จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

Let it be ปล่อยมันไป


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



175 destination



เมื่อไม่นานมานี้ ผมติดปัญหางานโครงการสำคัญที่ทำงานอยู่งานหนึ่ง
ซึ่งเป็นงานโครงการที่ยากมาก และมีอุปสรรคปัญหาหลายประการ
แถมในการทำงานยังได้รับคำตำหนิจากฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
โดยระหว่างอยู่ที่ทำงานนั้น ผมก็พยายามคิดหาทางออก หรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
น้องคนหนึ่งเห็นว่าผมกังวลและครุ่นคิดเรื่องงานดังกล่าว
จึงได้ให้คำแนะนำเรื่องหนึ่งว่า ไม่ควรไปเคร่งเครียดกับงานและคำตำหนิเหล่านั้น
แต่ควร “Let it be” คือปล่อยมันไป
โดยเราก็อาจนึกเพลงภาษาอังกฤษชื่อ “Let it be” ก็ได้นะครับ
ซึ่งหากแปลเป็นไทยก็อาจแปลได้ว่า ปล่อยมันไป หรือปล่อยให้มันเป็นไป


ในชีวิตคนเราก็ย่อมจะประสบปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตเป็นธรรมดา
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาหน้าที่การงาน ฯลฯ ก็ตาม
ซึ่งแต่ละท่านก็ย่อมจะเลือกแนวทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะกับตนเอง
บางท่านอาจจะเลือกใช้วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการ Let it be ปล่อยมันไป
คือไม่ให้ความสำคัญกับปัญหา ไม่สนใจปัญหา และไม่ไปคิดถึงปัญหานั้น
ซึ่งในอดีตนั้น ผมก็เคยใช้วิธีการนี้กับปัญหาบางเรื่องเหมือนกัน
แต่ในปัจจุบันนี้ก็เห็นว่าวิธีการนี้ยังไม่ใช่วิธีการที่ดีพอในการแก้ไขปัญหาชีวิต


ในเวลาที่เราประสบปัญหาชีวิตในเรื่องใด ๆ ก็ตาม
เราควรจะแยกวิธีการรับมือปัญหานั้นออกเป็น ๒ ส่วน กล่าวคือ
ส่วนของการแก้ไขปัญหาชีวิตนั้น และส่วนของจิตใจเรา
ในส่วนแรกที่เป็นส่วนของการแก้ไขปัญหาชีวิตนั้น
เราก็พึงพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามหน้าที่ตามกำลังและสติปัญญา
หากเราปล่อยปละละเลย หรือไม่ได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว
ก็ย่อมจะถือได้ว่าเราไม่รับผิดชอบหน้าที่ของเราสำหรับเรื่องนั้น ๆ ให้ดี
ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีปัญหาเรื่องงานที่ยังทำได้ไม่ดี และได้รับคำตำหนิมา
เราก็พึงพยายามแก้ไขปัญหา และพิจารณาว่าจะปรับปรุงตรงไหนให้ดีขึ้นได้อีก
โดยเราก็ต้องให้ความสนใจ และทุ่มเทตั้งใจทำงานในหน้าที่ให้เต็มที่


แต่หากเราบอกว่า Let it be ปล่อยมันไป เราอย่าไปให้ความสำคัญกับมันเลย
ย่อมเท่ากับว่าเราหนีปัญหา เราไม่ได้รับผิดชอบหน้าที่ของเราให้ดี
ปัญหาในงานของเรามีอยู่ อุปสรรคในงานของเรามีอยู่ หน้าที่ของเราก็มี
เราไม่ได้มุ่งพยายามที่จะแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นตามหน้าที่
แต่เรากลับเลือกที่จะ Let it be ปล่อยปัญหาให้ดำเนินไปเรื่อยอย่างนั้น


คำสอนในพุทธศาสนาเน้นเรื่องเหตุปัจจัยและผลนะครับ
ในเมื่อเราสร้างเหตุปัจจัยที่จะปล่อยให้ปัญหาคงอยู่อย่างนั้น
ผลที่เราจะได้รับก็คือปัญหาชีวิตในเรื่องนั้น ๆ ไม่ได้รับการแก้ไข
แล้วเราก็จะอยู่ในวังวนแห่งปัญหาชีวิตเรื่องนั้น ๆ เรื่อยไป
หากเรานำวิธีการ Let it be ปล่อยมันไปนี้ ไปใช้กับปัญหาชีวิตทุกเรื่อง
ปัญหาชีวิตทุกเรื่องก็จะวนเวียนอยู่ไปเรื่อย เพราะเหตุปัจจัยเป็นเช่นนั้น


ในทางกลับกัน หากเราพยายามรับผิดชอบหน้าที่ของเราให้ดี
เราพยายามแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้วยสติปัญญา และความพยายาม
ปัญหาบางอย่างเราอาจจะแก้ไขมันไม่ได้
แต่ก็มีปัญหาหลายอย่างที่เราสามารถแก้ไขได้ หรือบรรเทาปัญหาลง
ซึ่งในเมื่อเราสร้างเหตุปัจจัยที่จะช่วยให้ปัญหาเบาบางลงหรือยุติไปแล้ว
ผลที่เราจะได้รับก็คือปัญหาชีวิตในเรื่องนั้น ๆ บรรเทาเบาบางลง หรือยุติไป
และเราไม่ได้วนเวียนอยู่ในปัญหาชีวิตเรื่องนั้น ๆ เพราะเหตุปัจจัยเป็นเช่นนั้น


ในส่วนที่สองซึ่งเป็นส่วนของจิตใจเรา
หากมีเรื่องปัญหาใด ๆ ที่มากระทบใจเรา แล้วเราก็ Let it be ปล่อยมันไป
การที่ “ปล่อยมันไป” ในที่นี้ เป็นการปัดเรื่องทิ้งจากใจ หรือทำใจให้ไม่ไปคิดถึงปัญหา
เพราะเหตุที่ว่าปัญหาเรื่องนั้นเป็นเรื่องไม่น่าพอใจ
แต่หากว่าเรื่องใด ๆ ที่มากระทบใจนั้นเป็นเรื่องที่น่าพอใจแล้ว
ใจเรากลับจะไม่ปล่อยมันไป แต่กลับพึงพอใจที่จะยึดถือเรื่องนั้นไว้ในใจ
นั่นก็หมายถึงว่าใจเราเลือกที่จะหนีความทุกข์ และยึดความสุขเอาไว้
การปัดเรื่องที่ไม่น่าพอใจทิ้งในลักษณะนี้ก็อาจจะกระทำโดย
พาใจไปฟุ้งซ่านกับเรื่องอื่นที่น่าพอใจ เพื่อให้ลืมเรื่องไม่น่าพอใจนั้น
อันเป็นเรื่องของการฟุ้งซ่านหรือหลงไปในเรื่องอื่น ซึ่งก็เป็นวิธีการหนึ่ง
หรืออาจจะพาใจไปสนใจเพ่งในสิ่งอื่น หรือพาใจไปเพ่งอยู่กับความว่าง
อันเป็นเรื่องของการทำสมถะก็ได้ ซึ่งก็เป็นอีกวิธีการหนึ่ง


แต่ถ้าเป็นนักภาวนาเจริญสติแล้ว เมื่อมีเรื่องที่ไม่น่าพอใจมากระทบใจแล้ว
เราจะไม่หนีความทุกข์ด้วยการปัดเรื่องที่ไม่น่าพอใจดังกล่าวทิ้งไปจากใจ
อันจะเป็นการแทรกแซงจิตใจเราเอง
แต่เราจะเผชิญและเรียนรู้ความจริงของรูปนาม
ด้วยการมีสติรู้สภาวะที่เกิดขึ้นในใจไปตามจริง
ซึ่งเราก็จะได้เห็นความเป็นจริงของสังขาร และเวทนาที่เกิดขึ้นในใจว่า
ทั้งสังขาร (ความปรุงแต่ง) และเวทนา (ความสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์)
ที่เกิดขึ้นในจิตใจเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นไตรลักษณ์
คืออนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (ทนอยู่ไม่ได้) และอนัตตา (เป็นไปตามเหตุปัจจัย)
แม้กระทั่งวิญญาณหรือจิตที่รับรู้สังขาร และเวทนาดังกล่าวก็เป็นไตรลักษณ์
ซึ่งเมื่อจิตใจเห็นและยอมรับความจริงของขันธ์เหล่านี้แล้ว
จิตใจก็จะย่อมเกิดปัญญาในทางธรรม เห็นความไร้สาระของสิ่งเหล่านี้
ซึ่งก็ย่อมจะเป็นหนทางที่จะนำพาเราไปสู่ความพ้นทุกข์สิ้นเชิงในที่สุด


แต่หากเรามัวแต่หนีความทุกข์ด้วยการปัดเรื่องที่ไม่น่าพอใจทิ้งไปจากใจแล้ว
ย่อมไม่ใช่หนทางที่จะช่วยให้จิตใจได้เรียนรู้ความจริงของรูปนาม
และย่อมไม่ได้ช่วยให้จิตใจเราเกิดปัญญาใด ๆ
นอกจากนี้ ถามว่าปัดเรื่องที่ไม่น่าพอใจทิ้งไปเรื่อย ๆ แล้ว เราพ้นทุกข์จริงหรือเปล่า
ตอบว่า เราก็ไม่ได้พ้นทุกข์จริง
เพราะว่าใจเราหนีความทุกข์เรื่องนี้ เดี๋ยวใจเราก็ต้องไปเจอความทุกข์เรื่องอื่น
เพราะว่าใจเราเป็นอนัตตา เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้เป็นไปตามที่เราสั่ง
ถ้าเหตุปัจจัยที่จะนำพาให้ใจไปประสบเรื่องไม่น่าพอใจยังมีอยู่
ผลก็คือใจก็ย่อมจะไปประสบเรื่องที่ไม่น่าพอใจอย่างนั้นตามเหตุปัจจัย
ถ้าหากเราเชื่อว่า ใจเราเป็นไปตามที่เราสั่งได้จริง
เราก็สั่งใจเราเสียเลยสิว่า ให้ใจคิดแต่เรื่องมีความสุขตลอดชีวิต
อย่าให้ใจคิดเรื่องไม่น่าพอใจ หรือเรื่องทุกข์ใจใด ๆ เลย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราสั่งใจเราไม่ได้ ใจถึงได้ไหลไปคิดเรื่องไม่น่าพอใจ
ฉะนั้นแล้ว การที่หนีความทุกข์ด้วยการปัดเรื่องที่ไม่น่าพอใจทิ้งไปจากใจนี้
ยังไม่ใช่วิธีการที่ดีพอในการรับมือกับเรื่องปัญหาชีวิตที่มากระทบจิตใจเรา


ในเรื่องนี้ครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งได้สอนว่า สำหรับคนที่ภาวนาไม่เป็นแล้ว
ผัสสะที่รุนแรงนั้น นำความทุกข์ และนำความบีบคั้นที่รุนแรงมาให้
(ซึ่งเป็นเหตุว่า ทำไมบางคนจึงต้องหนีผัสสะรุนแรงนั้นด้วยการปัดทิ้ง)
แต่สำหรับคนที่ภาวนาเป็นแล้ว ผัสสะที่รุนแรงนั้นแหละ คือครูสอนธรรมะที่ดีที่สุด


โดยสรุปแล้ว ในเวลาที่เราประสบปัญหาชีวิตในเรื่องใด ๆ ก็ตาม
ในส่วนของการแก้ไขปัญหาชีวิตนั้น เราควรพยายามแก้ไขปัญหาตามหน้าที่ของเรา
ในส่วนของจิตใจเรา เราพึงมีสติเรียนรู้สังขาร และเวทนาที่เกิดขึ้นในใจไปตามจริง
ย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าการหนีปัญหาหรือหนีความทุกข์
ด้วยการ Let it be ปล่อยมันไป หรือพยายามปัดสิ่งเหล่านั้นออกไปนะครับ
ทั้งนี้ สังขาร และเวทนาที่เกิดขึ้นในใจเรานั้น แม้ว่าเราจะไม่ปัดมันออกไปก็ตาม
มันก็เกิดขึ้น และก็ดับไปตามเหตุปัจจัย โดยสภาพของตัวมันเองอยู่แล้ว



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP