จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พุทธศาสนากับรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ ๒)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


170 destination


ในช่วงหลัง ๆ นี้ เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญทีไร
ก็มักจะมีกระแสเรียกร้องให้ระบุข้อความลงในรัฐธรรมนูญว่า
พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา
ซึ่งผมได้เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้แล้วในอดีต
ในบทความชื่อว่า “พุทธศาสนากับรัฐธรรมนูญ” ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้ครับ
http://dlitemag.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1320%3A2015-01-20-07-00-21&catid=66%3A-desitinationdhamma&Itemid=1


หลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ในขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ซึ่งก็มีพุทธศาสนิกชนบางกลุ่มเริ่มเรียกร้องอีกแล้วว่า
ให้ระบุข้อความลงในรัฐธรรมนูญว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
โดยบางท่านให้เหตุผลว่า เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาจากการถูกรุกรานจากศาสนาอื่น


ในเหตุผลดังกล่าวนั้น โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่เห็นด้วยนะครับ
ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยที่ต้องปกป้องพุทธศาสนา
ผมเห็นด้วยที่เราเหล่าพุทธศาสนิกชนควรจะต้องปกป้องพระพุทธศาสนา
แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือ การปกป้องพุทธศาสนาด้วยการระบุว่าเป็นศาสนาประจำชาติ
โดยในฐานะที่เราเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เราพึงต้องพิจารณาว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านทรงสอนไว้อย่างไร
และพึงปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของท่าน
ซึ่งในเรื่องปัญหาความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนี้
เราพึงต้องพิจารณาว่าต้นเหตุเกิดจากอะไร แล้วก็ทำการแก้ไขที่ต้นเหตุ
กรณีมิใช่ว่าปัญหาเกิดจากเหตุอย่างหนึ่ง แต่เรากลับไปมุ่งแก้ที่เหตุอีกอย่างหนึ่ง
ก็ย่อมจะไม่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดตรงเรื่อง


ในเรื่องนี้ หากเราจะพิจารณาพระธรรมคำสอนแล้ว
ใน “สัทธรรมปฏิรูปกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค) นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้
ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้
ที่แท้ โมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหาก เกิดขึ้นมาก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป


เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน
เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม คือ
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑
ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในสิกขา ๑ ในสมาธิ ๑


เหตุ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน
ไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม คือ
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑
ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในสิกขา ๑ ในสมาธิ ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=16&A=5846&Z=5888&pagebreak=0


ดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงสอนว่าพระสัทธรรมจะเลือนหาย
เพราะเหตุว่าถูกศาสนาอื่นมารุกราน
หรือเพราะเหตุว่าไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายหลักของประเทศว่าเป็นศาสนาประจำชาติ
ในสมัยพุทธกาลเองก็ไม่ได้มีการบัญญัติกฎหมายว่า
รัฐไหนหรือเมืองไหนมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติแต่อย่างใด


แต่หากเราต้องการให้พระพุทธศาสนามั่นคงดำรงอยู่แล้ว
สิ่งสำคัญที่พวกเราในฐานะพุทธสาวกพึงกระทำก็คือ มีความเคารพยำเกรงใน
พระศาสดา ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในสิกขา ๑ ในสมาธิ ๑
กล่าวคือสนใจให้ความสำคัญ ตั้งใจศึกษา
และตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนนั่นเอง
เพราะเมื่อเหล่าพุทธบริษัทปฏิบัติดังกล่าวแล้ว
คำสอนที่แปลกปลอมย่อมแทรกซึมเข้ามาปลอมปนในพุทธศาสนาไม่ได้
แต่ด้วยความที่เหล่าพุทธบริษัทมิได้มีความยำเกรงหรือให้ความสำคัญดังกล่าว
เมื่อคำสอนแปลกปลอมใด ๆ แทรกซึมเข้ามา
เหล่าพุทธบริษัทก็ไม่สามารถจำแนกได้ว่า เป็นคำสอนในพุทธศาสนาหรือไม่
จึงทำให้มีคำสอนอื่น ๆ ปลอมปนเข้ามาในพุทธศาสนาอย่างมากมาย
และเหล่าพุทธบริษัทก็ไม่สามารถจำแนกได้ว่าคำสอนไหนใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิด


อีกประการหนึ่งก็คือ พวกเราพึงสนใจให้ความสำคัญ
ตั้งใจศึกษา และตั้งใจเจริญซึ่งสติปัฏฐาน ๔
ใน “พราหมณสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้กระทำให้มาก
ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ไม่ได้นาน
เพราะบุคคลเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=4586&Z=4611&pagebreak=0


ดังนี้แล้ว หากเราเหล่าพุทธบริษัทต้องการให้พระสัทธรรมไม่เลือนหายและตั้งอยู่นานแล้ว
สิ่งที่เหล่าพุทธบริษัทสมควรช่วยกันทำก็คือ มีความเคารพยำเกรงใน
พระศาสดา ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในสิกขา ๑ ในสมาธิ ๑
และกระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔
ก็จะเป็นวิธีการที่ตรงตามพระธรรมคำสอนมากที่สุด
โดยเหล่าพุทธบริษัททุกคนย่อมมีหน้าที่ต้องช่วยกันดูแลในเรื่องนี้
ไม่ใช่ไปฝากพระพุทธศาสนาไว้ในรัฐธรรมนูญ
และให้รัฐธรรมนูญหรือองค์กรรัฐมาดูแลแทนเหล่าพุทธบริษัทครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP