ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

การฝึกอานาปานสติในขั้นเบื้องต้นจำเป็นต้องมีคำบริกรรมหรือไม่



ถาม – ขอเรียนถามครับว่าในการฝึกอานาปานสติเบื้องต้นนั้น จำเป็นต้องมีคำบริกรรมหรือไม่
ถ้าไม่บริกรรม มีแต่กำหนดรู้ลมเข้าออก จะก้าวหน้าในการปฏิบัติไหม



หลักการที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ในสติปัฏฐาน ๔ ท่านไม่ได้บอกให้บริกรรม
แต่ว่าคนส่วนใหญ่ก็จะบริกรรมกัน ซึ่งก็ไม่เสียหายนะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเรายังมีความฟุ้งซ่านอยู่มาก
การใช้คำบริกรรม เปลี่ยนจากวิธีคิดแบบสุ่ม เป็นความคิดที่แน่นอนนะ
อย่างเช่น เดิมทีมันจะกระโดดไป เดี๋ยวก็คิดเรื่องแฟนนะ
คิดเรื่องเรียน คิดเรื่องทำงาน คิดเรื่องศัตรู คิดเรื่องโน้น คิดเรื่องนี้
มันไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้ว่านาทีไหนเราจะคิดดีหรือคิดร้าย
แต่ถ้าหากว่ามาบริกรรมว่าพุทโธๆๆ
มันสามารถที่จะใช้คำบริกรรมนี่นะในการพยากรณ์ได้เลย
ว่านาทีนี้ถึงนาทีโน้น จากนาทีที่หนึ่งถึงนาทีที่สิบ
จะไม่คิดเรื่องอื่น จะคิดถึงคำว่า พุทโธ อย่างเดียว
อันนี้เป็นการจัดระเบียบความคิดให้มันเป็นระบบขึ้นมานะ
ถ้าหากว่าเรามีความสม่ำเสมอ มีความแน่นอนที่จะทำอยู่เรื่อยๆ
ในที่สุดระบบความคิดของเราก็จะถูกจัดระเบียบใหม่นะ
แทนที่จะคิดกระโดดไปกระโดดมาแบบสุ่ม มันกลายเป็นความมีระเบียบขึ้นมา



แล้วการที่เราเอามากำกับลมหายใจก็ไม่ใช่ความเสียหายนะ
มันสามารถที่จะเห็นลมหายใจไปด้วยได้
แล้วก็รู้สึกถึงคำว่า “พุท” รู้สึกถึงคำว่า “โธ” ไปด้วย
ถ้าหากว่าพุทโธ มีกำกับลมหายใจอยู่เรื่อยๆ แล้ว
ใจเราจะผูกอยู่กับทั้งลมหายใจและพุทโธ ไม่ฟุ้งซ่านซัดส่ายไป



ทีนี้หลังจากนั้นแหละ เราต้องทำความเข้าใจ
ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ผูกใจไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อที่จะให้มันหยุดนิ่งอย่างเดียว
แต่เราดูลมหายใจ เราสังเกตลมหายใจไป
เพื่อที่จะให้เห็นว่าลมหายใจมันไม่เที่ยง กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา
ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าหากว่าเรามีความเข้าใจอันเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วนะ
การสังเกตลมนั้น มันจะค่อยๆ เปลี่ยนไป
จากความหวังว่าจะเอาใจมาฝากไว้กับลมเข้าออกอย่างเดียว
เป็นอาการที่มีความหวัง ตั้งความหวังไว้
ว่าเราจะเห็นลมหายใจ สักแต่เป็นธาตุลม พัดเข้า พัดออกไม่เที่ยง
แล้วก็มีความไม่แน่นอน เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น

ถ้าหากว่าไม่มีความเข้าใจอันเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นพื้นฐานอย่างนี้แล้ว
สมาธิของเราจะเป็นเพียงสมาธิธรรมดา เป็นสมถะ เป็นการผูกใจให้นิ่งอยู่เฉยๆ
ไม่ได้มีปัญญาประกอบอยู่ด้วย



แต่ถ้าหากว่า การสังเกตของเราเกิดขึ้นเป็นประจำอยู่เป็นเดือนอยู่เป็นปี
จนกระทั่งเกิดความคุ้นว่า เออ เดี๋ยวมันก็ต้องเข้า เดี๋ยวมันก็ต้องออกจริงๆ
แล้วไม่มีบุคคล ไม่มีชาย ไม่มีหญิง อยู่ในลมหายใจเข้าลมหายใจออก
นี่ตรงนี้นะไปถึงที่สุดตรงหนึ่งแล้ว
มันจะเป็นสมาธิ โดยที่ไม่ต้องมีคำบริกรรมอะไรทั้งสิ้น
มีแต่ความเห็นอย่างเดียวว่า ลมหายใจที่มันเข้ามาแล้วออกไปนี่นะ
มันแสดงตัวเองอยู่ชัดๆ เลยว่า ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของที่จะน่ายึดมั่นถือมั่น

แล้วถ้าได้ตัวอย่างจากการเห็นลมหายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนแล้ว
ทุกอย่างที่นอกเหนือไปจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์
ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เป็นความฟุ้งซ่านหรือว่าจิตที่เป็นสมาธินะ
หรือแม้กระทั่งของนอกกาย ไม่ว่าจะเป็นข้าวของทรัพย์สิน หรือว่าบุคคลที่อยู่รอบข้างนะ
เหล่านั้น มันผ่านมาแล้วผ่านไป ไม่ต่างจากลมหายใจ
เพียงแต่จังหวะการผ่านมาแล้วผ่านไป มันอาจจะมีความเนิ่นช้าแตกต่างกัน
แต่โดยสาระแล้ว ไม่แตกต่างกับลมหายใจที่เข้ามาและจะต้องออกไปเป็นธรรมดา



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP