จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เรื่องของเณรป้อง ตอนที่ ๔ ปัญหาของโยม


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


182 destination



                เวลาผ่านไปเป็นเวลาเกือบ ๓ สัปดาห์ โดยในช่วงเวลาที่ผ่านไปนั้น เณรป้องได้ประพฤติปฏิบัติหน้าที่เณรอย่างตั้งใจ และได้เดินรับบิณฑบาตของโยมแม่ทุกวัน โดยในส่วนของโยมพ่อนั้น ได้มาช่วยโยมแม่ใส่บาตรเพียงแค่สัปดาห์แรกเท่านั้น พอเริ่มสัปดาห์ที่สอง โยมพ่อก็ไม่ได้ออกมาแล้ว ซึ่งเณรป้องก็เข้าใจว่าโยมพ่อคงกลับไปเป็นเหมือนเดิมคือยังไม่ตื่นนอนนั่นเอง


                ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เณรป้องได้เห็นว่า ในแต่ละวันจะมีโยมบางคนนำปัญหาชีวิต ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาความกลุ้มใจหลากหลายมาปรึกษาหรือสอบถามหลวงตา หรือโยมบางคนก็มาถามในเรื่องธรรมะ หรือการปฏิบัติภาวนาก็มี ซึ่งหากเณรป้องทำงานในหน้าที่ตนเองเสร็จแล้ว ก็มักจะมานั่งฟังอยู่ด้วย เพื่อจะได้ฟังคำสอนจากหลวงตา ซึ่งในบ่ายวันนี้ก็เช่นกัน เมื่อเณรป้องทำงานหน้าที่ตนเองเสร็จแล้ว จึงได้มานั่งในบริเวณใกล้หลวงตา เพื่อฟังคำสอนจากหลวงตาด้วย


                เณรป้องเห็นว่ามีโยมมาหาหลวงตา ๒ คน โดยคนหนึ่งเป็นผู้ชายสูงอายุ และอีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิงวัยกลางคน โดยหลวงตาได้ถามโยมทั้ง ๒ คนว่า “มาด้วยกันหรือเปล่านี่”


                โยมผู้ชายนั้นกล่าวว่า “มาด้วยกันครับ โยมผู้หญิงนี้เป็นหลานผมเองครับ แต่ผมขอโอกาสถามหลวงตาก่อนก็แล้วกันครับ”


                หลวงตาพยักหน้ารับทราบ และกล่าวว่า “เอ้า ว่าไป”


                โยมผู้ชายนั้นจึงเล่าว่า “เมื่อหลายปีก่อนที่ผมเริ่มทำธุรกิจใหม่ ๆ นั้น ผมได้เคยโกงเงินจำนวนมากของลูกค้าหลายราย ซึ่งในปัจจุบันนี้ ผมไม่ได้ทำแล้ว แต่พอนึกย้อนหลังไปในอดีตเรื่อย ๆ ก็รู้สึกไม่สบายใจ กลัวว่าตายไปแล้วจะตกนรก จึงอยากจะทราบว่า ผมจะทำบุญล้างบาปได้อย่างไรบ้างครับ”


                หลวงตาตอบว่า “เรื่องกรรมดีกรรมชั่วนี้ มันไม่ได้หักลบกันได้เหมือนตัวเลขในทางคณิตศาสตร์หรอกนะ ในทางคณิตศาสตร์นั้นบวกหนึ่งมาเจอกับลบหนึ่งแล้วเท่ากับศูนย์ แต่ในเรื่องกรรมดีกรรมชั่วนั้น เมื่อกรรมดีมาเจอกับกรรมชั่ว มันไม่ได้หักลบกันแล้วเหลือศูนย์ แต่ผลลัพธ์ก็เท่ากับกรรมดีและกรรมชั่วเหมือนเดิม


                ยกตัวอย่างว่า สมมติมีชายคนหนึ่งถือไม้มาตีศีรษะของโยมทีหนึ่ง ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งทำให้โยมเจ็บศีรษะมาก แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ชายคนนั้นก็นำอาหารอร่อยมาให้โยมทานด้วย ถามว่าการได้ทานอาหารอร่อยนั้น จะเป็นการลบล้างความเจ็บศีรษะได้ไหม”


                โยมผู้ชายนั้นตอบว่า “ก็ยังเจ็บศีรษะอยู่ครับ”


                หลวงตาจึงกล่าวต่อไปว่า “นั่นแหละ มันไม่ได้หักลบกันเป็นศูนย์ เพราะเป็นคนละส่วนกัน ฉันใดก็ฉันนั้น กรรมดีและกรรมชั่วที่เราได้เคยทำไว้ก็เช่นกัน กรรมสองส่วนนี้ไม่ได้หักลบกัน โดยกรรมแต่ละส่วนต่างก็รอเวลาที่จะให้ผลเมื่อถึงเวลาที่มีเหตุปัจจัยอันสมควร


                หากจะพิจารณาง่าย ๆ เราลองเปรียบชีวิตเราเหมือนตุ่มใบหนึ่ง เปรียบกรรมดีเหมือนก้อนน้ำตาล และเปรียบกรรมชั่วเหมือนก้อนเกลือ หากเราทำกรรมดีแล้ว เท่ากับว่าเราเติมก้อนน้ำตาลลงไปในตุ่มก้อนหนึ่ง หากทำกรรมดีใหญ่ ก็เป็นน้ำตาลก้อนใหญ่ หรือทำกรรมดีเล็ก ก็เป็นน้ำตาลก้อนเล็ก หากทำกรรมดีหลาย ๆ ครั้ง ก็เป็นก้อนน้ำตาลหลาย ๆ ก้อน ในทางกลับกัน หากเราทำกรรมชั่วแล้ว เท่ากับว่าเราเติมก้อนเกลือลงไปในตุ่มก้อนหนึ่ง หากทำกรรมชั่วใหญ่ ก็เป็นเกลือก้อนใหญ่ หรือทำกรรมชั่วเล็ก ก็เป็นเกลือก้อนเล็ก หากทำกรรมชั่วหลาย ๆ ครั้ง ก็เป็นก้อนเกลือหลาย ๆ ก้อน


                ในเวลาที่กรรมจะให้ผลนั้น ก็เปรียบเสมือนว่าเราหลับตาแล้วใช้ช้อนตักตวงลงไปในตุ่มนั้น หากตักขึ้นมาเจอก้อนน้ำตาล ก็คือกรรมดีให้ผล หากตักขึ้นมาเจอก้อนเกลือ ก็คือกรรมชั่วให้ผล แต่หากตักขึ้นมาเจอก้อนน้ำตาลพร้อมกับก้อนเกลือ ก็คือกรรมดีและกรรมชั่วให้ผล เช่นนี้แล้ว คนเราก็เติมน้ำตาลและเกลือลงไปในตุ่มเช่นนี้ตลอดเวลา และก็ได้ใช้ช้อนตักตวงลงไปในตุ่มตลอดเวลา เพื่อรับผลของกรรม


                ถ้าโยมไม่อยากได้รับผลของเกลือแล้วล่ะก็ วิธีการก็คือไม่เติมเกลืออีกต่อไป และให้หมั่นเติมน้ำตาลไปมาก ๆ ซึ่งแม้ว่าก้อนเกลือของเดิมจะยังมีอยู่ แต่โอกาสที่เราจะไปตักเจอก้อนเกลือนั้นย่อมมีน้อยลง กล่าวคือพยายามทำกรรมดีให้มาก ไม่ทำกรรมชั่วเพิ่ม ก็จะช่วยให้กรรมดีคอยให้ผลแวดล้อมอยู่เรื่อย ๆ จนกรรมชั่วหาช่องเข้ามาให้ผลได้ยาก”


                โยมผู้ชายนั้นถามต่อไปว่า “ไม่มีวิธีการที่จะลบกรรมชั่วในอดีตให้หายไปหรือครับ อย่างหลวงตาช่วยเอาชื่อและวันเดือนปีเกิดของผมไปสวดมนต์สะเดาะเคราะห์ให้ผมได้ไหมครับ”


                หลวงตาอธิบายว่า “สมมติว่าโยมนำหินก้อนใหญ่ซึ่งหนักมากโยนลงในหนองน้ำ แล้วโยมพร้อมกับคนในครอบครัวก็มาร่วมกันสวดมนต์ โดยขอว่า หินก้อนใหญ่จงลอยขึ้นเหนือน้ำเถิด หินก้อนใหญ่จงลอยขึ้นเหนือน้ำเถิด โยมเห็นว่าหินก้อนใหญ่นั้นจะลอยขึ้นเหนือน้ำ เพราะโยมสวดมนต์นั้นหรือไม่”


                โยมผู้ชายนั้นส่ายหน้าพร้อมกับตอบว่า “ไม่ลอยขึ้นเหนือน้ำหรอกครับ”


                หลวงตาถามต่อไปว่า “ในทางกลับกัน สมมติว่าโยมเทน้ำมันพืชลงในหนองน้ำนั้น แล้วโยมพร้อมกับคนในครอบครัวก็มาร่วมกันสวดมนต์ โดยขอว่า น้ำมันพืชจงจมลงใต้น้ำเถิด น้ำมันพืชจงจมลงใต้น้ำเถิด โยมเห็นว่าน้ำมันพืชนั้นจะจมลงใต้น้ำ เพราะโยมสวดมนต์นั้นหรือไม่”


                โยมผู้ชายนั้นส่ายหน้าพร้อมกับตอบว่า “ไม่จมลงใต้น้ำเช่นกันครับ”


                หลวงตาจึงกล่าวสรุปว่า “ฉันใดก็ฉันนั้น เปรียบเหมือนบุคคลที่ประพฤติผิดศีล แม้ว่าจะให้พระภิกษุมาประชุมกันแล้วสวดมนต์ขอว่า เมื่อบุคคลนี้ตายไป จงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็ตาม แต่ในความเป็นจริง เมื่อบุคคลนี้ตายไป ย่อมเข้าถึงอบายภูมิ ทุคติ วินิบาต หรือนรกอยู่ดี


                ในทางกลับกัน หากบุคคลใดเป็นผู้รักษาศีล แม้ว่าจะให้พระภิกษุมาประชุมกันแล้วสวดมนต์ขอว่า เมื่อบุคคลนี้ตายไป จงเข้าถึงอบายภูมิ ทุคติ วินิบาต หรือนรกก็ตาม แต่ในความเป็นจริง เมื่อบุคคลนี้ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์อยู่ดีนั่นแหละ


                โยมผู้ชายนั้นได้ฟังแล้วก็มีสีหน้าหดหู่ แล้วก็ถามหลวงตาต่อไปว่า “แล้วผมควรจะทำอย่างไรในสิ่งที่ผมได้เคยทำผิดศีลไปแล้วครับ”


                หลวงตาตอบว่า “โดยทั่วไปแล้ว หากเราทำผิดกับใครไว้ เราก็ควรไปขอขมาเขา และพยายามทำกลับคืนเพื่อบรรเทาโทษ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า พึงเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง สารภาพตามเป็นจริง และรับสังวรว่าจะไม่ทำผิดอีกต่อไป


                ยกตัวอย่างในสมัยพุทธกาลนั้น มีกษัตริย์องค์หนึ่งชื่อว่าพระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งเคยทรงทำผิดปลงพระชนม์พระราชบิดาตนเอง ต่อมา พระเจ้าอชาตศัตรูได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำหม่อมฉัน ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด หม่อมฉันได้ปลงพระชนม์ชีพ พระบิดา ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับทราบความผิดของหม่อมฉัน โดยเป็นความผิดจริง เพื่อสำรวมต่อไป’


                พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า ‘เพราะมหาบพิตรทรงเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริงแล้ว ทรงสารภาพตามเป็นจริง ฉะนั้น อาตมภาพขอรับทราบความผิดของมหาบพิตร ก็การที่บุคคลเห็นความผิด โดยเป็นความผิดจริง แล้วสารภาพตามเป็นจริง รับสังวรต่อไปนี้ เป็นความชอบในวินัยของพระอริยเจ้า’


                เช่นนี้ ในเมื่อโยมได้สำนึกผิดแล้ว ได้สารภาพแล้ว และตั้งใจจะสำรวมระวังไม่ประพฤติผิดอีก ก็คือตั้งใจจะรักษาศีลแล้ว ก็ถือว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องแล้ว กล่าวคือโยมไม่เติมเกลือก้อนใหม่ลงไปในตุ่มอีก ในส่วนกรรมชั่วที่ได้เคยทำไปแล้วนั้น มันก็จะอยู่ในตุ่ม และให้ผลเมื่อโยมตักไปเจอเกลือก้อนนั้น โยมพึงพยายามทำกรรมดีให้มาก เพื่อเติมน้ำตาลลงในตุ่ม แล้วโอกาสที่โยมจะตักเจอเกลือก็จะน้อยลง


                แต่ถ้าหากโยมไม่ต้องการอยู่ในระบบของน้ำตาลและเกลือนี้อีกต่อไป ก็พึงตั้งใจประพฤติปฏิบัติเจริญศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อให้บรรลุธรรมถึงนิพพาน จะได้ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก และไม่ต้องมาวนเวียนเติมและตักน้ำตาลและเกลืออย่างนี้อีก”


                โยมผู้ชายนั้นได้ฟังแล้วมีสีหน้าดีขึ้น ยกมือไหว้หลวงตา พร้อมกับกล่าวว่า “ขอบพระคุณหลวงตาเป็นอย่างสูงครับ ผมจะนำไปปฏิบัติครับ”



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *



              หลังจากที่ชายสูงอายุได้ถามหลวงตาจบแล้ว หญิงวัยกลางคนจึงได้ยกมือไหว้หลวงตา พร้อมกับเริ่มมีน้ำตาคลอเบ้าและกล่าวว่า “โยมมีปัญหาทุกข์ใจมากเหลือเกินในเรื่องสามีโยมนอกใจโยมค่ะ”


                หลวงตาได้ฟังแล้วพยักหน้า พร้อมกล่าวว่า “คนจำนวนมากสมัยนี้ไม่สนใจถือศีลกัน”


                โยมผู้หญิงนั้นกล่าวต่อไปด้วยเสียงสั่นเครือว่า “แล้วโยมจะทำยังไง เพื่อให้สามีโยมเลิกไปมีคนอื่นคะ”


                หลวงตาอธิบายว่า “โยมต้องการจะสั่งให้สามีโยมเป็นไปตามใจโยม แต่โยมลองพิจารณาสิว่าแม้แต่ร่างกายโยมเอง โยมสั่งได้ไหม อย่างเส้นผมที่เริ่มหงอก โยมสั่งห้ามไม่ให้มันหงอกได้ไหม ผิวหนังที่เริ่มเหี่ยวย่นไปตามวัย โยมสั่งห้ามไม่ให้มันเหี่ยวได้ไหม ถึงเวลาที่ร่างกายหิว โยมสั่งห้ามไม่ให้หิวได้ไหม ถึงเวลาที่ร่างกายง่วงนอน โยมสั่งห้ามไม่ให้ง่วงได้ไหม ถึงเวลาที่ร่างกายต้องการขับถ่าย โยมสั่งห้ามไม่ให้มันต้องการขับถ่ายได้ไหม หรืออย่างเล็บของโยมยาวขึ้น ๆ โยมสั่งห้ามไม่ให้เล็บยาวขึ้นได้ไหม โยมสั่งสิ่งทั้งหลายในร่างกายโยมให้เป็นไปดังใจโยมได้ไหม”


                โยมผู้หญิงนั้นส่ายหน้า พร้อมตอบว่า “สั่งไม่ได้ค่ะ”


                หลวงตาถามต่อไปว่า “แล้วจิตใจโยมล่ะ โยมสั่งได้ไหม โยมสั่งจิตใจโยมให้เป็นไปดังใจปรารถนาได้ไหม สั่งให้จิตใจมีความสุขทุกวัน ไม่ทุกข์ใจใด ๆ เลย สั่งให้จิตใจไม่ทุกข์ในเรื่องสามีโยมนอกใจด้วย โยมสั่งได้ไหม”


                โยมผู้หญิงนั้นส่ายหน้าอีก พร้อมตอบด้วยเสียงสะอึกสะอื้นว่า “สั่งไม่ได้ค่ะ”


                หลวงตาอธิบายต่อไปว่า “ในเมื่อโยมยังสั่งให้ร่างกายและจิตใจโยม ซึ่งเป็นสิ่งภายใน ให้เป็นไปตามที่โยมปรารถนาไม่ได้เลย แต่โยมกลับต้องการจะไปสั่งสามี ซึ่งเป็นสิ่งภายนอก ให้เป็นไปตามที่โยมปรารถนา โยมเห็นว่าโยมจะสั่งได้หรือ”


                โยมผู้หญิงนั้นได้ฟังแล้วก็ก้มหน้าและเงียบไป เหมือนกับว่าไม่อยากตอบคำถามนี้


                หลวงตาเห็นดังนั้นแล้ว จึงถามโยมผู้หญิงนั้นต่อไปว่า “สมมติว่ามีชายคนหนึ่งไปยืนตรงทิศตะวันออกในเวลาเช้า แล้วตะโกนบอกดวงอาทิตย์ว่า จงอย่าขึ้นทางทิศตะวันออก แต่ให้จงไปขึ้นทางทิศตะวันตก เขาไปยืนตะโกนบอกดวงอาทิตย์อย่างนี้ทุกวัน โยมจะมองว่าชายคนนี้เพี้ยนหรือเปล่า”


                โยมผู้หญิงนั้นได้ฟังคำถามนี้ของหลวงตาแล้ว ก็มีอาการขำเล็กน้อย และกล่าวว่า “ก็คงเพี้ยนแหละค่ะ เพราะคงไม่มีคนปกติที่ไหนไปทำอย่างนั้น”


                หลวงตาฟังคำตอบของโยมผู้หญิงนั้นแล้ว อธิบายต่อไปว่า “ที่โยมมองว่าชายคนนั้นเพี้ยน เพราะว่าการที่ไปสั่งดวงอาทิตย์นั้น มันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม ทีนี้ โยมหันมาพิจารณาตัวโยมเอง โยมสั่งร่างกายและสั่งจิตใจโยมเองให้เป็นไปตามที่โยมปรารถนา ยังสั่งไม่ได้เลย แต่โยมกลับไปพยายามจะสั่งให้สามีโยมเป็นไปตามที่โยมปรารถนา แล้วจะเหมือนกับชายที่ไปพยายามสั่งดวงอาทิตย์ไหม เพราะต่างก็พยายามสั่งในสิ่งที่สั่งไม่ได้ทั้งคู่”


                โยมผู้หญิงนั้นได้ฟังหลวงตาอธิบายแล้ว ก็เริ่มหยุดอาการสะอึกสะอื้นแล้วถามหลวงตาว่า “แล้วอย่างนี้ จะให้โยมทำอย่างไรได้บ้างคะ”


                หลวงตาตอบว่า “แม้ว่าโยมจะสั่งให้ร่างกายเป็นไปตามใจที่โยมปรารถนาไม่ได้ก็ตาม แต่โยมก็สามารถสร้างเหตุและปัจจัย เพื่อมุ่งให้เกิดผลที่โยมปรารถนาได้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีชาวนาปลูกข้าวนั้น ชาวนาย่อมสั่งต้นข้าวไม่ได้ว่า จะให้ต้นข้าวออกรวงเมื่อใด แต่ว่าชาวนาสามารถสร้างเหตุและปัจจัยที่เอื้อแก่การที่ต้นข้าวจะออกรวงได้ เช่น เตรียมดิน เลือกพันธุ์ข้าวที่ดี เตรียมต้นกล้าที่แข็งแรง ให้น้ำให้ปุ๋ย ป้องกันแมลงศัตรูพืชและวัชพืช เป็นต้น ด้วยการที่ชาวนาสร้างเหตุและปัจจัยที่เหมาะสมเช่นนี้แล้ว ผลที่มุ่งหวังไว้คือให้ต้นข้าวออกรวงนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ โดยต้นข้าวก็จะออกรวงเองเมื่อถึงเวลาให้ผล


                แต่หากเหตุและปัจจัยไม่ดีหรือไม่เหมาะสม ผลก็อาจจะไม่เกิดขึ้นดังที่มุ่งหวังไว้ก็ได้ เช่น ดินไม่ดี พันธุ์ข้าวไม่ดี ปุ๋ยไม่พอ น้ำไม่พอ แมลงศัตรูพืชและวัชพืชมีมาก ก็อาจจะทำให้ต้นข้าวไม่ออกรวงหรือถึงขนาดต้นข้าวตายก็ได้”


                โยมผู้หญิงนั้นจึงถามหลวงตาต่อไปว่า “ถ้าอย่างนั้น โยมจะต้องสร้างเหตุและปัจจัยอะไร เพื่อให้สามีโยมเลิกไปมีคนอื่นคะ”


                หลวงตาได้ฟังดังนั้นแล้ว อธิบายว่า “ถ้าโยมจะแก้ปัญหาความทุกข์ของโยม ก็ควรจะแก้ไขที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ไปแก้ไขที่ปลายเหตุ ต้นเหตุแห่งปัญหานั้นเกิดจากการที่โยมไปฝากความสุขในชีวิตโยมไว้กับสามี โดยมุ่งหวังว่าสามีจะต้องเป็นคนซื่อสัตย์ไม่นอกใจ แต่เมื่อสามีไม่ได้เป็นดังที่โยมมุ่งหวังไว้ จึงทำให้เกิดความทุกข์ ดังนี้ หากโยมไม่ฝากความสุขในชีวิตโยมไว้กับสามีตั้งแต่แรก โยมก็จะไม่ทุกข์ขนาดนี้


                หากโยมยังจะมุ่งแก้ไขปัญหา โดยมุ่งหวังให้สามีไม่นอกใจโยม ทั้งที่ก็เป็นสิ่งที่โยมสั่งตามใจปรารถนาไม่ได้ ความทุกข์มันก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ เพราะว่าโยมไปหวังพึ่งพาในสิ่งที่พึ่งไม่ได้ ไปหวังฝากความสุขในชีวิตโยมไว้กับคนที่ไม่มีศีล ย่อมไม่สามารถพ้นจากความทุกข์นี้ได้


                เช่นนี้ โยมควรหันมาแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุของเรื่อง โดยอย่าไปฝากความสุขในชีวิตโยมไว้ที่สามี แต่ให้ฝากความสุขในชีวิตโยมไว้ที่ตนเอง โดยตั้งใจรักษาศีล ๕ และหมั่นประพฤติปฏิบัติเพื่อเจริญสมาธิและปัญญา โยมก็จะมีความสุขในชีวิตได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี หากโยมรักษาศีลอย่างสม่ำเสมอ และเป็นคนดีมีศีลธรรมแล้ว ก็ย่อมจะเป็นส่วนหนึ่งในเหตุและปัจจัยที่จะน้อมนำให้คนใกล้ตัวโยม รวมทั้งสามี หันมาสนใจถือศีลด้วยก็ได้นะ แต่ไม่ว่าเขาจะสนใจถือศีลตามโยมหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ได้กระทบต่อความสุขในชีวิตโยม เพราะโยมไม่ได้ฝากความสุขในชีวิตไว้ที่เขา ดังนี้แล้ว สิ่งที่สำคัญที่โยมควรทำคือพัฒนาศีลธรรม และจิตใจตนเองให้สามารถพึ่งตนเองได้ และมีความสุขได้ด้วยตนเอง”


                โยมผู้หญิงนั้นได้ฟังแล้วก็กล่าวว่า “แต่เขาเป็นสามีโยมมาเป็นสิบปีแล้ว จะให้ตัดใจง่าย ๆ ก็ยากค่ะ”


                “อาตมาก็ไม่ได้บอกว่ามันง่ายนะ โยมก็ต้องใช้เวลาฝึกฝนปฏิบัติจึงจะเข้าใจและเกิดผล ยกตัวอย่างเช่นโทรศัพท์มือถือของโยมที่วางอยู่นั่น ถ้าหากโทรศัพท์มือถือเครื่องนี้ของโยมถูกคนอื่นขโมยไป โยมจะเสียใจไหม” หลวงตาถาม


                “เสียใจค่ะ” โยมผู้หญิงนั้นตอบ


                “นั่นแหละ ที่โยมรู้สึกเสียใจ ก็เพราะว่าโยมรักและผูกพันในโทรศัพท์มือถือเครื่องนี้ เมื่อมันสูญหายไป โยมก็เสียใจเป็นธรรมดา ยิ่งโยมรักมาก ก็ยิ่งเสียใจมาก แต่หากโยมรักน้อย โยมก็เสียใจน้อย อย่างโยมรักสามีมาก ก็ยิ่งเสียใจมากเป็นธรรมดา ในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนนางวิสาขาว่า ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑ ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ ฉะนั้น ถ้าโยมมีสามีอันเป็นที่รักมาก โยมก็ควรเตรียมใจที่จะทุกข์มากเพราะสามีด้วย เนื่องจากความรักและความทุกข์เป็นของคู่กัน” หลวงตาอธิบาย


                โยมผู้หญิงนั้นได้ฟังแล้วก็กล่าวแย้งว่า “แต่ถ้าเขาไม่นอกใจโยม โยมก็น่าจะไม่ทุกข์เพราะสามีเลย ปัญหานี้เกิดจากการที่โยมไปรักสามีที่เป็นคนไม่ดีหรือเปล่าคะ”


                หลวงตาตอบว่า “พระพุทธเจ้าทรงแบ่งบุคคลเป็น ๓ จำพวก คือ ๑. บุคคลที่เป็นคนเลวโดยศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลจำพวกนี้ ไม่ควรคบและเข้าใกล้ เว้นแต่จะเพื่ออนุเคราะห์ ๒. บุคคลที่มีศีล สมาธิ ปัญญาเสมอกับตน บุคคลจำพวกนี้ ควรคบและเข้าใกล้ เพราะไม่ทำให้เสื่อม และ ๓. บุคคลที่มีศีล สมาธิ ปัญญาสูงกว่าตน บุคคลจำพวกนี้ ควรคบและเข้าใกล้ เพราะจักเอื้อหรืออนุเคราะห์ให้ศีล สมาธิ ปัญญาของตนเจริญขึ้น


                จริงอยู่ที่ว่า หากสามีของโยมไม่นอกใจโยมแล้ว โยมก็คงจะไม่ต้องทุกข์ใจในเรื่องสามีนอกใจเช่นนี้ แต่ถึงแม้ว่าสามีโยมจะเป็นคนดีมีศีลธรรมและไม่นอกใจโยมก็ตาม หากสามีของโยมเจ็บป่วยหนัก โดนทำร้าย หรือตาย โยมก็ต้องเสียใจหรือทุกข์ใจอยู่ดี แม้ว่าสามีโยมจะไม่ได้เจ็บป่วยหนัก โดนทำร้าย หรือตายก็ตาม แต่หากต้องเดินทางไปในสถานที่อันตราย โยมก็ต้องเป็นห่วงหรือกังวลใจ หรือหากมีผู้หญิงอื่นมาเกาะแกะวุ่นวาย โยมก็อาจหึงหวงและไม่พอใจ กล่าวคือโยมก็ย่อมจะมีทุกข์เพราะสามีที่โยมรักอยู่ดี”


                โยมผู้หญิงนั้นได้ฟังแล้วจึงถามว่า “สรุปว่าโยมไม่ควรรักสามีหรือคะ”


                หลวงตาตอบว่า “สามีภรรยารักกันนั้นเป็นเรื่องธรรมดาโลก แต่เมื่อโยมรักใครหรือรักสิ่งใดก็ตาม ก็พึงระลึกถึงความจริงของโลกว่า ความรักและความทุกข์เป็นของคู่กัน เมื่อมีพบก็ย่อมมีพลัดพราก เมื่อมีรักก็ย่อมมีทุกข์ โยมก็พึงเตรียมใจรับความทุกข์ไว้ด้วย ซึ่งหากโยมไม่ต้องการที่จะทุกข์มากนัก ก็พึงฝากความสุขในชีวิตไว้ที่ตนเอง โดยตั้งใจรักษาศีล ๕ และหมั่นประพฤติปฏิบัติเพื่อเจริญสมาธิและปัญญาดังที่ได้กล่าวแล้ว”


                โยมผู้หญิงนั้นได้ฟังแล้วก็กล่าวว่า “โยมยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้แค่ไหน แต่จะไปลองทำดูค่ะ”


                หลังจากนั้น โยมทั้ง ๒ คนก็กราบลาหลวงตา



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *



               หลังจากที่โยมทั้ง ๒ คนนั้นได้จากไปแล้ว เณรป้องได้ถามหลวงตาว่า “หลวงตาครับ ที่หลวงตาสอนโยมที่มาถามหลวงตาทุกวัน ๆ อย่างนี้ โยมเหล่านั้นเขานำคำสอนหลวงตาไปทำและได้ผลทุกคนเลยหรือเปล่าครับ”


                หลวงตาตอบเณรป้องว่า “ไม่หรอก บางคนก็ทำ บางคนก็ไม่ทำ บางคนก็ได้ผล บางคนก็ไม่ได้ผล มันก็แล้วแต่แต่ละคนนะ ไม่เหมือนกัน คนที่ไม่ทำหรือทำแล้วไม่ได้ผลก็น่าจะมีเยอะนะ อาจจะเป็นส่วนใหญ่เลยก็ได้”

                “แล้วทำไมหลวงตาจึงไม่สอนให้โยมนำไปทำและได้ผลทุกคนล่ะครับ” เณรป้องถาม


                หลวงตาอธิบายว่า “มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนสอนแต่เพียงฝ่ายเดียวหรอกนะ มันขึ้นอยู่กับคนฟังที่นำไปปฏิบัติด้วย อย่างในสมัยพุทธกาล ก็เคยมีพราหมณ์คนหนึ่งไปถามพระพุทธเจ้าว่า ในเมื่อนิพพานยังดำรงอยู่ ทางไปถึงนิพพานก็ยังดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าผู้สั่งสอนก็ยังดำรงอยู่ แต่ทำไมสาวกเพียงส่วนน้อยจึงสามารถเข้าถึงนิพพาน และทำไมสาวกบางส่วนไม่ยินดีที่จะมุ่งไปนิพพาน


                พระพุทธเจ้าท่านได้ฟังแล้ว ก็ทรงถามพราหมณ์นั้นว่า ในเมื่อพราหมณ์นั้นชำนาญเรื่องทางไปเมืองราชคฤห์ หากมีบุรุษคนหนึ่งซึ่งปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ได้มาถามเส้นทางจากพราหมณ์นั้น และพราหมณ์นั้นก็ได้อธิบายชี้เส้นทางไปเมืองราชคฤห์ให้แก่บุรุษนั้นแล้ว แต่บุรุษนั้นจำทางผิด โดยกลับเดินไปเส้นทางตรงกันข้าม ต่อมาได้มีบุรุษคนที่สอง ซึ่งปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ได้มาถามเส้นทางจากพราหมณ์นั้น และพราหมณ์นั้นก็ได้อธิบายชี้เส้นทางไปเมืองราชคฤห์ให้แก่บุรุษนั้นเช่นกัน และบุรุษนั้นได้เดินทางไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น


                พราหมณ์นั้นกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ในเรื่องนี้ ตนเองจะทำอย่างไรได้ เพราะว่าตนเองเป็นเพียงผู้บอกหนทางเท่านั้น


                พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ฉันนั้นเหมือนกัน ในเมื่อนิพพานก็ดำรงอยู่ ทางไปนิพพานก็ดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าผู้สั่งสอนก็ยังดำรงอยู่ แต่สาวกเพียงส่วนน้อยสามารถเข้าถึงนิพพานได้ และสาวกบางส่วนไม่ยินดีที่จะมุ่งไปนิพพาน ในเรื่องนี้ พระพุทธองค์จะทำอย่างไรได้ เพราะพระพุทธองค์เป็นเพียงผู้บอกหนทางเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน หลวงตาก็เป็นเพียงผู้แนะนำหนทางแก้ไขปัญหาแก่โยมที่มาสอบถามเท่านั้น หากโยมนั้นจะนำไปทำ หรือไม่ยินดีนำไปทำก็ตาม หลวงตาจะทำอย่างไรได้ เพราะเป็นเพียงผู้แนะนำหนทางเท่านั้น”


                เณรป้องได้ฟังคำตอบของหลวงตาแล้วก็ถามต่อไปว่า “ถ้ามีโยมที่ไม่ทำเป็นจำนวนมาก หรือทำแล้วไม่ได้ผลเป็นจำนวนมาก แล้วหลวงตาก็ยังจะต้องเสียเวลาหรือเหนื่อยสอนโยมอย่างนี้อยู่ต่อไปหรือครับ”


                หลวงตาตอบว่า “เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์สาวกพระศาสดานะ ยกตัวอย่างในสมัยพุทธกาล ในสมัยที่พระพุทธเจ้าท่านเพิ่งตรัสรู้ไม่นาน ท่านได้เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ บรรลุเป็นพระอรหันต์ หลังจากนั้นได้ทรงโปรดยสกุลบุตรและสหายทั้ง ๕๔ คนจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ซึ่งทุกท่านนี้ได้บวชเป็นพระภิกษุด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา รวมมีพระสงฆ์สาวกในเวลานั้น ๖๐ รูป พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงส่งให้พระสงฆ์สาวกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยรับสั่งว่าพวกเธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปทางเดียวกัน ๒ รูป (ให้แยกทางกันไป) พวกเธอจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์และบริสุทธิ์


                เช่นนี้แล้ว นอกจากพระภิกษุสงฆ์จะมีหน้าที่ศึกษาพระธรรมคำสอนและประพฤติปฏิบัติสมณธรรมแล้ว ก็ยังมีหน้าที่นำความรู้ธรรมะที่ได้มานั้น สั่งสอนญาติโยมทั้งหลาย เพื่อความสุขแก่มหาชน รวมทั้งสอนพระภิกษุสงฆ์และสามเณรต่อ ๆ ไป เพื่อสืบสานพระธรรมคำสอนให้แก่อนุชนรุ่นหลังสืบเนื่องต่อกันไป”

(ติดตามตอนต่อไป)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP