จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

มีเงินแต่ใช้ไม่ได้


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



172 destination



หลายท่านคงจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย
ผมเองได้พบเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้รู้สึกดังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้
โดยมีญาติสูงอายุท่านหนึ่งป่วยหนักและต้องเข้าโรงพยาบาล
ญาติสูงอายุท่านนี้มีเงินในบัญชีอยู่หลายล้านบาท
แต่ปรากฏว่าค่ารักษาพยาบาลจำนวนแสนกว่าบาทกลับจ่ายไม่ได้
แล้วก็กลายเป็นภาระแก่ญาติคนอื่น ๆ รวมทั้งผมด้วย
ที่ต้องช่วยกันจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้


ถามว่าเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ขอเล่าย้อนไปว่า ญาติสูงอายุท่านนี้ไม่มีสามีและลูก
แต่มีหลานสาวใกล้ชิดคนหนึ่งที่ท่านเลี้ยงดูมาแต่ยังเล็ก
(หลานสาวคนนี้เป็นลูกพี่ลูกน้องกับผม และอายุใกล้ ๆ ผม)
เมื่อหลานสาวคนนี้เรียนจบก็ทำงานกับญาติสูงวัยท่านนี้
ต่อมาญาติสูงวัยท่านนี้ปิดกิจการตนเองลง เนื่องเพราะชราและเจ็บป่วย
หลานสาวก็ไม่ได้ไปทำงานส่วนตัวหรือทำงานอื่นที่ไหน
เพียงแค่ดูแลปรนนิบัติญาติสูงวัยท่านนี้ไปเรื่อย ๆ


เมื่อประมาณ ๓ ปีก่อน ญาติสูงวัยท่านนี้เริ่มป่วยด้วยโรคมะเร็ง
ผมก็ได้แนะนำวิธีการดูแลรักษาสุขภาพและให้ข้อมูลไปไม่น้อย
แต่ท่านก็ไม่ค่อยได้สนใจ และมุ่งดูแลรักษาตามวิธีการของท่านเองต่อไป
อย่างไรก็ดี ผมได้แนะนำท่านด้วยในเรื่องเงินเก็บของท่านว่า
ต้องแยกบัญชีธนาคาร โดยท่านจะมีบัญชีเงินเก็บในชื่อท่านคนเดียว
กี่บัญชีหรืออย่างไรก็ได้ แต่อย่างน้อยจะต้องมีบัญชีหนึ่งที่เป็นชื่อร่วมสองคน
กล่าวคือเป็นชื่อของท่านและหลานสาวที่ดูแลท่าน
โดยให้คนใดคนหนึ่งสามารถถอนเงินได้ และเหลือเงินในบัญชีไว้พอสมควร
เผื่อไว้จ่ายค่าดูแลรักษาพยาบาลท่านในยามฉุกเฉิน


ในช่วงเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา ผมได้พบญาติสูงวัยท่านนี้ทุกปี บางปีก็สองหน
ผมก็เตือนเหมือนเดิมทุกปีว่า ต้องมีบัญชีชื่อร่วมบัญชีหนึ่งบัญชีนะ
เป็นชื่อของท่านและหลานสาว โดยให้คนใดคนหนึ่งก็สามารถถอนเงินได้
ต่อมาเมื่อประมาณ ๒ เดือนก่อนนี้ ญาติสูงวัยท่านนี้เกิดลื่นล้มในห้องน้ำ
ศีรษะกระแทกพื้น หลานสาวก็รีบนำท่านส่งโรงพยาบาล
ผลกระทบจากการล้มทำให้อาการทรุดหนัก และคุยไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว
ไปธนาคารก็ไม่ไหว แถมมือก็ลงนามในเอกสารอะไรไม่ได้
ผมได้ไปเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาล และพิจารณาสภาพแล้ว
ผมก็ถามหลานสาวที่ดูแลท่านว่าได้มีการเตรียมบัญชีธนาคารในชื่อร่วม
ตามที่ผมได้เคยแนะนำไว้หรือเปล่า
หลานสาวจะได้เตรียมเงินไว้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ท่านได้


หลานสาวตอบว่าไม่ทราบ และไม่แน่ใจ
ผมจึงแนะนำว่าให้ลองไปค้นสมุดบัญชีธนาคารที่บ้านดู
หลานสาวได้กลับไปค้นสมุดบัญชีธนาคารที่บ้านแล้ว
พบว่าทั้งหมดจะเป็นบัญชีชื่อญาติสูงวัยท่านนี้คนเดียว
ยกเว้นมีบัญชีหนึ่งที่เป็นชื่อร่วมของญาติสูงวัยท่านนี้และหลานสาวร่วมกัน
ผมได้ฟังเช่นนั้นแล้วก็ดีใจด้วยนะครับ


ธนาคารอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาล
ผมได้ขับรถไปส่งหลานสาวที่ธนาคารเพื่อจัดการเรื่องบัญชีธนาคารนั้น
เมื่อถึงธนาคารแล้ว เจ้าหน้าที่ธนาคารตรวจสอบบัญชีและแจ้งให้ทราบว่า
บัญชีเป็นชื่อร่วมสองคนก็จริง
แต่เงื่อนไขการถอนเงินคือ ต้องให้สองคนลงลายมือชื่อร่วมกัน
ดังนั้นต้องให้ญาติสูงวัยท่านนี้มาลงนามในใบถอนเงินที่ธนาคารด้วย
จึงจะสามารถถอนเงินจากบัญชีธนาคารชื่อร่วมดังกล่าวได้


แต่ในขณะนั้น ญาติสูงวัยท่านนี้อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถมาธนาคารได้
และไม่สามารถลงนามในเอกสารได้ จึงถอนเงินจากบัญชีชื่อร่วมไม่ได้
บัญชีในชื่อของท่านคนเดียวก็ยิ่งถอนไม่ได้
เรื่องจึงกลายเป็นว่าญาติสูงวัยท่านนี้มีเงินในบัญชีหลายล้าน
แต่ไม่สามารถจะถอนเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลตนเองได้
และหลานสาวที่ดูแลท่านก็ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ด้วย


เรื่องราวไม่ได้มีเพียงเท่านี้นะครับ
ญาติสูงวัยท่านนี้ยังได้ไปจองเป็นเจ้าภาพกฐินอีก ๒ วัด
และแจ้งจำนวนเงินที่จะถวายและใช้จ่ายไปแล้ว
ประมาณวัดละ ๒ แสนกว่าบาท รวม ๒ วัดเท่ากับ ๔ แสนกว่าบาท
ในเวลานั้นก็เหลือเพียงประมาณ ๒ สัปดาห์ก็จะถึงวันกฐินแล้ว
จึงมีปัญหาเรื่องกฐินของ ๒ วัดที่จะต้องพิจารณาอีกว่าจะทำอย่างไร


เรื่องเจ้าภาพกฐินนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมรู้สึกเสียดายแทนญาติสูงวัยท่านนี้
เพราะผมได้มีโอกาสพบญาติสูงวัยท่านนี้ไม่นานก่อนที่ท่านจะลื่นล้มด้วย
ท่านเล่าให้ผมฟังว่าท่านได้ไปรับเป็นเจ้าภาพกฐิน ๒ วัด ซึ่งผมก็อนุโมทนา
และได้แนะนำว่า ให้ญาติสูงวัยท่านนี้โอนเงินไปที่วัดก่อนเลย
เมื่อถึงวันงานจริงแล้วก็เดินทางไปตัวเปล่า ๆ โดยไม่ต้องถือเงินสดไป
หรือหากญาติสูงวัยท่านนี้เกิดอยู่ไม่ถึงวันงาน หรือประสบอุบัติเหตุใด ๆ แล้ว
ก็ถือว่าได้ทำบุญเป็นเจ้าภาพกฐินเรียบร้อยแล้ว
แต่ปรากฏว่าญาติสูงวัยท่านนี้ไม่เชื่อคำแนะนำนะครับ
โดยก็ท่านวางแผนว่า ท่านจะถือเงินสดไปเองในวันงาน


ในประเด็นนี้ก็มีการปรึกษากันระหว่างหมู่ญาตินะครับว่าจะทำอย่างไร
ก็มีญาติบางท่านเห็นว่า ได้รับปากเป็นเจ้าภาพกฐินไว้แล้ว ยังไงก็ต้องไปทำ
ไม่เช่นนั้นแล้ว จะเสียหน้า หรือชาวบ้านคนอื่น ๆ จะติเตียนเอาได้
ตัวผมเองไม่ได้กังวลเรื่องเสียหน้าเท่าไร
แต่กังวลเรื่องที่ไม่ทราบว่า ญาติสูงวัยท่านนี้จะอยู่โรงพยาบาลนานแค่ไหน
และจะต้องเข้าโรงพยาบาลอีกกี่หน กล่าวคือ ไม่ทราบว่าจะต้องเตรียม
ค่ารักษาพยาบาล และค่าดูแลญาติสูงวัยท่านนี้เป็นจำนวนเงินมากสักแค่ไหน
เพราะผมเองก็ไม่ได้มีเงินเก็บมากมาย
คนที่มีเงินเก็บเยอะคือ ญาติสูงวัยท่านนี้ แต่ว่ากลับถอนเงินไม่ได้


ในกรณีนี้ หากญาติสูงวัยท่านนี้อยู่โรงพยาบาล ก็ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล
แต่หากท่านกลับไปอยู่บ้าน หลานสาวที่ดูแลท่านไม่มีรายได้อะไร
เราก็ยังต้องช่วยเหลือในเรื่องค่ากินอยู่ของญาติสูงวัยท่านนี้และหลานสาวที่ดูแลท่าน
รวมทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และอาจจะมีต้องกลับมาเข้าโรงพยาบาลอีกด้วย
หากญาติสูงวัยท่านนี้ตายเร็ว ก็จะมีค่าใช้จ่ายงานศพ
แต่หากญาติสูงวัยท่านนี้ตายช้า ค่ารักษาพยาบาลและค่าดูแลก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


ผมพิจารณาตรงนี้แล้วก็เห็นว่า ผมควรจะเก็บเงิน (ในส่วนของผม)
เพื่อไว้สำหรับพยาบาลหรือดูแลญาติสูงวัยท่านนี้ก่อน
ส่วนเรื่องงานกฐินนั้น ผมไม่สามารถรับผิดชอบให้ได้
จึงแนะนำให้ญาติ ๆ รีบแจ้งทางวัด เพื่อที่ทางวัดจะได้หาเจ้าภาพอื่น
เพราะก็ยังพอมีเวลาเพียงพอที่จะหาเจ้าภาพกฐินท่านอื่นได้


ในเรื่องนี้ก็มีญาติกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วย
โดยเห็นว่าพวกเขาจะนำเงินไปทดรองจ่ายเป็นเจ้าภาพกฐินให้ก่อน
แล้วต่อมา หากญาติสูงวัยท่านนี้ถึงแก่กรรมแล้ว
พวกเขาก็จะมารับเงินทดรองจ่ายคืนจากกองมรดกของญาติสูงวัยท่านนี้
สรุปแล้วญาติกลุ่มหนึ่งก็มาช่วยเงินค่ารักษาพยาบาลและดูแลรักษา
และญาติอีกกลุ่มหนึ่งก็จะไปทดรองจ่ายเงินค่ากฐิน
และไปถวายของในงานกฐินแทนญาติสูงวัยท่านนี้ครับ


หากเราจะมองเรื่องนี้ว่าเป็นภาระ ก็มองได้ว่าเป็นภาระ แล้วก็กลุ้มใจ
แต่หากเราจะมองว่าเป็นโอกาสในการได้ทำบุญกุศล
ก็ถือว่าเราได้ทำบุญกุศลเช่นกันนะครับ
ทีนี้ ใครประสงค์จะทำบุญกุศลในทางใด
ก็แล้วแต่จริตและศรัทธาของแต่ละท่าน
ซึ่งเราก็สามารถอนุโมทนาบุญที่ท่านนั้นได้ทำไว้แล้วได้


เมื่อเจอปัญหาลักษณะนี้ เราก็ต้องพิจารณาและวางแผนกันล่วงหน้านะครับ
ผมได้วางแผนไว้ล่วงหน้าเป็น ๒ กรณีว่า
๑. หากญาติสูงวัยท่านนี้จะมีชีวิตอยู่ไม่นานแล้ว ก็ไม่น่าห่วงเท่าไร
เพราะจะมีค่าใช้จ่ายเรื่องงานศพเพิ่มมาอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น
หลังจากนั้นก็สามารถขอให้ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดก
และนำเงินในบัญชีของญาติสูงวัยท่านนี้มาชดใช้หนี้ให้กับญาติคนอื่น ๆ ได้
๒. แต่หากญาติสูงวัยท่านนี้จะมีชีวิตต่อไปเป็นระยะเวลานานมากแล้ว
ผมเองอาจจะรับผิดชอบค่าพยาบาลจำนวนสูงมากให้ไม่ไหว
ก็ต้องพยายามหาวิธีการถอนเงินในบัญชีของญาติสูงวัยท่านนี้ออกมาให้ได้
ซึ่งในทางกฎหมายแล้ว ก็สามารถทำได้ (แต่ต้องใช้เวลาพอสมควร)
โดยร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ญาติสูงวัยท่านนี้เป็น “บุคคลไร้ความสามารถ”
ไม่สามารถกระทำการใด ๆ เองได้ เนื่องจากความเจ็บป่วย
และขอให้ศาลแต่งตั้งหลานสาวที่ดูแลญาติสูงวัยท่านนี้เป็น “ผู้อนุบาล”
ซึ่งผู้อนุบาลก็จะสามารถจัดการทรัพย์สินของบุคคลไร้ความสามารถได้


เรื่องราวยังมีอีกไม่น้อย แต่ผมขอเล่าแต่เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแก่บทความ
ในเรื่องนี้ ผมจึงขอให้ข้อแนะนำบางเรื่องนะครับว่า
ไม่ควรประมาท อย่าคิดว่าเราจะอยู่ค้ำฟ้า อย่าคิดว่าเราจะจัดการเองได้เสมอ
เพราะความเจ็บ และความตายนั้นสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา
โดยการเก็บสะสมทรัพย์สินใด ๆ นั้น
พึงเก็บในลักษณะที่ไม่ให้ครอบครัวหรือญาติต้องลำบากด้วย
ไม่ใช่ว่าเก็บคนเดียว รู้คนเดียว ถอนได้คนเดียว ใช้ได้คนเดียว
คนในครอบครัวคนอื่นไม่รู้ ไม่ทราบ หรือนำมาใช้ไม่ได้
แล้วถึงเวลาที่เราประสบอุบัติเหตุ หรือประสบเหตุเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต
คนในครอบครัวก็ลำบาก เพราะไม่รู้ ไม่ทราบ หรือนำมาใช้ทันทีไม่ได้
โดยในการเก็บเงินสำรองไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินนั้น
ควรจะให้คนในครอบครัว หรือคนที่ดูแลเราอยู่ หรือคนที่เราดูแลอยู่
สามารถที่จะถอนเงินดังกล่าวมาใช้ในยามฉุกเฉินได้โดยไม่ยาก


นอกจากนี้แล้ว ผมแนะนำให้ทำพินัยกรรมไว้
เพื่อป้องกันมิให้ญาติต้องทะเลาะกันในภายหลัง
นอกจากพินัยกรรมแล้ว ควรจะทำรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
และหมั่นคอยอัพเดทรายการทรัพย์สินและหนี้สินนั้นเป็นระยะ ๆ ด้วย
ว่ามีทรัพย์สินและหนี้สินอะไรตรงไหน และมีเอกสารที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง
เพื่อที่เวลาคนในครอบครัวหรือญาติจะต้องจัดการทรัพย์สินหรือหนี้สินให้
จะได้กระทำได้โดยสะดวกนะครับ


ถ้าไม่ทำเช่นนี้แล้ว บางทีทายาทอาจจะประสบปัญหาใหญ่ว่า
ทรัพย์สินมีอะไรบ้างก็ไม่ทราบ เอกสารอยู่ไหนบ้างก็ไม่รู้
ทุกอย่างก็ซุกซ่อนไว้จนหายาก หรือหาไม่เจอ
บางท่านอาจจะนำเอกสารไปเก็บไว้ในหลายตู้หรือหลายลิ้นชักซึ่งล็อคกุญแจ
แล้วกุญแจอยู่ไหนบ้างก็ไม่ทราบ ก็ทำให้ค้นหายากมาก


เล่าเรื่องมาพอสมควรแล้ว เห็นว่าสมควรแก่เนื้อหานะครับ
ฉบับนี้ก็เป็นธรรมะใกล้ตัว
Lite ฉบับสุดท้ายของปี ๒๕๕๘
ใกล้จะสิ้นปี ๒๕๕๘ แล้ว เราก็พึงใช้โยนิโสมนสิการนะครับว่า
ในปีที่ผ่านมานี้ เราได้ทำประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นมากน้อยเพียงไร
เราได้เจริญศีล สมาธิ และปัญญามากน้อยเพียงไร (หรือเสื่อมลง)
เรามีอกุศลธรรมเรื่องไหนที่ควรลด ละ เลิก
เรามีกุศลธรรมเรื่องไหนที่ควรเจริญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
แล้วก็พบกันใหม่ ในธรรมะใกล้ตัว Lite ฉบับมกราคม ๒๕๕๙ ครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP