จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ภิกษุกราบแม่


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



163 destination


ในช่วงเวลาเทศกาลวันแม่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
มีข่าวหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องภาพของภิกษุกราบไหว้แม่
ซึ่งเป็นเรื่องราวถกเถียงกันมากในโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ต่าง ๆ
จนกระทั่งในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา
โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ออกมาแถลงว่า
ตามพระธรรมวินัยอธิบายถึงความแตกต่างกันไว้ว่า
"เพศบรรพชิต" หรือ เพศนักบวช เป็นเพศที่สูงยิ่ง กล่าวคือ การออกบวชเป็นพระ
แสดงถึงความเป็นผู้จริงใจปรารถนาในการที่จะขัดเกลา ละคลายกิเลส
จึงสละอาคารบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ วงศาคณาญาติ ออกบวช
เพื่ออบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง จนกว่าจะสามารถดับได้จนหมดสิ้นไป


สำหรับ "เพศคฤหัสถ์" ไม่ได้ปรารถนาสละถึงอย่างนั้น อยู่ครองเรือน
ยังเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ยังมีความติดข้อง ต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น
ไม่ปลดปลงปลอดโปร่ง เหมือนกับเพศบรรพชิต
ดังนั้นเพศบรรพชิต จึงเป็นเพศที่ควรเคารพสักการะกราบไหว้
ในฐานะที่เป็นผู้ที่สละอาคาร บ้านเรือน ออกบวช
เพื่อขัดเกลากิเลสตัณหาของตนจริง ๆ ยิ่งกว่าคฤหัสถ์
ดังนั้นบรรพชิต จึงไม่มีการกราบไหว้ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์
แม้จะเป็นบิดามารดาของตนเองก็ตาม
มีแต่คฤหัสถ์เท่านั้น ที่ควรเคารพสักการะกราบไหว้บรรพชิต


ในพระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ ได้ระบุถึง
บุคคลที่ภิกษุไม่ควรไหว้ มี ๑๐ จำพวก ได้แก่
๑. ภิกษุผู้อุปสมบทก่อน ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง
๒. ไม่ควรไหว้อนุปสัมบัน (ผู้ที่ไม่ได้เป็นภิกษุ หมายถึง สามเณรและคฤหัสถ์)
๓. ไม่ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาส (ความต่างกันของศีล) ผู้แก่กว่า แต่ไม่ใช่ธรรมวาที
๔. ไม่ควรไหว้มาตุคาม (ผู้หญิง เพศหญิง)
๕. ไม่ควรไหว้บัณเฑาะก์ (กระเทย)
๖. ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อยู่ปริวาส
๗. ไม่ควรไหว้ภิกษุ ผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม
๘. ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรมานัต (วินัยกรรมที่สงฆ์ทําแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
ให้เป็นภิกษุที่นับเข้าในหมู่สงฆ์ได้)
๙. ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ประพฤติมานัต และ
๑๐. ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรอัพภาน (การชักกลับมา ซึ่งในวินัยหมายถึง
การรับภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส และได้ถูกทําโทษคือ อยู่ปริวาสแล้ว
ให้กลับคืนเป็นผู้บริสุทธิ์ การสวดประกาศเรื่องนี้ เรียกว่า สวดอัพภาน)
ซึ่งหากภิกษุไหว้บุคคลดังกล่าวทั้ง ๑๐ ประเภทแล้ว
ตามพระวินัย ถือว่าเข้าข่ายอาบัติทุกกฎ
http://www.dailynews.co.th/education/341665
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=7&A=2170&Z=2313&pagebreak=0


การกราบไหว้ย่อมเป็นการทำความเคารพในวิธีการหนึ่ง
ซึ่งการทำความเคารพในวิธีการอื่น ๆ (นอกเหนือจากกราบไหว้) ก็ห้ามทำเช่นกันนะครับ
เช่น การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม การนำอาสนะมาให้ การนำที่นอนมาให้
การล้างเท้า การตั้งตั่งรองเท้า การตั้งกระเบื้องเช็ดเท้า
การรับบาตรจีวร การถูหลังให้เมื่ออาบน้ำ เป็นต้น
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=6&A=3597&Z=3791&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=6&A=3792&Z=3954&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=6&A=3955&Z=4120&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=6&A=4121&Z=4312&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=6&A=4313&Z=4473&pagebreak=0


ในทางกลับกัน ในพระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒
ได้กล่าวถึงบุคคลที่ภิกษุควรกราบไหว้ ๓ ประเภทได้แก่
๑. ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทก่อน
๒. ภิกษุควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่เป็นธรรมวาที
๓. ภิกษุควรไหว้ตถาคตผู้อรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ในโลกทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์


ทั้งนี้ ขอให้เราสังเกตว่าในบุคคล ๓ ประเภทดังกล่าวข้างต้น
ไม่ได้มีกล่าวถึงบิดามารดาด้วยนะครับ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=7&A=2170&Z=2313&pagebreak=0


บางท่านอ้างว่าในภาพยนตร์เรื่องพระพุทธเจ้าเรื่องหนึ่งได้มีฉากหนึ่งตอนที่
พระพุทธเจ้าได้กราบพระมารดา ซึ่งผมเองไม่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว
จึงไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ แต่ส่วนตัวแล้วเห็นว่าน่าจะต้องมีอะไรคลาดเคลื่อนสักอย่าง
เพราะพระนางสิริมหามายาได้สวรรคตตั้งแต่เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงประสูติได้เพียง ๗ วัน
หรือหากจะพิจารณาในช่วงเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา
ซึ่งในเวลานั้นพุทธมารดาเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตก็ดี
จะเห็นได้ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านเสร็จไปที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
โดยพุทธมารดาที่เป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิตกลับต้องเดินทาง
มาฟังธรรมพระผู้มีพระภาคเจ้าที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
กรณีไม่ใช่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านเสด็จไปแสดงธรรมที่สวรรค์ชั้นดุสิตเลย
http://www.84000.org/tipitaka/picture/f63.html


นอกจากนี้ หากเราพิจารณาตามพุทธประวัติแล้ว
เราจะไม่พบว่าเจ้าชายสิทธัตถะได้กราบไหว้พระเจ้าสุทโธทนะ (ซึ่งเป็นพระราชบิดา)
แต่เราจะพบว่าพระเจ้าสุทโธธนะได้กราบไหว้เจ้าชายสิทธัตถะ (สมัยยังไม่ตรัสรู้) ๒ ครั้ง
และกราบไหว้พระพุทธเจ้าอีก ๑ ครั้ง รวมเป็น ๓ ครั้ง
และก็ไม่ใช่เพียงพระเจ้าสุทโธทนะเท่านั้น
แต่บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลายก็ต้องถวายบังคมต่อพระพุทธเจ้าด้วย
http://www.dharma-gateway.com/monk/great_monk/pra-utayee.htm


บางท่านอาจจะอ้างว่าการที่ภิกษุกราบพ่อแม่นั้น
เป็นการแสดงความกตัญญูตามพระธรรมคำสอน เช่น

ใน “มาตุโปสกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค) ได้กล่าวว่า
บุคคลใดเลี้ยงมารดาและบิดาโดยชอบ เพราะการบำรุงมารดาและบิดานั่นแล
บัณฑิตย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ทีเดียว
บุคคลนั้นละไปจากโลกนี้แล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=5871&Z=5893&pagebreak=0


นอกจากนี้ ในอรรถกถาสุวรรณสามชาดก
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก) ก็ยังได้เล่าเรื่องถึง
ภิกษุรูปหนึ่งที่ได้นำอาหารไปเลี้ยงดูบิดามารดาตนเอง ซึ่งเป็นขอทานยากไร้
ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงประธานสาธุการ ๓ ครั้งว่าสาธุ สาธุ สาธุ
แล้วตรัสว่า เธอดำรงอยู่ในทางที่เราดำเนินแล้ว
แม้เราเมื่อประพฤติบุพจริยาก็ได้บำรุงเลี้ยงบิดามารดา
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=482


ในเรื่องดังกล่าว เห็นว่าเราควรจะต้องแยกระหว่างเรื่องการทำความเคารพ
และเรื่องการเลี้ยงดูบิดามารดา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันนะครับ
การที่พระธรรมคำสอนกล่าวว่าบุตรสมควรปฏิบัติอะไรกับพ่อแม่ก็ตาม
ก็ไม่ได้หมายความว่าภิกษุสมควรจะกระทำดังกล่าวกับบิดามารดาด้วยเสมอไป
โดยต้องพิจารณาด้วยว่ากรณีนั้นขัดกับพระธรรมคำสอนในเรื่องดังกล่าวหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น ใน “สิงคาลกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค)
ได้สอนว่า บุตรพึงบำรุงบิดามารดาใน ๕ ประการคือ
๑. ด้วยตั้งใจไว้ว่าท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ
๒. จักรับทำกิจของท่าน
๓. จักดำรงวงศ์สกุล
๔. จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก
๕. เมื่อท่านละไปแล้ว ทำกาลกิริยาแล้ว จักตามเพิ่มให้ซึ่งทักษิณา
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=3923&Z=4206&pagebreak=0


ขอให้สังเกตว่า แม้ในสิงคาลกสูตรจะสอนว่า บุตรพึงบำรุงบิดามารดใน ๕ สถานก็ตาม
แต่กรณีก็ไม่ได้แปลว่า ภิกษุควรจะไปรับทำธุรกิจของบิดามารดา
หรือภิกษุควรจะช่วยดำรงวงศ์สกุลให้บิดามารดา
หรือภิกษุควรจะทำตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดกแต่อย่างใด
ดังนั้นแล้ว การที่จะอ้างว่าพระธรรมคำสอนสอนให้กตัญญูแล้ว
ภิกษุจึงควรกราบพ่อแม่นั้น จึงยังไม่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้นะครับ
แต่พึงพิจารณาว่าพระวินัยนั้นได้ห้ามไว้หรือไม่ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น


บางท่านให้ความเห็นในบางเว็บไซต์ว่า หากเป็นเช่นนี้แล้ว พอลูกบวชปุ๊บ
พ่อแม่ก็ต้องกราบไหว้ลูก และลูกก็ไม่ต้องกราบไหว้พ่อแม่แล้ว
อย่างนี้จะถือเป็นการลืมตัวหรือยกตัวเองน่ะสิ
ขอตอบว่า ไม่ได้เป็นเรื่องของการยกตนเองนะครับ
แต่กรณีนี้เป็นเรื่องสามัญผลหรือผลธรรมดาของการประพฤติพรหมจรรย์อยู่แล้ว
ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามพระเจ้าอชาตศัตรูใน “สามัญญผลสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค) ว่า
สมมุติว่าพระเจ้าอชาตศัตรูมีทาสกรรมกรอยู่คนหนึ่งที่คอยบริการพระเจ้าอชาตศัตรู
ต่อมา ทาสกรรมการคนนั้นได้ปลงผม นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต
ถามว่าทาสกรรมกรดังกล่าวยังจะต้องมาคอยบริการพระเจ้าอชาตศัตรูอีกหรือไม่?
พระเจ้าอชาตศัตรูทูลตอบว่า ไม่ต้องแล้ว ในทางกลับกัน
พระเจ้าอชาตศัตรูเสียอีกที่ควรจะไหว้เขา ควรจะลุกรับเขา ควรจะเชื้อเชิญเขาให้นั่ง
ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ควรจะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=9&A=1072&Z=1919&pagebreak=0


ดังนี้แล้วจะเห็นได้ว่าแม้คนที่เป็นทาสกรรมกรมาก่อน
แต่เมื่อออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว แม้แต่กษัตริย์ปกครองประเทศก็ยังต้องกราบไหว้
โดยกษัตริย์ย่อมจะทำความเคารพต่อพระภิกษุนั้น แม้ว่าภิกษุจะเพิ่งบวชในวันนั้นก็ตาม
ทีนี้ ในเมื่อแม้แต่กษัตริย์เองยังต้องกราบไหว้ต่อภิกษุแล้ว
แต่ภิกษุมากราบไหว้บิดามารดาตนเองที่เป็นฆราวาสและสามัญชน
แล้วจะแปลว่ากษัตริย์นั้นด้อยกว่าบิดามารดาของภิกษุนั้นไหม
ลำดับชั้นของความที่น่าจะพึงทำความเคารพจะสับสนและแปลกไหม
แล้วถ้าสมมุติว่าทั้ง ๓ คนมาพบกันในงานพิธีการ โดยมีภิกษุ กษัตริย์ และมารดาภิกษุ
ถามว่าจะให้ใครทำความเคารพใคร แล้วจะจัดที่นั่งในพิธีการกันอย่างไร?
ดังนั้นแล้ว ในเรื่องของการทำความเคารพนั้น
เห็นว่าหากปฏิบัติตามพระวินัยแล้วจะไม่เกิดปัญหาใด ๆ ครับ
เพราะภิกษุจะไม่กราบไหว้อนุปสัมบัน
ส่วนกษัตริย์ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุ
และมารดาภิกษุก็ต้องกราบไหว้ทั้งภิกษุและกษัตริย์


นอกจากนี้ หากเราลองสมมุติว่ามารดาของภิกษุนั้นเป็นภิกษุณีบ้างล่ะ
จะเห็นได้ว่าในพระวินัยปิฎกได้กล่าวถึงครุธรรม ๘ ประการ
อันบุคคลที่จะบวชเป็นภิกษุณีต้องปฏิบัติให้ได้ทั้งหมด โดยครุธรรมข้อแรกคือ
“ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม
แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต”
http://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=7&A=6118&Z=6271&pagebreak=0


ดังนี้ เราจะเห็นได้ว่าแม้มารดาของภิกษุจะบวชเป็นภิกษุณีก็ตาม
แต่ภิกษุณีนั้นก็จะต้องกราบไหว้ภิกษุนั้นตลอดชีวิต
ไม่ใช่ว่าจะให้ภิกษุต้องไปกราบไหว้ภิกษุณี
(เรื่องนี้ก็เป็นพระธรรมวินัยนะครับ โดยการกำหนดดังกล่าวก็มีเหตุผลจำเป็น
โดยท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถหาอ่านเพื่อศึกษาได้)
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าต่อให้มารดานั้นบวชเป็นภิกษุณีก่อนภิกษุนั้นบวชก็ตาม
มารดาที่เป็นภิกษุณีนั้นก็ยังฝ่ายที่ต้องกราบภิกษุนั้น
ในกรณีนี้มารดาเป็นฆราวาสเสียด้วย จึงควรต้องเป็นฝ่ายที่กราบภิกษุนั้นเช่นกัน


ในประเด็นสุดท้ายนะครับ บางท่านอาจจะมีข้อสงสัยว่า
หากไม่ให้ภิกษุกราบไหว้บิดามารดาแล้ว
ภิกษุนั้นจะสามารถตอบแทนบุญคุณบิดามารดาได้อย่างไร?
ขอตอบว่า ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย
เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้ง ๒ ท่าน คือ มารดา ๑ บิดา ๑
ภิกษุทั้งหลาย แม้บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง
พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง
เขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้ง ๒ นั้น
ด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด และท่านทั้ง ๒ นั้น
พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ
การกระทำอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย
อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์
ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น
ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย


ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา
ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา
ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา
ยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา
การกระทำอย่างนั้น ย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้ว และทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดา
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=1617&Z=1840&pagebreak=0


เช่นนี้แล้ว วิธีการตอบแทนคุณบิดามารดาที่ภิกษุพึงทำก็ได้แก่
การยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา

การยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา
การยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา
และการยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา
โดยที่ไม่ได้จำเป็นต้องกราบไหว้ทำความเคารพอันจะเป็นการสุ่มเสี่ยงผิดพระวินัย
(ในส่วนของการเลี้ยงดูให้อาหารพ่อแม่นั้น ก็สามารถกระทำได้ดังที่กล่าวแล้ว)
แต่ในส่วนของเรา ๆ ท่าน ๆ ที่เป็นฆราวาสนั้น ไม่มีข้อจำกัดเหมือนภิกษุนะครับ
เราจึงกราบไหว้ได้อย่างเต็มที่ตามปกติครับ


+


หมายเหตุ ณ วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ ศาลาปฏิบัติธรรม อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
อยู่ระหว่างติดกระจกช่องแสงตรงผนังบริเวณเหนือหน้าต่าง
ทำงานทรายล้างบริเวณพื้นด้านนอกศาลา
เดินระบบไฟฟ้าภายในอาคาร
ติดตั้งเสาไฟฟ้าภายนอกอาคาร และเดินระบบไฟฟ้าเข้าอาคาร
และอยู่ระหว่างขออนุญาตติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าครับ


ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามกิจกรรมการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน ได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai
และสามารถติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP