จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

อโหสิกรรม


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



147 destination


คำว่า “ขออโหสิกรรม” นี้ เราเองก็คงเคยได้ยินกันบ่อย ๆ
หรือเราเองอาจจะเคยพูดกันบ่อย ๆ นะครับ
ซึ่งในอดีตนั้น ผมเองก็เคยพูดอยู่บ่อย ๆ เช่นกัน
แต่ต่อมา ผมได้ฟังธรรมเทศนาครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง
ท่านได้สอนว่า การขออโหสิกรรมไม่ใช่แนวปฏิบัติในพุทธศาสนา
โดยแม้แต่พระผู้มีพระภาค หรือพระอรหันต์องค์อื่น ๆ
ซึ่งบรรลุพระอรหันต์ และจิตพ้นความทุกข์ไปแล้ว
แต่อกุศลวิบากก็ยังกระทบเข้ามาที่ธาตุขันธ์ที่กายนี้ได้
ที่เราชาวพุทธจะไปขอกันได้ คือขอขมา ขออภัย หรือขอโทษ
แต่ไม่ใช่ขออโหสิกรรม


ผมได้ฟังแล้วก็ได้ไปค้นศึกษาเพิ่มเติม และพบว่า
หากเราจำแนก “กรรม” ออกตามเวลาที่ให้ผลแล้ว จะแบ่งได้เป็น ๔ ประเภทคือ
๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า
๓. อปราปริยเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในภพต่อๆไป และ
๔. อโหสิกรรม คือ กรรมเลิกให้ผล
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_line.php?A=33&Z=33


ในส่วนของคำว่า “อโหสิกรรม” นี้หมายถึง กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก
ได้แก่ กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลที่เลิกให้ผล
เหมือนพืชที่หมดยาง เพาะปลูกไม่ขึ้นอีก
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_line.php?A=4085&Z=4085


ถ้าเราเข้าใจแล้วว่า “อโหสิกรรม” หมายถึง กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก
เราก็ย่อมเข้าใจได้ว่า อโหสิกรรมนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราจะมาขอกันได้ หรือให้กันได้
เพราะเราไม่สามารถจะมาขอกันได้ว่า ขอให้สิ่งที่ทำลงไปแล้วนั้นสิ้นผล หรือไม่ให้ผล
เพราะกรรมจะให้ผลหรือสิ้นผลนั้น ก็ย่อมแล้วแต่เหตุปัจจัย
ไม่ได้เป็นไปตามที่เราจะมาขอกันหรือให้กันได้
สิ่งที่เราจะมาขอกันได้ และให้กันได้ ก็คือ
การขอขมา ขออภัย หรือขอโทษ และการให้อภัย หรือยกโทษให้


ในสมัยพุทธกาลก็มีตัวอย่างของการขอขมาหรือขออภัยอยู่หลายกรณีนะครับ เช่น
ในอรรถกถาของจุนทสูตร (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค)
ได้เล่าถึงช่วงเวลาที่พระสารีบุตรใกล้จะปรินิพพานว่า
พระสารีบุตรได้ให้พระจุนทะเรียกประชุมภิกษุสงฆ์
จากนั้น พระสารีบุตรได้กล่าวต่อภิกษุสงฆ์ทั้งหลายที่มาประชุมนั้นว่า
อาวุโส เมื่อพวกท่านทั้งหลายเที่ยวไปกับผมตลอด ๔๔ ปี
กรรมใดของผมที่เป็นไปทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี
ซึ่งพวกท่านไม่ชอบใจ ขอให้พวกท่านจงอดโทษแก่ผมด้วย
(คำว่า “อดโทษให้” หมายถึง “ยกโทษให้”)
ภิกษุในที่ประชุมนั้นได้ตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่ไม่น่าพอใจ
ย่อมไม่มีแก่พวกข้าพเจ้าผู้ไม่ละท่านเที่ยวไป ดุจเงาของท่านตลอดกาลเท่านี้
แต่ว่าขอท่านจงอดโทษให้แก่พวกข้าพเจ้าเถิด
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=733


ในวุฏฐิสูตร (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
ได้เล่าว่ามีภิกษุรูปหนึ่งมากล่าวตู่พระสารีบุตรว่า
พระสารีบุตรกระทบตนเองแล้ว ไม่ขอโทษ แต่กลับหลีกจาริกไป
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรียกพระสารีบุตรมาเพื่อสอบถาม
ต่อมาเมื่อได้ทำการสอบถามพระสารีบุตร และพระสารีบุตรได้ชี้แจงแล้ว
ภิกษุรูปที่กล่าวตู่นั้นได้สำนึกผิด
และได้หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง เป็นคนไม่ฉลาด
ที่ข้าพระองค์ได้กล่าวตู่ท่านพระสารีบุตรด้วยคำอันไม่มี เปล่า เท็จ ไม่เป็นจริง
ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดรับโทษของข้าพระองค์นั้น โดยความเป็นโทษ
เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล คนหลง ไม่ฉลาด
ที่เธอได้กล่าวตู่สารีบุตรด้วยคำอันไม่มี เปล่า เท็จ ไม่เป็นจริง
แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว กระทำคืนตามธรรม เราย่อมรับโทษของเธอนั้น
ดูกรภิกษุ ข้อที่ภิกษุเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป
นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า


จากนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระสารีบุตรว่า
ดูกรสารีบุตร เธอจงอดโทษต่อโมฆบุรุษผู้นี้
มิฉะนั้น เพราะโทษนั้นนั่นแล ศีรษะของโมฆบุรุษนี้จักแตก ๗ เสี่ยง


พระสารีบุตรได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมอดโทษต่อท่านผู้มีอายุนั้น
ถ้าผู้มีอายุนั้น กล่าวกับข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ขอท่านผู้มีอายุนั้นจงอดโทษแก่ข้าพเจ้าด้วย
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=7916&Z=8017&pagebreak=0


ในโกกนุทสูตร (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต) เล่าว่า
มีปริพาชกคนหนึ่งได้ไปกล่าวโต้ตอบธรรมะกับพระอานนท์ในบริเวณใกล้แม่น้ำตโปทา
และต่อมาเขาได้ทราบภายหลังว่า ภิกษุที่กล่าวตอบธรรมะแก่ตนคือพระอานนท์

ปริพาชกดังกล่าวจึงได้กล่าวขอขมาต่อพระอานนท์ว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าสนทนาอยู่กับท่านอาจารย์ผู้ใหญ่
ไม่รู้เลยว่า เป็นท่านพระอานนท์ ก็ถ้าว่าข้าพเจ้าพึงรู้ว่านี้คือท่านพระอานนท์ไซร้
ข้าพเจ้าก็ไม่พึงกล่าวโต้ตอบถึงเท่านี้ ขอท่านพระอานนท์จงอดโทษแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=24&A=4479&Z=4538&pagebreak=0


เรื่องราวในสมัยพุทธกาลที่ยกมาข้างต้นก็เป็นตัวอย่างของการขอขมานะครับ
โดยเท่าที่ผมค้นดูก็ไม่พบว่ามีการขออโหสิกรรมเลย
ในเมื่อเราเข้าใจตรงนี้แล้ว สิ่งที่เราพึงทำก็คือ ขอขมา ขออภัย หรือขอโทษ
ไม่ใช่ขออโหสิกรรม เพราะในส่วนของการอโหสิกรรมนั้น ไม่มีใครให้แก่เราได้
เพราะเมื่อได้มีการกระทำกรรมลงไปแล้ว
กรรมจะให้ผลหรือไม่ หรือจะให้ผลเมื่อไร ก็ย่อมจะเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ถ้าเราไม่ต้องการให้กรรมใด ๆ ให้ผลแก่เรา
สิ่งที่เราทำได้ก็คือ อย่าไปทำกรรมนั้น ๆ ครับ
แต่ถ้าเราได้เคยทำกรรมเหล่านั้นลงไปแล้ว
เราทำผิดต่อบุคคลใด เราก็พึงไปขอขมาต่อบุคคลนั้น
และก็พยายามทำกรรมดีเพื่อเจือจางกรรมไม่ดีต่าง ๆ
โดยอย่าไปสร้างกรรมไม่ดีเพิ่มเติม


นอกจากที่เราจะขอขมา ขออภัย หรือขอโทษต่อคนอื่นแล้ว
เราเองก็พึงรู้จักที่จะขออภัยต่อตนเองและให้อภัยแก่ตนเองด้วย
โดยสิ่งใดที่เราได้เคยทำผิดพลาดไปในอดีต
ก็ไม่จำเป็นต้องนำมายึดถือเพื่อทรมานใจเราในปัจจุบันและในอนาคต
แต่ควรที่จะหัดปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นไป
เมื่อใดก็ตามที่สิ่งเคยผิดพลาดในอดีตมารบกวนจิตใจ
ก็พึงมีสติรู้ทันใจตนเอง และไม่ให้สิ่งเหล่านั้นมาครอบงำจิตใจในปัจจุบัน
ในส่วนของการปฏิบัตินั้น นอกจากจะมีสติรู้ทันแล้ว
เราพึงเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม และถึงความสำรวมต่อไปครับ
(ถึงความสำรวมต่อไป หมายถึง ระมัดระวังไม่กระทำผิดดังกล่าวอีก)


+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +


หมายเหตุ ขอเรียนเชิญญาติธรรมท่านที่สนใจร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม
เพื่อประโยชน์ในการจัดค่ายคุณธรรมสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน
โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ดังต่อไปนี้


ชื่อบัญชี นายสันติ คุณาวงศ์ นางปราณี ศิริวิริยะกุล และนางพจนา ทรัพย์สมาน
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาแฟรี่แลนด์ นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 881-223306-7


ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai
และสามารถติดตามความคืบหน้าของการเรี่ยไรและสำเนาหน้าสมุดบัญชีรับบริจาคได้ที่
กระทู้ในเว็บไซต์ลานธรรมตามลิงค์นี้ครับ
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP