จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ภาวนาเหมือนฟักไข่


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



173 destination


สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๙ ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ
เมื่อเราได้ฝึกฝนหมั่นภาวนามาช่วงหนึ่งแล้ว
บางทีเราอาจจะรู้สึกว่าตนเองภาวนามานานพอสมควรแล้ว
ไม่ทราบว่าเมื่อไรจะบรรลุธรรมเสียที
จึงเริ่มรู้สึกร้อนรนใจอยากจะบรรลุธรรมเร็ว ๆ
ในกรณีดังกล่าว เราก็พึงมีสติรู้ทัน “อุทธัจจกุกกุจจะ”
ได้แก่ ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ หรือความเดือดร้อนใจ
ซึ่งเป็น ๑ ในนิวรณ์ ๕ ที่เกิดขึ้นในจิตใจนะครับ
(“นิวรณ์” หมายถึง สิ่งที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม
ซึ่งมี ๕ อย่าง ได้แก่ ๑. กามฉันท์ คือความพอใจในกามคุณ
๒. พยาบาท คือความคิดร้ายผู้อื่น
๓. ถีนมิทธะ คือความหดหู่ซึมเซา
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย)


ในการภาวนา แม้ว่าเราพึงขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอก็ตาม
แต่ว่าเราก็เร่งไม่ได้ และสั่งไม่ได้ว่าจะต้องบรรลุธรรมเมื่อไร
ในอรรถกถา “เวรัญชกัณฑ์” (พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์)
ได้เปรียบเทียบการบำเพ็ญวิปัสสนาเหมือนการฟักไข่ว่า
แม่ไก่ได้ทำกิริยาทั้ง ๓ ต่อฟองไข่ ได้แก่ กก อบ และฟัก ดีแล้ว
เปรียบเสมือนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญ
อนุปัสสนาทั้ง ๓ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฉะนั้น


เมื่อเวลาที่วิปัสสนาญาณแก่หรือเจริญเต็มที่ กล่าวคือ
พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ถึงพร้อม
ย่อมเปรียบเหมือนเวลาที่ลูกไก่แก่เต็มที่
ก็เพราะแม่ทำกิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น


เมื่อเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำลายกระเปาะฟองคืออวิชชา
ด้วยพระอรหัตมรรคที่พระองค์ได้ทรงบรรลุโดยลำดับ
เปรียบเหมือนเวลาที่ลูกไก่เอาปลายเล็บเท้าและจะงอยปาก
กะเทาะกระเปาะฟองไข่แล้ว ปรบปีกออกมาได้โดยความสวัสดี
ก็เพราะแม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=01.0&i=1&p=9


เช่นนี้แล้ว หากเราภาวนา (อย่างถูกต้อง) ไปเรื่อย ๆ
เมื่อวิปัสสนาญาณแก่กล้าหรือเจริญเต็มที่แล้ว ก็ย่อมบรรลุธรรมได้
เปรียบเสมือนแม่ไก่ กก อบ และฟักไข่ (อย่างถูกต้อง) ไปเรื่อย ๆ
ถึงวันหนึ่งเมื่อลูกไก่พร้อม ลูกไก่ก็จะกะเทาะเปลือกไข่ออกมาได้
โดยที่เราไม่สามารถไปเร่งให้บรรลุธรรมได้เหมือนกับที่
แม่ไก่ก็ไม่สามารถเร่งให้ลูกไก่กะเทาะเปลือกไข่ออกมาได้เช่นกัน


ใน “เจโตขีลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
ได้สอนในทำนองเดียวกันว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๕
(ได้แก่ละตะปูตรึงใจ ๕ ประการ ละเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ
เจริญอิทธิบาท ๔ และมีความขะมักเขม้น ๑ ประการ รวมเป็นองค์ ๑๕)
เป็นผู้ควรแก่การตรัสรู้ เปรียบเหมือนไข่ของแม่ไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง
ซึ่งแม่ไก่กกไว้โดยชอบ ให้อบอุ่นโดยชอบ ฟักโดยชอบ
ถึงแม่ไก่นั้นจะไม่ปรารถนาอย่างนี้ว่า
ขอให้ลูกไก่เหล่านี้จงทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้า
หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาโดยสวัสดีก็ตาม
ลูกไก่เหล่านั้นก็ต้อง ทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก
ออกมาโดยสวัสดีได้ ฉะนั้น
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=3449&Z=3630&pagebreak=0


ในทำนองเดียวกันใน “อัจจายิกสูตร”(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต)
ได้เปรียบเทียบว่า ชาวนาย่อมมีกิจที่ควรรีบด่วนทำ ๓ อย่างได้แก่
ต้องรีบเร่งไถนาให้ดี คราดนาให้เรียบร้อย ครั้นแล้วต้องรีบเร่งเพาะพืชลงไป
ครั้นแล้วรีบเร่งไขเอาน้ำเข้าบ้าง ระบายเอาน้ำออกเสียบ้าง ฉันใด
ฉันนั้นเช่นเดียวกัน ภิกษุทั้งหลายย่อมมีกิจที่ควรรีบด่วนทำ ๓ อย่าง ได้แก่
การสมาทานอธิศีลสิกขา การสมาทานอธิจิตตสิกขา การสมาทานอธิปัญญาสิกขา


เมื่อชาวนาได้ปลูกข้าวแล้ว ชาวนานั้นย่อมไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพบันดาลว่า
ข้าวเปลือกของเราจงเกิดในวันนี้ พรุ่งนี้จงมีท้อง มะรืนนี้จงหุงได้
โดยในความเป็นจริงแล้ว เวลาที่ข้าวเปลือกของชาวนาจะเกิดขึ้นก็ดี
มีท้องก็ดี หรือหุงได้ก็ดี ย่อมมีอยู่ (โดยเป็นไปความพร้อมของเหตุปัจจัย) ฉันใด
ฉันนั้นเช่นกัน ภิกษุทั้งหลายไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพบันดาลว่า
จิตของเราจงพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานในวันนี้แหละ
หรือมิฉะนั้นก็ในวันพรุ่งนี้ หรือในวันมะรืนนี้
โดยในความเป็นจริงแล้ว เวลาที่จิตของภิกษุผู้ศึกษาอธิศีลอยู่ก็ดี อธิจิตอยู่ก็ดี
อธิปัญญาอยู่ก็ดี หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นนั้น มีอยู่
เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลายพึงศึกษาว่า เราจักมีฉันทะอย่างแรงกล้า
ในการสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=6342&Z=6363&pagebreak=0


เมื่อชาวนาไปเร่งหรือสั่งให้ข้าวออกรวงไม่ได้ฉันใด
ก็เหมือนกับที่เราไปสั่งให้จิตพ้นจากอาสวะไม่ได้ฉันนั้น
ในการนี้ ไม่ว่าเราจะพิจารณาเปรียบเทียบกับกรณีแม่ไก่ฟักไข่ก็ดี
หรือจะพิจารณาเปรียบเทียบกับกรณีชาวนาปลูกข้าวก็ดี
ต่างก็เหมือนกันที่ว่าเราไปเร่งหรือไม่สั่งไม่ได้
หากเราไปกะเทาะเปลือกไข่ออกก่อนโดยที่ลูกไก่ยังไม่พร้อม
นั่นกลับจะเป็นการทำร้ายลูกไก่เสียอีก และย่อมไม่ได้ลูกไก่ตามที่ประสงค์
หรือหากเราไปเกี่ยวต้นข้าวก่อนที่ข้าวจะออกรวง
ย่อมเป็นการทำลายต้นข้าว และย่อมไม่ได้เมล็ดข้าวตามที่ประสงค์
ดังนี้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือเพียรทำหน้าที่ของแม่ไก่และชาวนาต่อไป
จนกว่าเหตุปัจจัยจะพร้อม ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เหตุปัจจัยพร้อมแล้ว
ลูกไก่ย่อมจะกะเทาะเปลือกออกมาเอง และต้นข้าวก็ย่อมจะออกรวงเองครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP