จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ภิกษุและมาตุคาม (ตอนจบ)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



166 destination



ในคราวที่แล้ว เราได้สนทนาเรื่องข้อห้ามของภิกษุเกี่ยวกับมาตุคามไปบางส่วนแล้ว
โดยจบที่เรื่องอนิยตะ ในคราวนี้ เราก็จะมาสนทนาต่อจากคราวที่แล้วนะครับ
ในพระวินัยเรื่องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ได้มีข้อห้ามเกี่ยวกับภิกษุณีอยู่ด้วย
เช่น เรื่องภิกษุให้ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติให้ซักก็ดี ให้ย้อมก็ดี ให้ทุบก็ดี
ซึ่งจีวรใช้แล้ว แม้เพียงหนึ่งหนก็ตาม เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=2&A=553&Z=751&pagebreak=0
หรือเรื่องภิกษุรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=2&A=752&Z=910&pagebreak=0
แต่เนื่องจากในปัจจุบันนี้ ในพุทธศาสนาเถรวาทถือว่าไม่มีภิกษุณีแล้ว
ผมจึงขอไม่สนทนาในเรื่องเหล่านั้น
โดยจะสนทนาในเรื่องที่น่าจะเกี่ยวกับท่านผู้อ่านดีกว่าครับ


ในพระวินัยเรื่องปาจิตตีย์ได้มีข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับมาตุคามดังต่อไปนี้
๑. ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคาม เป็นปาจิตตีย์
ที่กล่าวว่า “นอนร่วม” นี้ เพียงแค่นอน โดยไม่ได้สัมผัสหรือเสพเมถุนนะครับ
เพราะหากมีการสัมผัสหรือเสพเมถุนด้วย ก็ย่อมจะต้องอาบัติ
ในเรื่องสังฆาทิเสสหรือปาราชิกด้วย แล้วแต่กรณี


การนอนร่วมกับมาตุคามที่เป็นปาจิตตีย์นี้จะต้องเป็นการนอนในสถานที่ซึ่งมุงทั้งหมด
บังทั้งหมด หรือมุงโดยมาก บังโดยมาก

แต่หากเป็นสถานที่มุงกึ่ง บังกึ่งแล้ว ย่อมต้องอาบัติทุกกฎ
หรือหากภิกษุสำเร็จการนอนร่วมกับหญิงยักษ์ก็ดี หญิงเปรตก็ดี บัณเฑาะก์ก็ดี
สัตว์ดิรัจฉานตัวเมียก็ดี ต้องอาบัติทุกกฎ.


ในเรื่องสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียนี้ก็มีข้อพิจารณาว่า
ในบางกรณีที่โยมบางท่านนำสุนัขตัวเมียหรือแมวตัวเมียไปปล่อยที่วัด
หากว่าสุนัขตัวเมียหรือแมวตัวเมียนั้นไปนอนภายใต้หลังคากุฏิเดียวกับพระภิกษุแล้ว
ก็เป็นเหตุให้พระภิกษุผิดอาบัติทุกกฎได้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=2&A=7250&Z=7351&pagebreak=0


ในการเรื่องของการนอนร่วมนี้ หากเป็นการนอนร่วมกับอนุปสัมบัน
ยิ่งกว่า ๒-๓ คืนแล้ว ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ด้วยเช่นกัน
หากเป็นการนอนร่วมในสถานที่มุงกึ่ง บังกึ่ง ยิ่งกว่า ๒-๓ คืน ย่อมต้องอาบัติทุกกฎ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=2&A=7166&Z=7249&pagebreak=0


๒. ภิกษุใดแสดงธรรมแก่มาตุคามยิ่งกว่า ๕-๖ คำ
โดยไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ด้วย เป็นปาจิตตีย์.
อนึ่ง หากภิกษุแสดงธรรมแก่หญิงยักษ์ หญิงเปรต บัณเฑาะก์
หรือสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย มีกายคล้ายมนุษย์ ยิ่งกว่า ๕-๖ คำ
โดยไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ ต้องอาบัติทุกกฎ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=2&A=7352&Z=7467&pagebreak=0


๓. ภิกษุใดบอกอุตตริมนุสสธรรมแก่อนุปสัมบัน เป็นปาจิตตีย์ เพราะมีจริง
ทั้งนี้ คำว่า “อนุปสัมบัน” หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้เป็นภิกษุ ดังนั้นจึงรวมมาตุคามด้วย
และรวมถึงคฤหัสถ์ที่เป็นโยมผู้ชาย และบัณเฑาะก์ด้วย


ส่วนคำว่า “อุตตริมนุสสธรรม” ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ
การทำมรรคให้เกิด การทำผลให้แจ้ง การละกิเลส
ความเปิดจิต ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า
โดย “ฌาน” ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
“วิโมกข์” ได้แก่ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์
“สมาธิ” ได้แก่ สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิ
“สมาบัติ” ได้แก่ สุญญตสมาบัติ อนิมิตตสมาบัติ อัปปณิหิตสมาบัติ
“ญาณ” ได้แก่ วิชชา ๓ คือ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ และอาสวักขยญาณ
“การทำมรรคให้เกิด” ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
“การทำผลให้แจ้ง” ได้แก่ การทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล การทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล
การทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล การทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผล
“การละกิเลส” ได้แก่ การละราคะ การละโทสะ การละโมหะ
“ความเปิดจิต” ได้แก่ ความเปิดจิตจากราคะ ความเปิดจิตจากโทสะ ความเปิดจิตจากโมหะ
“ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า” ได้แก่ ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยปฐมฌาน
ทุติยฌาน ตติยฌาน หรือจตุตถฌาน


ยกตัวอย่างเช่น หากภิกษุบอกแก่อนุปสัมบันว่า ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌาน
ทุติยฌาน ตติยฌาน หรือจตุตถฌานแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
หรือ หากภิกษุบอกแก่อนุปสัมบันว่า ข้าพเจ้าเข้าสุญญตวิโมกข์
สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ หรืออัปปณิหิตวิโมกข์ แล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
หรือ หากภิกษุบอกแก่อนุปสัมบันว่า ข้าพเจ้าเข้าสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เป็นต้น
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=2&A=7468&Z=8399&pagebreak=0


ในเรื่องของการบอกอุตตริมนุสสธรรม เพราะมีจริงนั้น ห้ามบอกแก่อนุปสัมบัน
แต่หากบอกแก่ภิกษุด้วยกันแล้ว ย่อมไม่เป็นอาบัติปาจิตตีย์


อนึ่ง หากเป็นกรณีที่กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม โดยที่ไม่มีอยู่จริงแล้ว
ย่อมเข้าข่ายเรื่องอาบัติปาราชิกได้ โดยพระวินัยได้กำหนดข้อห้ามว่า
ภิกษุใด ไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็น
อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้
ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม
ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติปาราชิก หาสังวาสมิได้
ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นว่ากรณีที่ภิกษุสำคัญผิดว่าได้บรรลุ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=1&A=8643&Z=8691&pagebreak=0


๔. ภิกษุใด บอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุ แก่อนุปสัมบัน เป็นปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ (ซึ่งคำว่า “อนุปสัมบัน” นี้ย่อมรวมถึงมาตุคามด้วย)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=2&A=8400&Z=8470&pagebreak=0


คำว่า “สมมติ” หมายถึง การร่วมกัน, การตกลงกัน, การมีมติร่วมกัน หรือยอมรับร่วมกัน,
การที่สงฆ์ประชุมกันตกลงมอบหมาย หรือแต่งตั้งภิกษุให้ทำกิจ
หรือเป็นเจ้าหน้าที่ในเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สมมติภิกษุเป็นผู้ให้โอวาทภิกษุณี
สมมติภิกษุเป็นภัตตุเทศก์ เป็นต้น
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CA%C1%C1%B5%D4&original=1


๕. ภิกษุใด สำเร็จการนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒ คน เป็นปาจิตตีย์
ข้อห้ามเรื่องนี้อ่านเข้าใจยากนะครับ แต่ในเรื่องที่เป็นต้นบัญญัติก็คือ
พระภิกษุได้รับนิมนต์ไปถวายภิกษาหารในบ้านของสามีภรรยาคู่หนึ่ง
หลังจากถวายภิกษาหารแก่พระภิกษุแล้ว
สามีเกิดมีราคะต่อภรรยา จึงได้นิมนต์พระภิกษุให้กลับไป
แต่ภรรยาได้นิมนต์พระภิกษุอยู่ก่อน สามีได้นิมนต์ให้พระภิกษุกลับ ๓ ครั้ง
ภรรยาก็ได้นิมนต์ให้พระภิกษุอยู่ ๓ ครั้ง ซึ่งทำให้สามีเกิดโทสะ
เพราะพระภิกษุได้นั่งแทรกแซงอยู่ กล่าวคือในตระกูลมีคน ๒ คน
โดยคนหนึ่งกำลังเกิดราคะ แล้วพระภิกษุไปนั่งแทรกแซงอยู่
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=2&A=11299&Z=11362&pagebreak=0


๖. ภิกษุใด สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบัง กับมาตุคาม เป็นปาจิตตีย์
หรือหากภิกษุสำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังกับหญิงยักษ์
หญิงเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมีกายดังมนุษย์ ต้องอาบัติทุกกฎ


คำว่า “ในที่ลับ” ได้แก่ ที่ลับตา หรือที่ลับหู
โดยคำว่า “ที่ลับตา” ได้แก่ ที่ซึ่งเมื่อภิกษุหรือมาตุคามขยิบตา ยักคิ้ว
หรือชะเง้อศีรษะ โดยไม่มีใครสามารถจะแลเห็นได้
ส่วนคำว่า “ที่ลับหู” ได้แก่ ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่สนทนากันตามปกติได้
คำว่า “อาสนะกำบัง” คือ เป็นอาสนะที่เขากำบังด้วยฝา บานประตู ลำแพน ม่านบัง
ต้นไม้ เสา หรือฉางข้าว อย่างใดอย่างหนึ่ง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=2&A=11363&Z=11422&pagebreak=0


๗. ภิกษุใด ผู้เดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามผู้เดียว เป็นปาจิตตีย์
หรือหากภิกษุสำเร็จการนั่งในที่ลับ กับหญิงยักษ์ หญิงเปรต บัณเฑาะก์
หรือสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมีกายดังมนุษย์ หนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฎ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=2&A=11423&Z=11482&pagebreak=0


ในส่วนของการอยู่กับมาตุคามในที่ลับตาหรือลับหูนั้น
ได้กล่าวไปบ้างแล้วในเรื่องอนิยตะในตอนที่แล้ว
ซึ่งมีความแตกต่างจากปาจิตตีย์ใน ๒ ข้อข้างต้นนี้ตรงที่ว่า
ในเรื่องของอนิยตะนั้น มีเงื่อนไขว่ามีอุบาสิกา ซึ่งมีวาจาที่เชื่อได้
เห็นภิกษุกับมาตุคามนั้นนั่นแล้ว พูดขึ้นด้วยธรรม ๒ หรือ ๓ ประการ
อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่กรณี (เช่น ปาราชิก สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์)
เช่นนี้ แม้จะไม่มีอุบาสิกาซึ่งมีวาจาที่เชื่อได้พูดธรรมดังกล่าว ก็ยังเป็นปาจิตตีย์


๘. ภิกษุใด เมื่อถูกชักชวนแล้ว เดินทางไกลสายเดียวกันกับมาตุคาม
โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์
หากภิกษุเป็นผู้ชักชวน โดยมาตุคามมิได้ชักชวน ต้องอาบัติทุกกฎ
หรือหากภิกษุ เมื่อถูกชักชวนแล้ว เดินทางไกลสายเดียวกันกับหญิงยักษ์
หญิงเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมีกายคล้ายมนุษย์
โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฎ


คำว่า “โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง” หมายถึง ในตำบลบ้าน กำหนดชั่วไก่บินถึง
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุก ๆ ระยะบ้าน
หากเป็นในป่าหาบ้านมิได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุก ๆ ระยะกึ่งโยชน์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=2&A=12930&Z=12996&pagebreak=0


อนึ่ง ในเรื่องปาจิตตีย์ก็ได้มีข้อห้ามเกี่ยวกับภิกษุณีอยู่ด้วย
แต่ผมขอไม่สนทนาในเรื่องเหล่านั้นด้วยเหตุผลดังที่กล่าวแล้ว
ในเรื่องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ข้างต้นนะครับ


ในเรื่องของเสขิยวัตร ก็ไม่ได้มีเรื่องข้อห้ามเกี่ยวกับมาตุคามโดยตรง
แต่ก็อาจจะมีเกี่ยวข้องโดยอ้อมในบางข้อ เช่น

๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีตาทอดลง เดินไปในละแวกบ้าน
ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ เดินในละแวกบ้าน พลางแลดูในที่นั้นๆ ต้องอาบัติทุกกฎ
๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีตาทอดลง นั่งไปในละแวกบ้าน
ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ นั่งในละแวกบ้าน พลางแลดูในที่นั้นๆ ต้องอาบัติทุกกฎ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=2&A=15168&Z=15317&pagebreak=0


อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว บางท่านอาจจะรู้สึกว่าข้อจำกัดห้ามเกี่ยวกับมาตุคาม มีไม่น้อยเลย
เหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่ารูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสของสตรี
เป็นสิ่งที่ครอบงำจิตของบุรุษได้ง่าย
โดยในพระสุตตันตปิฎก (อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาตร) ได้สอนว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นรูปอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่
เหมือนรูปสตรีเลย ภิกษุทั้งหลาย รูปสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่
ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นเสียงอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่
เหมือนเสียงสตรีเลย ภิกษุทั้งหลาย เสียงสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่
ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นกลิ่นอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่
เหมือนกลิ่นสตรีเลย ภิกษุทั้งหลาย กลิ่นสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่
ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นรสอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่
เหมือนรสสตรีเลย ภิกษุทั้งหลาย รสสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่
ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นโผฏฐัพพะอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่
เหมือนโผฏฐัพพะของสตรีเลย ภิกษุทั้งหลายโผฏฐัพพะสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่”


ในทางกลับกัน รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสของบุรุษ
ก็เป็นสิ่งที่ครอบงำจิตของสตรีได้ง่ายเช่นกัน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=20&A=0&Z=41&pagebreak=0


โดยสรุปแล้ว พระภิกษุนั้นมีจะมีข้อห้ามในส่วนของโยมที่เป็นสตรี (หรือมาตุคาม)
อยู่หลายข้อนั้น ซึ่งหากโยมที่เป็นสตรีทราบข้อห้ามดังกล่าว
ก็ย่อมสามารถที่จะเอื้อเฟื้อต่อพระภิกษุในการที่จะหลีกเลี่ยงข้อห้ามดังกล่าวได้
ทั้งนี้ ข้อห้ามสำหรับโยมที่เป็นสตรีในเรื่องต่าง ๆ นั้น ในหลาย ๆ ข้อก็ยังใช้บังคับกับ
โยมที่เป็นบัณเฑาะก์ (กระเทย) ด้วย เพียงแต่จะเป็นอาบัติที่เบากว่า
อีกประการหนึ่งที่มักจะเป็นข้อถกเถียงกันอยู่เสมอ ก็คือในเรื่องของการแต่งกาย
โดยโยมสมควรจะแต่งกายอย่างมิดชิด และเรียบร้อย
ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพแล้ว
ยังเป็นการเอื้อเฟื้อช่วยป้องกันมิให้พระภิกษุเกิดราคะได้โดยง่ายด้วยครับ


++++++++++++++++++++++++++++++++


หมายเหตุ ณ วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๘ ศาลาปฏิบัติธรรม อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
ได้เริ่มเปิดใช้งานแล้ว โดยใช้จัดค่ายเรียนรู้กายใจแก่เด็กนักเรียนระดับประถม
โรงเรียนวัดดงเมือง อนุบาลเก้าเลี้ยว ในวันที่ ๒๕ ถึง ๒๗ กันยายน ๒๕๕๘
โดยท่านสามารถติดตามกิจกรรมการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน ได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai


ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ ทีมงานชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์
จะจัดงานสมโภชศาลาปฏิบัติธรรมด้วยการจัดคอร์สภาวนา และทอดผ้าป่าสามัคคี
ในส่วนของงานผ้าป่าสามัคคีนั้นก็เพื่อจัดตั้งกองทุนสำหรับนำเงินมาใช้จ่าย
เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนการภาวนาแก่เด็ก ๆ
และใช้เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลรักษาและซ่อมแซมเครื่องมือ
สื่ออุปกรณ์ อาคารสถานที่ที่เกี่ยวข้อง


สำหรับท่านที่สนใจร่วมทำบุญทอดผ้าป่าดังกล่าว ขอได้โปรดร่วมทำบุญโอนเงินได้ที่
บัญชีธนาคารชื่อบัญชี นางพจนา ทรัพย์สมาน และนางปราณี ศิริวิริยะกุล
และ นางชญาณัฒ ธิเนตร

ธนาคารกรุงเทพ สาขา บิ๊กซี นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 627-0-34831-8


ท่านสามารถติดตามรายละเอียดงานทอดผ้าป่าสามัคคี
เพื่อจัดตั้งกองทุนจัดค่ายเรียนรู้กายใจ ทำนุบำรุงศาลาและสถานที่สวนธรรมธาราศัย
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ ได้ที่
http://bit.ly/1Mrq5T1



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP