ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

การบริโภคเนื้อสัตว์เป็นบาปหรือไม่



ถาม – ในพุทธประวัติมีการกล่าวถึงเรื่องของบาปที่เกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์ไว้บ้างหรือไม่ครับ



พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ห้ามภิกษุ ไม่ให้ฉันเนื้อนะครับ
แต่ว่าห้ามฉันเนื้อบางประเภทเช่น เนื้อเสือ เนื้อมนุษย์ เนื้อจระเข้ อะไรแบบนี้
อันนี้ท่านห้ามเพราะว่าเนื้อเหล่านั้นเป็นพิษกับมนุษย์นะครับ มีโทษกับร่างกาย
แต่ถ้าหากว่าเป็นเนื้อที่ชาวบ้านเขาปรุงขึ้นมาถวาย
ท่านก็ให้อำนวยความสะดวกกับชาวบ้าน
คือคิดง่ายๆ ว่า ภิกษุเป็นผู้ขอ เป็นผู้ภิกขาจารอาหาร
มาเพื่อที่จะยังชีพ มาสืบทอดพระศาสนาด้วยการปฏิบัติ
ถ้าหากว่าไม่มีอาหารจากชาวบ้าน
ภิกษุไม่สามารถที่จะไปหาอาหารมาจากไหนเองนะครับ เป็นข้อห้าม
เนื่องจากว่าผู้อยู่พรหมจรรย์ไม่ควรที่จะประพฤติปฏิบัติตนแข่งกับชาวบ้านหรือชาวโลก
ด้วยการหุงหาอาหารเอง หรือว่าไปหากับข้าวกับปลาอะไรมา ด้วยวิธีเลี้ยงชีพแบบโลกๆ นะครับ
นี่ก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมผู้บวชนะ ผู้ถือบวช ผู้อยู่ในเพศบรรพชิตจึงเป็นผู้ภิกขาจาร
ไม่ใช่เฉพาะในพุทธศาสนา แต่ยังเป็นนักบวชในทุกศาสนาด้วย



ทีนี้ถ้าหากว่าผู้ไปขอเขา แล้วไปเรื่องมาก
คอยบอกคอยกล่าวว่า เอ๊ย อันนี้อาตมาไม่เอา อันนี้อาตมาถือสานะ
บอกว่าเป็นเนื้อ เป็นสัตว์ที่เป็นศพแล้ว อาตมาไม่บริโภค

มันจะรบกวนจิตใจชาวบ้านเขา
เพราะว่าชาวบ้านเขากินกันอย่างนี้ แล้วก็อยากจะถวายกันอย่างนี้
การที่ไปปฏิเสธเขาก็ทำให้เกิดความเสียศรัทธา
หรือชาวบ้านจะไม่เข้าใจหรอกนะว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอะไรต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งศพของสัตว์ที่นำมาจากโรงฆ่าสัตว์แล้ว
ถวายไปจะเป็นบาปได้อย่างไร


แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้อีกด้วยนะครับ
ว่าถ้าหากว่าภิกษุไปฉันเนื้อสัตว์ โดยที่ไม่รู้ไม่เห็นนะว่าเขาฆ่ากันที่ไหน อย่างไร
หรือว่าประสงค์ที่จะนำมาถวายแก่พระคุณเจ้าโดยเฉพาะ อะไรต่างๆ
ถ้าหากว่ามีความสบายใจแล้วก็ฉันไปได้ ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ผิดกติกาอะไร
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าขนาดพระภิกษุที่จะต้องระมัดระวังสังวรระวัง
เกี่ยวกับเรื่องการเบียดเบียนชีวิตอย่างยิ่งยวด แค่ตบยุงนี่ผิดปาจิตตีย์แล้วนะ
อย่างนี้ก็สามารถใช้เป็นตัวอย่างที่จะทำให้มองเห็นภาพได้
ว่าการกินเนื้อมันไม่ได้ไปผิดศีลผิดธรรมอะไรนะ



อันนี้ขยายความก็คือว่า การที่เราจะมีบาปมีโทษเกี่ยวกับเรื่องของการเบียดเบียนชีวิตได้
อันดับแรกที่สำคัญที่สุดเลยก็คือว่าใจเรารู้อยู่ มองไปก็เห็นอยู่ว่าสัตว์นี้ยังมีชีวิต
แล้วเรามีกำลังใจ มีความปรารถนา มีความต้องการ ที่จะให้ชีวิตนั้นดับลง ไปตัดชีวิตเขา
มีความพยายามที่จะทำให้ชีวิตนั้นขาดสิ้นลง
คือลงมือพยายามจริง ไม่ใช่แค่คิดตั้งใจอย่างเดียว
แล้วสามารถทำได้สำเร็จ สัตว์นั้นมีชีวิตแล้วตายลงด้วยมือเรา
อย่างนี้เรียกว่าปาณาติบาต


นี่มันต้องประกอบด้วยองค์สำคัญอันดับแรก อันดับหนึ่งเลยคือการรับรู้ของเรา
ถ้ารู้อยู่ รู้อยู่แก่ใจว่านั่นเป็นสิ่งมีชีวิต ยังมีชีวิตอยู่
แล้วมีความพยายามที่จะทำให้ชีวิตนั้นขาดสิ้นลง
อันนั้นแหละบาปแน่นอน อันนั้นแหละคือปาณาติบาต
แต่อย่างเวลาที่เราไปซื้อของหรือว่าไปนั่งตามร้านอาหาร แล้วสั่งเขามา
ลองนึกดูนะลองนึกดูถึงอาการทางใจของเรา
ขึ้นต้นมา มันรับรู้ก่อนว่า สัตว์นั้นไม่มีชีวิตแล้ว ไปฆ่ามาจากโรงฆ่าสัตว์ไหนก็ไม่ทราบ
แล้วก็ที่เอามา มาอยู่ในร้านนั้นน่ะก็ไม่ใช่เพื่อที่มาเอามารอเรา
กำลังใจที่จะทำให้สัตว์ตายนี่ไม่มีเลย
การรับรู้ เคยรับรู้ว่า สัตว์นั้นมีชีวิตมาตั้งแต่เมื่อไหร่ หน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ
นี่ตัวนี้ กำลังใจที่จะไปฆ่า ไปทำลาย ไปเบียดเบียนชีวิต มันไม่มี
เพราะฉะนั้นก็ถึงได้ว่าเราเป็นผู้บริโภคศพสัตว์ สัตว์ที่ตายแล้ว
มันไม่เป็นไร มันไม่ได้มีบาปมีกรรมมีโทษอะไร



แต่ถ้าคิดขึ้นมาแล้วมีความรู้สึกว่า เอ๊ มันไม่ได้สิ ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ตั้งใจฆ่ามัน
แต่เราไปกินมัน ก็เท่ากับไปเพิ่มความต้องการในการบริโภคเนื้อสัตว์
แล้วทำให้เกิดวงจรการฆ่าฟันสัตว์ขึ้นมา
แล้วเราถอนตัวออกมา อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นบุญ
คือกินน่ะไม่เป็นบาป แต่ถ้าคิดถอนตัวออกมา จัดว่าเป็นบุญชนิดหนึ่งเหมือนกันนะ

คือมีความตั้งใจที่จะเอาตัวออกมาจากวงจรการเบียดเบียนนะ
พวกกินมังสวิรัติหรือว่าพวกกินเจอะไรต่างๆ ที่จะได้บุญก็ได้บุญตรงนี้แหละ
ด้วยความตั้งใจว่าเราจะไม่เป็นหนึ่งในผู้ไปเพิ่มความต้องการเนื้อสัตว์นะ



แต่ไม่ใช่ว่าบุญนั้นจะประกันได้ว่าเราเป็นคนดีนะ
เพราะว่าหลายคนที่ถือว่าตนเองเป็นมังสวิรัติ เป็นนักกินเจ
แล้วไปดูถูก ไปข่ม ไปพูดจาข่มคนอื่น ที่เขากินเนื้อสัตว์กันอยู่
ไปว่าเขาเป็นมาร เป็นซาตาน เป็นยักษ์ เป็นอสูรอะไรแบบนั้น
แล้วก็ถือตัวถือตนว่าเพียงด้วยการไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นคนดีเลิศแล้ว


จริงๆ การเป็นคนดี ยังต้องมีอะไรมากกว่านั้นอีกเยอะนะ
การทำบุญยังมีทั้งการช่วยเหลือเจือจานผู้คน มีทั้งการรักษาศีลให้สะอาด
ข้ออื่นๆ น่ะนะ มันยังมีอีกเยอะ ทั้งเรื่องการไปฉกชิง ฉกฉวย หรือว่าคดโกงใครเขา
หรือว่าไปโกหกใครเขา หรือว่าไปกินเหล้าเมายาอะไรต่างๆ มันยังมีอีกเยอะ
มันยังมีประเด็นอีกหลายอย่าง ที่บ่งบอกว่าเราเป็นดีแค่ไหน



การเป็นคนดีดูได้ง่ายๆ เลยว่า มีความเห็นแก่ตัวหรือเปล่า
มีความสำคัญตัวเองผิด หลงตัวแค่ไหนด้วยนะ

ถ้าหากว่าเรามองอย่างนี้ มองไปกว้างสุดแล้ว
แล้วก็พบว่าตัวเราเองมีความประสงค์ที่จะอยู่อย่างผู้ไม่เบียดเบียน แล้วก็ไม่กินเนื้อสัตว์
อันนั้นดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนดีแล้ว อันนี้คือข้อสรุปนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP