จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

กับดักอันร้ายกาจ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



149 destination



ในเวลาที่ขอพรนั้น สิ่งที่คนจำนวนมากขอพรก็มักจะเกี่ยวกับ “กาม”
คำว่า “กาม” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องทางเพศเท่านั้นนะครับ
แต่หมายถึงความใคร่ ความอยาก ความปรารถนา หรือสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่
ซึ่ง “กาม ๒” หมายถึง ๑. กิเลสกาม คือกิเลสที่ทำให้ใคร่ และ
๒. วัตถุกาม คือวัตถุอันน่าใคร่ได้แก่กามคุณ ๕
โดย “กามคุณ ๕” หมายถึง ส่วนที่น่าปรารถนาน่าใคร่ มี ๕ อย่าง
ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ที่น่าใคร่หรือน่าพอใจ


เมื่อบุคคลขอพรในสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่ (หรือเรื่องกาม) แล้วก็ได้ตามที่ต้องการนั้น
บุคคลนั้นก็ย่อมจะมีความรู้สึกพึงพอใจและชอบใจ
แต่หากบุคคลผู้ได้สิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่ (หรือเรื่องกาม) เป็นผู้ไม่มีธรรมแล้ว
กามหรือสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่กลับจะเป็นโทษที่ร้ายแรงแก่เขานั้นเอง
เพราะว่ายิ่งทำให้มัวเมา ประมาท และติดอยู่ในกามคุณ


ใน “อัปปกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค) เล่าว่า
พระผู้มีพระภาคทรงสอนว่า สัตว์เหล่าใดได้โภคทรัพย์ยิ่ง ๆ แล้ว ย่อมไม่มัวเมา

ไม่ประมาท ไม่ถึงความติดอยู่ในกามคุณ และไม่ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย
สัตว์เหล่านั้นมีจำนวนน้อยในโลก
ส่วนว่าสัตว์เหล่าใดได้โภคทรัพย์ยิ่ง ๆ แล้ว ย่อมมัวเมา ประมาท
ถึงความติดอยู่ในกามคุณ และประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย
สัตว์เหล่านั้นแลมีจำนวนมากมายในโลก
หลังจากนั้นทรงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้กำหนัดกล้าในโภคทรัพย์ ที่น่าใคร่ มักมากหลงใหลในกามคุณ
ย่อมไม่รู้สึกการก้าวล่วง (ประพฤติผิดในสัตว์พวกอื่น)
เหมือนพวกเนื้อไม่รู้สึกแร้วซึ่งโก่งดักไว้
ฉะนั้น ผลเผ็ดร้อนย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง
เพราะว่ากรรมเช่นนั้นมีวิบากเลวทราม
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=2346&Z=2372&pagebreak=0


ในทำนองเดียวกัน ในอรรถกรณสูตร (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค) เล่าว่า
พระผู้มีพระภาคทรงสอนว่า กษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล

แม้บางพวกเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีทรัพย์คือข้าวเปลือกมากมาย
ยังจักกล่าวมุสาทั้งที่รู้สึกอยู่ เพราะเหตุแห่งกาม เพราะเรื่องกาม เพราะมีกามเป็นเค้ามูล
ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อความเสื่อมประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่พวกเขาตลอดกาลนาน
หลังจากนั้น ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้กำหนัดกล้าในโภคทรัพย์ที่น่าใคร่ มักมากหลงใหลในกามคุณ
ย่อมไม่รู้สึกการล่วงเกิน เหมือนพวกปลากำลังเข้าไปสู่เครื่องดัก ซึ่งอ้าดักอยู่
ฉะนั้น ผลอันเผ็ดร้อนย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง
เพราะว่ากรรมเช่นนั้นมีวิบากเลวทราม
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=2373&Z=2394&pagebreak=0


บรรดากิเลสทั้งหลายก็ฉลาดล้ำเสียเหลือเกินนะครับ
เพราะหากเราไม่ชอบสิ่งไหน สิ่งเหล่านั้นก็จะมาล่อเราไม่ได้
แต่กิเลสก็รู้ว่าเราชอบสิ่งไหน ก็จะเอาสิ่งเหล่านั้นมาล่อเรา
โดยคนเราแต่ละคนก็ย่อมจะพึงพอใจในกามที่แตกต่างกัน
ในปัญจราชสูตร (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค) เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง มีพระราชา ๕ พระองค์ผู้เพียบพร้อมได้รับบำเรออยู่ด้วยเบญจกามคุณ
เกิดถ้อยคำโต้เถียงกันว่า อะไรหนอเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย
พระราชาบางองค์ตรัสว่า รูปทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย
พระราชาบางองค์ตรัสว่า เสียงทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย
พระราชาบางองค์ตรัสว่า กลิ่นทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย
พระราชาบางองค์ตรัสว่า รสทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย
พระราชาบางองค์ตรัสว่า โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย
เมื่อพระราชา ๕ พระองค์ไม่สามารถหาข้อสรุปกันได้แล้ว
จึงได้ไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร
ยอดสุดแห่งความพอใจนั่นแหละ เป็นยอดในเบญจกามคุณ
กล่าวคือ รูปเหล่าใดเป็นที่พอใจของคนบางคน รูปเหล่านั้นเป็นยอดเยี่ยมสำหรับเขา
เสียงเหล่าใดเป็นที่พอใจของคนบางคน เสียงเหล่านั้นเป็นยอดเยี่ยมสำหรับเขา
กลิ่นเหล่าใดเป็นที่พอใจของคนบางคน กลิ่นเหล่านั้นเป็นยอดเยี่ยมสำหรับเขา
รสเหล่าใดเป็นที่พอใจของคนบางคน รสเหล่านั้นเป็นยอดเยี่ยมสำหรับเขา
โผฏฐัพพะเหล่าใดเป็นที่พอใจของคนบางคน โผฏฐัพพะเหล่านั้นเป็นยอดเยี่ยมสำหรับเขา
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=2575&Z=2630&pagebreak=0


ดังนี้ แม้ว่าเราแต่ละคนจะพึงพอใจในกามที่แตกต่างกันก็ตาม
แต่ว่าเราพอใจกามอันไหน กิเลสก็สามารถใช้กามอันนั้นมาล่อเราได้
และเมื่อใช้กามตัวใดมาล่อเราได้แล้ว กิเลสตัวอื่น ๆ ก็จะตามมาเป็นพรวนไม่สิ้นสุด
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวใน “มุทุลักขณชาดก” ว่าด้วยความต้องการไม่มีสิ้นสุด
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑)
ซึ่งเล่าเรื่องในสมัยหนึ่ง ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี
พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง เรียนจบศิลปะทุกประเภท
ละกามเสีย แล้วไปบวชเป็นฤๅษี กระทำกสิณบริกรรม ให้อภิญญาสมาบัติเกิดขึ้น
แล้วยับยั้งอยู่ด้วยความสุขในฌาน พำนักอาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศ
อยู่มาคราวหนึ่ง ท่านออกมาจากป่าหิมพานต์ เพื่อบริโภคโภชนะมีรสเค็ม รสเปรี้ยวบ้าง
บรรลุถึงกรุงพาราณสี พำนักอยู่ในพระราชอุทยาน
พระราชาทรงเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน รับสั่งให้นิมนต์มา ถวายภัตตาหาร
แล้วทรงอาราธนาให้พำนักในพระราชอุทยาน
พระดาบสก็รับอาราธนา และพำนักอยู่ในพระราชอุทยาน ๑๖ ปี
อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปปราบปรามปัจจันตชนบทอันกำเริบ
โดยพระองค์ได้ตรัสสั่งพระมเหสีพระนามว่า “มุทุลักขณา” ว่า
เธอจงอย่าประมาท จงปรนนิบัติพระผู้เป็นเจ้า


ตั้งแต่เวลาที่พระราชาเสด็จไปแล้ว พระดาบสก็ไปสู่พระราชวังตามเวลาที่ตนพอใจ
อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ออกจากฌานเหาะไปสู่พระราชนิเวศน์
พระนางมุทุลักขณาทรงสดับเสียงผ้าเปลือกไม้ รับสั่งว่า พระผู้เป็นเจ้ามาแล้ว
รีบเสด็จลุกขึ้น. เมื่อพระนางรีบเสด็จลุกขึ้น ผ้าที่ทรงเป็นผ้าเนื้อเกลี้ยงก็หลุดลง
พอดี พระดาบสเข้าทางช่องพระแกล แลเห็นรูปารมณ์อันเป็นวิสภาคของพระเทวี
ก็ทำลายอินทรีย์เสีย ตะลึงดูด้วยอำนาจความงาม
ทีนั้น กิเลสที่อยู่ภายในของท่าน ก็กำเริบเป็นเหมือนต้นไม้มียางที่ถูกมีดกรีด
ทันใดนั้นเอง ฌานของท่านก็เสื่อม เป็นเหมือนกาปีกหักเสียแล้ว


พระดาบสยืนตะลึง รับอาหารแล้วก็ไม่บริโภค
เสียวสะท้านไปเพราะกิเลสทั้งหลาย ท่านลงจากปราสาท เดินไปพระราชอุทยาน
เข้าบรรณศาลา วางอาหารไว้ใต้ที่นอนอันเป็นกระดานเรียบ
วิสภาคารมณ์ติดตาตรึงใจ ไฟกิเลสแผดเผา ซูบเซียวเพราะขาดอาหาร
นอนซมบนกระดานเรียบถึง ๗ วัน


ในวันที่ ๗ พระราชาทรงปราบปรามปัจจันตชนบทราบคาบแล้วเสด็จกลับมา
เสด็จไปพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นพระดาบสนอน
จึงรับสั่งถามว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่สบายไปหรือ
พระดาบสถวายพระพรว่า มหาบพิตร ความไม่สำราญอย่างอื่นไม่มีแก่อาตมภาพ
แต่เพราะอำนาจกิเลส อาตมภาพมีจิตกำหนัดเสียแล้ว
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้าข้า จิตของพระคุณเจ้าปฏิพัทธ์ในนางคนไหน
พระดาบสถวายพระพรว่า จิตของอาตมภาพปฏิพัทธ์ในพระนางมุทุลักขณา
พระราชารับสั่งว่า ดีแล้ว พระคุณเจ้าข้า ข้าพเจ้ายินดีถวายพระนางมุทุลักขณาแด่พระคุณเจ้า
แล้วทรงพาพระดาบสเข้าพระราชนิเวศน์ ให้พระเทวีประดับพระองค์ด้วยเครื่องต้น
เครื่องทรง งามสรรพและได้พระราชทานแก่พระดาบส


แต่เมื่อจะพระราชทานนั้น ได้ทรงพระราชทานสัญญาลับแด่พระนางมุทุลักขณาว่า
เธอต้องพยายามป้องกันพระผู้เป็นเจ้าด้วยกำลังของตน
พระนางรับสนองพระราชโองการว่า พะยะค่ะ กระหม่อมฉันจักรักษาตนให้พ้นมือพระคุณเจ้า
ดาบสก็พาพระเทวีลงจากพระราชนิเวศน์ เวลาที่จะออกพ้นประตูใหญ่
พระนางตรัสกะท่านว่า ท่านเจ้าค่ะ เราควรจะได้เรือน
ท่านจงไปกราบทูลขอพระราชทานเรือนสักหลังหนึ่งเถิด
ดาบสก็ไปกราบทูลขอพระราชทานเรือนจากพระราชา
พระราชาจึงพระราชทานเรือนร้างหลังหนึ่งให้


พระดาบสก็พาพระเทวีไปที่เรือนร้างนั้น พระนางไม่ทรงประสงค์จะเข้าไป
พระดาบสทูลถามว่า เหตุไร จึงไม่เสด็จเข้าไป
พระนางรับสั่งว่า เพราะเรือนสกปรก ต้องทำความสะอาดเรือนนั้นเสียก่อน
แล้วส่งพระดาบสไปสู่ราชสำนัก มีพระเสาวนีย์ว่า ท่านจงไปเอาจอบมา เอาตะกร้ามา
ครั้นพระดาบสนำมาแล้ว ก็ให้โกยสิ่งสกปรกและขยะเอาไปทิ้ง
เสร็จแล้วให้ไปขนเอาโคมัยมาฉาบไว้
ครั้นแล้วพระเทวีก็ตรัสว่า ท่านต้องไปขนเตียงมา ขนตั่งมา
แล้วให้พระดาบสขนมาทีละอย่าง มิหนำซ้ำยังแกล้งใช้ให้ตักน้ำเป็นต้นอีกด้วย
พระดาบสก็เอาหม้อไปตักน้ำมาจนเต็มตุ่ม เตรียมน้ำสำหรับอาบ ปูที่นอน
หลังจากนั้น พระนางเทวีทรงจับพระดาบสผู้กำลังนั่งร่วมกันบนที่นอนที่สีข้าง
ฉุดให้ก้มลงมาตรงหน้า พลางตรัสว่า ท่านไม่รู้ตัวว่า เป็นสมณะหรือเป็นพราหมณ์เลยหรือเจ้าคะ
พระดาบสกลับได้สติในเวลานั้นเอง แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ท่านไม่รู้ตัวเอาเสียเลย
ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย กระทำความไม่รู้ตัวได้ถึงอย่างนี้


พระดาบสกลับได้สติ คิดว่า ตัณหานี้ เมื่อเจริญขึ้นจักไม่ให้เรายกศีรษะขึ้นได้จากอบายทั้ง ๔
เราควรถวายคืนพระนางเทวีนี้แด่พระราชา แล้วกลับเข้าสู่ป่าหิมวันต์ ในวันนี้ทีเดียว
ดังนี้แล้ว พระดาบสพาพระนางเทวีกลับไปเข้าเฝ้าพระราชา
ถวายพระพรว่า ถวายพระพร มหาบพิตร
ครั้งก่อน อาตมภาพยังไม่ได้รับพระราชทานพระเทวีมุทุลักขณาของมหาบพิตรองค์นี้
อาตมภาพมีความปรารถนาอย่างเดียวเท่านั้นว่า
โอหนอ เราพึงได้พระนาง แต่พออาตมภาพได้รับพระราชทานพระนางแล้ว
ทีนี้ ความปรารถนาข้อแรกของอาตมาช่วยให้กำเนิดเกิดความปรารถนาสืบต่อเนื่องขึ้นไป
เช่นความปรารถนาเรื่องเรือน ความปรารถนาในเครื่องอุปกรณ์
ความปรารถนาในเครื่องอุปโภคเป็นต้น
ก็ความปรารถนาของอาตมานั้นเล่า
เมื่อพอกพูนเข้าอย่างนี้ จักไม่ยอมให้อาตมภาพยกศีรษะขึ้นได้จากอบาย
พอกันทีสำหรับพระนางนี้ที่จะเป็นภรรยาของอาตมภาพ
ขอมหาบพิตรจงรับมเหสีของมหาบพิตรคืนไป ส่วนอาตมภาพจักไปหิมพานต์
ทันใดนั้นเอง พระดาบสก็ทำฌานที่เสื่อมไปให้เกิดขึ้น นั่งในอากาศแสดงธรรม
ถวายโอวาทแด่พระราชา แล้วไปสู่ป่าหิมพานต์ทางอากาศทันที
ไม่มาสู่ประเทศที่ชื่อว่าเป็นถิ่นของมนุษย์อีกเลย
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=66


เช่นนี้แล้ว ในเวลาที่เราได้สิ่งใด ๆ ที่น่าใคร่น่าปรารถนามาตามที่ต้องการก็ดี
อาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์เสมอไปนะครับ แต่อาจจะเป็นกับดักอันร้ายกาจก็ได้
หากไม่มีธรรมเสียแล้ว กามเหล่านั้นย่อมทำให้มัวเมา ประมาท ติดอยู่ในกามคุณ
และทำให้เราติดอยู่ในวังวนของกับดักเหล่านี้ไม่มีสิ้นสุด
โดยได้สิ่งที่น่าปรารถนาน่าพอใจเพียงสิ่งเดียวนี้แหละ
กิเลสความต้องการในสิ่งอื่น ๆ ก็จะตามมาเป็นพรวน
ลองพิจารณายกตัวอย่างในสิ่งต่าง ๆ ก็ได้นะครับ
เช่น เราอยากจะได้โทรศัพท์มือถือสักเครื่องหนึ่ง
พอเราได้โทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นมาแล้ว ก็ทำให้สิ้นกิเลสทุกอย่างหรือเปล่า
ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะเมื่อได้โทรศัพท์มือถือมาแล้ว
กิเลสความต้องการได้สิ่งอื่น ๆ ก็จะตามมาเป็นพรวน
เช่น ต้องการได้ซองใส่สวย ๆ ต้องการได้แพ็กเกจการใช้โทรศัพท์ที่เหมาะสม
ต้องการดาวน์โหลดแอ็พพลิเคชั่นต่าง ๆ ต้องการใช้อีเมล์ ต้องการใช้เฟสบุ๊ค
ต้องการมีเพื่อนในมัลติมีเดีย ต้องการโพสต์ ต้องการแชร์
ต้องการให้เพื่อนมากดไลค์ ฯลฯ โดยก็ต้องการไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด
กรณีตัวอย่างนี้แค่โทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวนะครับ
ถ้ายกตัวอย่างอื่นบ้างว่าต้องการมีบ้าน มีรถ มีแฟน หรือมีสิ่งอื่น ๆ ก็ตาม
ก็จะเกิดกิเลสความต้องการเป็นพรวนในทำนองเดียวกันครับ


ดังนี้แล้ว ในบางทีที่เราไม่ได้สิ่งน่าใคร่น่าปรารถนามาสมดังใจก็ตาม
เราก็อาจจะมองได้หลายแง่มุมนะครับ
เราอาจจะมองว่ามันเป็นอนัตตา ไม่ได้เป็นไปตามใจเรา
เราอาจจะมองว่าเรายังสร้างเหตุและปัจจัยไม่ดีพอ ก็ต้องพยายามให้มากขึ้น
หรือเราอาจจะมองว่าก็ดีเหมือนกัน ก็จะได้ไม่ไปติดในกับดักอันร้ายกาจ เป็นต้น
ก็ไม่ได้จำเป็นว่าเราจะต้องมานั่งเสียใจฟูมฟายอะไรในการที่เราไม่ได้กามนั้น
เพราะว่าเมื่อเราได้มาตัวหนึ่งแล้ว ก็ย่อมจะมีของแถมมาเป็นพรวนอีกหลายตัว


ในทางกลับกัน หากเราเกิดได้สิ่งน่าใคร่น่าปรารถนามาสมดังใจแล้ว
สิ่งสำคัญก็คือ เราก็ควรมีความสำรวมทั้งกาย วาจา และใจ
ไม่หลงมัวเมา ไม่ควรประมาท และไม่ควรหลงติดอยู่ในกามนั้น ๆ
ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รักษาตนเองครับ


อนึ่ง ใน “อัตตรักขิตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค) เล่าว่า
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสอนดังนี้ว่า

ผู้ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ไม่รักษาตน
ส่วนผู้ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน
หลังจากนั้นได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
การสำรวมด้วยกายเป็นการดี
การสำรวมด้วยวาจาเป็นการดี
การสำรวมด้วยใจเป็นการดี
การสำรวมในที่ทั้งปวงเป็นการดี
บุคคลสำรวมในที่ทั้งปวงแล้วมีความละอายต่อบาป เรากล่าวว่าเป็นผู้รักษาตน ฯ
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=2316&Z=2345&pagebreak=0


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


หมายเหตุ - ขณะนี้ ในการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ตอกเสาเข็มเสร็จแล้ว
และอยู่ระหว่างการสร้างฐานของศาลาครับ
โดย
ขอเรียนเชิญญาติธรรมท่านที่สนใจร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม
เพื่อประโยชน์ในการจัดค่ายคุณธรรมสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน
โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ดังต่อไปนี้


ชื่อบัญชี นายสันติ คุณาวงศ์ นางปราณี ศิริวิริยะกุล และนางพจนา ทรัพย์สมาน
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาแฟรี่แลนด์ นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 881-223306-7


ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai
และสามารถติดตามความคืบหน้าของการเรี่ยไรและสำเนาหน้าสมุดบัญชีรับบริจาคได้ที่
กระทู้ในเว็บไซต์ลานธรรมตามลิงค์นี้ครับ
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP