ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ฝึกฝนตนเองอย่างไรให้มีปฏิภาณดี



ถาม – เราจะฝึกฝนตนเองอย่างไรให้มีไหวพริบปฏิภาณดีถึงที่สุดครับ


การฝึกตนเองให้มีปฏิภาณ
ก็คือการไม่กลัวปัญหา ไม่กลัวที่จะออกไอเดีย
คือคนส่วนใหญ่นะ ถูกเทรนมาให้กลัวความผิด กลัวความพลาด
เดี๋ยวจะโดนเยาะเย้ยถากถางบ้าง เดี๋ยวจะโดนดุโดนว่าบ้าง
แล้วคือผู้ใหญ่นี่นะมักจะลืมความจริงข้อนี้
เลี้ยงลูกกันมาแบบนี้แหละ เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานมา
ลูกผิดนิดผิดหน่อยอะไรเนี่ย ดุด่าว่ากล่าวแล้วก็ไม่ให้คำแนะนำ
คือดุเฉยๆ ด่าเฉยๆ แล้วไม่ให้คำแนะนำ
ไอ้อาการแบบนี้ มันจะฝังจิตฝังใจของมนุษย์นะ
ให้โตขึ้นมาด้วยความกลัวผิด ความกลัวพลาด ไม่อยากโดนดุด่าว่ากล่าว
ไม่อยากโดนเพื่อนเยาะเย้ย ล้อเลียนหรือว่าเอาไปประจานหัวเราะเยาะกันอะไรแบบนี้
ถ้าหากว่าเราเข้าใจปมของมนุษย์นะว่ากลัวผิดกลัวพลาด
เพราะว่าไม่อยากให้ใครดุด่าว่ากล่าวหรือมาล้อเลียน
เราก็แก้ด้วยการที่เราตะลุยเลย
คือกล้าที่จะผิด กล้าที่จะคิด กล้าที่จะออกไอเดีย



ในสังคมออนไลน์ปัจจุบันนี่มีเยอะแยะ
อย่างสมมติว่าเราจบวิศวะมาแบบนี้ ก็มีคนมีปัญหาที่ไปถามในเรื่องเกี่ยวกับวิศวะ
หรือว่าเราจบหมอมา ก็มีคนไปไถ่ถามอยากได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรักษาเนื้อรักษาตัว
เรามีความรู้อะไรก็แล้วแต่ ที่เรารู้จริงๆ นะ
เข้าไปเลย กล้าออกความเห็น กล้าช่วยเขาแก้ปัญหา
พูดง่ายๆ ว่ากล้าเอาตัวเองเข้าไปช่วยคนอื่นคิด
มันจะดีกว่าเอาตัวเองเข้าไปคิดแก้ปัญหาให้ตัวเองนะ
เพราะว่าเวลาที่เราคิดแก้ปัญหาให้ตัวเอง
บางทีมันจะรู้สึกเหมือนกับทึบๆ มันจะอยากให้ปัญหานี่หมดไปทันที
มันจะอยากให้ใครสักคนเป็นซุปเปอร์แมนมาช่วยเป่าฟิ้ว แล้วก็ปัญหาหายไปเลย
นี่ถ้าแก้ปัญหาให้ตัวเองมันจะมีความรู้สึกแบบนี้



แต่ถ้าแก้ปัญหาให้คนอื่น บางทีมันจะมีความรู้สึกนะว่า
เออ ใจมันเปิดกว้างก่อน มันเห็นใจเขาก่อน แล้วก็มีความรู้สึกอยากช่วย
ความรู้สึกอยากช่วย ความรู้สึกอยากจะขจัดปัดเป่าปัญหาให้คนอื่นเขา
มันจะทำให้วิธีการคิดของเรา
มันเห็นแนวทางมีความหลากหลายมากกว่า มันไม่กลัวผิดไม่กลัวพลาด
นึกออกไหมเวลาที่เราจะช่วยใคร ถ้าช่วยได้เราก็จะดีใจ
แต่ถ้าช่วยไม่ได้มันก็ไม่ใช่เรื่องของเรา
นี่ธรรมชาตินิสัยคนจะมองกันอย่างนี้นะ
ทีนี้ถ้าเราไปฝึกที่จะช่วยทุกวัน
ฝึกที่จะหาอะไรสักอย่างหนึ่งนะที่เป็นประโยชน์ในตัวเรา
เอาไปหยิบยื่นให้คนอื่นเขา
ไหวพริบปฏิภาณมันจะออกมาในแบบที่ไม่ต้องเค้น ไม่ต้องบังคับ แล้วไม่กลัวผิด
คือถ้าเราให้คำแนะนำไม่ถูก
เดี๋ยวคนอื่นเขาก็ให้คำแนะนำที่ถูกต้องออกมาเอง อะไรแบบนี้
พอคิดแบบนี้นะมันจะกล้าคิด แล้วปฏิภาณที่มันจะไหลลื่น
มันก็ไหลลื่นออกมาจากความกล้าคิดนี่แหละ
แต่กล้าคิดอย่างเป็นประโยชน์นะ ไม่ใช่กล้าคิดแบบบ้าๆ บอๆ
ทุกวันนี้รายการโทรทัศน์เอาอะไรออกมา
ให้กล้าแสดงออกกล้าทำอะไรกัน แล้วเสร็จแล้วก็กล้ากับแบบที่มันบางที
คือผมไม่ได้ดูทีวีนะ แต่ว่าก็เห็นข่าว มันไม่ค่อยจะจรรโลงใจเท่าไหร่นะ
ก็ถ้าเรากล้าที่จะช่วยคนอื่น กล้าคิดดี ในที่สุดปฏิภาณมันมาเอง
มันมาโดยที่ไม่ต้องไปเค้นนะ

แล้วก็มันจะเป็นสิ่งที่คุณรู้สึกว่าเหมือนกับมันพัฒนาตัวของมันไปได้เรื่อยๆ วันต่อวัน
แต่ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ เป็นปีๆ นะ ไม่ใช่แค่วันสองวันแล้วมันจะเห็นผล
ต้องทำให้ออกมาจากใจจริงๆ ปฏิภาณนี่แหละมาจากตรงนี้แหละนะครับ



นอกจากนั้นคือก็ขอให้พิจารณานะ
ในหลักการของอิทธิบาท ๔ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้อยู่แล้วว่า
การที่เรามีฉันทะในเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง มีใจรักที่จะทำอะไรสักเรื่องหนึ่ง
แล้วก็ทำๆ ทำด้วยความขยัน ทุ่มสุดตัวให้กับมัน มีจิตใจจดจ่อ
มีแต่สิ่งที่มันเป็นงานอยู่ในหัวของเรานี่นะ
มันจะเกิดความหลากหลาย มันจะเกิดการเห็น มันจะเกิดการเห็นความแตกต่าง
แล้วก็สั่งสมประสบการณ์มากขึ้นๆ นี่ก็เป็นทางมาของปฏิภาณเช่นกัน
ปฏิภาณมาจากการเห็นความแตกต่าง
แล้วรู้ว่าจะจัดการแบบไหนให้เกิดผลอย่างไร
อุปสรรคมาแบบนี้ เราจะก้าวข้ามไปได้อย่างไร
การที่เราอยู่กับงานอะไรมากๆ สักอย่างหนึ่ง
มันจะทำให้เกิดปฏิภาณในงานนั้นๆ

ไม่มีเลยที่อยู่ๆ ปฏิภาณมันจะโผล่ขึ้นมาเอง
ต่อให้เคยทำบุญในเรื่องของการมีปฏิภาณมากมานะ ก็ไม่ได้ช่วยนะ
ถ้าหากว่าใจของเรานี่ขาดประสบการณ์ ขาดการที่จะเข้าไปรู้เข้าไปเห็นอะไรมากๆ นะ
ถ้าขาดประสบการณ์อย่างเดียว
ปฏิภาณมันก็เป็นได้แค่ว่าคิดเลขเก่ง บวกเลขเก่งอะไรแบบนั้น
แต่ว่าจะไม่มีปฏิภาณในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงนะครับ



นอกจากนั้นก็มีเรื่องของการเจริญสติ
ที่พระพุทธเจ้าตรัสนะว่าจะทำให้เกิดปฏิภาณได้ดี
ก็คือผู้ที่เจริญกายคตาสติอย่างเต็มที่
กายคตาสติ หมายถึงว่าเรารู้ทุกลมหายใจเข้าออก

รู้คือ ลมหายใจเข้าออก มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่
เรานึกได้เมื่อไหร่ เราก็เฝ้าดูเฝ้าตามมันไป
ว่านี่กำลังเข้า นี่กำลังออก นี่กำลังยาว นี่กำลังสั้น
นอกจากนั้นก็ดูว่าอิริยาบถเคลื่อนไหวไปยังไงอยู่นะ
รู้ทั่ว รู้เท่าทันไปในอาการของกาย แล้วก็จะเกิดปฏิภาณขึ้นมาได้

นี่เพราะอะไร เพราะว่าสติเมื่อเกิดขึ้นต่อเนื่องแล้ว
ในที่สุด มันก็จะเกิดความว่องไว
ลักษณะของจิต คุณภาพของจิตที่มีความว่องไว
ก็จะทำให้ไม่ติดขัดเวลาที่จะคิด เวลาที่จะอ่าน
คือมันจะเห็นทะลุ มันจะมีความรู้สึกว่าจิตของเราเปิดกว้างก่อน
ใจที่เปิดกว้างนี่สำคัญมาก เป็นด่านแรกของปฏิภาณเลย
ถ้าหากว่าใจปิดแคบ ไม่มีทางที่ปฏิภาณเกิด
ถ้าหากว่ากำลังตื่นเต้น ถ้าหากว่ากำลังประหม่า
ไม่มีทางเลยที่ปฏิภาณมันจะมาแสดงตัว
แต่ถ้าจิตใจเปิดกว้างแล้วมีความรับรู้อย่างต่อเนื่อง มีสติอย่างต่อเนื่อง
นี่แหละตัวนี้แหละที่เป็นฐานที่เป็นที่ยืนของปฏิภาณนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP