สารส่องใจ Enlightenment

ทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายใน (ตอนที ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
แสดงธรรม ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา



ทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายใน (ตอนที ๑) (คลิก )



ภาวนานั้นเป็นที่รวบรวมกุศลความดีต่างๆ ที่เรากระทำมาจากการให้ทาน การรักษาศีลนั่น
ให้มารวมอยู่ในจิตใจดวงนี้ในปัจจุบันนี้
นอกจากจิตใจนี้แล้ว ไม่มีอะไรจะรับไว้ซึ่งบุญซึ่งกุศลซึ่งคุณพระรัตนตรัยที่เรากระทำบำเพ็ญมา
ถ้าใจไม่รับแล้ว ก็ไม่มีบุญคุณเหล่านั้น สูญหายไปเลย



คนส่วนมากทำบุญสูญหายไปเสียเป็นส่วนมาก เพราะว่าไม่รักษาจิตใจตัวเอง
ทำบุญให้ทานไปแล้ว บางคนก็ให้ทานเงินหมื่นเงินแสนก็มี
เมื่อให้ทานไปแล้วก็แล้วไป มีแต่จิตใจเพลิดเพลินไปกับกระแสของโลก
ไม่มานั่งสงบจิต นึกน้อมถึงบุญ ถึงคุณ ถึงความดีที่ตนกระทำมา
แล้วจะให้บุญคุณนั้นมาตั้งอยู่ในใจได้อย่างไรล่ะ
เพราะว่าบุญก็ดี คุณก็ดี มันมีใจเป็นใหญ่เป็นประธาน
ไม่ใช่บุญคุณนั้นเกิดก่อนใจนะ ใจเกิดก่อน หมายความว่าอย่างนั้น
แล้วก็ใจเป็นผู้สร้างบุญคุณเหล่านั้นให้เกิดขึ้น มันถึงมีได้
ถ้าใจดวงนี้ไม่ชอบบุญชอบคุณแล้ว ไม่กราบไม่ไหว้ ไม่นึกไม่น้อมแล้ว
บุญคุณนั้นก็ไม่อยู่ในใจของคนผู้นั้น



เพราะฉะนั้นเมื่อพูดมาถึงตอนนี้ ผู้ฟังทั้งหลายก็คงจะเข้าใจแล้วว่า
การอบรมจิต การรักษาจิตนี้ นับว่าเป็นกิจจำเป็นในตัวของเราผู้หนึ่ง
เราจะต้องตามรักษาจิตดวงนี้ทุกอิริยาบถทีเดียว
ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูดจาปราศรัยเข้าสังคมใดๆ
ก็มีสติสัมปชัญญะ ระมัดระวังสำรวมจิตใจนี้อยู่เสมอ
ไม่ให้ใจของเราวอกแวกไปในทางบาปอกุศล



เพราะว่าการสังคมต่างๆ มันไม่ใช่มีแต่เรื่องดีๆ นะ เรื่องชั่วก็มีที่จะต้องได้พบ
เมื่อไม่สำรวมจิตใจแล้ว ไม่นานมันก็เกิดเป็นอกุศลขึ้นมา
เช่น มันโกรธ มันไม่พอใจให้ใครต่อใครขึ้นมา
นั่นแสดงว่าจิตเป็นอกุศลขึ้นมาแล้ว ก็เพราะขาดการสำรวมระวัง



ดังนั้น ขอให้พากันถือเอาเป็นข้อปฏิบัติตามที่แนะนำมานี้ อย่าได้ละเลย
เพราะว่าเรานับถือพระพุทธศาสนากันมานี้ แต่ละคนก็นับว่านานปีมาแล้ว
แล้วสละปัจจัยไทยทาน อะไรที่เราแสวงหามาได้
มาบูชาพระพุทธศาสนานี้ ก็นับว่ามากมายทีเดียว ถ้านับรวมลงบัญชีไว้นะ
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็อย่าให้บุญกุศลที่เราทำมานี้ มันสูญหายไปเสียเปล่า
พยายามรวบรวมไว้ในจิตใจของเรานี้ให้ได้
ให้ใจมันยึดเอาบุญเอาคุณนี้ เป็นที่พึ่งทั้งกลางวันกลางคืน
อย่าให้ไปยึดเอาเรื่องภายนอกนั้นมาเป็นที่พึ่งที่ระลึกอยู่โดยส่วนเดียว



ถ้าเราไม่ควบคุม ไม่น้อมนึกแล้ว มันก็จะไหลไปสู่อารมณ์ภายนอกนั้น
จิตนี้นะ กระแสจิตนี้มันไปโน้มไปน้าวเอาอารมณ์ภายนอก เข้ามาวิตกวิจารอยู่ภายในนี้นะ
แล้วบุญคุณความดีที่เราทำมาแต่ก่อนก็ลืมเลือนไป
ใจมันไปมุ่งหมายอยู่แต่ภายนอก
รายได้รายเสีย หรือว่าเรื่องอุปสรรคขัดข้อง หรืออะไรต่อมิอะไร มาวิตกวิจารอยู่ภายในนี้
แล้วบุญกุศลคุณพระรัตนตรัยไม่ทราบไปอยู่ที่ไหน



อันนี้ให้พากันระมัดระวังให้ดี ให้ทำบุญนั้นน่ะทำได้อยู่
แต่การที่จะมารักษาบุญให้มั่นคงไปนี้ คนส่วนใหญ่ส่วนมากไม่ค่อยเอาใจใส่
นึกว่าตนทำบุญไปแล้วต้องได้บุญอยู่วันยังค่ำ
แล้วก็ปล่อยใจของตนให้เลื่อนลอยไปทั่วนี่น่ะ คนมีความเห็นอย่างนี้มีอยู่เยอะแยะ



แต่ที่จริงแล้วเห็นอย่างนั้นไม่ถูกต้อง มันผิดกับธรรมะ
คือ องค์แห่งความเพียร ๔ อย่าง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือ

๑.เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นภายในจิตใจ
๒.เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
๓.เพียรทำบุญกุศลให้เกิดขึ้นในจิตใจ
๔.เพียรรักษาบุญกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม
ความเพียร ๔ อย่างนี้ เป็นความเพียรชอบ ควรประกอบไว้ให้มีในตน

พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว


บาปนี้น่ะ มันมาจากอะไรล่ะ
ก็หนทางหรือว่าเส้นสายของบาป มันก็มาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็หลั่งเข้าไปหาใจ
แล้วมันก็มาจากรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส พวกนี้แหละ
ไม่ใช่ว่าทางไหลเข้ามาของบาปอกุศลมาจากทางอื่นนะ



ดังนั้น เรามีสติสัมปชัญญะ คอยระมัดระวัง สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
แล้วก็เพ่งพิจารณารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสภายนอกให้รู้เท่าทัน ทั้งส่วนดีและส่วนชั่ว
รูป เสียง กลิ่น รส ฝ่ายดีมันก็ไม่เที่ยง ฝ่ายชั่วมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน
เกิดขึ้นแล้วมันก็แปรปรวนดับไป



ดังนั้นอย่าไปถือมั่น เช่น เสียงด่าทอ เสียงลุโทษ ติเตียนต่างๆ กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น
รสขม รสเฝื่อน รสเปรี้ยว รสอร่อย รสหวาน รสใดๆ ก็ตาม สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งก็ดี
ของพวกนี้เราต้องระลึกให้ได้ ต้องพิจารณาให้ได้รู้ให้ได้
เห็นว่าล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น มันสัมผัสถูกต้องกันแล้ว มันก็ระงับดับไป หายไป
แต่ใจของคนเรานี้ ที่มันไม่หายเพราะมันไปยึดเอามา
ตากับรูปมันกระทบกัน ถ้าใจไม่ยึดถือเอาแล้ว มันก็ดับไปเอง
เสียงมากระทบหูเหมือนกัน ถ้าจิตไม่ได้ยึดถือเอาเสียงนั้น สัญญาจำเสียงนั้นก็หายไปเลย
กลิ่นมากระทบจมูกอย่างนี้ ถ้าจิตรู้เท่า ไม่ถือเอาไว้แล้ว
มันก็หายไป มันก็ระงับไปตามธรรมชาติของมัน
รสมากระทบกับลิ้นก็ดี สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งมากระทบกับกายก็ดี



ถ้าผู้ใดสำรวมจิตใจได้แล้ว ใจไม่ยึดไม่ถือแล้ว
มันก็เกิดดับๆ ไปอยู่ตามเรื่องของมัน มันไม่มีอะไรดี มันไม่มีอะไรชั่ว
ผลสุดท้ายแล้วการที่ว่ามันมีดีมีชั่วอยู่นี้
มันเกิดจากจิตไปหลงสมมุติ หลงบัญญัติของโลกเข้าไปอย่างนี้



จริง...ดีชั่วมีจริง...จริงโดยสมมุติ มันปฏิเสธไม่ได้ มีอยู่
แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราเฝ้าฝึกจิตใจไม่ให้ไปยึดเอาดีเอาชั่วนั้นมาเป็นของตัว
เพราะมันเป็นของไม่เที่ยง มันเป็นอย่างนั้น
ทรงสอนให้ปล่อยวาง ตาได้เห็นรูปก็สักแต่ว่าได้เห็น
หูได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยินเสียง เป็นต้นอย่างนี้น่ะ ทำความรู้อย่างนี้ในใจ
สักแต่ว่าทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องจริงเรื่องจังอะไร เราฝึกจิตใจนี้เข้าไป
อ้าว! ถ้าว่าเรื่องดีก็ไม่ยึดไม่ถือ เอาล่ะแล้วไฉนถึงจะได้ความดี
บางคนก็อาจจะวิจารณ์ในใจอย่างนี้ก็ได้
อันดีนอกนี้น่ะ พระพุทธเจ้าไม่ตรัสว่าเป็นดีจริงนะ
มันดีเพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง มันเป็นอย่างนั้น
ดีในต่างหากที่พระองค์ทรงสอนให้บุคคลยึดเอาไว้เป็นที่พึ่งไปก่อน



ในเมื่อบารมีเรายังไม่แก่กล้า คือว่านึกเอาความดีที่เรากระทำมา มาไว้ในจิตใจนี้ต่างหาก
ส่วนรูป เสียง กลิ่น รสภายนอกนั้น เราไม่ยึดเอา
เช่น ในความรู้สึกที่เราได้ให้ทานมาอย่างนี้ เราเอาความรู้สึกอันนั้นมากำหนดอยู่ในใจนี้
เราได้ให้ทานมาอยู่ หรือศีลอย่างนี้ เราได้รักษาศีลมาอยู่
ศีลน่ะมีอยู่ในใจของเรา เพราะใจเราได้ละเว้นจากการทำชั่วแล้ว
เราไม่ใช้กาย วาจา ทำชั่ว พูดชั่ว อันนี้ล่ะ ให้พากันกลั่นกรองความดีเข้ามาสู่จิตใจให้ได้
อย่าไปสำคัญดีนอก อันนั้นมันเป็นเหตุให้เกิดความดี เกิดบุญเกิดกุศลเท่านั้น



เหมือนอย่างเราปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งขึ้นมานะ เราไม่ได้หวังเอาต้นไม้นั้นนะ
ต้นไม้ที่มีผล เราหวังเอาผลของมันต่างหาก แต่ว่าเราจำเป็นต้องบำรุงต้นของมัน
เมื่อมันเจริญวัยใหญ่โตขึ้นเต็มอัตราแล้ว มันก็ผลิดอกออกผลมา
เจ้าของไปเก็บเอาผลนั้นมาบริโภคหรือว่าขายไป ไม่ได้เอามาทั้งต้น เอาแต่ผลของมัน



อันนี้ก็เหมือนกัน เราเอาแต่ธรรมารมณ์ อันที่จิตใจของเราเกิดทรงจำเอาไว้ว่า
เราได้ทำบุญมาแล้ว เราได้มีจิตเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างนี้นะ
เช่น เป็นหมอรักษาคนไข้อย่างนี้ เราไม่ใช่มุ่งหวังแต่จะเอาเงินกับเขาเท่านั้น
เรายังทำจิตเมตตา เอ็นดูสงสารคนเจ็บคนป่วยนั้นเข้าไปอีก
อยากจะช่วยให้เขาหายเจ็บหายป่วยจริงๆ
นี่ถ้าเราตั้งจิตเมตตาลงไป จิตเราก็ดี เบิกบานดี
เราได้ทำกิจธุระหน้าที่พยาบาลคนไข้ให้หายเจ็บหายป่วยลงไป เราก็ดีอกดีใจ
ถ้าหากว่าเรามีอุบายแยบคายอยู่ในใจแล้ว เราทำอะไรก็เป็นบุญเป็นกุศลไปทั้งนั้น
ขอให้คิดให้มันละเอียดเข้าไป



แม้แต่หาเงินหาทอง เราจะหาโดยวิธีใดก็ตาม
ถ้าเรามีศีลเป็นพื้นฐานของกาย วาจา ใจนี้แล้ว
เราทำงานไป อยู่ในกรอบแห่งศีลแห่งธรรมนี้
การงานที่เราทำนั้นมันก็เป็นเหตุให้เกิดบุญเกิดกุศล
เช่น อย่างเราหาทำการทำงานแล้วได้เงินได้ทองมานี้นะ
ก็มาซื้อหาอาหารการบริโภคมาแล้ว ตนก็บริโภคบ้าง ให้ทานไปบ้างก็ดี
ตนบริโภค ตนรับประทานเข้าไปก็ทำให้ชีวิตนี้เป็นอยู่ไปได้
และตนก็ได้ไหว้พระ ได้นั่งสมาธิภาวนา เพราะได้อาศัยอาหารบำรุงร่างกาย ให้มีกำลังอยู่ได้



ส่วนใดที่เราแบ่งเอาไปบริจาคทาน ท่านผู้รับประทานไป เอาไปฉันอย่างนี้
ท่านก็มีชีวิตอยู่ไปได้ ได้ประกอบศาสนกิจตามหน้าที่ของตนๆ ไป
ได้ต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป
เป็นประโยชน์แก่กุลบุตรกุลธิดาที่เกิดมาในภายหลัง
เขาเห็นบิดามารดาทำความดีเข้าไป บุตรธิดาก็หัดเอาอย่าง
เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไป บุตรธิดาก็สืบศาสนาต่อไป
คนเหล่านั้นก็พลอยได้สั่งสมบุญกุศล สืบวงศ์สืบตระกูลต่อไป
นี่นะการทำบุญกุศล นับว่าเป็นประโยชน์ยืดยาวนาน



เมื่อเราทำบุญทำกุศลอันประกอบไปด้วยปัญญาแล้วนะ
มันได้บุญได้กุศลมากมายและเป็นประโยชน์ยืดยาวนาน
ให้ถือเสียว่าการทำบุญนี้ อุปมาเหมือนเราคิดที่จะต่อเรือสักลำหนึ่ง เพื่อนั่งข้ามไปสู่ฝั่งนู้น
ไปพักผ่อนหย่อนใจอยู่ฝั่งนู้น ก็จำเป็นต้องได้หาทุนหารอนในการต่อเรือเล็กลำหนึ่ง
หากเราไม่ทำเอง มีทุนมีงบประมาณแล้วก็จ้างช่างเขามาทำ
เมื่อต่อเรือนั้นเสร็จสรรพลงแล้ว ก็เข้าไปนั่งในเรือ นายท้ายก็ถือท้ายติดเครื่องจักร
พาข้ามจากฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งนู้นได้โดยสวัสดี ฉันใดก็ฉันนั้น



การที่เราคิดบำเพ็ญบุญกุศลให้เจริญงอกงามขึ้นในตน
ก็เท่ากับว่าเราสมมุติเอาบุญ เอากุศล เอาคุณพระรัตนตรัยเป็นยานอันวิเศษอันหนึ่ง
เรากำลังสร้างยานวิเศษอันนี้ไว้รองรับดวงจิตของเรา
ทั้งเวลาที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราได้อาศัยบุญเหล่านี้อยู่ภายในจิตใจแล้ว
จิตใจเราก็สงบเยือกเย็น สบายไป
เมื่อเวลาจวนจะสิ้นชีพทำลายขันธ์ลงไป เราก็ไม่ได้เศร้าโศกเสียใจกับความตายอันนั้น
เพราะว่าได้ภาวนาเห็นความตายอยู่ทุกวันทุกคืน
แล้วก็เห็นบุญเห็นคุณตั้งมั่นอยู่ในจิตใจเสมอไป



ร่างกายนี้จะบังคับก็บังคับไม่ได้ เมื่อบังคับไม่ได้ ก็ต้องหัดปลงหัดวางลง
วางจิตใจให้เป็นกลาง เป็นอุเบกขาลงไป
อย่าไปยินดีเพลิดเพลินเวลามันอยู่ดีกินดี มันไม่เจ็บไม่ไข้
อย่าไปเสียใจเศร้าโศก เมื่อเวลามันเจ็บไข้ได้ป่วย เวลามันวิบัติลงไป
เราฝึกใจอันนี้ สอนใจนี้ไปเรื่อยๆ



เมื่อเรามีปัญญา มีความรู้ความเห็นตามความเป็นจริง บังเกิดขึ้นในใจอย่างนี้
ใจเราก็มั่นอยู่ในบุญในคุณนี้ เมื่อร่างกายนี้มันทรุดโทรมมันจะแตกดับ เราก็ไม่ทุกข์ร้อน
ก็เพราะว่าจิตเรามีที่พึ่งอยู่แล้ว ไม่กระวนกระวายต่อทุกขเวทนา อดกลั้นทนทานต่อทุกขเวทนา
เพราะมีบุญมีคุณนี่ละเป็นกำลังใจ ทำให้ใจนั้นเข้มแข็ง
เพราะว่าความเจ็บ ความปวด หรือความทุกข์ต่างๆ นี้น่ะ
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า มันละไม่ได้ มีแต่ทำความรู้เท่าเอา อดกลั้นทนทานเอา



ผู้รู้แจ้งความเป็นจริงแล้ว ท่านมีแต่ความอดกลั้น ทนทานเอา อย่าหวั่นไหวกับมัน
ผู้ไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริงนั้น มีแต่หวั่นไหว มีแต่สะดุ้งหวาดกลัวต่อความทุกข์ ต่อความตาย
อย่างนี้มันตรงกันข้ามกับท่านผู้รู้
ให้พากันเข้าใจ แล้วเรามาฝึกหัดจิตใจนี้ให้เป็นผู้รู้ ผู้ฉลาด รู้เท่าทุกข์ตามความเป็นจริง
แล้วก็มาละเหตุแห่งทุกข์นี้ให้มันเบาบางไปจากจิตใจ
ถึงละไม่หมดก็ให้มันเบาบางลงไป
หากว่ามันไปเกิดในชาติหน้า มันจะได้เบาบางลงมากมาย
เพราะว่าทุกข์นั้นมาจากเหตุ คือ ตัณหา
เมื่อละตัณหาอันเบาบางไป เสร็จแต่ชาตินี้แล้ว
หากว่ามันไปเกิดชาติหน้าต่อไปอีก บุคคลผู้นั้นก็จะไม่ตกเป็นทาสของตัณหา
บุญกุศลอำนวยผล ตกแต่งให้มีลาภ ยศ สรรเสริญ ความสุขกายสบายใจอย่างไร
ก็ไม่หลง ไม่เมา ไม่เพลินไปด้วยลาภยศเหล่านั้น เป็นต้น
เพราะได้ฝึกไปตั้งแต่นี้แล้ว ขอให้พากันเข้าใจ



ถ้าเราไม่ฝึกไปอย่างว่านี้ เพียงแค่กินๆ ทานๆ รักษาศีลไปตามประเพณีเฉยๆ
ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้ภาวนาอย่างนี้
ผลทาน ผลศีลอำนวยให้ไปเกิดในชาติหน้าต่อไป ก็ร่ำรวยเงินทอง มีลาภยศขึ้นมา
แล้วก็หลงลาภหลงยศเหล่านั้น ผูกพันอยู่กับสิ่งเหล่านั้น
เลยไม่เป็นอันทำบุญทำทาน มิหนำซ้ำยังหวงแหนยังตระหนี่อีก
อย่างนี้แหละถ้าให้ทานก็เรียกว่าให้ไม่สมกับฐานะ



ข้อปฏิบัติในพุทธศาสนา นับว่าเป็นสิ่งที่เราต้องลงมือปฏิบัติไปพร้อมกัน
แล้วก็พิจารณาไปด้วย ให้มันเห็นเหตุเห็นผลดังกล่าวมานี้
ข้อสำคัญคือ พยายามทำใจให้สงบ ให้ตั้งมั่น อย่าให้เป็นไปอย่างอื่น
สมาธินี้แหละ เรียกว่าเป็นที่ตั้งแห่งบุญแห่งกุศลทั้งหลาย
บุญกุศลความดีทั้งหลาย มันจะหลั่งเข้ามาหาสมาธินี่แหละหมดเลย ไม่สูญหายไปไหน



ถ้าบุคคลไม่สามารถที่จะทำใจให้สงบลงได้แล้ว
บุญกุศลมันก็กระสานซ่านเซ็นไป จิตใจมันไม่สงบ ย่อมคิดฟุ้งซ่านไปทั่ว
เรื่องไม่เป็นประโยชน์มันก็คิดไป มันจะคิดไปในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์น่ะแหละมาก
เมื่อจิตฟุ้งซ่านแล้ว เรื่องเป็นประโยชน์ไม่ค่อยคิดกัน
ในเมื่อทำใจให้สงบลงไปแล้ว คิดอะไรก็มักจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
ทางใดที่เป็นทุกข์และโทษต่อผู้อื่นแล้วไม่เอาไม่คิด เป็นอย่างนั้น



ฉะนั้น เมื่อได้สดับตรับฟังแล้ว
ก็ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่ได้นำมาแนะนำสั่งสอนในวันนี้ ก็ไม่ใช่อื่นไกลอะไรหรอก ก็มาพูดของเก่ากันนั่นแหละ
แต่ว่าใช้สำนวนแปลกๆ ไปอยู่บ้างเท่านั้นเองนะ ไม่ใช่อย่างอื่นใด
ให้พากันรู้จักว่า การทำบุญกุศลนี้ก็ให้มันรู้แจ้งในบุญกุศล ด้วยปัญญาของตนจริงๆ
ถ้าว่าเรื่องบาปยังงี้ ก็ให้มันพิจารณาเห็นแจ้งในเรื่องบาปนั้น
ว่าเป็นบาปจริงๆ จะได้ละมันเสีย



สุดท้ายก็แนะนำตักเตือนให้อย่าหลงอัตภาพร่างกายนี้
อย่ามัวอย่าเมา อย่าไปติดความสุขเล็กๆ น้อยๆ
ให้เป็นนักเสียสละความสุขเล็กๆ น้อยๆ นั้น
อุตส่าห์พยายามประพฤติปฏิบัติ ทำสมาธิภาวนา ฝึกจิตใจที่ไม่ค่อยสงบให้สงบลง
เมื่อจิตสงบลงแล้วปัญญายังไม่มีก็ฝึกหัด คิดอ่านพิจารณาเหตุผลแห่งชีวิต
ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แนะนำมาให้ฟังนี้
ให้รู้แจ้งขึ้นมาในใจของตนตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวางไว้ตามสภาพ



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก “ทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายใน” ใน วรลาโภวาท
ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพพระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP