จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

คุยเรื่องเปรต (ตอนที่ ๑)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


167 destination



ในช่วงนี้เป็นช่วงเข้าสู่เทศกาลทานเจกันแล้วนะครับ
ซึ่งผมเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับเทศกาลทานเจไว้บ้างแล้วในอดีต
ท่านผู้อ่านที่สนใจก็สามารถจะย้อนกลับไปอ่านได้ครับ
เรื่อง “เทศกาลทานเจ”
http://www.dlitemag.com/index.php?option=com_content&view=article&id=865:2012-10-18-04-04-07&catid=66:-desitinationdhamma&Itemid=59
เรื่อง “เจแตก เจด่างพร้อย”
http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/758-2012-10-23-18-14-08


ในคราวนี้ เรามาสนทนาเรื่องเปรตกันบ้างนะครับ
ซึ่งบางท่านอาจสงสัยว่าการสนทนาเรื่องเปรตนี้จะมีประโยชน์อะไร
โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นว่ามีประโยชน์หลายประการนะครับ
ยกตัวอย่างเช่น บางท่านที่รู้สึกว่าชีวิตตนเองลำบากอย่างแสนสาหัสนั้น
หากได้อ่านเรื่องภพภูมิเปรตแล้ว ย่อมจะทำให้เห็นได้ว่า
การไปเป็นเปรตนั้นมีชีวิตที่ยากลำบากกว่าเป็นมนุษย์มากมายนัก
หรือบางท่านอ่านแล้ว ทำให้เกิดความเกรงกลัวต่อบาปอกุศล
ไม่กล้าที่จะทำสิ่งอกุศลทั้งหลาย เพราะกลัวว่าจะต้องไปเป็นเปรตในอนาคต
หรือบางท่านอ่านแล้ว เกิดความเบื่อหน่ายที่จะต้องวนเวียนในสังสารวัฏนี้
เพราะหากเรายังจะวนเวียนไปเรื่อย ก็ย่อมมีโอกาสพลาดไปเป็นเปรตได้
ก็จะได้มุ่งประพฤติปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากสังสารวัฏนี้ เป็นต้น


ในภพภูมิเปรตนั้นมีชีวิตที่ยากลำบากกว่าชีวิตมนุษย์มากมายนัก
ใน “ติโรกุฑฑกัณฑ์ในขุททกปาฐะ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ)
อธิบายว่าในเปรตวิสัยนั้น ไม่มีกสิกรรม ไม่มีโครักขกรรม
ไม่มีพาณิชยกรรม ไม่มีการซื้อขาย ไม่มีการแลกเปลี่ยน
แต่เปรตนั้นยังอัตภาพให้เป็นไปในเปรตวิสัย ด้วยทานทั้งหลายที่ญาติได้อุทิศให้


น้ำฝนที่ตกลงในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด
ทานที่ญาติทั้งหลายให้แล้วและได้อุทิศให้ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยม ฉันใด
ทานที่ญาติทั้งหลายให้แล้วและได้อุทิศให้ ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=155&Z=194&pagebreak=0


ใน “เขตตูปมาเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ) ได้สอนว่า
ทายกทั้งหลายเปรียบด้วยชาวนา ไทยธรรมเปรียบด้วยพืช
ผลทานย่อมเกิดแต่การบริจาคไทยธรรมของทายกและปฏิคคาหกผู้รับ
พืชที่บุคคลหว่านลงในนานั้น ย่อมเกิดผลแก่เปรตทั้งหลาย
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=2972&Z=2982&pagebreak=0


ดังนี้ หากไม่มีญาติหรือบุคคลอุทิศบุญกุศลให้แก่เปรตแล้ว
เปรตนั้นย่อมไม่ได้รับทานใด ๆ และก็อยู่อย่างหิวกระหายยากลำบากไปเรื่อยนานแสนนาน
เช่นนี้แล้ว ในเวลาที่เราได้ทำทานหรือสร้างกุศลใด ๆ ก็ตาม
ก็พึงหมั่นที่จะอุทิศบุญกุศลให้หมู่ญาติและเหล่าสรรพสัตว์ รวมทั้งเปรตทั้งหลาย
โดยนอกจากจะเป็นการเจริญเมตตาสำหรับตนเองแล้ว
ยังจะเป็นการช่วยเหลือญาติของเราบางท่านที่อาจจะพลาดไปอยู่ในภพภูมิเปรตด้วย


ในการที่จะให้ทานไปถึงเปรตนั้น ผู้ให้นั้นไม่สามารถให้สิ่งของแก่เปรตโดยตรงได้
แต่จะต้องทำทานให้แก่บุคคลอื่น แล้วอุทิศให้ จึงจะสำเร็จประโยชน์แก่เปรตนั้น

ในการให้ทานโดยตรงแก่เปรตนี้ แม้แต่เทวดาจะเป็นผู้ให้ทานโดยตรงก็ตาม
ทานที่ให้โดยตรงนั้น ก็ไม่สามารถสำเร็จประโยชน์แก่เปรตได้
โดยใน “มหาเปสการเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ) เล่าว่า
เทพบุตรองค์หนึ่งพยายามจะให้ผ้าเนื้อดีแก่เปรตตนหนึ่ง
ซึ่งเป็นอดีตภรรยาตนเองในภพชาติก่อน
แต่เมื่อให้ผ้าเนื้อดีแก่เปรตตนนั้นแล้ว ผ้าเนื้อดีนั้นกลับกลายเป็นเหล็ก สวมใส่ไม่ได้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=3125&Z=3140&pagebreak=0


แม้ว่าผู้ที่ให้ทานกับมือเปรตนั้นจะเป็นอดีตสามีก็ตาม ก็ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์แก่เปรตนั้น
ใน “นันทาเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ) เล่าว่า
อดีตสามีผู้หนึ่งจะให้ผ้ากับมือที่เปรตตนหนึ่ง แต่เปรตตนนั้นได้กล่าวว่า
ถึงท่านจะให้ผ้านั้นที่มือของฉันด้วยมือของท่าน ก็ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์แก่ฉัน
แต่ขอท่านจงเลี้ยงดูภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ เป็นพหูสูต
ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ฉัน
เมื่อท่านทำอย่างนั้น ฉันจักมีความสุข สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=3459&Z=3506&pagebreak=0


ดังนั้นแล้ว วิธีการคือต้องให้ทานแก่บุคคลอื่น แล้วค่อยอุทิศให้แก่เปรตนั้น
บุคคลที่รับทานดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นพระภิกษุเสมอไป
การที่ทำทานให้แก่อุบาสกหรืออุบาสิกาผู้มีศรัทธาก็ถือว่าเป็นบุญกุศลและอุทิศได้เช่นกัน
(หรือแม้กรณีที่ทำบุญให้แก่บุคคลผู้ไม่มีศีล หรือสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ก็ได้บุญกุศลเช่นกัน
แต่ว่าบุญกุศลที่จะอุทิศให้นั้นย่อมน้อยกว่าทำบุญกับบุคคลผู้มีศีล)


ใน “ขลาตยเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ) เล่าว่า
ในสมัยหนึ่งได้มีพ่อค้าคนหนึ่งได้พบเปรตเปลือยกายตนหนึ่ง

และพ่อค้าคนนั้นต้องการมอบผ้าเนื้อดีแก่เปรตตนนั้น
เปรตตนนั้นได้บอกแก่พ่อค้าคนนั้นว่า แม้จะมอบผ้านั้นให้ที่มือเปรตก็ตาม
ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เปรตตนนั้น เปรตตนนั้นจึงได้บอกแก่พ่อค้าว่า
หากในหมู่ของพ่อค้านี้ มีอุบาสกผู้มีศรัทธา เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขอให้พ่อค้านั้นจงให้อุบาสกนั้นนุ่งห่มผ้าที่พ่อค้าจะให้แก่เปรตตนนั้น
แล้วอุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรตตนนั้นแทน เมื่อพ่อค้าทำเช่นนั้นแล้ว
เปรตตนนั้นจึงจะได้นุ่งห่มผ้าดังกล่าวตามปรารถนา


เมื่อพ่อค้าได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงได้ให้ผ้านั้นแก่อุบาสกผู้มีศรัทธา
แล้วอุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรตตนนั้น

ในทันใดนั้นเอง เครื่องนุ่งห่มได้บังเกิดแก่เปรตตนนั้น ซึ่งเป็นผลแห่งทักษิณา
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=3141&Z=3181&pagebreak=0


นอกจากนี้แล้ว ผู้ที่ให้ทานและอุทิศนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นฆราวาส
โดยแม้พระภิกษุจะเป็นผู้ให้ทาน และอุทิศให้ ก็ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เปรตได้
ใน “สังสารโมจกเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ) เล่าว่า
มีเปรตตนหนึ่งเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอม มีแต่ซี่โครง
ถูกความหิวและความกระหายเบียดเบียนได้ขอให้ท่านพระสารีบุตรช่วยทำบุญอุทิศให้
ท่านพระสารีบุตรเถระมีใจอนุเคราะห์และรับคำของเปรตตนนั้นแล้ว
จึงถวายข้าวคำหนึ่ง ผ้าประมาณเท่าฝ่ามือผืนหนึ่ง และน้ำดื่มขันหนึ่งแก่ภิกษุรูปหนึ่ง
แล้วอุทิศส่วนบุญไปให้เปรตตนนั้น เมื่อท่านพระสารีบุตรอุทิศส่วนบุญให้แล้ว
เปรตนั้นกลายเป็นเทพธิดามีร่างกายบริสุทธิ์
นุ่งห่มผ้าอันสะอาด มีค่ามากยิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี มีวัตถาภรณ์อันวิจิตรงดงาม
เทพธิดานั้นได้เข้าไปขอบคุณท่านพระสารีบุตร


พระสารีบุตรถามเทพธิดานั้นว่า ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก ส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
สถิตอยู่ดุจดาวประกายพฤกษ์ ท่านมีวรรณะเช่นนี้ เพราะกรรมอะไร

อิฏฐผลย่อมสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้ เพราะกรรมอะไร
และโภคะทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นที่รักแห่งใจ ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่านเพราะกรรมอะไร
ท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้


เทพธิดานั้นตอบว่า เมื่อก่อนดิฉันเป็นเปรต
พระคุณเจ้ามีความกรุณาในโลก ได้เห็นดิฉันซูบผอม ถูกความหิวแผดเผา
เปลือยกาย มีหนังแตกเป็นริ้วรอย เสวยทุกขเวทนา
พระคุณเจ้าได้ให้ข้าวคำหนึ่ง ผ้าประมาณเท่าฝ่ามือผืนหนึ่ง น้ำขันหนึ่งแก่ภิกษุ
แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ดิฉัน ขอท่านจงดูผลแห่งข้าวคำหนึ่งที่พระคุณเจ้าให้แล้ว
ดิฉันเป็นผู้ประกอบด้วยกามที่น่าปรารถนา บริโภคอาหารมีกับข้าวมีรสหลายอย่าง ตั้งพันๆ ปี
ขอพระคุณท่านจงดูผลแห่งการให้ผ้าประมาณเท่าฝ่ามือ ดิฉันได้รับนี้เถิด
ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ผ้าในแว่นแคว้นของพระเจ้านันทราชมีประมาณเท่าใด
ผ้านุ่งผ้าห่มของดิฉันมีมากกว่านั้นอีก คือ ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าฝ้าย
ผ้าแม้เหล่านั้น ทั้งกว้างทั้งยาว ทั้งมีค่ามาก ห้อยอยู่ในอากาศ
ดิฉันเลือกเอาแต่ผืนที่พอใจนุ่งห่ม
ขอพระคุณท่านจงดูผลแห่งการให้น้ำขันหนึ่งซึ่งดิฉันได้รับอยู่นี้
สระโบกขรณี ๔ เหลี่ยมลึกอันบุญกรรมสร้างให้ดีแล้ว มีน้ำใส มีท่าราบเรียบ มีน้ำเย็น
มีกลิ่นหอมหาสิ่งเปรียบมิได้ ดาดาษไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล
เต็มไปด้วยน้ำอันดาดาษไปด้วยเกษรบัว ดิฉันปราศจากภัย ย่อมรื่นรมย์ ชื่นชมบันเทิงใจ
ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันมาเพื่อจะไหว้พระคุณเจ้าผู้เป็นปราชญ์ มีความกรุณาในโลก
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=3263&Z=3318&pagebreak=0ฃ


ใน “สังสารโมจกเปตวัตถุ” ข้างต้นนี้มีข้อที่น่าสังเกตว่า
แม้ว่าสิ่งที่ทำทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลนั้นจะมีประมาณน้อยก็ตาม
แต่ประโยชน์ที่จะเกิดแก่เปรตนั้นไม่ได้มีน้อยตามไปด้วย
โดยประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นมีมากมายมหาศาล
นอกจากนี้ เราจะเห็นได้ว่าประโยชน์ที่เปรตดังกล่าวได้รับนั้น
เป็นประโยชน์ที่ได้รับจากการที่ผู้ทำบุญได้อุทิศส่วนบุญกุศลให้เท่านั้น
เช่นนี้แล้ว ผู้ที่ทำบุญด้วยตนเองนั้น จะได้รับประโยชน์มากเพียงไร


ทีนี้ เรามาพิจารณาบุพกรรมที่ทำให้ไปเกิดเป็นเปรตกันนะครับ
ใน “สูกรเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ) เล่าว่า
เปรตตนหนึ่งมีสีเหมือนทองคำทั่วทั้งร่างกาย และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
แต่มีปากเหมือนปากสุกร เนื่องเพราะในอดีตนั้นสำรวมกาย แต่ไม่สำรวมวาจา
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=2983&Z=2994&pagebreak=0


ใน “ปูตีมุขเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ) เล่าว่า
เปรตตนหนึ่งมีผิวพรรณงามดังทิพย์ ยืนอยู่ในอากาศ
แต่ปากมีกลิ่นเหม็น และมีหมู่หนอนพากันมาไชชอนอยู่
เนื่องเพราะในอดีตนั้น สำรวมกายเป็นปกติ แต่ไม่สำรวมวาจา โดยกล่าววาจาส่อเสียด
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=2995&Z=3007&pagebreak=0


ใน “ปัญจปุตตขาทิกเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ) เล่าว่า
เปรตตนหนึ่งเปลือยกาย มีผิวพรรณเลวทราม มีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไป
หมู่แมลงวันพากันตอมเกลื่อนกล่น เวลาเช้าคลอดบุตร ๕ คน เวลาเย็นอีก ๕ ตน
แล้วกินบุตรเหล่านั้นหมด โดยถึงแม้จะกินบุตร ๑๐ คนเหล่านั้นแล้ว
ก็ยังไม่อาจบรรเทาความหิวได้ หัวใจเร่าร้อนอยู่เป็นนิจเพราะความหิว
เนื่องเพราะในอดีตนั้น ได้เคยประทุษร้ายให้หญิงอื่นร่วมสามีของตนเองนั้นแท้งบุตร
เมื่อโดนซักถามแล้ว ได้กล่าวคำสบถและมุสาวาทอย่างแรงว่า
ถ้าตนเองทำชั่วอย่างนี้ ขอให้ตนเองกินเนื้อบุตรเถิด
เหตุที่เปรตตนนี้มีกายอันเปื้อนด้วยหนองและโลหิต กินเนื้อบุตรตนเอง
เพราะบุพกรรมคือการทำให้ผู้อื่นครรภ์ตกและการพูดมุสานั้น
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=3053&Z=3076&pagebreak=0


กรณีนี้ก็เป็นตัวอย่างว่าใครที่ทำอะไรผิดหรือไม่ถูกต้องไว้
หากต่อมาโดนซักถามแล้ว ตนเองมาโกหกสาบานว่า
ตนเองไม่ได้ทำ โดยหากทำแล้ว ขอให้ตนเองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว
แม้ว่าสิ่งที่สาบานนั้นจะไม่เกิดขึ้นในขณะที่เป็นมนุษย์ก็ตาม
แต่เมื่อไปเป็นเปรตแล้ว ก็ย่อมได้รับวิบากกรรมนั้นได้


ใน “นาคเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ) เล่าว่า
เปรตสองตนมือถือค้อน เดินร้องไห้ มีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา ตีซึ่งกันและกัน
มีตัวเป็นแผลแตกพัง แล้วกินหนองและเลือดของกันและกัน
แม้ได้ดื่มหนองและเลือดเป็นอันมาก ก็ยังไม่หายอยาก มีความหิวอยู่เป็นนิจ
เนื่องเพราะในอดีตนั้น ทั้งสองเป็นคนตระหนี่ และบริภาษสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=3182&Z=3219&pagebreak=0


อนึ่ง เปรตใน “นาคเปตวัตถุ” ข้างต้น ยังได้กล่าวอีกด้วยว่า
สัตว์เหล่าใด ได้ประสบโภคะต่างๆ แล้วไม่ใช้สอยเอง ทั้งไม่ทำบุญ
สัตว์เหล่านั้นจักต้องหิวกระหายในปรโลก ภายหลังถูกความหิวแผดเผาไหม้อยู่สิ้นกาลนาน
ครั้นทำกรรมทั้งหลายมีผลเผ็ดร้อน มีทุกข์เป็นกำไรแล้ว ย่อมได้เสวยทุกข์
บัณฑิตทั้งหลายรู้ทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นอย่างหนึ่ง
รู้ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในมนุษย์โลกนี้เป็นอย่างหนึ่ง
รู้ทรัพย์และข้าวเปลือกและชีวิตมนุษย์เป็นอีกอย่างหนึ่ง พึงทำที่พึ่งของตน
ชนเหล่าใดเป็นผู้ฉลาดในธรรม ฟังคำของพระอรหันต์ทั้งหลายแล้ว
รู้ชัดอย่างนี้แล้ว ชนเหล่านั้นย่อมไม่ประมาทในทาน


(คุยกันต่อในตอนหน้าครับ)


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


หมายเหตุ ศาลาปฏิบัติธรรม อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ได้เริ่มเปิดใช้งานแล้ว
โดยใช้จัดค่ายเรียนรู้กายใจแก่เด็กนักเรียนระดับประถม
โรงเรียนวัดดงเมือง อนุบาลเก้าเลี้ยว ในวันที่ ๒๕ ถึง ๒๗ กันยายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา


ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ ทางชมรมเรียนรู้กายใจจังหวัดนครสวรรค์จะ
จัดงานงานทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อนำปัจจัยมาใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
ในการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนการภาวนาแก่เด็ก ๆ
และใช้เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลรักษาและซ่อมแซมเครื่องมือ สื่ออุปกรณ์ อาคารสถานที่ที่เกี่ยวข้อง
(โดยเฉลี่ยแล้วในการจัดค่ายเรียนรู้แก่เด็กจำนวน ๕๐ คนในค่ายหนึ่ง ๆ
จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ ๓๕,๐๐๐ บาท) ครับ


สำหรับท่านที่สนใจร่วมทำบุญทอดผ้าป่าดังกล่าว ขอได้โปรดร่วมทำบุญโอนเงินได้ที่
บัญชีธนาคารชื่อบัญชี นางพจนา ทรัพย์สมาน และนางปราณี ศิริวิริยะกุล
และ นางชญาณัฒ ธิเนตร
ธนาคารกรุงเทพ สาขา บิ๊กซี นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 627-0-34831-8


ท่านสามารถติดตามรายละเอียดงานทอดผ้าป่าสามัคคี
เพื่อจัดตั้งกองทุนจัดค่ายเรียนรู้กายใจ ทำนุบำรุงศาลาและสถานที่สวนธรรมธาราศัย
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ ได้ที่
กระทู้ “ขอเชิญร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อตั้งกองทุนจัดค่ายเรียนรู้กายใจ ทำนุบำรุงศาลาและสถานที่สวนธรรมธาราศัย ในวันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๘”


ท่านสามารถติดตามกิจกรรมการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน ได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai


และสามารถติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP