จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เวลาไม่พอ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



156 destination


เมื่อเดือนที่แล้วมีญาติธรรมท่านหนึ่งสนทนากับผมว่าเวลาในแต่ละวันมีน้อย
โดยเขามีภาระหน้าที่การงานหลายอย่างที่ต้องทำ และก็ยังทำไม่ทันเสร็จ
แต่ก็หมดวันลงเสียแล้ว จึงรู้สึกอยากจะให้ในแต่ละวันมีเวลามากกว่านี้
ซึ่งผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านก็คงมีปัญหาเรื่องมีเวลาไม่พอในแต่วันเช่นกัน
ผมเองก็มีปัญหาดังกล่าวเช่นกัน เรียกได้ว่าพวกเราก็หัวอกเดียวกันครับ


ในเรื่องที่เราจะไปเพิ่มเวลาในแต่ละวันให้มากขึ้นนั้น
ย่อมเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะทำได้ โดยวันหนึ่ง ๆ ก็จะมีแค่ ๒๔ ชั่วโมงเท่านี้
แต่สิ่งที่เราสามารถจะทำได้ก็คือ
เราสามารถเลือกใช้เวลาในแต่ละวันให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้


ในแต่ละวันย่อมจะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องทำ ควรทำ หรืออยากทำ
ซึ่งแต่ละสิ่งนั้นก็ย่อมจะมีความจำเป็น ความสำคัญ และประโยชน์ที่แตกต่างกันไป
ในเมื่อเราไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้เสร็จทั้งหมดในเวลาที่เรามีแล้ว
เราจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเลือกว่า เราจะเลือกใช้เวลาทำอะไร
โดยก็ควรเลือกทำสิ่งที่จำเป็น สำคัญ และเป็นประโยชน์มากที่สุด


กรณีดังกล่าวเป็นการมองเวลาในแต่ละวันหรือในวันหนึ่ง ๆ
หากจะมองในภาพใหญ่ขึ้นอีก โดยมองเวลาทั้งชีวิตของเรา
เราก็จะพบว่าเรามีปัญหาเช่นเดียวกันในเรื่องที่ว่ามีเวลาไม่พอ
โดยมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องทำ ควรทำ หรืออยากทำ
และแต่ละสิ่งนั้นก็ย่อมมีความจำเป็น ความสำคัญ และประโยชน์แตกต่างกันไป


ในการมองภาพใหญ่ขึ้น คือมองเวลาทั้งชีวิตเรานี้
การจัดสรรแบ่งเวลาและบริหารเวลาก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน
โดยเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเลือกว่า เราจะเลือกใช้เวลาชีวิตทำอะไร
ซึ่งเราก็ควรเลือกทำสิ่งที่จำเป็น สำคัญ และเป็นประโยชน์มากที่สุดเช่นกัน


ในเรื่องสิ่งจำเป็น สำคัญ และเป็นประโยชน์ในชีวิตเรานี้
แน่นอนว่าเรื่องการประกอบอาชีพเพื่อการหาเลี้ยงชีพย่อมเป็นสิ่งสำคัญ
แต่สิ่งที่สำคัญอื่น ๆ ก็ยังมีอยู่ เพราะเราไม่ได้มีหน้าที่ในทางการงานเพียงอย่างเดียว
แต่เรายังมีหน้าที่ในทางครอบครัว ทางสังคม และหน้าที่ต่อตนเองด้วย
เราจึงควรเลือกแบ่งเวลาให้เหมาะสม และใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเราก็ต้องระวังไม่หลงไปใช้เวลาชีวิตมากมายในสิ่งต่าง ๆ
ที่ไม่จำเป็น ไม่สำคัญ หรือไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตเรา


ในทางพระธรรมคำสอนนั้น สิ่งสำคัญและเป็นประโยชน์สูงสุดที่เราพึงกระทำ
ก็คือการศึกษา และปฏิบัติเพื่อเรียนรู้อริยสัจ ๔
ใน “ทัณฑสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) กล่าวว่า
เปรียบเหมือนท่อนไม้ที่บุคคลขว้างขึ้นไปบนอากาศแล้ว บางคราวเอาโคนตกลงมาก็มี
บางคราวเอาตอนกลางตกลงมาก็มี บางคราวเอาปลายตกลงมาก็มี ฉันใด
สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชา มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบ ได้แล่นไปอยู่ ท่องเที่ยวไปอยู่
บางคราวจากโลกนี้ไปสู่ปรโลกก็มี บางคราวจากปรโลกมาสู่โลกนี้ก็มี ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=10409&Z=10418&pagebreak=0


จากทัณฑสูตรที่ยกมาข้างต้นนั้น เราก็ไม่พึงมองแต่ในแง่ดีนะครับว่า
เราจะพบแต่ความสุขความสบายในสังสารวัฏนี้
เพราะว่าในสังสารวัฏนี้ไม่ใช่ว่าเราจะได้เป็นเพียงแค่มนุษย์หรือเทวดาเท่านั้น
คำว่า “ปรโลก” นี้ไม่ได้หมายถึงสุคติภูมิเท่านั้นครับ แต่หมายถึงทุคติภูมิก็ได้
โดยเราก็มีโอกาสที่จะได้ไปทุคติภูมิเช่นกัน


ใน “เจลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค)
ได้สอนถึงความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องอริยสัจ ๔ โดยเปรียบเทียบว่า
แม้บุคคลจะถูกไฟไหม้ที่ผ้าหรือศีรษะก็ตาม
แต่ก็พึงวางเฉยไม่ใส่ใจถึงผ้าหรือศีรษะที่ถูกไฟไหม้
แล้วพึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความไม่ย่นย่อ ความไม่ท้อถอย
สติและสัมปชัญญะอย่างแรงกล้า เพื่อตรัสรู้อริยสัจ ๔ ที่ยังไม่ตรัสรู้ตามความเป็นจริง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=10419&Z=10431&pagebreak=0


ใน “สัตติสตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) สอนว่า
หากเราจะต้องมีชีวิตอยู่เป็นเวลาร้อยปี โดยให้ผู้อื่นเอาหอก ๑๐๐ เล่มทิ่มแทงเราในเวลาเช้า
เอาหอก ๑๐๐ เล่มทิ่มแทงเราในเวลาเที่ยง เอาหอก ๑๐๐ เล่มทิ่มแทงเราในเวลาเย็น
เช่นนี้ทุกวันเป็นระยะเวลาร้อยปี และเมื่อสิ้นระยะเวลาแล้ว จักได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔
เราก็ควรจะยอมตกลงเลือกมีชีวิตร้อยปี และถูกหอกแทงดังกล่าว
เพราะว่าสังสารวัฏนี้ไม่มีเบื้องต้นที่สุดอันบุคคลจะไปตามรู้ได้
ดังนั้น เบื้องต้นที่สุดแห่งการประหารด้วยหอก ดาบ หลาว และขวานย่อมไม่ปรากฏอยู่แล้ว
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=10432&Z=10444&pagebreak=0


เช่นนี้แล้ว การเรียนรู้เรื่องอริยสัจจึงมีความสำคัญอย่างมาก
เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และคุ้มค่าอย่างมากสำหรับชีวิตเรานี้
ในชีวิตนี้ เราจะมีชีวิตอยู่ถึงร้อยปีหรือไม่ เราก็ไม่อาจทราบได้
แต่ที่แน่ ๆ คือในปัจจุบันนี้ เรามีโอกาสอันดีที่สามารถเรียนรู้อริยสัจ ๔ ได้
โดยที่ไม่ต้องโดนหอก ๑๐๐ เล่มแทงเช้า กลางวัน และเย็นในทุกวันนะครับ
ฉะนั้นแล้ว เราก็พึงเห็นความสำคัญ และใช้เวลา (ที่มีอยู่จำกัดนี้)
ให้คุ้มค่าด้วยการหมั่นเรียนรู้อริยสัจ ๔
ซึ่งเราก็สามารถเรียนรู้ได้โดยการศึกษาและปฏิบัติไตรสิกขานั่นเองครับ


+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +


หมายเหตุ ณ วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ศาลาปฏิบัติธรรมที่อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
ได้ทำคานบนสำหรับทำหลังคาเสร็จแล้ว และเริ่มก่อกำแพงผนังต่าง ๆ แล้ว
ในขณะเดียวกันทีมงานสรุปแผนผังห้องน้ำ และห้องอาบน้ำ
ที่จะจัดสร้างในบริเวณใกล้เคียงเสร็จแล้ว (ค่าก่อสร้างรวมอยู่ในงบประมาณแล้ว)


โดย ณ วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๘ มียอดร่วมทำบุญสะสมทั้งหมด
ประมาณ ๖.๒๔๙ ล้านบาท (ร้อยละ ๙๖.๑๕ ของงบประมาณ)
ยังขาดปัจจัยสำหรับก่อสร้างอยู่อีกประมาณ ๐.๒๕ ล้านบาท (ร้อยละ ๓.๘๕ ของงบประมาณ) ครับ
ก็ถือว่าญาติธรรมได้ร่วมช่วยเหลือทำบุญกันมาเกือบครบแล้ว ขาดอีกไม่มากครับ


ขอเรียนเชิญญาติธรรมท่านที่สนใจร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม
เพื่อประโยชน์ในการจัดค่ายศีลธรรมสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน
ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ดังต่อไปนี้
ชื่อบัญชี นายสันติ คุณาวงศ์ นางปราณี ศิริวิริยะกุล และนางพจนา ทรัพย์สมาน
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาแฟรี่แลนด์ นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 881-223306-7


ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai
และสามารถติดตามความคืบหน้าของการเรี่ยไรและสำเนาหน้าสมุดบัญชีรับบริจาคได้ที่
กระทู้ในเว็บไซต์ลานธรรมตามลิงค์นี้ครับ
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP