จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๑๗๘ อภัยง่ายไม่ใช่ทำใจเก่ง



178 talk


การทำใจ
ใกล้กันมากกับการหลอกตัวเอง
ฝืนสร้างความรู้สึกเป็นตรงข้าม
ยิ่งแกล้งรู้สึก ยิ่งเหนื่อย
ยิ่งเกิดอาการซุกใต้พรม
หน้าชื่นอกตรมไปอย่างนั้น


การทำใจอภัย
ก็คือการบีบบังคับใจตัวเองให้อ่อนลงดื้อๆ
ทั้งที่มันยังแข็งเป๊ก
สัมผัสเข้าไปจะรู้เลยว่ายังสากกระด้าง
ไม่เป็นที่น่าอภิรมย์กับตัวเองอยู่


ความเข้าใจ
ใกล้กันมากกับญาณหยั่งรู้
รู้ว่าอะไรคือต้นเหตุ
เห็นว่าอะไรเป็นผลลัพธ์
ยิ่งเข้าใจถ่องแท้เท่าไร
ยิ่งขี้เกียจถือสาหาความโลกเท่านั้น


การทำความเข้าใจ
ก็คือการปลดปล่อยพันธนาการทางอารมณ์
รู้สึกเป็นอิสระจากความโกรธความเกลียด
อ่อนโยนอยู่ข้างใน
โดยไม่แสดงความอ่อนแอที่ข้างนอก
รู้สึกดีกับตัวเองที่จัดการกับปัญหาได้
และป้องกันปัญหาข้างหน้าได้
โดยไม่ต้องแข็งกระด้าง
ไม่ต้องร้อนระอุ


ก้าวแรกของการฝึกทำความเข้าใจ
จึงต้องไม่ใช่แกล้งเห็นใจ
แต่ต้องเห็นจริงว่า
เขาอยู่กับชีวิตแบบไหน
เงื่อนไขทางความทุกข์ของเขาเป็นอย่างไร
และสุดท้าย ทำไมจึงเป็นเหตุให้เราทุกข์
ทางออกของทุกข์ทั้งเราทั้งเขาอยู่ตรงไหน


โดยย่นย่อ
เมื่อเข้าใจทุกข์ เหตุแห่งทุกข์
และหนทางดับเหตุแห่งทุกข์
ก็เหมือนคนรู้วิธีดับไฟ
จุดเริ่มต้นความเย็นเกิดขึ้นตั้งแต่รู้วิธี
จึงอภัยได้โดยไม่ต้องพยายาม
แค่คิดตามเหตุตามผลจนเข้าใจจริงๆเท่านั้น!


ดังตฤณ
มีนาคม ๕๙



review


ผู้ที่รักษาจิตและผู้ที่ไม่รักษาจิตของตนเอง
จะได้รับผลกรรมแตกต่างกันอย่างไร
ติดตามได้ในคอลัมน์"ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน"ปฐมกูฏสูตร ว่าด้วยกรรมที่เกิดจากการรักษาและไม่รักษาจิต"


ใครที่โทสะเกิดง่ายและความยึดมั่นถือมั่นก็มาก
พยายามหลายแล้วที่จะแก้ไขแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ
ลองมาดูวิธีการดีๆ ได้ใน "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรให้เลิกเป็นคนโกรธง่าย"


การเลือกเวลาที่เหมาะเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ
ย่อมทำให้การประกอบกิจการเป็นไปได้อย่างราบรื่นค่ะ
ดังเรื่องราวในคอลัมน์"โหรา (ไม่) คาใจ"
ตอน"รอคอยได้ไม่ท้อแท้"



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP