สารส่องใจ Enlightenment

เครื่องหมายของคนดี



พระธรรมเทศนา โดย พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่




มนุษย์เมื่อเกิดมาแล้ว ย่อมมีความสัมพันธ์กันอยู่
คือ โดยฐานะเป็นบิดามารดากับบุตรธิดา พี่กับน้อง
ภรรยากับสามี อาจารย์กับศิษย์ มิตรกับมิตร เป็นต้น
ความสัมพันธ์ในระหว่างกันโดยปรกตินี้หาเพียงพอแก่ความเป็นมนุษย์ไม่
เพราะปรากฏว่ามารดาบิดาตัดขาดกับบุตรธิดา หรือบุตรธิดาทอดทิ้งมารดาบิดา
พี่กับน้องตัดญาติขาดมิตรกัน ภรรยากับสามีหย่าร้างกัน
อาจารย์กับศิษย์ขาดความเคารพนับถือกัน
มิตรต่อมิตรกลับกลายเป็นศัตรูต่อกันและกัน ก็มีอยู่มาก
โดยเหตุนี้ความสัมพันธ์ในระหว่างกันและกันที่มีอยู่โดยปรกติจะเป็นไปด้วยดี
จำต้องมีคุณธรรมกำกับสนับสนุนอีกชั้นหนึ่ง
คุณธรรมที่กล่าวนี้มีอยู่หลายประการ
และเป็นไปตามความเหมาะสม ตามฐานะของคนที่จะนำไปปฏิบัติ
ในที่นี้จะนำมาแสดงเฉพาะความกตัญญูกตเวที
อันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมารดาบิดากับบุตรธิดาเท่านั้น



มนุษย์ในโลกนี้ ไม่ว่าชาติใด ภาษาไหน และจะนับถือศาสนาหรือไม่ก็ตาม
มีความเห็นรับรองร่วมกันว่า "มารดาบิดาเป็นผู้ที่มีพระคุณแก่บุตรธิดายิ่งกว่าบุคคลเหล่าอื่น"



ในเรื่องนี้จะทราบเหตุผลได้จากหลักคำสอนในทางศาสนา
เช่น ศาสนาอิสลาม สอนเป็นสุภาษิตเตือนใจไว้ว่า
"เท้าทั้งสองของมารดาบิดาเป็นบันไดแห่งสวรรค์"
ตามความรู้สึกของคนทั่วไปถือว่า "ฝ่าเท้า" เป็นของต่ำ
แต่ความหมายของสุภาษิตบทนี้กลับยกย่องว่าเป็นบันไดแห่งสวรรค์



ทั้งนี้มิได้จำกัดความเฉพาะเท้าของมารดาบิดาเท่านั้น
เพื่อจะเตือนใจบุตรธิดาว่า มารดาบิดาเป็นผู้มีพระคุณยิ่งสำหรับตน
กิริยาอาการที่แสดงคารวะ มีการเคารพกราบไหว้นั้น เป็นบันไดแห่งสวรรค์
แม้ในทางพระพุทธศาสนา ก็ยกย่องมารดาบิดาไว้ในฐานะต่างๆ
เช่น มารดาบิดาเป็นพรหม เป็นบูรพาจารย์ เป็นมิตร และเป็นพระอรหันต์ของบุตรธิดา



ที่กล่าวว่ามารดาบิดาเป็นพรหมของบุตรนั้น
เพราะท่านมีคุณธรรมเหมือนพรหม คือ
มีเมตตา คือ ปรารถนาความสุขความเจริญแก่บุตรธิดา


มีกรุณา คือ ปรารถนาจะให้บุตรธิดาพ้นจากความทุกข์เดือดร้อน
ความทุกข์เดือดร้อนของบุตรธิดาก็เป็นเหมือนความทุกข์เดือดร้อนของมารดาบิดานั่นเอง


มีมุทิตา คือ พลอยยินดีเมื่อบุตรธิดาได้ดีมีลาภยศสรรเสริญ
ความพลอยยินดีของท่าน เป็นการพลอยยินดีที่เกิดจากดวงใจที่บริสุทธิ์ ไม่มีมายาเข้าแอบแฝง


มีอุเบกขา คือ ความวางเฉย
ในเมื่อได้ใช้คุณธรรม คือ เมตตากรุณาช่วยเหลือบุตรธิดาตามหน้าที่แล้ว
และไม่ซ้ำเติมเมื่อบุตรธิดาพลั้งพลาด
อีกทั้งวางตนเป็นตุลาการให้ความยุติธรรมในระหว่างบุตรธิดา



ที่กล่าวว่า เป็นบูรพาจารย์ของบุตรธิดานั้น
คือท่านเป็นอาจารย์ที่คอยเลี้ยงดูพร่ำสอนให้วิชาความรู้
และเป็นแบบอย่างในด้านจรรยาความประพฤติแก่บุตรธิดาก่อนกว่าอาจารย์ใดๆ ในโลก
อาจารย์อื่นๆ ที่พร่ำสอนให้วิชาความรู้นั้น ตามธรรมดาเขาจะต้องคิดค่าจ้าง
แต่มารดาบิดานั้นท่านหาได้คิดไม่



ที่กล่าวว่า มารดาบิดาเป็นเหมือนพระอรหันต์ของบุตรธิดานั้น
ตามหลักในทางพระพุทธศาสนา
ถือว่าพระอรหันต์คือผู้ไกลจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาด
จึงเป็นผู้ควรแก่เครื่องสักการะเคารพ เป็นเนื้อนาบุญของชาวโลก
เป็นทางแห่งสวรรค์สำหรับผู้สักการบูชา
และโดยตรงกันข้าม ผู้ที่ทำร้ายพระอรหันต์มีโทษเท่ากับการทำร้ายพระพุทธเจ้า
จัดว่าเป็นอนันตริยกรรม เป็นกรรมหนักที่สุดในทางพระพุทธศาสนา
บุตรธิดาที่ฆ่ามารดาบิดาก็จัดว่าเป็นอนันตริยกรรม



ด้วยเหตุนี้ มารดาบิดาจึงมีพระคุณเท่าพระอรหันต์
ผู้ที่รู้จักคุณมารดาบิดา แล้วมีความกตัญญูกตเวที รู้จักสักการะเคารพ
ชื่อว่าสักการะเคารพพระอรหันต์ เป็นทางแห่งความสุขความเจริญโดยแท้



รวมความว่า มารดาบิดาเป็นผู้มีคุณต่อบุตรธิดาด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. ด้วยการให้กำเนิด
๒. ด้วยการทำอุปการะ


มารดาบิดาที่ทำหน้าที่เพียงให้กำเนิด แต่ไม่มีโอกาสได้เลี้ยงดูอุปการะเพราะเหตุใดๆ ก็ตาม
ชื่อว่าทำหน้าที่ของมารดาบิดาเพียงครึ่งเดียว
ผู้ที่ไม่ได้ให้กำเนิด แต่ได้เลี้ยงดูอุปการะตั้งแต่เล็กจนโต
ได้ชื่อว่าเป็นมารดาบิดาเลี้ยง ได้ทำหน้าที่มารดาบิดาเพียงครึ่งหนึ่งเหมือนกัน
ผู้ที่ได้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูอุปการะ ได้ชื่อว่าทำหน้าที่ของมารดาบิดาอย่างสมบูรณ์



จะอย่างไรก็ตามผู้ที่ทำหน้าที่ทั้งสองหรืออย่างใดอย่างหนึ่งนี้
นับว่าเป็นผู้มีคุณแก่บุตรธิดาอย่างมหันต์
เป็นหน้าที่ของบุตรธิดาจะต้องแสดงความกตัญญูตอบสนองโดยส่วนเดียว



คำว่า "กตัญญูกตเวที" แยกได้เป็นสองคำ คือ
"กตัญญู" รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว
"กตเวที" ประกาศอุปการะที่ท่านทำแล้วให้ปรากฏ
รวมความว่า รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและทำการตอบสนองชื่อว่า "กตัญญูกตเวที"
รู้แล้วไม่ตอบสนอง หาได้ชื่อว่าทำหน้าที่แล้วโดยสมบูรณ์ไม่
การแสดงความกตัญญูกตเวที ตามหลักบาลีที่ท่านแสดงไว้ในสิงคาลกสูตรมี ๕ ประการ คือ


๑. ท่านเลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
๒. ช่วยทำกิจของท่าน
๓. ดำรงวงศ์สกุลของท่าน
๔. ปฏิบัติตนให้สมควรแก่การรับทรัพย์มรดก
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำความดีอุทิศให้


ตามพระบาลีนี้ การทำการตอบแทนอุปการคุณของมารดาบิดาทำได้สองคราว คือ

๑. เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่คราวหนึ่ง
๒. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วอีกคราวหนึ่ง


เมื่อกล่าวด้วยลักษณะการตอบแทนอุปการคุณของท่าน มีอยู่สองอย่าง คือ

๑. ตอบแทนด้วยอามิส
การตอบแทนด้วยอามิสนั้นได้แก่วัตถุสิ่งของ
เช่น ข้าว น้ำ อาหาร ผ้านุ่งห่ม ตลอดจนทรัพย์สินเงินทอง
ในเรื่องนี้ประเพณีโบราณพื้นเมืองภาคเหนือได้ทำเป็นตัวอย่างอยู่แล้ว
จะเห็นได้เมื่อถึงสมัยเทศกาล เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา ตรุษสงกรานต์ ปีใหม่
มีประเพณีดำหัวแสดงคารวะเคารพ ขอศีลขอพรจากมารดาบิดาและผู้ที่เคารพนับถือ
ด้วยวัตถุสิ่งของต่างๆ มีน้ำอบน้ำหอมและเครื่องนุ่งห่ม
นั่นคือการแสดงคารวะเคารพ



๒. การตอบแทนด้วยการประพฤติตามโอวาทคำสั่งสอน
ตามธรรมดามารดาบิดาย่อมมีเมตตากรุณาปรารถนาดีต่อบุตรธิดา ดังที่ได้กล่าวแล้ว
ท่านจะคอยตักเตือนพร่ำสอนให้ละชั่ว ประพฤติดี
เพื่อให้บุตรธิดาได้ตั้งตนได้เป็นหลักฐาน
ด้วยทรัพย์สมบัติ ด้วยวิชาความรู้และความประพฤติดีงาม
บุตรธิดาที่ประพฤติตามคำสั่งสอนของมารดาบิดา
ได้ชื่อว่าแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดาอย่างสูง
เป็นการบูชามารดาบิดายิ่งกว่าบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ
และเป็นการทำตามวัตถุประสงค์ของมารดาบิดาโดยทั่วไปด้วย
ดังที่ท่านกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า
ไม่มีบุตร ๑ มีแล้วตาย ๑ มีแล้วไม่ตั้งอยู่ในโอวาทคำสั่งสอน ๑

มารดาบิดาทั่วไป ควรปรารถนาความไม่มีบุตรและมีแล้วตาย
เพราะมีบุตรแล้วไม่ตั้งอยู่ในโอวาทคำสั่งสอน นำความระทมทุกข์มาให้ไม่รู้จักจบ
และบางแห่งท่านถึงกับกล่าวว่า "บุตรที่ไม่เชื่อฟัง ไม้เท้าของคนแก่ยังมีประโยชน์กว่า”


ในเรื่องการประพฤติตามโอวาทคำสั่งสอนของมารดาบิดานี้
ขอยกเรื่องฑีฆาวุกุมารมาเป็นตัวอย่าง
มีเรื่องย่อๆ ว่า ฑีฆาวุกุมารเป็นโอรสของพระเจ้าฑีฆีติ เจ้าเมืองโกศล
ถูกพระเจ้าพรหมฑัต เจ้าเมืองพาราณสีชิงเอาราชสมบัติแล้วรับสั่งให้ประหารชีวิตพระเจ้าฑีฆีติ
ก่อนที่พระเจ้าฑีฆีติจะถูกประหารชีวิต พระองค์ได้ประทานโอวาทเป็นครั้งสุดท้ายว่า

"ฑีฆาวุ พ่ออย่าเห็นสั้นดีกว่ายาว
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการผูกเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่ผูกเวร"
เมื่อจบโอวาทพระเจ้าฑีฆีติก็ถูกประหารชีวิตตามพระราชอาญาของพระเจ้าพรหมทัต


ฝ่ายฑีฆาวุกุมารก็ผูกอาฆาตในพระเจ้าพรหมทัต
คอยหาโอกาสแก้แค้นแทนพระราชบิดาตลอดมา
จนกระทั่งครั้งหนึ่งได้โอกาสที่พระเจ้าพรหมทัตเสด็จไปล่าเนื้อ
ทรงเหน็ดเหนื่อยและมีพระราชประสงค์จะทรงพักผ่อน แต่ไม่มีพระเขนย (หมอน)
จึงได้ทรงวางพระเศียรบนตักฑีฆาวุกุมาร
เป็นโอกาสเหมาะของฑีฆาวุกุมารที่จะได้แก้แค้นแทนพระราชบิดา จึงดึงพระแสงออกจากฝัก
พระแสงยังไม่ทันพ้นฝัก ก็ระลึกถึงโอวาทของพระราชบิดาได้
ประหนึ่งพระองค์เสด็จมาพร่ำสอนอยู่เฉพาะหน้า
จึงดันพระแสงไว้ในฝักตามเดิม ไม่สามารถทำอันตรายแก่พระเจ้าพรหมทัต



พระเจ้าพรหมทัตทรงผวาตื่นพระบรรทม จึงตรัสถามฑีฆาวุกุมาร
เมื่อทรงทราบความโดยตลอดแล้ว จึงพากันเสด็จกลับพระนคร
ประชุมหมู่อำมาตย์ แล้วประกาศยกย่องความดีของฑีฆาวุกุมาร
กับทั้งได้พระราชทานโกศลรัฐอันเป็นสมบัติของพระเจ้าฑีฆีติคืนให้แก่ฑีฆาวุกุมาร
แถมพระราชทานธิดาให้เป็นคู่ครองอีกด้วย
นี่คืออานิสงส์แห่งการกระทำตามโอวาทของมารดาบิดา



บุตรที่ประพฤติตามเยี่ยงอย่างของมารดาบิดา มีวิทยฐานะเสมอด้วยมารดาบิดา
หรือสามารถดำรงวงศ์สกุลของมารดาบิดาไว้ได้
ชื่อว่า "อนุชาตบุตร" คือบุตรที่เสมอด้วยมารดาบิดา
บุตรที่ไม่สามารถดำรงวงศ์สกุลของมารดาบิดาไว้ได้
ทั้งความประพฤติชั่วช้าเสียหาย ชื่อ "อวชาตบุตร" คือต่ำกว่ามารดาบิดา



การที่บุตรธิดาจะสามารถดำรงตนเป็นอนุชาตบุตรได้
ก็เพราะการประพฤติตามโอวาทของมารดาบิดาดังกล่าวแล้ว



ความกตัญญูกตเวที เป็นคุณธรรมที่สำคัญและจำเป็นแก่มนุษย์ทั่วไป
แม้แต่พระอรหันต์ผู้สำเร็จกิจในการประพฤติพรหมจรรย์จบแล้ว
ก็ถือเป็นกิจที่สำคัญและได้บำเพ็ญเป็นตัวอย่างมาแล้ว
เช่น พระสารีบุตร ก่อนที่ท่านจะได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา
ท่านได้ฟังหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาจากพระอัสสชิเป็นองค์แรก
จึงได้เคารพนับถือพระอัสสชิเป็นอาจารย์
แม้เมื่อท่านได้บวชและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความเคารพในพระอัสสชิ บำเพ็ญตนเป็นศิษย์ที่ดีตลอดมา
ก่อนที่ท่านจะนอนถ้าท่านทราบว่าพระอัสสชิอยู่ทิศใด
ท่านจะต้องนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น เพื่อแสดงความเคารพในอาจารย์
จึงกล่าวว่าความกตัญญูกตเวทีนี้มีอยู่ในบุคคลใด คนนั้นเป็นคนดีมีคุณธรรมที่น่าเคารพ
เป็นผู้ที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญจากบัณฑิตชนทั่วไป



สมตามธรรมภาษิตว่า "นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา
แปลว่า ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี"


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก เครื่องหมายของคนดี ใน “เครื่องหมายของคนดี” โดย พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล)
พิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๙


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP