จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

อยากตั้งมูลนิธิ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



178 destination



เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีญาติธรรมท่านหนึ่งสนทนากับผมว่า
เขามีญาติอาวุโสท่านหนึ่งที่มีเงินเก็บสะสมมาอยู่ประมาณ ๔ ล้านบาท
โดยญาติอาวุโสท่านนี้เก็บสะสมเงินก้อนนี้มาตั้งแต่วัยทำงานจนกระทั่งวัยชรา
ซึ่งขณะนี้ท่านก็อายุประมาณ ๗๐ ปีแล้ว
ลูกหลานท่านก็เลี้ยงดูแลท่านเป็นอย่างดี ท่านไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนนี้
ท่านจึงมีความประสงค์จะนำเงินมาจัดตั้งกองทุนทำบุญ
เพื่อให้ลูกหลานทำบุญให้แก่ท่านภายหลังที่ท่านถึงแก่ความตายแล้ว
ญาติธรรมท่านนี้ได้นึกถึงเรื่องการตั้งมูลนิธิ
เขาจึงขอคำแนะนำจากผมว่าจะนำเงินดังกล่าวมาตั้งเป็นมูลนิธิดีไหม


ผมได้ให้คำแนะนำแก่เขา ดังต่อไปนี้ครับ
๑. การตั้งมูลนิธิมีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายประการ
ซึ่งน่าจะไม่เหมาะสมกับกรณีการตั้งกองทุนของญาติอาวุโสท่านนี้
โดยหลัก ๆ ก็คือ มูลนิธินั้นจะต้องมีการจดทะเบียนจัดตั้ง
ซึ่งต้องมีการกำหนดวางข้อบังคับ และเตรียมเอกสารหลายอย่าง
ต้องมีกองทุนจัดตั้งเป็นจำนวนขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้
ซึ่งกองทุนจัดตั้งขั้นต่ำนี้ไม่สามารถถอนนำไปใช้ได้ (ใช้ได้แค่ดอกผล)
ต้องมีการแต่งตั้งกรรมการมูลนิธิขึ้นมาบริหาร
โดยกรรมการจะต้องมีการประชุมกันทุกปี ก็ต้องมีการจัดทำเอกสารการประชุม
และกรรมการก็ต้องออกจากตำแหน่งตามวาระ
โดยมีระเบียบข้อบังคับที่มูลนิธิต้องปฏิบัติตามหลายเรื่อง


แค่เพียงใช้เวลาศึกษาข้อมูลในการจัดตั้งมูลนิธิ ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยแล้ว
หากญาติธรรมท่านนี้ต้องไปดำเนินการจดทะเบียนเอง
ก็จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการไม่น้อย
หรือหากจะไปว่าจ้างให้บุคคลอื่นจดทะเบียนมูลนิธิให้ก็ได้
แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มเติมขึ้นอีก


นอกจากนี้ มูลนิธิจะต้องทำบัญชี และจัดทำงบการเงิน
โดยให้ผู้สอบบัญชีรับรองงบการเงิน และนำส่งเจ้าพนักงานทุกปี
ซึ่งก็เท่ากับว่าจะมีงานเอกสารที่ต้องทำ
และมีค่าใช้จ่ายในส่วนของผู้สอบบัญชีเพิ่มขึ้นมาอีก


โดยสรุปแล้ว ก็คือการตั้งมูลนิธินั้นจะเป็นการเพิ่มภาระงานหลายอย่าง
ให้แก่ลูกหลานหรือทายาทที่จะต้องมาบริหารดูแลมูลนิธิแห่งนี้ในอนาคต
ซึ่งในเมื่อญาติอาวุโสได้จากไปแล้ว ก็ไม่ควรมาสร้างงานให้แก่
ลูกหลานหรือทายาทที่จะต้องมารับภาระงานในส่วนนี้โดยไม่จำเป็น
อนึ่ง หากรายได้ของมูลนิธิไม่เพียงพอแล้ว
ดีไม่ดีลูกหลานจะต้องนำเงินส่วนตัวไปโปะค่าใช้จ่ายของมูลนิธิเสียอีกด้วย


๒. การเก็บเงินไว้ให้ลูกหลานนำไปทำบุญในอนาคตนั้น
เป็นการได้ประโยชน์น้อยแก่ตัวญาติอาวุโสท่านนี้เอง
และก็มีความเสี่ยงว่า เงินจำนวนนั้นอาจจะไม่ได้ถูกไปทำบุญตามวัตถุประสงค์
กล่าวคือ หากญาติอาวุโสท่านนี้สามารถทยอยนำเงินของท่าน
ไปทำบุญด้วยตนเองในเวลานี้ได้แล้ว
ท่านก็ย่อมเห็นได้ด้วยตนเองว่าได้มีการนำเงินนี้ไปทำบุญอะไร
ย่อมเกิดความปลื้มปีติในการทำบุญดังกล่าวได้ด้วยตนเอง
เวลาที่จะระลึกถึงบุญที่ได้ทำนั้น เป็นจาคานุสติ ก็สามารถระลึกได้โดยง่าย


ในทางกลับกัน หากญาติอาวุโสท่านนี้ไม่นำเงินไปทำบุญด้วยตนเอง
แต่เก็บเงินเอาไว้ให้ลูกหลานไปทำบุญให้ในอนาคต
ก็ย่อมมีความเสี่ยงว่าลูกหลานหรือทายาทจะนำเงินไปทำบุญให้จริงไหม
หรืออาจจะนำเงินไปทำบุญในเนื้อนาบุญที่ญาติอาวุโสไม่เห็นด้วยก็ได้
แล้วหากลูกหลานหรือทายาทนำเงินไปทำบุญให้ในอนาคตแล้ว
ในเวลานั้น ญาติอาวุโสจะอยู่ในภพภูมิที่รับรู้และอนุโมทนาได้หรือไม่ ก็ไม่ทราบ
ท่านอาจจะอยู่ในภพภูมิที่ไม่สามารถรับรู้ได้ และอนุโมทนาไม่ได้ ก็ได้


๓. โดยเหตุผลที่ผมได้กล่าวมาแล้วทั้งสองข้อข้างต้น
ผมจึงแนะนำทางเลือกแก่ญาติธรรมท่านนี้ว่า
(๑) ผมไม่แนะนำให้ญาติอาวุโสท่านนี้ตั้งมูลนิธิ
เพราะจะเป็นภาระแก่ลูกหลานและทายาทโดยไม่จำเป็น
โดยเงินกองทุนของญาติอาวุโสไม่ได้มากพอที่จะสร้างรายได้เลี้ยงมูลนิธิ
ซึ่งอาจจะกลับทำให้ลูกหลานต้องหาเงินมาโปะค่าใช้จ่ายมูลนิธิเสียอีก


(๒) ให้ญาติอาวุโสท่านนี้แบ่งแยกเงินในบัญชีให้ชัดเจนว่า
บัญชีไหนท่านประสงค์จะนำไปทำบุญ
และบัญชีไหนท่านประสงค์จะยกเป็นมรดกให้ลูกหลานและทายาท


(๓) ให้ญาติอาวุโสท่านนี้ทยอยนำเงินในบัญชีที่จะนำไปทำบุญนี้
ไปทำบุญด้วยตนเองอยู่เรื่อย ๆ โดยจัดสรรแบ่งส่วนเงินตามระยะเวลา
ยกตัวอย่างเช่น ญาติอาวุโสท่านนี้มีเงิน ๔ ล้านบาท
โดยตั้งใจจะแบ่งเป็นมรดกให้ลูกหลานหรือทายาทเป็นจำนวนเงิน ๒ ล้านบาท
และจะนำเงินไปทำบุญ ๒ ล้านบาท โดยประมาณว่าจะมีชีวิตอยู่ถึง ๘๐ ปี
ก็เท่ากับว่าจะนำเงิน ๒ ล้านบาทไปทำบุญในเวลา ๑๐ ปี
ก็เท่ากับแบ่งเป็นปีละ ๒ แสนบาท หรือเดือนละ ๑.๖๗ หมื่นบาท
จากนั้น ญาติอาวุโสท่านนี้ก็นำเงินไปทำบุญเดือนละ ๑.๖๗ หมื่นบาททุกเดือน
และในเวลาที่ไปทำบุญนั้น ก็ให้ลูกหลานพาท่านไปด้วย
เพื่อให้ลูกหลานได้ร่วมทำบุญด้วย และร่วมอนุโมทนาบุญด้วย
ก็เท่ากับว่าทุกคนในครอบครัวได้บุญด้วยกันในปัจจุบันนี้
โดยไม่ต้องไปรอในอนาคตซึ่งมีความเสี่ยง


(๔) ให้ญาติอาวุโสท่านนี้เขียนพินัยกรรมให้ชัดเจนว่า
บัญชีไหนเป็นบัญชีมรดกให้แก่ลูกหลาน และบัญชีไหนเป็นบัญชีเงินทำบุญ
โดยในขณะที่ท่านตายนั้น หากยังมีเงินเหลือในบัญชีทำบุญแล้ว
ญาติอาวุโสท่านนี้ประสงค์จะให้ลูกหลานหรือทายาทนำเงินจำนวนที่เหลือนั้น
ไปทำบุญอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ ในการกำหนดเรื่องดังกล่าวต้องคำนึงว่า
กรณีจะไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ลูกหลานหรือทายาทจนเกินไป
เช่น สมมุติไปกำหนดว่าให้นำเงินไปทำบุญทุกวันวันละ ๑๐๐ บาท
และปรากฏว่าเหลือเงินอยู่ในบัญชีเป็นจำนวนเงิน ๑ ล้านบาท
ก็เท่ากับว่าต้องเป็นภาระแก่ลูกหลานหรือทายาทต่อไปอีกไม่น้อยกว่า ๒๗ ปี
อย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเป็นภาระที่นานเกินไป เป็นต้น


เช่นนี้แล้ว หากญาติอาวุโสท่านนี้จะฝากเรื่องให้
ลูกหลานหรือทายาทนำเงินในบัญชีทำบุญไปช่วยทำบุญต่อแล้ว
ท่านก็ควรจะกำหนดอะไรที่ง่าย สะดวก ค่าใช้จ่ายน้อย และไม่ใช่เวลานาน
เพื่อที่จะไม่เป็นการสร้างภาระแก่ลูกหลานหรือทายาทมากจนเกินไป


ญาติธรรมท่านนี้ได้ฟังคำแนะนำแล้วก็เห็นด้วย
โดยเขาจะลองนำไปเสนอญาติอาวุโสของเขาต่อไป
ซึ่งผมก็ไม่ทราบนะครับว่า ท้ายที่สุดแล้วญาติอาวุโสท่านนี้เลือกอย่างไร
ในการนี้ ผมก็เชื่อว่าน่าจะมีญาติธรรมบางท่านที่มีคำถามนี้เช่นเดียวกัน
จึงขอแบ่งปันเรื่องดังกล่าวข้างต้นไว้เป็นทางเลือกเพื่อพิจารณาครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP