ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ชิคุจฉิตัพพสูตร ว่าด้วยบุคคลที่ควรคบและไม่ควรคบ


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๔๖๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ นี้ มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๓ เป็นไฉน
คือ บุคคลที่ควรเกลียด ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้ ก็มี
บุคคล (ผู้มักโกรธ) ควรมองอย่างวางเฉย ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้ ก็มี
บุคคลที่ควรสมาคม ควรคบหา ควรเข้าใกล้ ก็มี


บุคคลที่ควรเกลียด ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้ เป็นอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก (มีการกระทำ) ไม่สะอาด
มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานอันปกปิด ไม่เป็นสมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ
ไม่เป็นพรหมจารี แต่ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เป็นคนเน่าใน
ชุ่มไปด้วยตัณหาราคะ รกเรื้อ (ด้วยกิเลสโทษ)
บุคคลเช่นนี้ควรเกลียด ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้ นั่นเพราะเหตุอะไร
เพราะถึงแม้ผู้คบจะไม่เอาเยี่ยงของบุคคลชนิดนั้น
แต่ก็จะมีกิตติศัพท์อันเลวฟุ้งไปว่า บุรุษบุคคล (นี้) เป็นคนมีมิตรชั่ว
มีสหายเลว มีเพื่อนทราม
งูที่จมคูถย่อมไม่กัดก็จริงอยู่ ถึงกระนั้นมันก็ทำผู้จับงูนั้นให้เปื้อน
ฉันใดก็ดี ถึงแม้ผู้คบจะไม่เอาเยี่ยงของบุคคลเช่นนั้น
แต่ก็จะมีกิตติศัพท์อันเลวฟุ้งไปว่า บุรุษบุคคล (นี้) เป็นคนมีมิตรชั่ว
มีสหายเลว มีเพื่อนทราม ฉันนั้นเหมือนกัน
เพราะเหตุนั้น บุคคลเช่นนั้น จึงควรเกลียด ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้


ภิกษุทั้งหลาย บุคคล (ผู้มักโกรธ) ควรมองอย่างวางเฉย
ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้ เป็นอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนมักโกรธ มีอารมณ์ร้อนมาก
ถูกเขาว่าหน่อย ก็มีอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธ หัวเสีย ขึ้งเคียด
แสดงความขุ่นเคือง ความโกรธแค้น และความไม่พอใจ
เหมือนแผลร้ายถูกไม้หรือกระเบื้องเข้าก็ยิ่งมีหนองไหลมากขึ้น ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นคนมักโกรธ
มีอารมณ์ร้อนมาก ถูกเขาว่าหน่อย ก็มีอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธ หัวเสีย ขึ้งเคียด
แสดงความขุ่นเคือง ความโกรธแค้น และความไม่พอใจ


ภิกษุทั้งหลาย เหมือนดุ้นฟืนไม้มะพลับ (ที่ติดไฟ) ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า
ย่อมส่งเสียงฉี่ฉ่ายิ่งขึ้น ฉันใด
บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นคนมักโกรธ
มีอารมณ์ร้อนมาก ถูกเขาว่าหน่อย ก็มีอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธ หัวเสีย ขึ้งเคียด
แสดงความขุ่นเคือง ความโกรธแค้น และความไม่พอใจ


ภิกษุทั้งหลาย เหมือนหลุมคูถถูกรันด้วยไม้หรือกระเบื้อง
ย่อมมีกลิ่นเหม็นเพิ่มมากยิ่งขึ้น ฉันใด
บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นคนมักโกรธ
มีอารมณ์ร้อนมาก ถูกเขาว่าหน่อย ก็มีอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธ หัวเสีย ขึ้งเคียด
แสดงความขุ่นเคือง ความโกรธแค้น และความไม่พอใจ


ภิกษุทั้งหลาย บุคคล (ผู้มักโกรธ) เช่นนี้ ควรมองอย่างวางเฉย
ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้ นั่นเพราะเหตุอะไร
เพราะเขาจะด่าเราก็ได้ จะตะเพิดเราก็ได้ จะทำให้เสื่อมเสียก็ได้
เพราะฉะนั้น บุคคล (ผู้มักโกรธ) เช่นนี้ ควรมองอย่างวางเฉย
ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้


ภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ควรสมาคม ควรคบหา ควรเข้าใกล้ เป็นอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม
บุคคลอย่างนี้ ควรสมาคม ควรคบหา ควรเข้าใกล้ นั่นเพราะเหตุอะไร
เพราะถึงแม้ผู้คบจะไม่เอาเยี่ยงบุคคลเช่นนั้น
แต่ก็จะมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปว่า บุรุษบุคคล (นี้) เป็นคนมีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
เพราะเหตุนั้น บุคคลอย่างนี้จึงควรสมาคม ควรคบหา ควรเข้าใกล้


ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ นี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก.
(พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสนิคมคาถาว่า)


คนผู้คบคนทราม ย่อมเสื่อม
ส่วนคนผู้คบคนเสมอกัน ไม่เลื่อมในกาลไหน ๆ
ผู้คบคนที่ประเสริฐกว่า ย่อมเจริญเร็ว
เพราะฉะนั้น จึงควรคบคนที่ยิ่งกว่าตน.


ชิคุจฉิตัพพสูตร จบ



(ชิคุจฉิตัพพสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP