จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ลดหย่อนภาษีกับการร่วมทำบุญ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



145 destination



เมื่อปีที่แล้ว มีญาติคนหนึ่งได้ชวนผมไปช่วยซื้อของถวายพระบวชใหม่รูปหนึ่ง
เรื่องราวเริ่มมาจากญาติคนนี้จะพาคุณแม่ไปตักบาตรใกล้บ้านอยู่เป็นประจำ
อยู่มาวันหนึ่ง มีพระภิกษุรูปหนึ่งที่เดินบิณฑบาตประจำในบริเวณนั้น
ได้บอกบุญต่อญาติคนนี้ว่า ท่านมีเณรที่อยู่ในความดูแลของท่านรูปหนึ่ง
ซึ่งมีพ่อแม่อยู่ต่างจังหวัดและมีฐานะยากจน
โดยเณรรูปนี้กำลังจะบวชเป็นพระภิกษุ

แต่ยังขาดแคลนกำลังทรัพย์ที่จะซื้อเครื่องอัฐบริขาร
จึงขอบอกบุญเชิญชวนให้ญาติคนนี้ช่วยเป็นเจ้าภาพให้


ญาติคนนี้ได้ทราบดังกล่าวแล้วก็เห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้ร่วมทำบุญ
ก็ให้คุณแม่ออกเงินมาส่วนหนึ่ง แล้วที่เหลือญาติคนนี้ก็ตั้งใจจะทำบุญเองทั้งหมด
แต่ด้วยความที่ไม่ค่อยรู้เรื่องเครื่องอัฐบริขารเท่าไรนัก จึงได้ชวนผมไปช่วยซื้อด้วย
โดยพระภิกษุท่านได้นัดให้ไปเจอกันที่ร้านขายของแห่งหนึ่ง
พอญาติคนนี้มาชวน ผมดูวันที่นัดแล้วเห็นว่าไม่ได้ติดธุระอะไร ก็รับปากว่าจะไปด้วย
และขอร่วมทำบุญค่าเครื่องอัฐบริขารด้วยส่วนหนึ่ง


เมื่อถึงวันนัด ผมก็ขับรถพาญาติคนนี้ไปที่ร้านขายเครื่องอัฐบริขาร
โดยก็ได้พบกับพระภิกษุท่านตามที่นัดไว้

พระภิกษุก็แจ้งว่าเณรต้องใช้อะไรบ้างแล้วก็ให้เราเลือกซื้อเอง
ผมก็ช่วยญาติคนนี้เลือกซื้อเครื่องอัฐบริขารเสร็จแล้ว
ญาติคนนี้ก็ประเคนถวายเครื่องอัฐบริขารแก่พระภิกษุท่านนี้
ส่วนผมเองก็นำหนังสือธรรมะติดมาด้วย และถวายพระภิกษุไว้
โดยส่วนหนึ่งถวายพระภิกษุท่านนี้ อีกส่วนหนึ่งฝากท่านไปถวายให้เณรด้วย


พระภิกษุท่านได้ชวนให้ญาติคนนี้และผมไปร่วมพิธีบวชพระภิกษุใหม่ด้วย
แต่เนื่องจากพิธีบวชจะจัดที่วัดในต่างจังหวัด
ซึ่งดูวันที่แล้วเป็นวันทำงาน และไม่ค่อยสะดวก
จึงเรียนท่านว่าไม่สะดวกที่จะไปร่วมงานด้วย
อย่างไรก็ดี ผมก็นิมนต์ท่านว่าผมจะขับรถไปส่งท่านกลับไปที่วัด


ในระหว่างที่ผมกำลังขับรถไปส่งท่านกลับไปที่วัดนั้น
พระภิกษุท่านก็กล่าวขึ้นมาว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่ใช้ซื้อเครื่องอัฐบริขารนี้
ทางวัดสามารถออกใบอนุโมทนาบัตรให้ได้นะ
โดยขอให้ญาติและผมให้ชื่อและที่อยู่ไว้
แล้วท่านจะไปดำเนินการออกใบอนุโมทนาบัตรมาให้
ซึ่งท่านสามารถนำไปให้ญาติคนนี้ในเวลาที่พาคุณแม่ไปตักบาตรตามปกติได้


ญาติคนนี้ก็หันมาถามผมว่า จะขอรับใบอนุโมทนาบัตรไหม
ผมคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้ว ก็เรียนพระภิกษุท่านว่า ไม่ต้องออกใบอนุโมทนาบัตรก็ได้ครับ
เพราะว่าคราวนี้ตั้งใจว่าจะไม่นำรายการทำบุญนี้ไปหักลดหย่อนภาษี

โดยก็ถือว่าทำบุญค่าลดหย่อนภาษีกับรัฐ หรือทำบุญกับส่วนรวมไปก็แล้วกัน


เรื่องการนำเงินทำบุญมาหักลดหย่อนภาษีนี้ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญของบางท่าน
ซึ่งผมเคยเห็นบางท่านที่จะร่วมทำบุญเฉพาะรายการที่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้
หากรายการไหนที่หักลดหย่อนภาษีไม่ได้ ก็จะไม่สนใจร่วมทำบุญรายการนั้น
บางท่านก็ชอบที่จะทำบุญกับโรงเรียน เพราะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้สองเท่า
จึงกลายเป็นว่านำเรื่องการหักลดหย่อนภาษีมาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกร่วมทำบุญ
โดยไม่ได้พิจารณาให้ความสำคัญกับโครงการหรือวัตถุประสงค์ของการเรี่ยไรนั้นเท่าที่ควร
บางคนพอร่วมทำบุญไปแล้ว แต่ไม่ได้รับใบอนุโมทนาบัตรมาหักลดหย่อนภาษี
ก็มีอาการไม่พอใจ และพยายามติดตามให้ได้ใบอนุโมทนาบัตรอย่างเอาเป็นเอาตาย
ก็กลายเป็นว่าเราร่วมทำบุญเพื่อฝึกสละทรัพย์หรือสละความยึดติดในทรัพย์ที่ร่วมทำบุญไป
แต่กลับมายึดติดในใบอนุโมทนาบัตร และทรัพย์ที่จะประหยัดได้จากการลดหย่อนภาษี


ถ้าเราจะมองกันตามจริงแล้ว การทำบุญด้วยการทำทานนั้นก็เพื่อการฝึกสละออก
โดยหากเราทำทานด้วยกำลังทรัพย์ ก็คือฝึกที่จะสละทรัพย์ออก
ทีนี้ หากเราสละทรัพย์ออกไปแล้ว แต่ก็ได้กลับคืนมาบางส่วน
เช่น สมมุติว่าเราทำทานไป ๑๐๐ บาท แต่ได้กลับคืนมา ๒๐ บาท
ถามว่ากรณีนี้เท่ากับว่าเราได้ฝึกสละ ๑๐๐ บาท หรือฝึกสละ ๘๐ บาทกันแน่
เพราะขณะที่เราทำทานเพื่อสละทรัพย์นั้น
เรารู้อยู่ว่าเราจะนำมาลดหย่อนภาษี ทำให้เราเสียภาษีน้อยลงจำนวนหนึ่ง
หรือเท่ากับว่าเราได้สละทรัพย์น้อยกว่าที่เราได้สละจริงในขณะนั้น


นอกจากนี้ หากเราจะลองพิจารณาเทียบกันแล้ว สมมุติว่าเราทำบุญไป ๑๐๐ บาท
และนำไปหักลดหย่อนภาษีได้เงินคืนมา ๒๐ บาท
โดยเรานำเงิน ๒๐ บาทนั้นไปทำบุญเพิ่มเติม
เราลองพิจารณาว่าเราจะนำเงิน ๒๐ บาทนั้นไปทำบุญอะไรจึงจะเท่าเทียม
กับการทำบุญให้กับส่วนรวมหรือคนจำนวนมากด้วยการไม่ขอลดหย่อนภาษี
ก็จะเห็นได้ว่าค่อนข้างจะหาช่องทางทำบุญที่เท่าเทียมกันได้ยาก
ในขณะที่เราจะต้องเหนื่อยไปหาช่องทางทำบุญนั้น ๆ อีก
และเมื่อทราบช่องทางทำบุญนั้นแล้วก็ต้องลงทุนลงแรงใช้เวลาไปร่วมทำบุญอีก
ทั้ง ๆ ที่เราสามารถตั้งเจตนาได้เลยว่าเราขอนำเงินที่สามารถหักลดหย่อนได้

แต่เราไม่ขอหักลดหย่อนนี้ไปร่วมทำบุญให้แก่ส่วนรวมได้เลย


ผมไม่ได้แนะนำว่าทุกท่านไม่ควรนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีนะครับ
แต่ผมกำลังแนะนำว่าการลดหย่อนภาษีไม่ได้จำเป็นในการร่วมทำบุญเสมอไป
เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าการลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ก็คือ
๑. การฝึกฝนของเราในการสละทรัพย์หรือสละความยึดติดในทรัพย์
๒. โครงการหรือวัตถุประสงค์ของการเรี่ยไรนั้น

นอกจากนี้แล้ว การที่เราเสียภาษีให้แก่รัฐ ก็เป็นการทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม
หรือเป็นการทำประโยชน์ให้แก่คนจำนวนมากมาย


สรุปแล้ว บางครั้งเราอาจจะขอลดหย่อนภาษี เพื่อจะมีเงินไปร่วมทำบุญได้มากขึ้น
บางครั้ง เราอาจจะขอลดหย่อนภาษีได้ แต่เราไม่ขอลดหย่อน
โดยถือว่าทำบุญให้กับรัฐ หรือให้กับส่วนรวมก็ได้
หรือบางครั้ง เราอาจจะทำบุญกับรายการที่หักลดหย่อนภาษีไม่ได้
โดยมุ่งประโยชน์แก่การฝึกฝนของเราในการสละทรัพย์หรือสละความยึดติดในทรัพย์
และประโยชน์แก่โครงการหรือวัตถุประสงค์ของการเรี่ยไรนั้น

ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถพิจารณาเลือกทำได้ตามความเหมาะสม
ไม่ควรจะต้องยึดการหักลดหย่อนภาษีเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกร่วมทำบุญครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP