จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เรื่องของเณรป้อง ตอนที่ ๓ บุญคุณของพ่อแม่


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



181 destination



     เช้าวันรุ่งขึ้น เณรป้องได้ออกเดินบิณฑบาตตามหลังหลวงตาและหลวงพี่เอก โดยได้เดินผ่านหน้าบ้านตนเองด้วย ซึ่งโยมแม่ก็ได้มารอใส่บาตรเป็นปกติ แต่ที่น่าแปลกใจสำหรับเณรป้องก็คือ เช้าวันนี้ โยมพ่อได้ออกมายืนรอกับโยมแม่ด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเห็นโยมพ่อตื่นเช้ามาใส่บาตรเลย โดยทุกวันที่ป้องออกจากบ้านเพื่อไปโรงเรียนนั้น ก็เห็นว่าโยมพ่อยังไม่ตื่นนอนเลยด้วยซ้ำ ทำให้เณรป้องแปลกใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

     โยมแม่ใส่บาตรด้วยสีหน้าที่ปลาบปลื้มปีติน้ำตาซึม ส่วนโยมพ่อยืนยิ้มน้อยยิ้มใหญ่อยู่ใกล้ ๆ ช่วยถือของและส่งของให้โยมแม่ เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้ว โยมพ่อได้บอกเณรป้องว่า “ลูกผู้ชายเมื่อตั้งใจแล้ว ก็ต้องทำให้สำเร็จ เมื่อตั้งใจจะบวชให้ครบ ๑ เดือน เณรก็ต้องทำให้ได้นะ พ่อเชื่อมั่นในตัวเณร และทุ่มข้างเณรอย่างสุดตัวเลยนะ”

     เณรป้องได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็ทำหน้างง ๆ โยมพ่อจึงรีบกล่าวขึ้นมาว่า “เอ่อ ไม่ใช่ ขอโทษที พ่อเชื่อมั่นในตัวเณร และเป็นกำลังใจให้เณรนะ”

     เมื่อเดินบิณฑบาตกลับมาถึงวัดแล้ว เณรป้องก็ได้ฉันอาหาร และเดินไปที่อุโบสถเพื่อทำวัตรเช้า เมื่อเณรป้องเดินเข้ามาในอุโบสถ ก็เห็นหลวงพี่เอกนั่งรออยู่ก่อนแล้ว แต่ว่าหลวงตายังไม่มา หลวงพี่เอกเห็นเณรป้องเข้ามาในอุโบสถจึงกล่าวทักทายว่า “เณรเป็นยังไงบ้าง ฉันอาหารบิณฑบาตได้ไหม”

     “ฉันได้ครับ อาหารอร่อยมากครับ” เณรป้องตอบ

     หลวงพี่เอกได้ฟังเช่นนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า “ฉันได้ก็ดีแล้ว แต่เราไม่พึงหลงมัวเมาหรือหลงเพลินในความอร่อยนะ เณรเคยได้ยินไหมในคำสอนที่ว่า พึงเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ”

     เณรป้องส่ายหน้าทันทีพร้อมกับตอบว่า “ไม่เคยครับ”

     หลวงพี่เอกจึงอธิบายว่า “คืออย่างนี้ เราพึงพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงฉันอาหาร โดยเราไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อเมามัว ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง แต่เราฉันเพียงเพื่อความดำรงอยู่แห่งร่างกายนี้ เพื่อยังร่างกายนี้ให้เป็นไป เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่อจะอนุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยคิดเห็นว่า เพราะเหตุที่ฉันอาหารนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่า จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น เพื่อความที่ร่างกายจะดำรงต่อไปได้”

     “ถ้าเป็นอย่างนี้ พระภิกษุหรือสามเณรก็ห้ามฉันอาหารที่มีรสชาติอร่อยอย่างนั้นหรือครับ” เณรป้องถาม

     หลวงพี่เอกตอบว่า “ท่านไม่ได้ห้ามฉันอาหารที่มีรสชาติอร่อยนะ อาหารบิณฑบาตเป็นอาหารที่โยมทำถวายใส่บาตรมา พระภิกษุไม่ได้ไปเรียกร้องว่าจะต้องทำให้อร่อยหรือไม่อร่อยอย่างไร เพราะการทำอาหารถวายใส่บาตรนั้นเป็นเรื่องของโยม ส่วนความอร่อยนั้นเป็นเรื่องรสชาติอันเกิดขึ้นจากผัสสะที่มากระทบที่ลิ้น แล้วจิตใจก็ไปให้ค่าหรือปรุงแต่งว่าอาหารนี้อร่อยหรือไม่อร่อย

     แต่ส่วนสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เราไม่ได้ฉันเพื่อความอร่อย โดยให้เราพิจารณาก่อนว่าเราไม่ได้ฉันเพื่อความอร่อย แต่ฉันเพียงเพื่อความดำรงอยู่แห่งร่างกายนี้ต่อไป เพื่อที่จะได้ปฏิบัติสมณธรรม ดังนั้น เราจะไม่หลงมัวเมาไปในความอร่อย หรือปล่อยให้ความอร่อยเข้าครอบงำใจในการฉันอาหาร พอเข้าใจไหม”

     “พอเข้าใจอยู่บ้างครับ เดี๋ยวผมจะลองไปทำดูครับ” หลังจากเณรป้องตอบดังนั้นแล้ว เณรป้องก็นิ่งไป โดยมีสีหน้าที่พึงพอใจอะไรสักอย่างหนึ่ง

     หลวงพี่เอกเห็นดังนั้น จึงถามว่า “เณรสงสัยอะไรหรือเปล่า หรือไปคิดเรื่องอะไรแล้วล่ะ”

     เณรป้องจึงหันมาตอบหลวงพี่เอกว่า “อ๋อ ผมกำลังคิดถึงคุณยายตรงบ้านหัวมุมสี่แยกก่อนถึงวัดน่ะครับ คุณยายเธอใจดีมากเลยนะครับ เธอหยิบขนมมาใส่บาตรให้ผมตั้งเยอะแน่ะครับ”

     ในช่วงเวลานั้นเอง หลวงตาได้เข้ามาในอุโบสถ และได้ยินเณรป้องกล่าวเช่นนั้น หลวงตาจึงได้กล่าวกับเณรป้องว่า “เณรได้ขนมจากคุณยายแล้ว รู้สึกดีใจและขอบคุณคุณยายไหมล่ะ”

     “ใช่ครับ ผมรู้สึกดีใจและขอบคุณคุณยายครับ” เณรป้องตอบ

     หลวงตาได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกล่าวสอนว่า “นั่นแหละ เณรได้รับขนมจากคนอื่นแค่เพียงครั้งเดียว ยังรู้สึกดีใจและขอบคุณเขาขนาดนี้ แล้วเณรเคยนึกบ้างไหมว่า ตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบันนี้ พ่อแม่ให้ข้าวปลาอาหารแก่เรามามากกว่านี้เท่าไร ให้ขนมนมเนยมาเท่าไร ให้เสื้อผ้า ของเล่น และเงินทองมาเท่าไร เวลาเจ็บป่วย ก็คอยเฝ้าดูแล พาไปหาหมอ และหายามารักษา เช่นนี้แล้ว เณรควรจะรู้สึกขอบคุณพ่อแม่มากกว่านี้มากมายกี่เท่า ถ้าระลึกเช่นนั้นได้แล้ว เณรก็ควรจะทำดีกับพ่อแม่ เพื่อตอบแทนบุญคุณของท่านด้วย”

     เณรป้องได้ฟังดังนั้นแล้วก็หวนระลึกถึงตนเองที่ผ่านมาว่า ตนเองไม่เคยที่จะสนใจระลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่เลย โดยเฉพาะแม่ที่ทำงานอย่างหนักและไม่ได้พักผ่อนเท่าที่ควร เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวและเลี้ยงดูป้อง จนถึงขณะนี้แม่ก็ป่วยด้วยโรคหัวใจ ซึ่งแม้ว่าแม่จะป่วยก็ตาม แต่แม่ก็ยังทำงานหนักเช่นเดิม

     ในทางกลับกัน แม้จะเป็นช่วงเวลาปิดภาคเรียนก็ตาม แต่ป้องก็ไม่เคยคิดว่าจะมาช่วยแม่ขายของที่ร้าน หรือจะมาช่วยทำงานบ้าน โดยป้องคิดแต่เรื่องของตนเองว่า จะไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน ๆ และไปจีบผู้หญิง นอกจากนี้ แม้ว่าแม่จะขอให้ป้องมาบวชเณรเพื่อให้แม่สบายใจก็ตาม ป้องก็ยังเรียกร้องเอาโทรศัพท์มือถือจากแม่มาเป็นของแลกเปลี่ยน เณรป้องระลึกได้ดังนี้แล้ว ก็เริ่มมีสีหน้าเศร้าซึม

     หลวงตาเห็นเณรป้องมีสีหน้าเศร้าซึมเช่นนั้นแล้ว ก็กล่าวปลอบโยนว่า “เอาล่ะ ไม่ต้องเศร้าโศกไปหรอก ในเมื่อเราเริ่มสำนึกบุญคุณของพ่อแม่ได้แล้ว เราก็พยายามตั้งใจที่จะตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ก็แล้วกัน”

     เณรป้องได้ฟังหลวงตากล่าวดังนั้นแล้ว จึงถามว่า “แล้วจะตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ได้อย่างไรครับ”

     หลวงตาอธิบายว่า “พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนในเรื่องหน้าที่ของบุตรที่พึงทำต่อบิดามารดาใน ๕ ประการ กล่าวคือ ๑. บำรุงดูแลท่าน ด้วยความตั้งใจไว้ว่าท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๒. จักรับทำกิจของท่าน ๓. จักดำรงวงศ์สกุล ๔. จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก และ ๕. เมื่อท่านถึงแก่กรรมแล้ว บุตรพึงทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้

     อย่างไรก็ดี พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนว่า ด้วยความที่บิดามารดาเป็นผู้มีบุญคุณต่อบุตรอย่างมาก การตอบแทนบุญคุณบิดามารดานั้นไม่ใช่จะทำได้โดยง่าย กล่าวคือ ถึงแม้บุตรจะยกมารดาไว้บนบ่าข้างหนึ่ง และยกบิดาไว้บนบ่าอีกข้างหนึ่ง โดยบุตรมีชีวิตอยู่ตลอด ๑๐๐ ปี และได้ปฏิบัติบิดามารดาทั้ง ๒ ท่านด้วยการอบกลิ่น การนวด การอาบน้ำ อีกทั้งบิดามารดาทั้ง ๒ ท่านได้ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะบนบ่าทั้ง ๒ ของบุตรนั้นแหละ แม้การกระทำถึงเพียงนั้น ก็ยังไม่ชื่อว่าบุตรได้ทำตอบแทนแล้วแก่บิดามารดาเลย หรือแม้ว่าบุตรจะได้สถาปนาบิดามารดาในราชสมบัติอันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่ อันมีรัตนะ ๗ ประการมากหลายก็ตาม การกระทำเช่นนั้น ก็ยังไม่ชื่อว่าบุตรได้ทำตอบแทนแล้วแก่บิดามารดา ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุว่า บิดามารดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง และแสดงโลกนี้แก่บุตร

     แต่หากบุตรคนใดได้ทำให้บิดามารดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา หรือได้ทำให้บิดามารดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา หรือได้ทำให้บิดามารดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา หรือได้ทำให้บิดามารดาผู้ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทาแล้ว การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่าอันบุตรได้ทำตอบแทนแล้วแก่บิดามารดา”

     เณรป้องได้ฟังหลวงตาอธิบายแล้ว ก็เริ่มรู้สึกท้อถอยและบอกว่า “ผมคงไม่สามารถจะทำได้หรอกครับ เพราะโยมแม่ผมเองก็ถือศีลและหมั่นทำทานอยู่แล้ว ทุกทีก็มีแต่โยมแม่มาสอนผม ผมไม่มีอะไรจะไปช่วยโยมแม่ได้ ส่วนโยมพ่อผมเองก็ชอบดื่มเหล้า ซึ่งผมก็คงไม่สามารถไปเปลี่ยนโยมพ่อได้ ถ้าผมจะไปห้ามโยมพ่อดื่มเหล้า โยมพ่อคงจะเหยียบผมแบนเสียก่อน”

     หลวงตาได้ฟังแล้วก็ยิ้มพร้อมกับกล่าวว่า “จริง ๆ แล้ว การที่เธอมาบวชเณร ก็เป็นการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ได้ส่วนหนึ่ง เพราะว่าโยมแม่นั้นมีปีติอย่างมาก ส่วนโยมพ่อนั้น หลวงตาเพิ่งเห็นเขาออกมาใส่บาตรกับโยมแม่ในวันนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งก่อนหน้านี้ หลวงตาก็ไม่เคยเห็นเขาออกมาใส่บาตรเลย”

     หลวงตาเห็นเณรป้องพยักหน้ารับแล้ว ก็กล่าวต่อไปว่า “เณรก็ค่อย ๆ ทำไปตามลำดับที่สามารถทำได้ โดยเณรยังไม่ต้องคิดไปไกลว่าจะต้องช่วยพ่อแม่ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ในตอนนี้หรอกนะ ในเบื้องต้นนี้ เณรพยายามตั้งใจทำหน้าที่ตนเองให้ดีก็ใช้ได้แล้ว เมื่อเณรทำหน้าที่ให้ดี ไม่ต้องเป็นภาระหรือเป็นที่กังวลใจของพ่อแม่ และเณรพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ๆ แล้ว เณรก็ย่อมจะสามารถช่วยเหลือและตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ได้มากขึ้นในอนาคต แต่ถ้าเณรยังทำหน้าที่ตนเองได้ไม่ดี ยังรับผิดชอบเรื่องของตนเองไม่ได้ ยังทำตัวเป็นภาระหรือเป็นที่กังวลใจของพ่อแม่แล้ว ก็ช่วยอะไรพ่อแม่ไม่ได้ เพราะว่าตนเองยังช่วยตนเองไม่ได้เลย”

     เณรป้องได้ฟังหลวงตาสอนเช่นนั้นแล้ว จึงกล่าวด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นว่า “ครับ ผมจะรับผิดชอบทำหน้าที่ตนเองให้ดี เพื่อไม่ให้เป็นภาระหรือเป็นที่กังวลใจของพ่อแม่ครับ”

     หลวงตายิ้มและกล่าวว่า “สาธุ ตอนนี้เราก็มาทำวัตรเช้ากันดีกว่า”



     ********************



     ในช่วงบ่ายวันนี้ หลวงพี่เอกให้เณรป้องไปท่องบทสวดมนต์หลายบท ต่อมาหลังจากทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว เณรป้องได้ถามหลวงพี่เอกว่า “หลวงพี่ครับ ผมได้ไปท่องบทสวดมนต์ตามที่หลวงพี่บอกแล้วครับ”

     “สาธุ แล้วท่องได้หมดหรือยังล่ะ” หลวงพี่เอกถาม

     “ยังท่องได้ไม่หมดเลยครับ แต่ผมมีข้อสงสัยว่า การสวดมนต์นี้ จะได้ประโยชน์อะไรครับ”

     หลวงพี่เอกตอบว่า “เราต้องพิจารณาว่า เราสวดเพื่ออะไร สวดอย่างไร เพราะว่าใจนี้เป็นใหญ่ เป็นประธาน ยกตัวอย่างเช่น หากบางคนสวดมนต์เพื่อหวังโชคลาภ หวังเลขเด็ดไปแทงหวย ระหว่างสวดนั้นจิตใจหมกมุ่นแต่ความโลภอยากถูกรางวัล ก็ย่อมจะได้อกุศล หรือหากบางคนสวดมนต์เพื่อสาปแช่งคนอื่น โดยระหว่างสวดนั้น จิตใจหมกมุ่นแต่พยาบาทและโทสะ ก็ย่อมจะได้อกุศล

     หากเณรสวดมนต์ด้วยมุ่งหวังที่จะจดจำบทสวดมนต์ได้อย่างแม่นยำ ก็ย่อมจะได้ประโยชน์ที่สามารถจดจำบทสวดมนต์นั้นได้แม่นยำขึ้น นอกจากนี้ ก็ได้ฝึกขันติ (ความอดทน) และวิริยะ (ความขยัน) อีกด้วย แต่หากสวดมนต์ โดยระลึกถึงพระพุทธเจ้า ย่อมเป็นการเจริญพุทธานุสติ หากระลึกถึงพระธรรม ย่อมเป็นการเจริญธัมมานุสติ และหากระลึกถึงพระสงฆ์ ก็ย่อมเป็นการเจริญสังฆานุสติ นอกจากนี้ หากระหว่างที่สวดมนต์แล้ว ช่วยให้จิตใจสงบ ก็เป็นการเจริญสมถภาวนา หรือหากระหว่างที่สวดมนต์นั้น จิตใจระลึกรู้กาย ระลึกรู้เวทนา ระลึกรู้จิต หรือระลึกรู้ธรรม ก็เป็นการเจริญสติปัฏฐานได้ ซึ่งเณรอาจจะไม่เข้าใจทั้งหมดในตอนนี้ แต่หากเพียรศึกษาต่อไปเรื่อย ๆ แล้วก็ย่อมจะเข้าใจมากขึ้นในอนาคต แต่สรุปคือเกิดประโยชน์ได้หลายอย่าง”

     เณรป้องได้ฟังแล้ว ก็บอกหลวงพี่เอกว่า “ขอบคุณครับ ผมจะตั้งใจท่องบทสวดมนต์ต่อไปครับ”

    

     (ติดตามตอนต่อไป)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP