันส่งส่ายไปมา
เมื่ออยู่คงที่มันก็เกิดความสุขขึ้น
ที่จิตไม่ได้อยู่ในอำนาจของตน มันพาให้ดิ้นรนเดือดร้อน
พาให้ทุกข์พาให้โศกเศร้าเสียใจ พาให้โกรธให้เกลียด ให้เดือดร้อนวุ่นวาย
ก็เพราะมันห้ามจิตไม่ได้ ถ้าห้ามได้แล้ว ไม่ให้เป็นอย่างนั้น มันก็อยู่เป็นสุข


ความสุขที่มีเงินทองข้าวของสมบัติ ส่งออกไปภายนอก
เมื่อของเหล่านั้นหายไป ก็ต้องเดือดร้อนไปตามมัน
ส่วนความสุขภายในใจของเรา คือความสงบแล้ว
ไม่ได้ส่งไปตามของทั้งหลายเหล่านั้น
ของเหล่านั้นฉิบหายไปเสื่อมสูญไป เป็นอันตรายไป
ใจของเราก็ไม่เป็นตาม จึงได้รับความสุข



สุขอะไรเสมอด้วยความสงบไม่มี


เหตุนั้นเอาใจไว้ที่พุทโธอันเดียว ให้เห็นใจของตนอยู่ทุกขณะ
อันนี้เราเรียกว่าหัดสมาธิภาวนา
เมื่อเราหัดนั่งได้แล้ว เราจะยืน จะเดินก็ได้ เราจะนอนก็ได้
เวลานอนก่อนที่จะหลับ หัดสมาธิให้แน่วแน่ หลับไปก็ไม่มีฝัน ไม่เป็นทุกข์
หลับง่าย ตื่นเร็ว แล้วก็ไม่อ่อนเพลีย



ถ้าหากเราไม่หัดใจของเรา ก็หมดเรื่อง ไม่มีใครหัดให้
เราหัดได้แล้วก็เป็นของส่วนตัว คนอื่นหัดก็เป็นของคนอื่น
อันนี้ก็เป็นกิจส่วนตัวที่จะต้องทำ
เราทำอะไรลงไป มันเป็นประโยชน์เพื่อโลก เพื่อแผ่นดิน
คือว่าทำมากินก็เพื่อโลก เพื่อแผ่นดิน



โลกก็คือตัวของเรา แผ่นดินก็คือตัวของเรา
เอาดินมาหล่อเลี้ยงดิน เอาก้อนอิฐก้อนดินมาเติมให้ก้อนดินก้อนนี้เติบโตขึ้น
มันค่อยโตขึ้นโตขึ้น นานหนักเข้าก้อนดินอันนี้มันก็เหี่ยวแห้งเสื่อมโทรมไป
เติมเข้าไปเท่าไรมันก็ไม่โตขึ้นมาอีกสักที แล้วผลที่สุดก็ดับสลายเสื่อมสูญไป



เมื่อกายดับสูญไปแล้ว ใจมันยังมีกิเลสวุ่นวายอยู่ มันไม่สงบ มันก็มาเกิดอีก
ยังมิหนำซ้ำอาจจะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรตอสุรกาย
ร้อยแปดพันประการ แล้วแต่มันจะเกิด
ได้เกิดมาเป็นมนุษย์อย่าเพิ่งดีใจว่าเราเป็นมนุษย์อยู่ร่ำไป
มันสามารถที่จะพลัดโผไปเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ เป็นเปรตอสุรกายก็ได้



ครั้นเป็นเปรตอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว มันนับภพนับชาติไม่ถ้วน
ก็ดูซิ สุนัขสุกรนั่นน่ะ มันจะได้ทำบุญทำกุศลอะไร
มันจะยิ่งต่ำเลวทรามลงไปยิ่งกว่านั้นอีก
เกิดมาเป็นสุกรแล้วมันก็ติดลูก ติดพ่อ ติดแม่มันอยู่นั่นแหละ ตายแล้วก็มาเกิดอีกที
มาเกิดเป็นสัตว์แต่ละครั้งละทีนี่ตั้ง ๕๐๐ ชาติก็ยังไม่พ้นจากการเป็นสัตว์นั้น
มันจะพ้นได้อย่างไร
? มันไม่ได้ทำดิบทำดีอะไร


เราเป็นมนุษย์ควรที่จะแสวงหาคุณธรรม
ควรที่จะทำตัวของเราให้เป็นมนุษย์อันสูงสุด เป็นเทวดาเป็นพรหมขึ้นไป
โดยการหัดสมาธิให้เกิดหิริโอตตัปปะ ความละอายบาป กลัวบาป งดเว้นจากความชั่ว
อันนี้แหละเป็นสิ่งที่เราควรจะทำ ควรทำอย่างยิ่ง ไม่ทำก็ไม่มีใครทำให้


เอาละ ทำ นั่งสมาธิ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา “วิปัสสนา” ใน พระธรรมเทศนาของพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
(พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี) บุญศิริการพิมพ์.
,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๓.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP