ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

สมาทปกสูตร ว่าด้วยฐานะ ๓ อย่าง


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๑๕] ครั้งนั้นท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ครั้นแล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า
อานนท์เธอทั้งหลายจะพึงเอ็นดูบุคคลใด
และบุคคลเหล่าใด เป็นมิตร อำมาตย์ญาติหรือ สาโลหิต
พึงสำคัญถ้อยคำที่ควรเชื่อฟังบุคคลเหล่านั้น
เธอทั้งหลายพึงชักชวนบุคคลเหล่านั้นให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในสถาน ๓
เถิด
ในสถานอะไรบ้างคือพึงชักชวนให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่
ในความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นพระสุคต รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีสารถีอื่นยิ่งกว่า
เป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ดังนี้


พึงชักชวนให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว
ในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้


พึงชักชวนให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว
ในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง ปฏิบัติสมควร
ได้แก่ พระอริยบุคคล ๔ คู่ เป็นพระอริยบุคคล ๘
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ เป็นผู้ควรสักการะที่เขานำมาบูชา
เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรทักษิณาทาน เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม
เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้


อานนท์ความเป็นอย่างอื่นของมหาภูตรูป
คือปฐวีธาตุอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุพึงมีได้
ส่วนความเป็นอย่างอื่นของพระอริยสาวกผู้ถึงพร้อม
ด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าไม่พึงมีเลย
นี้คือความเป็นอย่างอื่นในข้อนั้น
ส่วนข้อที่พระอริยสาวกผู้ถึงพร้อมด้วยความเลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าแล้ว จักเข้าถึงนรก
กำเนิดเดียรัจฉาน หรือเปตติวิสัย นั่นมิใช่ฐานจะที่จะมีได้


อานนท์ความเป็นอย่างอื่นของมหาภูตรูป
คือปฐวีธาตุอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุพึงมีได้
ส่วนความเป็นอย่างอื่นของพระอริยสาวกผู้ถึงพร้อม
ด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมไม่พึงมีเลย
นี้คือความเป็นอย่างอื่นในข้อนั้น
ส่วนข้อที่พระอริยสาวกผู้ถึงพร้อมด้วยความเลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวในพระธรรมแล้ว จักเข้าถึงนรก
กำเนิดเดียรัจฉาน หรือเปตตวิสัย นั่นมิใช่ฐานจะที่จะมีได้


อานนท์ความเป็นอย่างอื่นของมหาภูตรูป
คือปฐวีธาตุอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุพึงมีได้
ส่วนความเป็นอย่างอื่นของพระอริยสาวกผู้ถึงพร้อมด้วย
ด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ไม่พึงมีเลย
นี้คือความเป็นอย่างอื่นในข้อนั้น
ส่วนข้อที่พระอริยสาวกผู้ถึงพร้อมด้วยความเลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์แล้ว จักเข้าถึงนรก

กำเนิดเดียรัจฉาน หรือเปตตวิสัย (อย่างใดอย่างหนึ่ง) นั่นมิใช่ฐานจะที่จะมีได้


อานนท์เธอทั้งหลายอนุเคราะห์บุคคลเหล่าใด
และบุคคลเหล่าใด เป็นมิตร อำมาตย์ญาติ หรือสาโลหิตก็ตาม
พึงสำคัญถ้อยคำที่ควรเชื่อฟังบุคคลเหล่านั้น
อันเธอทั้งหลายพึงชักชวนให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในสถาน ๓
นี้เถิด


สมาทปกสูตร จบ



(สมาทปกสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP