จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ภิกษุและมาตุคาม (ตอนที่ ๑)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



165 destination



ในฉบับที่ ๑๖๓ เราได้สนทนากันในเรื่องภิกษุกราบแม่
และในฉบับที่ ๑๖๔ เราได้สนทนากันในเรื่องภิกษุล้างเท้ามารดา โยมสตรีล้างเท้าภิกษุ
ซึ่งประเด็นสำคัญในเรื่องก็คือ ข้อห้ามภิกษุในการทำความเคารพอนุปสัมบัน
(คือผู้ที่ไม่ได้เป็นภิกษุ หมายถึง สามเณรและคฤหัสถ์)
และข้อห้ามภิกษุในการถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม
(หมายถึง หญิงมนุษย์ แม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น)


ในเมื่อได้สนทนาเรื่องพระวินัยในเรื่องมาตุคามไปบ้างแล้ว
ในคราวนี้ก็จะสนทนาเรื่องมาตุคามต่อนะครับ เพื่อที่จะได้ข้อมูลครบถ้วนในส่วนนี้

ซึ่งการที่เราได้ทราบพระวินัยในเรื่องเกี่ยวกับมาตุคามนั้น
ย่อมเป็นประโยชน์ในการที่โยมจะช่วยเอื้ออำนวยไม่ให้ภิกษุต้องผิดพระวินัยได้
โดยเฉพาะหากมาตุคามไม่ทราบพระวินัยในเรื่องเหล่านี้แล้ว
ก็อาจจะพลาดไปทำให้ภิกษุผิดพระวินัยได้ โดยที่ตนเองไม่เจตนา

ในพระวินัยเรื่องปาราชิก ได้มีข้อห้ามเรื่องการเสพเมถุนธรรม
(กล่าวคือ การร่วมประเวณี หรือการร่วมสังวาส)
โดยได้ทรงบัญญัติว่า “ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิก”
ในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
องค์กำเนิด (องคชาติ) อันภิกษุสอดเข้าในปากอสรพิษที่มีพิษร้าย
หรืองูเห่า หรือหลุมถ่านที่ไฟติดลุกโชน ยังดีกว่า
องค์กำเนิดที่ภิกษุสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคาม
เพราะเหตุว่าบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าในปากอสรพิษ
หรืองูเห่า หรือหลุมถ่านที่ไฟติดลุกโชนนั้น พึงถึงความตายหรือ
ถึงความทุกข์เพียงแค่ตาย โดยมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ
แต่เบื้องหน้าเมื่อแตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ส่วนภิกษุผู้ทำการสอดองค์กำเนิดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามนั้น
เบื้องหน้าเมื่อแตกกายตายไป ย่อมพึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=1&A=316&Z=670&pagebreak=0

ในเรื่องห้ามเสพเมถุนธรรมนี้ไม่ได้จำกัดห้ามเฉพาะในมาตุคามเท่านั้น
แต่แม้การเสพเมถุนธรรมในชายด้วยกัน ในกระเทย ในสัตว์เดรัจฉาน
ในอมนุษย์ หรือในศพ และไม่ว่าด้วยการทับ คร่อม หรืออมก็ตาม
ย่อมถือเป็นปาราชิกเช่นกัน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=1&A=2188&Z=3492&pagebreak=0

ในพระวินัยเรื่องสังฆาทิเสสนั้น นอกจากเรื่องข้อห้ามภิกษุในการถึงความเคล้าคลึง
ด้วยกายกับมาตุคาม ดังที่ได้กล่าวในตอนก่อนนี้แล้ว ยังมีพระบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
๑. ภิกษุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว
กล่าวคุณแห่งการบำเรอกามของตนในสำนักมาตุคาม
ด้วยถ้อยคำพาดพิงเมถุนว่า น้องหญิง สตรีใด บำเรอผู้ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล
มีกัลยาณธรรม เช่นเรา ด้วยธรรมนั่น นั่นเป็นยอดแห่งความบำเรอทั้งหลาย เป็นสังฆาทิเสส
(กล่าวคือ ห้ามพูดล่อลวงหรือชักจูงใจให้หญิงบำเรอภิกษุด้วยเมถุน)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=1&A=14204&Z=14567&pagebreak=07

๒. ภิกษุใดถึงความเป็นผู้ชักสื่อ บอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรีก็ดี
บอกความประสงค์ของสตรีแก่บุรุษก็ดี ในความเป็นเมียก็ตาม
ในความเป็นชู้ก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส
(กล่าวคือห้ามเป็นพ่อสื่อให้หญิงและชาย ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยาหรือเป็นชู้ก็ตาม)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=1&A=14568&Z=14821&pagebreak=0

ในพระวินัยเรื่องอนิยตะได้มีพระบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
๑. ภิกษุใดรูปเดียวสำเร็จการนั่งในที่ลับ
คือในอาสนะกำบังพอจะทำการได้กับมาตุคามผู้เดียว
อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้ เห็นภิกษุกับมาตุคามนั้นนั่นแล้ว
พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง
คือด้วยปาราชิกก็ดี ด้วยสังฆาทิเสสก็ดี ด้วยปาจิตตีย์ก็ดี
ภิกษุปฏิญาณซึ่งการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง
คือด้วยปาราชิกบ้าง ด้วยสังฆาทิเสสบ้าง ด้วยปาจิตตีย์บ้าง
อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้นั้น กล่าวด้วยธรรมใด
ภิกษุนั้นพึงถูกปรับด้วยธรรมนั้น ธรรมนี้ชื่อ อนิยตะ
(กล่าวคือ ห้ามอยู่ในที่ลับตากับมาตุคามสองต่อสอง)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=1&A=19219&Z=19394&pagebreak=0

๒. สถานหาเป็นอาสนะกำบังไม่เลยทีเดียว หาเป็นที่พอจะทำการได้ไม่
แต่เป็นที่พอจะพูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบได้อยู่
และภิกษุใดรูปเดียวสำเร็จการนั่งในที่ลับกับด้วยมาตุคามผู้เดียว ในอาสนะมีรูปอย่างนั้น
อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้เห็นภิกษุกับมาตุคามนั้นนั่นแล้ว
พูดขึ้นด้วยธรรม ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือด้วยสังฆาทิเสสก็ดี ด้วยปาจิตตีย์ก็ดี
ภิกษุปฏิญาณซึ่งการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธรรม ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง
คือด้วยสังฆาทิเสสบ้าง ด้วยปาจิตตีย์บ้าง อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้นั้น
กล่าวด้วยธรรมใด ภิกษุนั้นพึงถูกปรับด้วยธรรมนั้น แม้ธรรมนี้ก็ชื่อ อนิยตะ
(กล่าวคือ ห้ามอยู่ในที่ลับหูกับมาตุคามสองต่อสอง)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=1&A=19395&Z=19558&pagebreak=0

ใน ๒ ข้อนี้เป็นเรื่องที่มาตุคามต้องระวังให้มาก เพราะเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ง่าย
อย่างเช่น ในบางคราว มาตุคามไปสอบถามธรรมจากภิกษุ
หรือเข้าไปถวายสิ่งของกับภิกษุ หรือเข้าไปติดต่อธุระกับภิกษุ
แต่ว่าในขณะนั้นภิกษุอยู่ในห้อง อยู่ในกุฏิ หรืออยู่ในบริเวณลับหูลับตาแต่ผู้เดียว
การที่มาตุคามคนเดียวเข้าไปอยู่ด้วยแล้ว แม้ว่าจะไปเพื่อสอบถามธรรม
ถวายสิ่งของ หรือสนทนาในเรื่องกิจธุระก็ตาม ภิกษุก็อาจต้องอาบัติอนิยตะได้
ในกรณีนี้ โยมอื่นที่ทราบพระวินัยเรื่องนี้ก็สามารถเอื้ออำนวยในการป้องกันเรื่องนี้ได้
กล่าวคือ หากโยมอื่นได้อยู่ด้วยในสถานที่ดังกล่าว ภิกษุก็ย่อมไม่เป็นอาบัติในเรื่องนี้
ยกตัวอย่างเช่น ผมเคยนำสิ่งของไปถวายภิกษุในกุฏิของภิกษุที่วัดแห่งหนึ่ง
หลังจากที่ถวายเสร็จแล้ว ก็มีโยมผู้หญิงท่านหนึ่งเข้ามานิมนต์ภิกษุนั้นไปงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่
ผมเองแม้หมดธุระของตนเองแล้ว แต่ก็ยังนั่งอยู่ในสถานที่นั้นต่อไปด้วย
โดยไม่ใช่เพราะว่าอยากจะฟังว่าทั้งสองท่านจะคุยอะไรกัน
แต่ว่านั่งอยู่ต่อไปเพื่อเอื้ออำนวยให้ทั้งสองท่านสนทนาธุระกันได้ โดยภิกษุไม่ต้องอาบัติ

ในเรื่องอนิยตะนี้ ถ้ามาตุคามจะเข้าไปพบภิกษุแต่เพียงลำพังในบริเวณลับหูลับตาแล้ว
ก็พึงสังเกตว่ามีโยมท่านอื่นอยู่ตรงนั้นไหม
โดยอาจจะต้องขอให้โยมในบริเวณนั้น เข้าไปพบเป็นเพื่อนด้วย
หรือไม่เช่นนั้นแล้วก็ควรต้องย้ายสถานที่มาสนทนาในบริเวณไม่ลับหูลับตา

ในเรื่องการสนทนาในสถานที่ลับหูลับตานี้
อาจจะรวมถึงการสนทนาผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย
โดยหากมาตุคามจะโทรศัพท์หาภิกษุและสนทนากันอย่างลับหูลับตาแล้ว
ก็อาจพิจารณาได้ว่าน่าจะเข้าข่ายอาบัติอนิยตะได้ด้วยเช่นกัน
ดังนี้แล้ว หากมาตุคามจะโทรศัพท์หาภิกษุแล้ว ไม่ว่าจะด้วยกิจธุระใด ๆ ก็ตาม
ก็ควรจะให้มีโยมคนอื่นอยู่ด้วยในเวลาโทรศัพท์สนทนา
และเปิด Speaker Phone ในระหว่างสนทนากันนั้น
ก็จะเป็นที่ชัดเจนว่าไม่ได้สนทนากันในสถานที่ลับหูลับตาครับ

(ขอไปสนทนากันต่อในตอนหน้า)

+ +


หมายเหตุ ณ วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๘ ศาลาปฏิบัติธรรม อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
ได้ทำฐานพระประธานเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างเก็บรายละเอียดงานศาลา
โดยน่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน ๒๕๕๘ นี้
และเริ่มเปิดใช้งานได้ในเดือนตุลาคม ๒๕๕ ครับ


หลังจากที่ก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมเสร็จแล้วในเดือนกันยายน ๒๕๕๘
ทางชมรมเรียนรู้กายใจจังหวัดนครสวรรค์ก็จะเริ่มใช้ศาลาปฏิบัติธรรมในเดือนตุลาคม ๒๕๕๘
โดยจะจัดงานสมโภชด้วยการจัดคอร์สภาวนา และทอดผ้าป่าสามัคคี
ในส่วนของงานผ้าป่าสามัคคีนั้นก็เพื่อจัดตั้งกองทุนสำหรับนำเงินมาใช้จ่าย
เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนการภาวนาแก่เด็ก ๆ
และใช้เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลรักษาและซ่อมแซมเครื่องมือ
สื่ออุปกรณ์ อาคารสถานที่ที่เกี่ยวข้อง


สำหรับท่านที่สนใจร่วมทำบุญทอดผ้าป่าดังกล่าว ขอได้โปรดร่วมทำบุญโอนเงินได้ที่
บัญชีธนาคารชื่อบัญชี นางพจนา ทรัพย์สมาน และนางปราณี ศิริวิริยะกุล
และ นางชญาณัฒ ธิเนตร
ธนาคารกรุงเทพ สาขา บิ๊กซี นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 627-0-34831-8


ท่านสามารถติดตามรายละเอียดงานทอดผ้าป่าสามัคคี
เพื่อจัดตั้งกองทุนจัดค่ายเรียนรู้กายใจ ทำนุบำรุงศาลาและสถานที่สวนธรรมธาราศัย
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ ได้ที่
http://bit.ly/1Mrq5T1
ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์
สามารถติดตามกิจกรรมการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน ได้ที่

http://www.facebook.com/rooguyroojai



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP