ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

จะปรับปรุงนิสัยให้ยอมรับฟังผู้อื่นมากขึ้นได้อย่างไร



ถาม – ดิฉันมักจะคิดว่าความคิดของตัวเองถูกต้องที่สุด
จึงไม่พอใจเมื่อต้องพบกับคนที่มีทัศนะแตกต่างกัน
โดยจะตั้งป้อมปิดกั้นความคิดของเขา แล้วก็คอยเถียงอยู่ในใจตลอด
ดิฉันไม่ชอบนิสัยแบบนี้ของตัวเองเลยค่ะ จะมีวิธีปรับปรุงได้อย่างไรบ้างคะ



ปกติคนทั่วไปเขาจะมีความเข้าข้างตัวเอง
คือไม่มองว่าตัวเองกำลังสำคัญตัวแบบผิดๆ อยู่นะ
ด้วยการเห็นว่าทุกความคิดของตนเป็นความคิดที่ถูกต้อง
คนส่วนใหญ่นะจะเข้าข้างตัวเอง แล้วก็ไม่ไปพยายามแก้ไข
อันนี้ของคุณนี่ถือว่าเป็นคนพิเศษ โดยกรรมนะ
โดยกรรมนี่แค่คิดว่าไม่ชอบที่ตัวเองคอยจะค้าน
หรือว่าเกิดอัตตาอย่างใหญ่ขึ้นมาเวลามีใครขัดคอนะ
แล้วก็อยากปรับปรุงแก้ไขนิสัยนี้
นี่ถือว่าเป็นกรรมของคนพิเศษแล้ว อันนี้แหละที่พิเศษจริง



ไอ้ประเภทที่ว่าจะเข้าข้างตัวเองตลอดศก แล้วก็ไม่คิดปรับปรุงแก้ไขเลย
ไม่คิดที่จะลดความโอหังอหังการของตัวเองลงเลย อันนี้เป็นคนธรรมดา
ที่พูดอย่างนี้ว่าเป็นคนธรรมดาเพราะอะไร
เพราะว่าเกือบร้อยทั้งร้อยไปถามดูเถอะ มันก็อย่างนี้กันทั้งนั้นแหละ
คือไม่ใช่เฉพาะคุณที่มีความรู้สึกแบบนี้
ไม่ว่าจะชายหรือหญิงนะไม่ชอบให้ใครขัดคอ
แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองเนี่ย ถ้าเชื่ออะไรแล้วสิ่งที่เชื่อนั่นแหละถูกต้อง
สิ่งที่เราปักใจนั่นแหละนะมันประเสริฐสุด มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะไปคัดค้าน
เพราะว่าถ้าคัดค้านกันแล้ว แล้วขืนเราไปยอมตามที่เขาคัดค้าน
มันเท่ากับว่าเรา เหมือนกับยืนอยู่นิ่งๆ ได้ดีๆ 
แล้วโดนคนขัดขาแล้วก็เป๋ เป๋ไป คนเราไม่ชอบโดนขัดขาให้เป๋
เหมือนไม่ชอบให้ใครมาขัดใจ ให้เกิดความรู้สึกซวนเซหรือว่าเรรวนขึ้นมานะ
ว่า เอ๊ ไอ้ที่เราคิดอยู่ ไอ้ที่เราปักใจเชื่ออยู่ ตกลงมันไม่ถูกหรอกหรือ ไม่มีใครชอบ



แต่พอเห็นว่าตัวเองมากเกินไป คือไปยึด
แล้วก็ทั้งๆ ที่บางทีส่วนลึกน่ะมันทราบอยู่นะ
ว่าของเราอาจจะผิดก็ได้ ของเราอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้
ของเราอาจจะมีอะไรที่มองไม่เท่าเขา เห็นไม่เท่าเขา รู้ไม่เท่าเขา อะไรแบบนี้
แล้วก็อยากที่จะปรับปรุงตัวเองนะ ให้จิตให้ใจมันมีความถูกความตรงนะ
ตรงกับลักษณะความเป็นจริงหรือว่าลักษณะของทางเลือกที่ถูกต้องมากกว่า



ก็ขอให้มองเป็นอันดับแรกเลยนะว่านี่คือกรรมของคนพิเศษ
ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แล้วหาไม่ได้ง่ายๆ
กรรมอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ได้หากันได้ง่ายๆ นั่นคือกรรมของคนพิเศษ
ไม่ว่าจะพิเศษในทางดีหรือทางร้ายนะ ส่วนใหญ่ก็จะพิเศษในทางร้ายกัน
คือคิดแบบแหวกแนว แต่เสร็จแล้วก็เอาตัวไม่รอดจากความทุกข์
ดึงตัวเองลงไปสู่ความทุกข์ที่แหวกแนวจากคนอื่น
ส่วนคนที่จะฉุดตัวเองขึ้นไปหาความสุขในแบบที่แหวกแนวจากคนอื่น
อันนี้เป็นคนพิเศษแบบดี เป็นพิเศษในแบบที่จะทำให้เกิดความสุขความเจริญนะ



ขอให้มองไว้เป็นอันดับแรกเลย ว่าสิ่งที่เรากำลังทำนี่มันมีค่า
พอเห็นว่านี่คือกรรมพิเศษที่มีค่า มันจะได้มีกำลังใจมากขึ้น
คือปกติเราอาจจะแค่รู้สึกว่า เอ๊ะ มันไม่ดีเลยนะที่เรานิสัยแบบนี้
เสร็จแล้วมองไม่เห็นว่าถ้าเปลี่ยน เปลี่ยนไปแล้ว มันจะมีอะไรแตกต่างไป
เราก็กำกับคำให้ชัดๆ ไปเลย บอกว่านี่คือกรรมที่พิเศษ
ที่จะทำให้มีความสุขความเจริญมากกว่าคนอื่นนะ



อันดับต่อไปก็คือ ขอให้มองนะว่าถ้าเราอยากจะมีความสุขความเจริญ
มันสังเกตกันที่ไหน เห็นได้ก่อนเลย อันดับแรกเลยนะว่ากันที่ใจ
ถ้าหากว่าทำอะไรแล้วมีความสบาย มีความปลอดโปร่ง
มีความรู้สึกว่าเรายืนข้างถูก เรายืนข้างความสว่าง ความขาว ความเย็น
ถ้าเห็นได้นะ ดูเข้ามาที่ใจแล้วเห็นได้อย่างนี้
ว่าเรากำลังยืนอยู่ข้างความสว่าง ข้างความเย็น
ข้างความปลอดโปร่ง ข้างความสุข ข้างความเจริญ
จิตมันจะฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
แล้วก็รู้สึกว่านี่แหละ อย่างนี้แหละ เลือกอย่างนี้แหละถูกแล้ว


คือไม่ใช่เลือกที่วิธีคิด แต่เลือกที่จิต เลือกที่ใจ
ความคิดน่ะมันเปลี่ยนไปได้ เราแก้ใหม่ก็ได้นะ มีข้อมูลใหม่ก็อัพเดทใหม่
พรุ่งนี้ มะรืนนี้ หรือว่าอาทิตย์หน้า ถ้าหากว่ามีใครให้เหตุผลที่ดีกว่าที่เรายึด
เราสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดได้ตลอด
แต่สิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงได้ยากคือจิตนะ
จิตที่มีความรู้สึกว่าเราอยู่กับความถูกต้อง เราอยู่กับความสว่าง
เราอยู่กับภาคของตัวตนที่มันมีอัตตาน้อยลง
มันมีอุปาทานน้อยลง มันมีความอึดอัดน้อยลง



คนทั่วไปอึดอัดอยู่กับอุปาทานว่าอัตตาเท่านั้นนะที่น่าบูชาที่น่ายกย่อง
อัตตาของตนเท่านั้นที่มันเป็นความถูกต้องสูงสุด ราวกับว่าอัตตานี่เป็นกฎหมายนะ
ในใจของเรา โลกของเรา จักรวาลของเรา
เหมือนกับอัตตาของเรานี่เป็นประธานใหญ่ในการบัญญัติกฎหมาย กฎกติกาธรรมชาติ
ถ้าเชื่ออะไรแล้วก็ต้อง สิ่งนั้นต้องถูกต้องเสมอ
มันถึงได้เกิดศาสนาต่างๆ เกิดลัทธิต่างๆ กันขึ้นมาไง
ว่าโอ๊ย ไม่มีหรอกนรกสวรรค์ โอ๊ย ไม่มีหรอกกรรม ผลของกรรมอะไรต่างๆ
พอไปยึดเข้าแล้ว โดยไม่ต้องอาศัยเหตุผล ไม่ต้องอาศัยหลักฐานอะไรเลย
จะมีความปักใจเชื่อ เชื่อว่านี่มันจะต้องถูกต้องนะ เหตุผลอะไรไม่ต้องไปสนใจ
แล้วพอเห็นใครเขามีความเชื่อต่างไป เขาเลื่อมใส เขาเชื่อเรื่องผลของกรรม
เขาเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ เรื่องชาติหน้า ก็ไปดูถูกไปด่าว่าเขา อย่างนี้
ลักษณะอย่างนี้เป็นลักษณะของความอึดอัด ที่เกิดจากอัตตาที่มันใหญ่เกิน
ที่มันมาเบียดบังปัญญาหมด ที่มันคิดมันรู้สึกว่าอัตตาของเรานี่คือศาสดา



พอมองอย่างนี้นะสรุปง่ายๆ ว่าข้อสองนี่นะ
ก็คือเห็นว่าจิตใจที่มันมีเหตุมีผลแล้วก็ยอมรับฟัง
อะไรที่มันอยู่ข้างความสว่าง ข้างความถูกต้อง
เป็นจิตที่มีความปลอดโปร่ง เป็นจิตที่มีความสว่าง
เป็นจิตที่มีความพร้อมที่จะสุข พร้อมที่จะเจริญ
แล้วก็สามารถจะรับอะไรใหม่ๆ
เข้ามาสร้างความเติบโตทางวิญญาณให้ตัวเองได้



พอมองถึงผลประโยชน์ไปทุกครั้งนะ
สิ่งที่เกิดขึ้นมันจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า เออ เราเป็นคนอ่อนโยนลง
มีความหัวอ่อนให้กับความถูกต้อง แล้วก็มีความแข็งขืนให้กับความผิดความบาป
คือไม่ใช่ว่าเราไปยอมตามเหตุผลของทุกคน
ถ้าหากว่าเรามีจุดยืนแบบพุทธศาสนาแล้ว
ความถูกต้องหมายถึงการไม่เบียดเบียนกัน
การอยู่ในกรอบของศีล การที่มีน้ำใจเสียสละให้เป็นทาน
ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะเอาตัวนี้เป็นความดื้อนะ ดื้อที่จะดีนะ
เราก็จะรู้สึกว่าความดื้อนี้ไม่ใช่ความดื้อที่ทำให้จิตใจแข็งกระด้าง
ตรงข้ามถ้าหากว่าเรายึดมั่นถือมั่นในศรัทธากับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ที่จะดำเนินตามรอยบาทพระศาสดา
ที่ท่านจะมีน้ำใจเสียสละ เราก็มีน้ำใจเสียสละบ้าง ที่ท่านรักษาศีล เราก็รักษาศีลบ้าง
อย่างนี้นี่นะเป็นความยึดในแบบที่จะทำให้วางในที่สุด



เพราะอะไร เพราะว่าเมื่อมีน้ำใจให้ทาน เมื่อรักษาศีลได้สะอาดแล้ว
เราก็จะมีกำลัง มีความสามารถที่จะเจริญสติ
เห็นตามจริงว่ากายใจนี้มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตน

อันนี้พูดเลยไปแบบถึงที่สุดของพระพุทธศาสนาเลยนะครับ
ถ้าหากว่าเรามองได้ว่าเลิกดื้อซะได้
มันจะสามารถเปิดประตูต้อนรับอะไรใหม่ๆ อะไรดีๆ
อะไรที่มันสว่างเข้ามาไม่มีที่สิ้นสุดนะ
ไปสุดทางจริงๆ ก็ตรงอรหัตตผลนั่นแหละนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP