ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ปฐมอาชานียสูตร ว่าด้วยองค์ ๓ ของม้าต้น และของภิกษุ


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๓๖] ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวประเสริฐของพระราชา ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๓
จึงเป็นสัตว์คู่ควรแก่พระราชา เป็นสัตว์ใช้สอยของพระราชา
ถึงการนับว่าเป็นองคาพยพของพระราชาทีเดียว
องค์ ๓ อะไรบ้าง คือม้าอาชาไนยตัวประเสริฐของพระราชา
สมบูรณ์ด้วยสี ๑ สมบูรณ์ด้วยกำลัง ๑ สมบูรณ์ด้วยความเร็ว ๑
ม้าอาชาไนยตัวประเสริฐของพระราชา ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล
จึงเป็นสัตว์คู่ควรแก่พระราชา เป็นสัตว์ใช้สอยของพระราชา
ถึงการนับว่าเป็นองคาพยพของพระราชาทีเดียว


ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นนั่นเทียวแล ภิกษุผู้ประกอบพร้อมด้วยธรรม ๓
จึงเป็นผู้ควรของคำนับ ผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรของทำบุญ
ผู้ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ธรรม ๓ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ๑ สมบูรณ์ด้วยพละ ๑ สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ ๑


ภิกษุสมบูรณ์ด้วยวรรณะ เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร
เห็นภัยในโทษมาตรว่าน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
อย่างนี้เรียกว่า ภิกษุสมบูรณ์ด้วยวรรณะ


ภิกษุสมบูรณ์ด้วยพละ เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทำความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม
แข็งขันบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
อย่างนี้เรียกว่า ภิกษุสมบูรณ์ด้วยพละ


ภิกษุสมบูรณ์ด้วยเชาวน์ เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
อย่างนี้เรียกว่า ภิกษุสมบูรณ์ด้วยเชาวน์


ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบพร้อมด้วยธรรม ๓ นี้แล
จึงเป็นผู้ควรของคำนับ ผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรของทำบุญ
ผู้ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.


ปฐมอาชานียสูตร จบ



(ปฐมอาชานียสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP