สารส่องใจ Enlightenment

นั่งสมาธิ นั่งวิปัสสนาและนั่งกรรมฐาน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร



วิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร




ปุจฉา นั่งสมาธิ นั่งวิปัสสนาและนั่งกรรมฐาน เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรหรือไม่
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราปฏิบัติได้หรือทำสำเร็จแล้ว
และผลของการปฏิบัติทั้ง ๓ อย่างดังกล่าวเป็นอย่างไร


วิสัชนา นั่งสมาธิ นั่งวิปัสสนาและนั่งกรรมฐาน ก็มีความหมายอันเดียวกัน
- คำว่า สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นในการเพ่งอยู่ที่กรรมฐานที่เราสมมติตั้งไว้
- คำว่า นั่งวิปัสสนา ก็หมายความว่า เรามีปัญญารอบคอบในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั่นเอง
- และ นั่งกรรมฐาน เล่า คำว่า “ฐาน” ก็แปลว่า ฐานความตั้งมั่นในสมาธิ ฐานความตั้งมั่นในปัญญานั่นเองแต่ใส่ชื่อลือนามหลายอย่างเฉยๆ
คำว่า “กรรมฐาน” เอาตัว ร. ๒ ตัว,
เอาตัว ม.ไม้หันอากาศก็ถูก (ภาษาบาลี หรือมคธ)
แต่เอาภาษาไทยใช้ตัว ร. ๒ ตัว


ก็มีคำถามต่อไปว่า เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราปฏิบัติได้หรือทำให้สำเร็จแล้ว
เรารู้ได้อย่างนี้คือ สิ่งที่มีโลภ โกรธ หลงจัดมาแต่เดิม
ถึงแม้มันมีอยู่มันก็เบากว่าแต่ก่อน
สมมติว่าแต่ก่อนเราฆ่าสัตว์ได้อย่างไม่อาลัย
แล้วเราไม่ทำเหมือนแต่ก่อนเสียแล้ว เพราะนึกละอายตนเอง



ข้อต่อไปอีก เราไม่เสียดายอยากล่วงละเมิดเสียเลย
เพราะเห็นดิ่งลงไปแล้วว่ามันเป็นเวรสนองเวรจริงๆ
ส่วนจะมาช้าหรือเร็วตามส่วนนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับผลของกรรมนั่นเอง
เราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ก็ไม่มีปัญหา ผลของกรรมต้องตามมาไม่ต้องสงสัย
เราเชื่อดิ่งลงอย่างนี้แล้ว เราจึงไม่เสียดายอยากละเมิด
นี้เรียกว่าเราสำเร็จในตอนนี้แล้ว แม้สิ่งอื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน



ที่ปรารภมานี้ก็พอที่จะเข้าใจได้บ้างแล้ว
จะอย่างไรก็ตามธรรมะของพระพุทธศาสนา
เราก็ต้องปฏิบัติเป็นคู่กับอารมณ์ของเรา
ดีกว่าปล่อยอารมณ์ไปทางอื่น



ยกอุทาหรณ์อีก จะสะอาดหรือไม่สะอาดขาดตัวก็ตามแต่ก็ต้องได้อาบน้ำอยู่นั่นเอง
ถ้าไม่อาบน้ำก็จะยิ่งไปใหญ่ เข้าสังคมใดๆ ไม่ได้
ฉันใดก็ดีถ้าไม่ประพฤติศีลธรรมแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะมาล้างหัวใจให้สะอาดได้

เดี๋ยวก็จะฆ่าทั้งบิดามารดาด้วย ตลอดทั้งท่านผู้มีพระคุณ เช่น พระอรหันต์เป็นต้น


และก็ให้เข้าใจว่า ความสำเร็จอยู่กับความพยายาม ไม่ว่าจะทางดีทางชั่ว แต่ให้ผลต่างกันเท่านั้น
ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส
“เพียรละความชั่ว ประพฤติความดี”
เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP