ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

สีลัพพตสูตร ว่าด้วยผลแห่งศีลพรต


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๑๘] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามท่านพระอานนท์ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า
อานนท์ ศีลพรต ชีวิต พรหมจรรย์ ที่มีสาระโดยความปรากฏ มีผลทั้งหมดหรือ.


พระอานนท์. ข้อนี้ จะพยากรณ์โดยส่วนเดียวมิได้ พระพุทธเจ้าข้า.


พระผู้มีพระภาคเจ้า. ถ้าเช่นนั้น จงจำแนกไป.


พระอานนท์. บุคคลประพฤติศีลพรต ชีวิต พรหมจรรย์ ที่มีสาระโดยความปรากฏอันใด
อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม
ศีลพรต ชีวิต พรหมจรรย์ ที่มีสาระโดยความปรากฏเช่นนั้น ไม่มีผล
ส่วนว่าบุคคลประพฤติศีลพรต ชีวิต พรหมจรรย์ ที่มีสาระโดยความปรากฏอันใด
อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญ
ศีลพรต ชีวิต พรหมจรรย์ ที่มีสาระโดยความปรากฏเช่นนั้น มีผล พระพุทธเจ้าข้า.


ท่านพระอานนท์กราบทูลเรื่องนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา
จึงลุกจากที่นั่ง ถวายบังคม ทำประทักษิณแล้วออกไป
ครั้นท่านพระอานนท์ออกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย อานนท์ยังเป็นพระเสขะ
แต่ผู้เสมอกับอานนท์ทางปัญญา มิใช่หาได้ง่าย


สีลัพพตสูตร จบ



หมายเหตุ
บางส่วนของอรรถกถาสีลัพพตสูตรอธิบายว่า
พึงทราบวินิจฉัยในสีลัพพตสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้

คำว่า ศีลพรต (สีลพฺพตํ) ได้แก่ศีลและวัตร.
คำว่า ชีวิต (ชีวิตํ) ได้แก่ความเพียรของผู้ทำกรรมที่ทำได้โดยยาก.
คำว่า พรหมจรรย์ (พฺรหฺมจริยํ) ได้แก่การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์.
คำว่า ที่มีสาระโดยความปรากฏ (อุปฏฺฐานสารํ) ความว่า ศีลเป็นต้นนี้มีสาระ
โดยความเป็นธรรมเครื่องปรากฏ อธิบายว่า ปรากฏอย่างนี้ว่า ศีลเป็นต้นนี้ เป็นแก่นสาร
ศีลเป็นต้นนี้ เป็นของประเสริฐ ศีลเป็นต้นนี้ เป็นเหตุให้สำเร็จ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ศีลเป็นต้นนี้ มีกำไร คือมีความเจริญ ด้วยคำว่า มีผล ดังนี้.
ข้อว่า ข้อนี้จะพยากรณ์โดยส่วนเดียวไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า (น เขวตฺถ ภนฺเต เอกํเสน).
ความว่า (พระอานนท์ตอบว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในข้อนี้ ไม่ควรตอบโดยส่วนเดียวเลย.
คำว่า เมื่อประพฤติ ... ที่มีสาระโดยความปรากฏ (อุปฏฺฐานสารํ เสวโต) ความว่า
เมื่อปฏิบัติศีลเป็นต้นที่เป็นสาระ คือ เป็นเครื่องปรากฏอย่างนี้ว่า ศีลเป็นต้นนี้
เป็นสาระ เป็นสิ่งประเสริฐ เป็นเหตุให้สำเร็จ.


คำว่า ไม่มีผล (อผลํ) ความว่า ไม่มีผล ด้วยผลที่ต้องการ.
ด้วยคำโต้ตอบเพียงเท่านี้ เป็นอันถือเอาลัทธิภายนอกแม้ทั้งหมดที่เหลือ
เว้นการบรรพชาของกรรมวาทีบุคคลและกิริยวาทีบุคคล.
คำว่า มีผล (สผลํ) ได้แก่ มีผล คือ มีกำไร ด้วยผลที่ต้องประสงค์
ด้วยคำเพียงเท่านี้ เป็นอันถือเอาบรรพชาของกรรมวาทีบุคคลและกิริยวาทีบุคคลแม้ทั้งหมด
ตั้งต้นแต่ (พุทธ) ศาสนานี้.
ด้วยข้อว่า แต่ผู้เสมอกับอานนท์ทางปัญญา มิใช่หาได้ง่าย
(น จ ปนสฺส สุลภรูโป สมสโม ปญฺญาย) นี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ผู้ที่ตั้งอยู่ในเสขภูมิตอบปัญหาได้อย่างนี้
ที่จะเสมอด้วยปัญญาของพระอานนท์นั้น หาไม่ได้ง่าย.
ธรรมชื่อว่า เสขภูมิ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในพระสูตรนี้.



(สีลัพพตสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP