จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

อันตรายิกธรรม


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


174 destination


เมื่อช่วงปลายปี ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ผมได้สนทนาเรื่องเกี่ยวกับ “อันตรายิกธรรม”
กับญาติธรรมบางท่าน โดยเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์
จึงขอนำมาแบ่งปันในคราวนี้นะครับ
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ให้ความหมาย คำว่า “อันตรายิกธรรม” หมายถึง ธรรมอันกระทำอันตราย
คือ เหตุขัดขวางต่างๆ เช่น เหตุขัดขวางการอุปสมบท ๘ อย่าง มีการเป็นโรคเรื้อน เป็นต้น
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D1%B9%B5%C3%D2%C2%D4%A1%B8%C3%C3%C1


ตามพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ ได้กล่าวถึง
อันตรายิกธรรมที่เป็นเหตุขัดขวางการอุปสมบทว่า
ในเวลาที่อุปสมบทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าอนุญาตให้สวดถามอันตรายิกธรรม
ได้แก่ อาพาธเห็นปานนี้ของเจ้ามีหรือ
?
คือ โรคเรื้อน ฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ ลมบ้าหมู?
เจ้าเป็นมนุษย์หรือ เป็นชายหรือ เป็นไทหรือ ไม่มีหนี้สินหรือ
มิใช่ราชภัฏหรือ มารดาบิดาอนุญาตแล้วหรือ มีปีครบ ๒๐ แล้วหรือ
ซึ่งหากมีข้อจำกัดในบางประการเหล่านี้แล้ว ก็ย่อมไม่สามารถบวชได้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=3739&Z=3869&pagebreak=0


นอกจากนี้แล้ว “อันตรายิกธรรม” ยังสามารถหมายถึง
ธรรมอันกระทำอันตรายต่อการบรรลุธรรม หรือ
เหตุขัดขวางในการบรรลุธรรมก็ได้
โดยอรรถกถาอลคัททูปมสูตร (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
ได้สอนว่า “อันตรายิกธรรม” มี ๕ อย่าง ได้แก่
กรรม กิเลส วิบาก อริยุปวาท และอาณาวีติกกมะ


อันตรายิกธรรมในส่วนของ “กรรม” (หรือกัมมนตรายิกธรรม)
คือ “อนันตริยกรรม” ซึ่งหมายถึงกรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด
ได้แก่ ๑. “มาตุฆาต” คือฆ่ามารดา
๒. “ปิตุฆาต” คือฆ่าบิดา
๓. “อรหันตฆาต” คือฆ่าพระอรหันต์
๔. “โลหิตุปบาท” คือทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
๕. “สังฆเภท” คือทำสงฆ์ให้แตกกัน


อันตรายิกธรรมในส่วนของ “กิเลส” คือ นิยตมิจฉาทิฏฐิ
ซึ่งหมายถึง ความเห็นผิดที่มีโทษมาก แบ่งเป็น ๓ ประเภท ได้แก่
๑. “อเหตุกทิฏฐิ” คือ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ คือ เห็นว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นเองเป็นเอง
ไม่อาศัยเหตุปัจจัยให้เกิดให้มีขึ้น ไม่เชื่อในเหตุ เช่น
เห็นผิดว่าคนเราจะได้ดีหรือชั่วโดยไม่มีเหตุ ถึงคราวจะดี ก็ดีเอง
ถึงคราวจะร้าย ก็ร้ายเอง ไม่มีเหตุอื่นจะทำให้คนดีคนชั่วได้ เป็นต้น
๒. “อกิริยทิฏฐิ” คือ เห็นว่าการกระทำใดๆ ไม่ชื่อว่าเป็นอันกระทำ
ผลบาปบุญไม่มีแก่ผู้ทำกระทำ หรือเห็นว่าการกระทำไม่มีผล
๓. “นัตถิกทิฏฐิ” คือ ความเห็นว่าไม่มี เชื่อว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น เช่น
เห็นว่าผลบุญผลบาปไม่มี บิดามารดาไม่มี ความดีความชั่วไม่มี ตายแล้วสูญ เป็นต้น


อันตรายิกธรรมในส่วนของ “วิบาก” คือ
เช่น เกิดเป็นบัณเฑาะก์ (คนไม่ปรากฏว่าเป็นเพศชายหรือหญิง)
หรือ สัตว์เดรัจฉาน หรืออุภโตพยัญชนก (คนที่มีสองเพศ) เป็นต้น


อันตรายิกธรรมในส่วนของ “ธรรม” ชื่อว่า อุปวาทันตรายิกธรรม
คือการเข้าไปว่าร้ายพระอริยเจ้า
โดยอุปวาทันตรายิกธรรมนี้ ย่อมกระทำอันตราย
ตลอดเวลาที่พระอริยเจ้าทั้งหลายยังไม่ได้ยกโทษให้
ต่อมาหากพระอริยเจ้าได้ยกโทษให้แล้ว ย่อมไม่กระทำอันตราย


อันตรายิกธรรมในส่วนของ “อาณาวีติกกมะ” ชื่อว่า อาณาวีติกกมันตรายิกธรรม
คือ อาบัติ ๗ กองที่ภิกษุจงใจล่วงละเมิดแล้ว
อาณาวีติกกมันตรายิกธรรมเหล่านี้ย่อมกระทำอันตรายตลอดเวลาที่ภิกษุต้องอาบัติแล้ว
ยังปฏิญญาตนว่าเป็นภิกษุอยู่ก็ดี ไม่อยู่ปริวาสกรรมก็ดี ไม่แสดงอาบัติก็ดี
ต่อมาหากได้อยู่ปริวาสกรรมแล้ว หรือแสดงอาบัติแล้วก็ดี ย่อมไม่กระทำอันตราย
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=274


ในส่วนของพวกเราที่เป็นฆราวาสนั้น
เราไม่มีความเสี่ยงในเรื่องอาณาวีติกกมันตรายิกธรรม
ส่วนในเรื่องปฏิสนธิธรรมกรณีเกิดเป็นบัณเฑาะก์นั้น
หากเป็นมาแต่กำเนิด ก็เลี่ยงไม่ได้
แต่ส่วนที่เราสามารถเลี่ยงได้คือ กัมมนตรายิกธรรม
นิยตมิจฉาทิฏฐิ และอุปวาทันตรายิกธรรม ดังที่กล่าวข้างต้น
เราก็พึงหลีกเลี่ยงธรรม ๓ เหล่านี้ครับ
โดยเฉพาะในส่วนของอุปวาทันตรายิกธรรมนั้น
หากได้เคยกล่าวร้ายต่อพระอริยเจ้าไปแล้ว ก็ควรไปขอให้ท่านอดโทษให้
แต่หากท่านไม่อยู่เสียแล้ว มีครูบาอาจารย์บางท่านแนะนำว่า
ให้เรากราบขอขมาต่อพระพุทธรูปแทน โดยสำรวมระวังว่าจะไม่ทำอีก



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP