ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑ หมวดว่าด้วยคู่แห่งความดีและความชั่ว


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



. ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นสภาพถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ
ถ้าบุคคลมีใจร้ายแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี
ทุกข์ย่อมไปตามเขาเพราะเหตุนั้น
ดุจล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคตัวนำแอกไปอยู่ฉะนั้น.


. ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นสภาพถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ
ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี
ความสุขย่อมไปตามเขาเพราะเหตุนั้น
เหมือนเงาไปตามตัวฉะนั้น.


. ก็ชนเหล่าใดเข้าไปผูกความโกรธนั้นว่า
ผู้โน้นได้ด่าเรา ผู้โน้นได้ตีเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว
เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่ระงับได้
ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า
ผู้โน้นได้ด่าเรา ผู้โน้นได้ตีเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว
เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับได้.


. ในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย
ก็แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า.


. ก็ชนเหล่าอื่นไม่รู้ว่า พวกเราพากันย่อยยับอยู่ในท่ามกลางสงฆ์นี้
ฝ่ายชนเหล่าใดในสงฆ์นั้นย่อมรู้ชัด ความหมายมั่น (การทะเลาะ) กันและกัน
ย่อมสงบ เพราะการปฏิบัติ (ความรู้) ของชนพวกนั้น.


. ผู้ตามเห็นอารมณ์ว่างามอยู่ ไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย
ไม่รู้ประมาณในโภชนะ เกียจคร้าน มีความเพียรเลวทรามนั้นแล
มารย่อมรังควานได้ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกำลังไม่แข็งแรง ลมรังควานได้ฉะนั้น
(ส่วน) ผู้ตามเห็นอารมณ์ว่าไม่งามอยู่ สำรวมดีในอินทรีย์ทั้งหลาย
รู้ประมาณในโภชนะ มีศรัทธา และปรารภความเพียรนั้นแล
มารย่อมรังควานไม่ได้ เปรียบเหมือนภูเขาหิน ลมรังควานไม่ได้ฉะนั้น.


. ผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาดยังไม่ออก ปราศจากทมะและสัจจะ
จักนุ่งห่มผ้ากาสาวะ. ผู้นั้นย่อมไม่ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ
ส่วนผู้ใดพึงเป็นผู้มีกิเลสดุจน้ำฝาดอันคายแล้ว ตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย
ประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแลย่อมควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ


. ชนเหล่าใด มีปกติรู้ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ
และเห็นในสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ
ชนเหล่านั้น มีความดำริผิดเป็นโคจร ย่อมไม่ประสบสิ่งอันเป็นสาระ
ชนเหล่าใดรู้สิ่งที่เป็นสาระ โดยความเป็นสาระ
และสิ่งที่ไม่เป็นสาระ โดยความไม่เห็นสาระ
ชนเหล่านั้น มีความดำริชอบเป็นโคจร ย่อมประสบสิ่งอันเป็นสาระ.


. ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีได้ ฉันใด
ราคะย่อมเสียดแทงจิตที่ไม่ได้อบรมแล้วได้ ฉันนั้น
ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉันใด
ราคะก็ย่อมเสียดแทงจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ ฉันนั้น.


๑๐. ผู้ทำบาปเป็นปกติ ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้
ละไปแล้วย่อมเศร้าโศก ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง
เขาเห็นกรรมเศร้าหมองของตนแล้ว ย่อมเศร้าโศก ย่อมเดือดร้อน.


๑๑. ผู้ทำบุญไว้แล้ว ย่อมบันเทิงในโลกนี้
ละไปแล้วก็ย่อมบันเทิง ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง
เขาเห็นความหมดจดแห่งกรรมของตน ย่อมบันเทิง ย่อมรื่นเริง.


๑๒. ผู้ทำบาปเป็นปกติ ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้
ละไปแล้วย่อมเดือดร้อน เขาย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง
เขาย่อมเดือดร้อนว่า กรรมชั่วเราทำไว้แล้ว
ไปสู่ทุคติ ย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้น.


๑๓. ผู้ทำบุญไว้แล้ว ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้
ละไปแล้วย่อมเพลิดเพลิน เขาย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง
เขาย่อมเพลิดเพลินว่า บุญเราทำไว้แล้ว
ไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินยิ่งขึ้น.


๑๔. หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูลแม้มาก
(แต่) เป็นผู้ประมาทแล้ว ไม่ทำ (ตาม) พระพุทธพจน์นั้นไซร้
เขาย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล
เหมือนคนเลี้ยงโคนับโคทั้งหลายของชนเหล่าอื่น
ย่อมเป็นผู้ไม่มีส่วนแห่งปัญจโครส ฉะนั้น
หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูลแม้น้อย
(แต่) เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้
เขาละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว
หมดความยึดถือในโลกนี้หรือในโลกหน้า
ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล.


ยมกวรรคที่ ๑ จบ



(ยมกวรรค พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๐)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP