สารส่องใจ Enlightenment

จุดที่รวมแห่งอริยธรรม (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๐๕



วันนี้จะแสดงธรรมป่าล้วนๆ ให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบ
ทั้งที่ได้อุตส่าห์มาจากทางใกล้และทางไกล ทั้งผู้ที่อยู่กับบ้านนี้ ตลอดถึงผู้ที่อยู่ในวัด
คำว่า ธรรมป่า นั้น เป็นธรรมที่ไม่ได้ท่องหรือจดจำมาจากคัมภีร์ไหนๆ
นอกจากจะแสดงตามหลักธรรมชาติแห่งธรรม ซึ่งเป็นของมีอยู่ทั่วไปในโลกเท่านั้น
ส่วนจะถูกหรือผิดอย่างไรนั้น ขอให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายจงไตร่ตรองตามธรรมที่แสดง
แล้วเทียบเคียงกับหลักธรรมในคัมภีร์อันเป็นธรรมตายตัว



ธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าคือหลักแห่งเหตุผล
ถ้าเมื่อเหตุกับผลถูกต้องกันแล้วทั้งที่เป็นฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว
พึงทราบว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่ชั่วได้อย่างสมบูรณ์
และเป็นหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ด้วย
องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าในคราวพระองค์เสด็จออกจากหอปราสาทเพื่อแสวงหาโมกขธรรม
ในเบื้องต้นก็ปรากฏว่าพระองค์ได้พิจารณาหลักธรรมชาติ
ทั้งๆ ที่ไม่มีใครหรือพระพุทธเจ้าองค์ใดมาประกาศสอนพระองค์ว่า สภาวะทั้งหลายเป็นอย่างนั้นๆ
แม้ประชาชนพร้อมทั้งบริษัทและบริวาร ซึ่งอยู่ในพระราชวังของพระองค์
ก็ปรากฏว่าเป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกับพระองค์ท่าน



แต่ในคืนที่พระองค์จะเสด็จออกทรงผนวช
หลักธรรมชาติแห่งธรรมได้ปรากฏขึ้นในพระทัยว่า
ทั้งคนในพระราชวัง คือบริษัทบริวารทั้งหลายด้วย และนอกพระราชวัง ทั่วทั้งไตรโลกธาตุด้วย
ปรากฏว่าเป็นป่าช้าผีดิบไปทั้งดินแดน
หาที่จะปลงจิตปลงใจพึ่งพิงอิงอาศัยในบุคคลหรือสัตว์สักรายหนึ่งว่า ไม่ใช่ป่าช้า ไม่มีเลย
นี้คือหลักธรรมชาติแห่งธรรมซึ่งเป็นของมีอยู่ในสัตว์และบุคคลทั่วไป
ได้ปรากฏขึ้นในพระทัยของพระองค์
แม้ที่สุดพระองค์เองก็ปรากฏเป็นป่าช้าผีดิบเช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์ทั่วๆ ไป
จึงเป็นเหตุให้ทรงเบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ของโลกเกิดตาย
อันเป็นที่รวมแห่งกองทุกข์นานาชนิดทั้งของเขาและของเรา
นอกจากจะแสวงหาความพ้นจากความเป็นเช่นนี้ไปเสียเท่านั้น
ทรงพินิจพิจารณาถึงหลักธรรมชาติแห่งธรรมซึ่งเคยประกาศตัวอยู่ตลอดมา
ก็ทรงได้พระสติสะดุดพระทัยในขณะนั้น
และเพราะหลักธรรมชาติเหล่านั้นได้เตือนพระทัยให้มีความสลดสังเวช
เพื่อหาทางพ้นจากทุกข์โดยไม่อำลาใครๆ และได้เสด็จออกเวลากลางคืน



นี่ก็เป็นเครื่องแสดงให้เราทั้งหลายได้เห็นว่า
หลักธรรมชาติคือธรรมที่แท้จริงนั้นเป็นสภาพมีอยู่ทั่วไปในสัตว์และสังขารทุกประเภท
พระองค์ได้เสด็จออกทรงผนวชก็เพราะหลักแห่งธรรมชาติเหล่านี้ซึ่งเตือนพระทัย
ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นคนขอทานเหมือนคนขอทานทั่วๆ ไป
ไม่ทำพระองค์ให้เป็นผู้มีคุณค่าว่าเป็นกษัตริย์ เป็นต้น
ปรากฏพระองค์เพียงเป็นคนขอทานและเป็นเหมือนผ้าขี้ริ้วผืนหนึ่งซึ่งไม่มีราคา อันใครๆ ไม่ต้องการ
ในเวลาพระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรได้รับความกระทบกระเทือนและความทุกข์ลำบากแสนสาหัส
เพราะกษัตริย์เสด็จออกผนวชประพฤติพระองค์เป็นคนอนาถา เป็นคนไม่มีคุณค่าราคาแต่อย่างใด



เพราะสมัยนั้นการให้ทานก็ดี การรักษาศีลก็ดี เจริญภาวนาก็ดี
ไม่มีใครได้สั่งสอนไว้ว่า ผลแห่งการให้ทานเป็นต้นนั้นมีมากน้อยเพียงไร
จึงไม่มีใครสนใจจะพยายามบำรุงบำเรอและตามอุปัฏฐากพระองค์
ให้ทรงได้รับความสุขในส่วนแห่งพระกาย
ความเป็นกษัตริย์ที่พระองค์ทรงลดทิฐิมานะลงถึงขนาดเป็นคนขอทาน
เช่นเดียวกับคนธรรมดาสามัญที่ขอทานทั่วๆ ไป
แทนที่จะเป็นทุกข์จนทนไม่ไหว
แต่ก็กลับเป็นการสะดวกต่อการบำเพ็ญธรรม เพราะการลดทิฐิมานะอย่างนั้น
เนื่องจากพระองค์ได้ทรงเห็นหลักธรรมชาติที่เตือนพระทัย
แล้วบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นไปในหลักแห่งธรรมนั้นๆ



ขอสรุปว่าหกปีพระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
เป็น โลกวิทู รู้โลก ทั้งเป็นโลกนอกทั้งเป็นโลกใน กว้างแคบโดยตลอดทั่วถึง
ไม่มีอันใดจะปิดบังลี้ลับว่าพระองค์จะไม่สามารถหยั่งทราบได้โดยพระปัญญาญาณ
แม้ที่สุดในพระทัยของพระองค์ที่มีอะไรเคลือบแฝงอยู่ก็ปรากฏชัด
เช่นเดียวกับวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงสว่างจ้าขึ้นในคืน
ซึ่งตรงกับเดือนหกเพ็ญที่เรียกว่า วิสาขมาส
ธรรมทั้งหมดที่พระองค์ทรงรู้เห็นนั้น เป็นธรรมในหลักธรรมชาติทั้งนั้น
โดยทรงบำเพ็ญตามหลักธรรมชาติ
พิจารณาในหลักธรรมชาติที่ประกาศกังวานอยู่ทั้งภายนอกภายในตลอดกาล
แม้ความรู้สึกซึ่งปรากฏเป็นอยู่ตลอดเวลา ณ ภายในก็เป็นหลักธรรมชาติอันหนึ่ง
พระองค์ได้รู้แจ้งเห็นจริงโดยตลอด ทั้งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นหลักธรรมชาติทั้งนั้น
ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ ก็ปรากฏว่าได้อยู่ในที่สงบสงัด
ซึ่งเป็นหลักธรรมชาติและปราศจากความพลุกพล่านด้วยฝูงชนและบรรดาสัตว์
มีพระกายอันเปลี่ยว จิตใจก็วิเวกวังเวง ความรู้สึกภายในของพระองค์ก็เด่นขึ้นในขณะนั้น



ตามธรรมดา ธรรมชาติรู้ที่เราเรียกว่าใจนี้
จะมีความรู้อยู่ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง ไม่เคยลดละแม้ขณะเดียว
แต่เพราะสิ่งแวดล้อมมากระทบและกลบไว้โดยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ
จึงเป็นเหตุให้ความรู้อันนั้นซุ่มซ่อนอยู่ตามรูป เสียง กลิ่น รสเป็นต้น ไปเสีย
ไม่สามารถจะพินิจพิจารณาความรู้นั้นว่ามีความหนักเบาไปในแง่ไหนบ้าง ทั้งทางชั่วและทางดี
แต่เมื่อได้รับความสงัดวิเวก จิตก็ไม่พัวพันกับสิ่งใดซึ่งเคยรู้เคยเห็นมาแต่ก่อน
ความรู้ที่ปรากฏขึ้นในใจจะส่งกระแสไปทางใดจะเป็นทางอดีต ทางอนาคต
ก็ปรากฏรู้เท่าทันในวงปัจจุบันเสมอไป ด้วยอำนาจพระสติ ซึ่งทรงตั้งไว้แล้วด้วยดี
ความรู้อันนี้ก็ปรากฏเด่นขึ้นโดยลำดับ



ความรู้ที่เด่นขึ้นนี้จะเด่นขึ้นทางดีก็ทราบชัด จะเด่นขึ้นทางชั่วก็ทราบชัด
เมื่อจะเด่นขึ้นในทางสั่งสมกิเลสตัณหา เพื่อความมัวหมองภายในจิตใจ
พระองค์ก็พยายามแก้ไขให้ทันกับเหตุการณ์ ไม่ปล่อยให้ฝ่ายต่ำฉุดลากไป
จนจิตค่อยกลายเป็นจิตที่ผ่องใส สะอาดเป็นลำดับ
และมีความเฉลียวฉลาดด้วยอุบายปัญญา
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงสอนให้บำเพ็ญสมาธิ คือความสงบใจ
เมื่อใจได้รับความสงบแล้ว ย่อมเห็นเงาของตัวเองในทางปัญญา
เหมือนน้ำที่ใสสะอาด สามารถมองเห็นสัตว์น้ำหรือสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในน้ำนั้นได้โดยชัดเจนฉะนี้



เมื่อจิตยังไม่สงบเราจะพิจารณาสิ่งใดก็ไม่ชัดเจน
แม้จะพิจารณาทางปัญญาก็กลายเป็นสัญญาไปเสียโดยมาก
นี้หมายถึงสัญญาที่จะก่อเหตุเป็นสมุทัย สะสมกิเลสขึ้นภายในใจ
เพราะความรู้ความเห็นที่มาผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เมื่อใจได้รับความสงบแล้ว จะพิจารณาสภาวธรรมก็เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง
เช่นเดียวกับบุคคลที่กำลังหยุดนิ่งอยู่ มองดูอะไรก็เห็นชัดฉะนั้น
สมาธิพระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญมา
คำว่า
“สมาธิ” นี้หมายถึงความสงบของใจหรือความแน่นหนามั่นคงของใจ
เมื่อใจได้รับความสงบแล้ว ความสุขจะปรากฏขึ้นมาในขณะนั้น
ถ้ายังไม่สงบก็ยังไม่ปรากฏเป็นความสุขขึ้นมา
เมื่อมีความสงบสุขแล้ว เราพอมีช่องทางจะพิจารณาทางปัญญา


คำว่า “ปัญญา” หมายถึงความสอดส่องมองดูเหตุการณ์ต่างๆ ได้ทะลุปรุโปร่งเป็นลำดับ
หรือความแยบคาย ออกจากใจอันเดียว
สัญญา คือความจำ ปัญญา คือความคลี่คลายในสิ่งที่ตนจดจำไว้นั้น
เช่นเดียวกับเรามัดไม้หลายกิ่งหลายแขนงเข้าเป็นมัดๆ
สัญญาเช่นเดียวกับตอกหรือลวดที่เรามัดไม้เป็นกำไว้
ปัญญาเป็นผู้คลี่คลายไม้ที่เรามัดไว้นั้นให้เห็นว่ามีกี่ชิ้นด้วยกัน มีไม้อะไร และชื่อว่าอะไรบ้าง
เรื่องของปัญญาจึงเป็นธรรมชาติคลี่คลายดูสภาวธรรมซึ่งเป็นของมีอยู่ในตัวของเรา


อนึ่ง คำว่า “สมาธิ” การทำใจให้มีความสงบเยือกเย็น
ท่านผู้ฟังทั้งหลายคงจะเคยได้ทราบแล้วว่ามีหลายชั้น
ขณิกสมาธิ จิตที่รวมลงเพียงขณะเดียวแล้วถอนขึ้นมาเสีย
อุปจารสมาธิ คือสมาธิที่รวมสงบแล้วถอนออกมาเล็กน้อย
แล้วออกรู้สิ่งต่างๆ ที่มาสัมผัสใจในขณะนั้น
จะเป็นเรื่องสัตว์ บุคคล หรือภูตผีก็ตาม จัดเข้าในวงอุปจารสมาธินี้
ส่วนอัปปนาสมาธิ จิตที่หยั่งลงแล้วมีความสงบอย่างเต็มที่ และรวมอยู่ได้เป็นเวลานานๆ
คำว่า “อัปปนาสมาธิ” นี้มีความหมายกว้างขวางมาก
จิตรวมอยู่ได้นานด้วย มีความชำนิชำนาญในการเข้าออกของสมาธิด้วย
ต้องการเวลาใดได้ตามความต้องการด้วย


แต่เราผู้บำเพ็ญในทางปัญญานั้น
ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้วจึงจะต้องพิจารณาทางปัญญา
เรื่องของสมาธิ คือความสงบ จะสงบมากน้อย
พึงทราบว่าเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาคือปัญญาเป็นขั้นๆ ไป
เพราะปัญญามีหลายขั้น ขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด
สมาธิในขั้นหยาบก็เป็นบาทฐานของวิปัสสนาขั้นหยาบได้
ขั้นกลาง ขั้นละเอียดก็เป็นบาทฐานของปัญญาขั้นกลาง ขั้นละเอียดได้
และในขณะเดียวกันพึงทราบว่า
สมาธิกับปัญญานั้นเป็นธรรมคู่เคียงโดยจะแยกจากกันไม่ออก
ควรใช้ปัญญาคู่เคียงกันไปกับสมาธิตามโอกาสอันควร
คือถ้าเราจะดำเนินในทางสมาธิโดยถ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องปัญญาเลยแล้ว
จะเป็นเหตุให้ติดสมาธิคือความสงบ



เมื่อจิตถอนออกมาจากสมาธิแล้ว ต้องพิจารณาในทางปัญญา
เช่นพิจารณาธาตุขันธ์โดยทางไตรลักษณ์
วันนี้ก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันหน้าก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ไตร่ตรองอยู่เช่นนี้ทุกวันทุกคืนไป ไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่ชำนาญในทางปัญญา
ต้องมีความคล่องแคล่วชำนาญเช่นเดียวกันกับทางสมาธิ ปัญญา
ในเบื้องต้นต้องอาศัยการบังคับให้พิจารณาอยู่บ้าง
ไม่ใช่จิตเป็นสมาธิแล้วจะกลายเป็นปัญญาขึ้นมาทีเดียว
ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วกลายเป็นปัญญาขึ้นมาเอง
โดยผู้บำเพ็ญไม่ต้องสนใจมาพิจารณาทางด้านปัญญาเลยแล้ว
จิตก็ไม่มีโอกาสจะติดสมาธิ ดังที่เคยปรากฏดาษดื่นในวงนักปฏิบัติ
ความจริงเบื้องต้นต้องอาศัยมาพิจารณา ปัญญาจะมีความคล่องแคล่วและมีความสว่างไสว
ทั้งรู้เท่าทันกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้องเป็นลำดับ จะเป็นไตรลักษณ์ที่หยาบก็จะเห็นในทางปัญญา



คำว่าไตรลักษณ์อย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียดนั้น
ขึ้นอยู่กับการพิจารณา เช่นเราพิจารณาในส่วนร่างกายจัดว่าเป็นไตรลักษณ์ส่วนหยาบ
พิจารณาในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จัดเป็นไตรลักษณ์ส่วนกลาง
พิจารณาเรื่องจิตที่เป็นรากเหง้าแห่งวัฏฏะจริง ๆ แล้ว นั่นคือไตรลักษณ์ส่วนละเอียด
เมื่อจิตได้ก้าวเข้าสู่ไตรลักษณ์ส่วนหยาบ ไตรลักษณ์ส่วนกลาง ไตรลักษณ์ส่วนละเอียด
จนผ่านพ้นไตรลักษณ์ทั้งสามนี้ไปแล้ว
ธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นในอันดับต่อไปอย่างไม่มีปัญหาใดๆ นั้น
จะเรียกว่า อัตตาก็ตาม อนัตตาก็ตาม ไม่เป็นไปตามความสมมุตินิยมใดๆ ทั้งนั้น
เพราะอัตตากับอนัตตาเป็นเรื่องของสมมุติ ซึ่งโลกก็มีอยู่ด้วยกัน
ธรรมชาติอันนั้นไม่ใช่สมมุติ โลกทั้งหลายจึงเอื้อมถึงได้ยาก
เมื่อมีอัตตาและอนัตตาเป็นเครื่องเคลือบแฝงอยู่ในใจ



สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพิจารณาในสภาวะทั้งหลาย
โดยไตรลักษณ์ส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด
จนเห็นประจักษ์แจ่มแจ้งพระทัยแล้ว
กาลใด กาลนั้น พระองค์จึงทรงเปล่งพระอุทานขึ้นว่า เรียนจบไตรภพโดยสมบูรณ์แล้ว
จากนั้นก็ทรงปลงพระทัยที่จะสั่งสอนสัตว์ทั้งหลาย มีเบญจวัคคีย์เป็นต้น
พร้อมกับการประกาศพระองค์ว่าเป็นศาสดาของโลกได้
ถ้าพระองค์ยังไม่ผ่านไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียดไปแล้ว
พระองค์จะเป็นศาสดาของโลกอย่างเต็มที่ไม่ได้เลย
เราทั้งหลายผู้มุ่งจะเป็นครูสอนตน เป็นผู้ฝึกฝนทรมานตน
เราก็ต้องดำเนินไปตามแนวทางที่พระองค์ทรงพิจารณา และทรงรู้เห็นไปโดยลำดับเช่นนี้



(อ่านต่อฉบับหน้า)


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP