จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เรียนธรรมแล้วเกิดโทษ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


171 destination


เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งในเรื่องวิธีการภาวนา
โดยญาติธรรมท่านนี้ได้ไปศึกษาวิธีการภาวนาจากสำนักแห่งหนึ่ง
ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าทางสำนักดังกล่าวสอนอย่างไร หรือญาติธรรมท่านนี้ฟังมาอย่างไร
แต่โดยสรุปแล้ววิธีการภาวนาของญาติธรรมท่านนี้ก็คือ
ฝึกรู้ว่ามีสภาวธรรมอะไรเกิดขึ้น แล้วให้ทำเฉยต่อสภาวธรรมนั้น
กล่าวคือรู้อะไรแบบแตะ ๆ นิดนึง แล้วให้รีบทิ้งไป โดยวางเฉยเสีย
ซึ่งเมื่อเจออะไรแล้วก็เฉย พอรู้อะไรแล้วก็เฉยไปได้สักช่วงเวลาหนึ่ง
ก็เริ่มจะส่งผลกระทบด้านลบทั้งทางกายและใจ แล้วก็ส่งผลกระทบต่อการทำงาน
จนทำให้คนในครอบครัวที่อยู่ด้วยกันต้องเป็นห่วงและมาคอยเฝ้าดูแล


ผมได้ใช้เวลาเป็นชั่วโมง ๆ ในการอธิบายให้ญาติธรรมท่านนี้ฟังว่า
วิธีการภาวนาของญาติธรรมท่านนี้ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา
เพราะ “วิปัสสนา” หมายถึง การเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม
ไม่ได้หมายถึงการฝึกรู้สภาวธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้ทำเฉย


(อนึ่ง ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ได้ให้ความหมาย “วิปัสสนา” ว่าหมายถึง ความเห็นแจ้ง
คือเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม,
ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้,
การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น)
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C7%D4%BB%D1%CA%CA%B9%D2&original=1


นอกจากนี้ ผมก็พยายามแนะนำให้ญาติธรรมท่านนี้ลองพิจารณาว่า
วิธีการภาวนาที่ท่านนี้ใช้อยู่นั้นเหมาะสมกับตนเองหรือไม่
เป็นประโยชน์แก่ตนเอง หรือเป็นโทษแก่ตนเองกันแน่
กล่าวคือแนะนำให้ฝึกใช้ “โยนิโสมนสิการ” ในการภาวนาของตนเอง
โดยหากเห็นว่าวิธีการดังกล่าวไม่เหมาะสม หรือเป็นโทษแก่ตนเองแล้ว
เขาก็น่าจะลองละวางวิธีการภาวนาเดิมไปก่อน
และเปิดใจรับฟังคำแนะนำของกัลยาณมิตรว่าควรจะภาวนาอย่างไร


หลังจากที่ได้ใช้เวลาสนทนากันเป็นชั่วโมง ๆ แล้ว
ส่วนที่ผมหนักใจที่สุดก็คือ เกรงว่าญาติธรรมท่านนี้จะไม่รับฟังและยึดถือปฏิบัติแบบเดิม
ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ผลก็ออกมาแบบที่ผมกังวลนะครับคือ
ญาติธรรมท่านนี้ก็ยังยึดถือที่จะปฏิบัติแบบเดิมต่อไป
โดยไม่ยอมละทิ้งวิธีการปฏิบัติแบบเดิม
แม้ผมจะบอกว่าให้ลองวิธีการอื่นในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อเปรียบเทียบกันก็ตาม


ในเรื่องดังกล่าวก็เป็นอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงนะครับว่า
การเรียนธรรมนั้นไม่ได้แปลว่าจะทำให้เกิดประโยชน์เสมอไป
แต่การเรียนธรรมนั้นอาจจะทำให้เกิดโทษก็ได้
ในเรื่องนี้ก็ได้มีพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งได้ทรงสอนไว้ด้วย
โดยใน “อลคัททูปมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์) เล่าว่า
อริฏฐภิกษุได้เกิดทิฏฐิอันลามกเห็นว่า
ธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วว่าเป็นธรรมกระทำซึ่งอันตราย
ธรรมเหล่านั้นไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง
จากนั้น อริฏฐภิกษุก็ได้กล่าวตู่พระพุทธเจ้า
เพื่อนภิกษุทั้งหลายไม่สามารถที่จะปลดเปลื้องอริฏฐภิกษุจากทิฏฐิอันลามกนั้นได้
จึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และกราบทูลเรื่องราวต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้ภิกษุรูปหนึ่งไปเรียกอริฏฐภิกษุมาเข้าเฝ้า
เมื่ออริฏฐภิกษุได้มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนอริฏฐภิกษุให้ปลดเปลื้องทิฏฐิอันลามกดังกล่าว
แล้วได้ทรงสอนว่า การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
ย่อมเป็นการขุดตนเอง และประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ และเพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน


หลังจากนั้นแล้ว ได้ทรงสอนเรื่องโมฆบุรุษเรียนธรรมว่า
โมฆบุรุษย่อมเล่าเรียนธรรม (คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ) แล้ว
ย่อมไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา
กุลบุตรทั้งหลายเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อันใด
โมฆบุรุษเหล่านั้นย่อมไม่ได้เสวยประโยชน์นั้นแห่งธรรมนั้น
ธรรมเหล่านั้นอันโมฆบุรุษเหล่านั้นเรียนไม่ดีแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ และเพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน


เปรียบเสมือนบุรุษมีความต้องการจับงูพิษ พึงจับงูพิษนั้นที่ขนดหรือที่หาง
งูพิษนั้นพึงแว้งกัดเขาที่ข้อมือ ที่แขน หรือที่อวัยวะใหญ่น้อยแห่งใดแห่งหนึ่ง
เขาพึงถึงความตาย หรือความทุกข์ปางตาย โดยการกัดนั้นเป็นเหตุ
ข้อนั้นเป็นเพราะเขาจับงูพิษนั้นไม่ดี
ในทำนองเดียวกัน โมฆบุรุษซึ่งเรียนธรรม (คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ) นั้นแล้ว
ย่อมไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา
ธรรมเหล่านั้นอันโมฆบุรุษเหล่านั้นเรียนไม่ดีแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ และเพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน


ในทางกลับกัน กุลบุตรบางพวกย่อมเล่าเรียนธรรม (คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ
คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ) แล้ว
ย่อมไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา
กุลบุตรเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์ใด
ย่อมได้เสวยประโยชน์นั้นแห่งธรรมนั้น
ธรรมเหล่านั้นอันกุลบุตรเหล่านั้นเรียนดีแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน


เปรียบเสมือนบุรุษมีความต้องการจับงูพิษ
พึงกดงูพิษนั้นไว้มั่นด้วยไม้มีสัณฐานเหมือนเท้าแพะ
ครั้นกดไว้มั่นด้วยไม้มีสัณฐานเหมือนเท้าแพะแล้ว จับที่คอไว้มั่น
ถึงแม้งูพิษนั้นพึงรัดมือ แขน หรืออวัยวะใหญ่น้อยแห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้นด้วยขนด
ถึงอย่างนั้น เขาไม่ถึงความตาย หรือความทุกข์ปางตาย ซึ่งมีการพันนั้นเป็นเหตุ
ข้อนั้นเป็นเพราะเขาได้จับงูพิษไว้ดีแล้ว
ในทำนองเดียวกัน กุลบุตรบางพวกย่อมเล่าเรียนธรรม (คือ สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ) แล้ว
ย่อมไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา
ธรรมเหล่านั้นอันกุลบุตรเหล่านั้นเรียนดีแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=4443&Z=4845&pagebreak=0


ดังนี้ ในการเรียนธรรมของเรานั้น จำเป็นที่จะต้องย่อมไตร่ตรอง
เนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญาด้วย
โดยเราพึงใช้โยนิโสมนสิการตรวจสอบตนเองอยู่เนือง ๆ ว่า
เราได้เรียนธรรม หรือได้ปฏิบัติภาวนาไปแล้ว ชีวิตเราเป็นอย่างไร
เช่น ทาน ศีล สมาธิ ปัญญาดีขึ้นไหม ชีวิตดีขึ้นหรือว่าแย่ลง
กุศลเพิ่มขึ้นหรือลดลง อกุศลเพิ่มขึ้นหรือลดลง


อย่างสมมุติว่าเราเรียนธรรมแล้ว ส่งผลให้ชีวิตแย่ลง ทำงานไม่ได้
ต้องทำให้คนในครอบครัวที่อยู่กับเราต้องเป็นห่วงต้องมาคอยดูแล
หรือทำทานจนหมดตัว ครอบครัวไม่มีกิน ครอบครัวเดือดร้อนแตกแยก
หรือโลภมากอยากได้บุญ จนกระทั่งโกงเงินคนอื่นไปทำทาน
หรือเราเห็นคนอื่นผิดไปหมด ไปโต้เถียงทะเลาะกับคนอื่นไปทั่ว เป็นต้น
อย่างนั้นแล้ว เราพึงใช้โยนิโสมนสิการตรวจสอบตนเองว่า
เราน่าจะเรียนธรรมไม่ดี หรือไม่ได้ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา
เปรียบเสมือนว่าเราจับงูพิษไม่ดีแล้ว
การเรียนธรรมของเรานั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ และเพื่อทุกข์
แทนที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์และเพื่อสุข
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็พึงต้องเปิดใจกว้าง
และปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนธรรมของเราใหม่
เพื่อให้ได้ประโยชน์และอานิสงส์ตามวัตถุประสงค์ในการเรียนธรรมของเราครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP