จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ร้องไห้เศร้าโศกถึงผู้ตาย


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



177 destination



ในเวลาที่มีบุคคลอันเป็นที่รักถึงแก่ความตาย
ญาติพี่น้องหรือบุคคลที่รักผู้ตายนั้นก็ย่อมจะ
แสดงความเศร้าโศกคร่ำครวญร้องไห้ถึงผู้ตายนั้นเป็นธรรมดา
แต่หากจะพิจารณาตามพระธรรมคำสอนแล้ว
การเศร้าโศกคร่ำครวญร้องไห้ถึงผู้ตายไม่ใช่สิ่งควรทำนะครับ


ใน “อรรถกถาโคณเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา) ได้เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง ในกรุงพาราณสี บิดาของคฤหบดีคนหนึ่งได้ถึงแก่ความตาย
คฤหบดีนั้นได้เศร้าโศกมีหน้านองไปด้วยน้ำตา นัยน์ตาแดง
เฝ้าคร่ำครวญร้องไห้ที่สถูปดินที่บรรจุกระดูกของบิดาที่ตายไป
ในเวลานั้น พระโพธิสัตว์เกิดเป็นบุตรของคฤหบดีดังกล่าว ชื่อว่า “สุชาตะ”
ซึ่งยังเป็นเด็ก แต่เป็นคนฉลาดเฉียบแหลมสมบูรณ์ด้วยปัญญา
สุชาตะจึงคิดหาอุบายเครื่องกำจัดความเศร้าโศกของบิดาตนเอง


ต่อมาวันหนึ่ง สุชาตะเห็นโคตัวหนึ่งตายที่ภายนอกเมือง
สุชาตะจึงนำเอาหญ้าและน้ำมาวางไว้ข้างหน้าของโคที่ตายแล้วนั้น
พลางยืนกล่าวว่า “จงกิน จงกินเสีย จงดื่ม จงดื่มเถิด”
คนผ่านไปผ่านมาเห็นเข้า จึงกล่าวว่า “สหายสุชาตะ ท่านเป็นบ้าไปแล้วหรือ
ที่ท่านน้อมนำหญ้าและน้ำไปให้โคที่ตายแล้ว”
สุชาตะได้ฟังเช่นนั้นแล้วก็ไม่ได้ตอบอะไรแก่คนทั้งหลาย


คนทั้งหลายนั้นจึงพากันไปหาคฤหบดีซึ่งเป็นบิดาของสุชาตะแล้วกล่าวว่า
“บุตรของท่านเป็นบ้าไปเสียแล้ว เอาหญ้าและน้ำให้โคที่ตายกิน”
เมื่อคฤหบดีได้ฟังดังนั้น ก็คลายความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเพราะปรารภถึงบิดา
แต่กลับถึงความสลดใจว่า บุตรของเรากลายเป็นคนบ้าไปแล้ว
คฤหบดีจึงรีบไปหาสุชาตะแล้วกล่าวว่า “สุชาตะ เจ้าเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม
สมบูรณ์ด้วยปัญญามิใช่หรือ แต่เหตุไฉนเจ้าจึงเอาหญ้าและน้ำ ให้โคที่ตายกิน”
คฤหบดีกล่าวเช่นนั้นแล้ว ก็ได้กล่าวต่อไปอีกว่า
“เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือ จึงเกี่ยวหญ้าที่เขียวสดแล้ว
บังคับโคแก่ที่เป็นสัตว์ตายแล้วว่า จงกิน จงกิน
อันโคตายแล้วย่อมไม่ลุกขึ้นกินหญ้าและน้ำมิใช่หรือ
เจ้าเป็นทั้งคนพาล ทั้งเป็นคนทรามปัญญา เหมือนคนอื่นที่มีปัญญาทรามฉะนั้น”


สุชาตะได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงได้กล่าวตอบบิดาว่า
“โคตัวนี้ยังมีเท้าทั้ง ๔ ข้าง มีศีรษะ มีตัวพร้อมทั้งหาง นัยน์ตาก็มีอยู่ตามเดิม
ข้าพเจ้าคิดว่า โคตัวนี้จะพึงลุกขึ้นกินหญ้าสักวันหนึ่ง
ส่วนมือเท้า กายและศีรษะของคุณปู่ไม่ปรากฏ
แต่คุณพ่อมาร้องไห้ถึงกระดูกของปู่ที่บรรจุไว้ในสถูปดิน จะไม่เป็นคนโง่ไปหรอกหรือ”
หลังจากกล่าวเช่นนั้นแล้ว สุชาตะจึงได้กล่าวธรรมแก่คฤหบดีว่า
“ก็มือเท้า กาย ศีรษะของคุณปู่ของผมย่อมไม่ปรากฏ
แต่คุณพ่อร้องไห้ที่สถูปดินที่สร้างไว้บรรจุกระดูกของคุณปู่อย่างเดียว
เป็นผู้ทรามปัญญาคือไม่มีปัญญา ตั้งร้อยเท่าพันเท่า
สังขารทั้งหลายมีความแตกไปเป็นธรรมดา ย่อมแตกไป
ผู้รู้แจ้งในข้อนั้นจะมีความร่ำไรไปทำไม”


คฤหบดีซึ่งเป็นบิดาของพระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว
จึงคิดว่า บุตรของเราเป็นบัณฑิต ได้ทำกรรมนี้เพื่อให้เราเข้าใจ
จึงกล่าวสรรเสริญบุตรว่า “สุชาตะเอ๋ย เราได้รู้แล้วว่า
สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นธรรมดา ตั้งแต่นี้ไป เราจะไม่เศร้าโศก
คนผู้มีปัญญาอันชื่อว่าสามารถขจัดความเศร้าโศกเสียได้ พึงเป็นเช่นกับเจ้านี่แหละ
เจ้าดับความกระวนกระวายทั้งปวงของเราผู้เร่าร้อนอยู่ให้หาย
เหมือนบุคคลเอาน้ำดับไฟที่ราดด้วยน้ำมัน
ได้ถอนขึ้นแล้วหนอ ซึ่งลูกศรคือความเศร้าโศก อันเสียบหทัยของบิดา
บิดาผู้มีลูกศรอันถอนได้แล้ว เป็นผู้เย็นสงบแล้ว
ต่อไปนี้ บิดาจะไม่เศร้าโศก จะไม่ร้องไห้ เพราะฟังคำของเจ้า
ชนเหล่าใดที่มีปัญญา มีความอนุเคราะห์ต่อมารดาบิดา
ชนเหล่านั้นย่อมทำอย่างนี้ ย่อมยังมารดาบิดาให้หายจากความเศร้าโศก
เหมือนสุชาตะทำให้บิดาหายเศร้าโศกฉะนั้น”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=3104&Z=3124&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=93


ใน “อรรถกถาอุรคเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา) ได้เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง ในเมืองพาราณสี ได้มีตระกูลพราหมณ์ ชื่อว่าธรรมปาละ
ในตระกูลนั้นมีบุคคลเหล่านี้คือ พราหมณ์ พราหมณี บุตร ธิดา ลูกสะใภ้ และทาสี
ทุกคนได้มีความยินดีในการเจริญมรณานุสติ
ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พราหมณ์กับบุตรได้ออกจากเรือนไปไถนา
บุตรสุมหญ้าใบไม้และฟืนแห้งๆ อยู่
งูเห่าตัวหนึ่งในที่นั้นเลื้อยออกจากโพรงไม้ เพราะกลัวถูกเผาไฟ
จึงกัดบุตรของพราหมณ์ถึงแก่ความตาย
บุตรของพราหมณ์นี้ได้ไปบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช


พราหมณ์เห็นบุตรตายแล้ว จึงกล่าวกับบุรุษผู้หนึ่งที่จะเดินไปใกล้ที่บ้านตนเองว่า
“สหายเอ๋ย ท่านจงไปเรือนของเรา แล้วบอกนางพราหมณีอย่างนี้ว่า จงอาบน้ำ
นุ่งผ้าขาว ถือเอาภัตรและดอกไม้ของหอมเป็นต้น สำหรับคนผู้เดียว แล้วจงรีบมา”
บุรุษนั้นไปที่เรือนของพราหมณ์แล้ว บอกให้ทราบอย่างนั้น
บุคคลทั้งหลายในเรือนก็ได้ทำตาม
พราหมณ์ได้อาบน้ำ บริโภคอาหารแล้วลูบไล้ มีชนบริวารห้อมล้อม
ยกร่างของบุตรขึ้นเชิงตะกอน จุดไฟเผา ไม่เศร้าโศก ไม่เดือดร้อน
ได้ยืนมนสิการถึงอนิจจสัญญา เหมือนเผาท่อนไม้


ลำดับนั้น บุตรของพราหมณ์ซึ่งบังเกิดเป็นท้าวสักกะ
ได้ทรงพิจารณาชาติก่อนของพระองค์ และบุญที่ได้ทำไว้
เมื่อจะอนุเคราะห์บิดาและบรรดาญาติ จึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์มาในที่นั้น
เห็นพวกญาติไม่เศร้าโศก จึงกล่าวกับบิดาว่า
“ท่านผู้เจริญเผามฤคจงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้าบ้าง ข้าพเจ้าหิวจริง”
พราหมณ์กล่าวตอบว่า “ไม่ใช่มฤค แต่เป็นมนุษย์นะ พราหมณ์”
ท้าวสักกะกล่าวว่า “ผู้นี้เป็นศัตรูของพวกท่านหรืออย่างไร”
พราหมณ์กล่าวตอบว่า “ไม่ใช่ศัตรู เขาเป็นบุตรหนุ่มของข้าพเจ้า”


ท้าวสักกะจึงกล่าวถามว่า “เมื่อบุตรตายไป ทำไมพวกท่านจึงไม่เศร้าโศกกันเล่า?”
พราหมณ์จึงกล่าวตอบว่า “บุตรของเรา ละสรีระอันคร่ำคร่าของตนไป
เหมือนงูลอกคราบ เมื่อสรีระใช้สอยไม่ได้ ละไปแล้วทำกาละไปแล้วอย่างนี้
บุตรของเราเมื่อญาติเผาอยู่ ย่อมไม่รู้ถึงความร่ำไรของพวกญาติได้
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา คติอันใดของเขามีอยู่ เขาก็ได้ไปสู่คติอันนั้นแล้ว”


นางพราหมณีกล่าวตอบว่า “บุตรของดิฉัน ดิฉันไม่ได้เชิญมาก็มาจากปรโลกนั้น
ดิฉันไม่ได้อนุญาตให้ไป ก็ไปแล้วจากมนุษยโลกนี้ เขามาอย่างใด เขาก็ไปอย่างนั้น
ทำไมจะต้องไปร่ำไร ในการไปจากโลกนี้ของเขาเล่า
เขาถูกพวกญาติเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไรของพวกญาติ
เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงเขา คติอันใดของเขามีอยู่ เขาก็ได้ไปสู่คติอันนั้นแล้ว”


น้องสาวกล่าวตอบว่า “ถ้าดิฉันร้องไห้ ก็จะผ่ายผอม
ผลอะไรจะพึงมีแก่ฉัน ในการร้องไห้นั้น
ความไม่สบายใจก็จะพึงมีแก่ญาติมิตรและสหายยิ่งขึ้น
พี่ชายของดิฉันถูกเผาอยู่ ยังไม่รู้สึกถึงความร่ำไรของพวกญาติเลย
เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงเขา คติอันใดของเขามีอยู่ เขาก็ไปสู่คติอันนั้น”


ภรรยากล่าวตอบว่า “ผู้ใดเศร้าโศกถึงคนที่ล่วงลับไปแล้ว
ผู้นั้นก็เปรียบเหมือนทารกร้องไห้ถึงพระจันทร์อันลอยอยู่ในอากาศ ฉะนั้น
สามีดิฉันถูกพวกญาติเผาอยู่ ยังไม่รู้สึกถึงความร่ำไรของพวกญาติ
เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงเขา คติอันใดของเขามีอยู่ เขาก็ไปสู่คติอันนั้นแล้ว”


นางทาสีกล่าวตอบว่า “หม้อน้ำที่แตกแล้วจะพึงประสานให้ติดอีกไม่ได้ฉันใด
ผู้ใดเศร้าโศกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว ผู้นั้นก็เปรียบเหมือนฉันนั้น
นายของดิฉันถูกพวกญาติเผาอยู่ ก็ยังไม่รู้สึกถึงความร่ำไรของพวกญาติ
เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงท่าน คติอันใดของท่านมีอยู่ ท่านก็ได้ไปสู่คติอันนั้นแล้ว”


ท้าวสักกะ ครั้นได้ฟังถ้อยคำของคนเหล่านั้นแล้วมีจิตเลื่อมใส
จึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายเจริญมรณัสสติชอบทีเดียว
จึงให้โอวาทว่า ท่านทั้งหลายอย่าประมาท จงให้ทาน รักษาศีล ทำอุโบสถกรรม
และบอกให้คนเหล่านั้นรู้จักพระองค์แล้ว เสด็จไปสู่ที่ของพระองค์
ต่อมาชนเหล่านั้นได้ทำบุญมีทานเป็นต้น ดำรงอยู่ชั่วอายุแล้ว บังเกิดในเทวโลก
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=3220&Z=3262&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=97


ใน “อรรถกถาอุพพรีเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา) ได้เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง ในกปิลนครแคว้นปัญจาละ ได้มีพระราชาพระนามว่าพรหมทัต
พระองค์ทรงยินดีในการทำประโยชน์แก่ประชาชนในแว่นแคว้นของพระองค์
พระองค์ได้เสวยรัชสุขตลอดพระชนม์ชีพ ในที่สุดแห่งอายุก็เสด็จสวรรคต
เมื่อพระราชาสวรรคตแล้ว พระนางอุพพรีซึ่งเป็นพระมเหสีได้มีความเศร้าโศก
เพราะพลัดพรากจากพระสวามี พระนางได้ไปยังป่าช้า คร่ำครวญเศร้าโศกอยู่


ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์ทรงผนวชเป็นฤๅษี บรรลุฌานและอภิญญา
ได้ทอดพระเนตรเห็นพระนางอุพพรีผู้เพียบพร้อมความเศร้าโศก ด้วยทิพยจักษุ
จึงเสด็จเหาะมา ปรากฏรูปประทับยืนอยู่ในอากาศ ถามว่า
“หญิงนี้มาคร่ำครวญเศร้าโศกรำพันอยู่ถึงใครกัน”
พระนางอุพพรีได้ตอบว่าพระนางได้เศร้าโศกถึงพระเจ้าพรหมทัต
ฤๅษีจึงได้ถามต่อไปว่า “พระราชาทรงพระนามว่าพรหมทัต
ถูกเผาในป่าช้านี้ ๘๖,๐๐๐ พระองค์แล้ว
บรรดาพระเจ้าพรหมทัตเหล่านั้น
พระนางทรงกรรแสงถึงพระเจ้าพรหมทัตพระองค์ไหน”


พระนางอุพพรีถูกฤๅษีนั้นถามเช่นนั้นแล้ว ได้ตอบว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระราชาพระองค์ใดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจูฬนี
ทรงเป็นใหญ่อยู่ในแคว้นปัญจาละ
ดิฉันเศร้าโศกถึงพระราชาพระองค์นั้นผู้เป็นพระราชสวามี
ทรงประทานสิ่งของที่น่าปรารถนาทุกอย่าง”


เมื่อพระนางอุพพรีกล่าวอย่างนี้แล้ว ฤๅษีจึงกล่าวถามต่อไปว่า
“พระราชาทุกพระองค์ ทรงพระนามว่าพรหมทัตเหมือนกันทั้งหมด
ล้วนเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจูฬนี เป็นใหญ่อยู่ในแคว้นปัญจาละ
พระนางเป็นพระมเหสี ของพระราชาเหล่านั้นทั้งหมดโดยลำดับกันมา
เพราะเหตุไรพระนางจึงเว้นพระราชาพระองค์ก่อนๆ เสีย
มาทรงกรรแสงถึงพระราชาพระองค์หลังเล่า”


พระนางอุพพรีได้ฟังดังนั้นแล้วเกิดสลดพระทัย จึงกล่าวถามฤๅษีว่า
“ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ดิฉันเกิดเป็นแต่หญิงตลอดกาลนานเท่านั้นหรือ
หรือจะเกิดเป็นชายบ้าง ท่านพูดถึงแต่กาลที่ดิฉันเป็นหญิง ในสังสารวัฏเป็นอันมาก”


ฤๅษีได้ฟังดังนั้นแล้ว เมื่อจะแสดงว่า การกำหนดแน่นอนนี้ ไม่มีในสังสารวัฏว่า
หญิงก็ต้องเป็นหญิง ชายก็ต้องเป็นชาย อยู่นั่นเอง จึงกล่าวตอบว่า
“บางคราวพระนางเกิดเป็นหญิง บางคราวก็เกิดเป็นชาย
บางคราวก็เกิดในกำเนิดปสุสัตว์ (คือบางคราวก็เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน)
ที่สุดแห่งอัตภาพทั้งหลายอันเป็นอดีต ย่อมไม่ปรากฏอย่างนี้”


เมื่อพระนางอุพพรีได้ฟังดังนั้นแล้ว มีหทัยสลดในสังสารวัฏ
และมีใจเลื่อมใสในธรรมปราศจากลูกศรคือความเศร้าโศกแล้ว จึงได้กล่าวว่า
“ท่านดับความกระวนกระวายทั้งปวงของดิฉันผู้เร่าร้อนอยู่ให้หาย
เหมือนบุคคลเอาน้ำดับไฟที่ราดด้วยน้ำมันฉะนั้น
ท่านบรรเทาความเศร้าโศก ถึงพระสวามีของดิฉัน
ผู้ถูกความเศร้าโศกครอบงำแล้ว ถอนได้แล้วหนอ
ซึ่งลูกศรความเศร้าโศก อันเสียดแทงที่หทัยของดิฉัน
ข้าแต่ท่านผู้เป็นพระมหามุนี ดิฉันเป็นผู้มีลูกศรคือความเศร้าโศกอันถอนขึ้นได้แล้ว
เป็นผู้เย็นสงบ ดิฉันไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้อีก เพราะได้ฟังคำของท่าน”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=3931&Z=3987&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=110


ใน “อรรถกถากัณหเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา) ได้เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง ในกรุงทวารวดี มีพระราชาพระนามว่าวาสุเทพมหาราช
ต่อมาพระโอรสอันเป็นที่รักของพระราชาได้เสด็จสวรรคต
พระราชาถูกความเศร้าโศกครอบงำ ทรงละพระราชกรณียกิจทุกอย่าง
ทรงยึดแคร่เตียง และทรงบรรทมบ่นเพ้อไป


ในเวลานั้น ฆฏบัณฑิต ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระราชาทรงต้องการจะ
ขจัดความเศร้าโศกของพระราชาด้วยอุบาย
จึงแปลงตนเองเป็นคนบ้า แหงนดูอากาศ เที่ยวไปทั่วพระนครพลางกล่าวว่า
“ท่านจงให้กระต่ายแก่เรา ท่านจงให้กระต่ายแก่เราเถิด”
ชาวพระนครทั้งสิ้นพากันแตกตื่นว่า ฆฏบัณฑิตเป็นบ้าไปเสียแล้ว


ในเวลานั้น อำมาตย์ชื่อว่าโรหิไณยได้ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าวาสุเทพ แล้วกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ ขอพระองค์จงลุกขึ้นเถิด จักมัวบรรทมอยู่ทำไม
บัดนี้ ฆฏบัณฑิตผู้เป็นพระภาดาร่วมอุทรของพระองค์ มีลมกำเริบคลั่งเพ้อถึงกระต่าย”


พระเจ้าวาสุเทพได้สดับคำของโรหิไณยอำมาตย์นั้นแล้ว
ก็รีบเสด็จลุกขึ้นทันที แล้วรีบลงจากปราสาท เสด็จไปหาฆฏบัณฑิต
จับมือทั้ง ๒ ของฆฏบัณฑิตไว้มั่น แล้วตรัสว่า
“เหตุไรหนอ เธอจึงทำตัวเหมือนคนบ้า เที่ยวไปทั่วนครทวาร
บ่นเพ้อว่า กระต่าย กระต่าย เธอปรารถนากระต่ายเช่นไร
ฉันจะให้นายช่างทำกระต่ายทองคำ กระต่ายแก้วมณี กระต่ายโลหะ
กระต่ายเงิน กระต่ายสังข์ กระต่ายสิลา กระต่ายแก้วประพาฬให้แก่เธอ
หรือกระต่ายอื่นที่เที่ยวหากินอยู่ในป่าก็มีอยู่
ฉันจะให้เขานำกระต่ายเหล่านั้นมาให้แก่เธอ เธอปรารถนากระต่ายเช่นไรเล่า”


ฆฏบัณฑิตได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกราบทูลพระราชาว่า
“ข้าพระองค์ไม่ปรารถนากระต่ายที่อาศัยอยู่บนแผ่นดิน
ข้าพระองค์ปรารถนากระต่ายจากดวงจันทร์
ข้าแต่พระเจ้าเกสวะ ขอพระองค์โปรดนำกระต่ายนั้นมาประทานแก่ข้าพระองค์เถิด”


พระราชาครั้นทรงสดับดังนั้นจึงถึงความโทมนัสว่า
พระภาดาของเราเป็นบ้าเสียแล้วโดยมิต้องสงสัย จึงตรัสว่า
“ดูก่อนพระญาติ เธอจักละชีวิตอันสดชื่นไปเสียเป็นแน่
เพราะเธอปรารถนากระต่ายจากดวงจันทร์
ชื่อว่าปรารถนาสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา”


ฆฏบัณฑิตได้ฟังพระดำรัสของพระราชาแล้ว จึงกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้กัณหโคตร ถ้าพระองค์ทรงพร่ำสอนผู้อื่นอย่างที่ทรงทราบไซร้
เพราะเหตุไร แม้ทุกวันนี้ พระองค์ก็ยังทรงเศร้าโศกถึงบุตรที่ตายแล้ว ในกาลก่อนเล่า
หม่อมฉันปรารถนาสิ่งที่ปรากฏอยู่อย่างนี้ ส่วนพระองค์เศร้าโศกเพื่อต้องการสิ่งที่ไม่ปรากฏ
ก็มนุษย์หรืออมนุษย์ไม่พึงได้ตามปรารถนาว่า
ขอบุตรของเราที่เกิดมาจงอย่าตายเลย
พระองค์จะพึงได้โอรสที่ทิวงคตแล้ว ที่ไม่ควรได้แต่ที่ไหน
ข้าแต่พระองค์ผู้กัณหโคตร พระองค์ทรงกันแสงถึงโอรสที่ทิวงคตแล้ว
ซึ่งไม่สามารถจะนำคืนมาด้วยมนต์ รากยา โอสถหรือทรัพย์ได้”


หลังจากนั้น ฆฏบัณฑิตได้กราบทูลต่อไปว่า
“กษัตริย์ทั้งหลาย แม้จะมีแว่นแคว้น มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก

มีทรัพย์และธัญญาหารมาก จะไม่ทรงชรา จะไม่ทรงสวรรคต ไม่มีเลย
กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล และคนเทหยากเยื่อ
และคนอื่นๆ จะไม่แก่ จะไม่ตาย เพราะชาติของตน ก็ไม่มีเลย
ชนเหล่าใด ร่ายมนต์อันประกอบด้วยองค์ ๖ อันพราหมณ์คิดไว้แล้ว
ชนเหล่านั้นและชนเหล่าอื่นจะไม่แก่ และไม่ตาย เพราะวิชาของตน ก็ไม่มีเลย
แม้พวกฤๅษีเหล่าใด เป็นผู้สงบ มีตนสำรวมแล้ว มีตบะ
แม้พวกฤๅษีผู้มีตปะเหล่านั้นย่อมละร่างกายไปตามกาล
พระอรหันต์ทั้งหลาย มีตนอันอบรมแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะ สิ้นบุญและบาป ยังทอดทิ้งร่างกายนี้ไว้”


เมื่อพระราชาได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว เป็นผู้ปราศจากลูกศรคือความโศก
มีใจเลื่อมใส เมื่อจะสรรเสริญฆฏบัณฑิต จึงได้ตรัสว่า
“เธอดับความกระวนกระวายทั้งปวงของเราผู้เร่าร้อนให้หายไป
เหมือนบุคคลเอาน้ำดับไฟที่ราดด้วยน้ำมัน ฉะนั้น
เธอบรรเทาความโศกถึงบุตรของเรา ผู้ถูกความโศกครอบงำ
ได้ถอนขึ้นแล้วหนอ ซึ่งลูกศรคือความโศกอันเสียบแทงที่หทัยของเรา
เราเป็นผู้มีลูกศรคือความโศกอันถอนขึ้นแล้ว เป็นผู้เย็นสงบแล้ว
เราจะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้อีก เพราะได้ฟังคำของเธอ
ชนเหล่าใดผู้มีปัญญา ผู้อนุเคราะห์กันและกัน
ชนเหล่านั้นย่อมทำอย่างนี้ ย่อมยังกันและกันให้หายโศก
เหมือนเจ้าชายฆฏบัณฑิตทำพระเชษฐาให้หายโศกฉะนั้น”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=3513&Z=3567&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=103


ใน “ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา) ได้สอนว่า
บุคคลผู้ไม่ตระหนี่ ควรปรารภถึงบุรพเปตชน และพึงให้ทาน
ความร้องไห้ ความเศร้าโศก หรือความร่ำไห้อย่างอื่น ไม่ควรทำเลย
เพราะความร้องไห้เป็นต้นนั้น ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ญาติทั้งหลายคงตั้งอยู่ตามธรรมดาของตนๆ
ทักษิณาทานที่ตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ให้แล้ว
ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่บุรพเปตชน โดยพลัน สิ้นกาลนาน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=3008&Z=3020&pagebreak=0
ใน “ติโรกุฑฑเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา)
ได้กล่าวสอนทำนองเดียวกับ “ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุ” นี้ ด้วยเช่นกัน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=3021&Z=3052&pagebreak=0


โดยสรุปแล้ว ความร้องไห้เศร้าโศกถึงผู้ตายนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำนะครับ
เพราะย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
และก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ร้องไห้เศร้าโศกถึงผู้ตายด้วยเช่นกัน
สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ก็คือ ปรารภถึงบุรพเปตชนแล้ว
พึงให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาแล้วอุทิศไปให้ญาติผู้ล่วงลับนั้น
อนึ่ง หากเราประสบปัญหาว่ามีญาติที่ร้องไห้คร่ำครวญเศร้าโศกถึงผู้ตายแล้ว
ก็อาจจะนำเรื่องราวข้างต้นไปเล่าให้ฟัง เพื่อน้อมนำให้ญาติคลายความเศร้าโศกลง
แต่หากบางท่านคิดจะทำอุบายปลอมตัวเป็นคนบ้าตามตัวอย่างอรรถกถาที่เล่ามาแล้ว
พึงต้องใช้โยนิโสมนสิการและวิจารณญาณให้รอบคอบก่อนนะครับ
เพราะอุบายดังกล่าวน่าจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในยุคสมัยปัจจุบัน
หรืออาจจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีก็ได้ครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP