สารส่องใจ Enlightenment

อุบายแก้ความกลัว (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๒



อุบายแก้ความกลัว (ตอนที่ ๑)


เมื่อถึงขั้นละเอียดยิ่งกว่านั้น ต้องได้คุ้ยเขี่ยขุดค้นหาตัวกิเลส
เพราะกิเลสหมอบกิเลสหลบซ่อนตามแบบฉลาดที่เคยครองไตรภพของมัน
สติปัญญาทันสมัยเกรียงไกรเต็มที่ มีแต่ท่าจะฟาดฟันหั่นแหลกถ่ายเดียว
หาคำว่าแพ้ไม่มี คำว่าท้อถอยไม่มี
มีแต่ท่าจะเอาให้แหลกแตกกระจายไปจากใจ ไม่ให้มีเหลือเลยแม้แต่นิดหนึ่งขึ้นชื่อว่าสมมุติ
เพราะฉะนั้นจิตขั้นนี้จึงหาความท้อถอยไม่ได้ หาความขี้เกียจไม่มี
มีแต่ความขยันหมั่นเพียรและเป็นนักต่อสู้โดยถ่ายเดียว
ต้องรั้งเอาไว้ คำว่ารั้ง คือ รั้งใจเข้าสู่ความสงบในสมาธิ
เพื่อพักจากงานที่ชุลมุนวุ่นวายกันไม่มีเวล่ำเวลา ระหว่างธรรมกับกิเลสต่อสู้กัน
ให้เข้าสู่สมาธิคือความสงบ เป็นกาลเป็นเวลาเพื่อสั่งสมกำลัง
นี่เป็นความเหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย
ควรถือเป็นแบบฉบับในการดำเนินสมถะและวิปัสสนาจนถึงจุดหมายปลายทาง



เมื่อพักงาน ตามธรรมดาของจิตขั้นนี้ต้องเสียดายงาน เสียดายการทำงาน ไม่อยากพักตัว
แต่จำเป็นต้องบังคับที่เรียกว่ารั้งเอาไว้ เพื่อพักสงบในสมาธิ
เมื่อพักสงบใจก็มีกำลัง หยุดปรุงแต่งโดยทางปัญญาที่เคยนำไปใช้กับกิเลสเสียในขณะนั้น
เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ทรงตัวอยู่ในความสงบพอสมควร
เมื่อรู้สึกมีกำลังแล้วก็ถอยจิตออกเพื่อทำงานทางด้านปัญญาต่อไป



จิตนั้นพอถอยออกเท่านั้นจะวิ่งถึงงานทันที
ไม่มีอะไรรวดเร็วยิ่งกว่าจิตขั้นนี้จากนั้นก็หมุนติ้วกับงานโดยลำดับๆ นั่น
เมื่อถึงขั้นนี้แล้วไม่มีคำว่าขี้เกียจ นอกจากจะพูดว่าขั้นขยันเกินคาดเท่านั้น
ซึ่งเป็นคำเหมาะสมกับจิตขั้นนี้ กิเลสหมอบ ต้องคุ้ยเขี่ยขุดค้นกันเสียจนเต็มที่เต็มฐาน
ซึ่งก็เป็นงานอันหนึ่ง พอเจอกิเลสก็ต่อสู้กับกิเลส นี้ก็เป็นงานอันหนึ่ง



การคุ้ยเขี่ยหากิเลสก็เป็นงานประเภทหนึ่ง
เวลาเจอกันแล้วต่อสู้กัน ก็เป็นงานอันหนึ่ง
จิตขั้นนี้จึงไม่มีเวลาว่างงาน
ดังที่โลกพูดกันว่า คนว่างงาน นั่นคือคนขี้เกียจทำงานนั่นเอง
จนได้ชัยชนะ หมายความว่าเข้าใจเรื่องกิเลสแต่ละชนิด หลุดลอยออกไปจากใจ
แน่ใจ เห็นประจักษ์ไปเป็นพักๆ แล้วคุ้ยเขี่ยไปอีก ขุดค้นอีก เจออีกสู้อีกอยู่อย่างนั้น
นี่คือปัญญาขั้นอัตโนมัติ หมุนตัวไปเอง
ผู้ปฏิบัติถ้าลงปฏิบัติถึงขั้นนี้แล้ว ใจจะไม่มีเวลาว่างงาน
งานจะเป็นไปอยู่ตลอดอิริยาบถ เว้นเสียแต่หลับ
แม้แต่หลับก็ยังไม่อยากจะหลับ บางคืนตลอดรุ่งเอาเฉยๆ ไม่ยอมหลับเลย
เพราะจิตยังทำงานอย่างเพลินตัวกลัวไม่หลุดพ้น



ด้วยเหตุนี้จึงต้องได้รั้งจิตยับยั้งจิตเข้าสู่สมาธิ เพื่อให้จิตมีความสงบ
ขั้นนี้พูดตามธรรมะป่าเราเรียกว่าเพลินในความเพียร
และเข้ากันได้กับคำว่าที่อุทธัจจะ ในสังโยชน์เบื้องบน
คือ ความฟุ้ง ความเพลินในความเพียร วุ่นอยู่กับกิเลส ต่อสู้กับกิเลส
พุ่งตัวออกไปต่อสู้กับกิเลสอยู่ตลอดเวลา
ไม่ใช่ฟุ้งซ่านแบบโลกๆ แล้วเกิดความรำคาญแบบโลกๆ อย่างนั้น
ผิดกันคนละโลก นำมาเทียบกันไม่ได้



ฟุ้งในสถานที่นี้หมายถึงการออกต่อสู้กับกิเลสนั่นเอง
จนลืมเนื้อลืมตัว ลืมเวล่ำเวลาความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปหมด
ลักษณะนี้ท่านว่าอุทธัจจะ
เมื่อจิตผ่านไปแล้วถึงจะรู้ได้ว่า อ๋อ ตรงนั้นคือจุดนั้น ถ้ายังไม่ผ่านก็ยังไม่รู้
เช่น การพักจิตในเรือนสมาธิ เมื่อมันจะตายจริงๆ ก็มาพักเสียทีหนึ่ง
ทั้งๆ ที่ไม่อยากพักก็ต้องจำใจพัก เพราะจิตมันเหนื่อยมากจริงๆ
แต่ถึงจะเหนื่อยก็ไม่ถอยนี่ ถ้าเป็นสิ่งที่ตายไปได้มันก็ตายได้จริงๆ
เพราะความเหน็ดเหนื่อยเต็มประดาเกินกว่าจะทนได้
แต่จิตไม่ใช่เป็นของตาย มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยความเพลียภายในจิตเท่านั้น
จิตไม่ได้ตาย จึงต้องพาเข้าสู่สมาธิเพื่อพักสงบอารมณ์วิปัสสนา ให้มีกำลังด้านสมาธิ



พอถอนออกจากสมาธิแล้ว จิตใจจะรู้สึกมีกำลังขึงขังตึงตัง
นี่เห็นคุณค่าของสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุนปัญญาได้เป็นอย่างดี
ท่านจึงกล่าวไว้ในอนุศาสน์นั้นว่าสมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา
ปัญญาอันสมาธิอบรม อันสมาธิหนุนหลัง
พูดง่ายๆ มีสมาธิเป็นเครื่องหนุนแล้ว ย่อมทำงานได้ผลเป็นที่พอใจไปโดยลำดับ
นี่พูดเอาความเป็นอย่างนี้



สมาธิจึงมีความจำเป็นตลอดสาย จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย
สมาธิจะละไปไม่ได้ ถึงกาลพักต้องพัก
เช่นเดียวกับเราทำงาน เวลาทำงานก็ตั้งหน้าตั้งตาทำเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ถึงเวลาพักก็ต้องพัก รับประทานอาหารพักผ่อนนอนหลับพักเอากำลังวังชา
ถึงไม่ได้งานได้การอะไรจากการพัก
แต่ก็ได้กำลังสำหรับดำเนินงานในกาลต่อไปได้โดยสะดวก
สมาธิกับปัญญาจึงมีความเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก



ทีนี้ ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ นั่น
จิตอันปัญญาอบรมแล้ว จิตอันปัญญาซักฟอกแล้ว
พูดตามความถนัดใจทางภาคปฏิบัติ ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ
เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงแยกกันไม่ออก
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บัญญัติเองเพื่อส่วนรวมเป็นสาธารณะ
คำว่า ศีล สมาธิ ปัญญา มีความเกี่ยวโยงกันอย่างนี้



จะใช้แบบสมัยจรวดดาวเทียมตัดทอนเอาตามความต้องการ (ของกิเลส มิใช่ของธรรม) ย่อมไม่ได้
ต้องให้เป็นไปตามหลักความจริงที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว



แต่สมาธิของใครจะเด่นขนาดไหนนั้น เป็นไปตามจริตนิสัย
เรื่องความสงบเพื่อจะเป็นบาทฐานแห่งปัญญานั้นมีความจำเป็นเสมอกัน
ไม่ให้มีสมาธิเลยแต่จะให้เป็นปัญญาล้วนๆ ไปเลยนั้น เป็นไปได้ยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้
แม้แต่ขิปปาภิญญา ก็ยังมีความสงบแฝงอยู่ในระยะเดียวกัน



อย่างน้อยต้องให้มีจิตสงบ เมื่อจิตสงบแล้วก็เรียกว่าจิตอิ่มตัวพอประมาณ หรือจิตอิ่มตัว
เหมือนกับเราได้รับประทานแล้ว แล้วตั้งหน้าทำงานให้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ไม่เถลไถล ไม่คว้าโน้นคว้านี้เหมือนจิตที่ไม่มีความสงบ เต็มไปด้วยความฟุ้งซ่านรำคาญ
พิจารณาให้เป็นปัญญาก็กลายเป็นสัญญาอารมณ์ไปเสีย เพราะจิตไม่อิ่มตัว
ฉะนั้นการอบรมสมาธิจึงมีความจำเป็นในขั้นเริ่มแรก



สมาธิขั้นใดก็ตามมีความจำเป็นต่อปัญญาขั้นนั้นๆ
อย่าไปคิดว่าได้สมาธิเต็มที่แล้วจึงจะพิจารณาปัญญา นั้นเป็นความคิดผิด
ความสงบขนาดใดก็ควรแก่ปัญญาขนาดนั้น
บางครั้งปัญญายังต้องมาอบรมจิตให้เป็นสมาธิก็ยังมี ดังที่เขียนไว้แล้วนั้น
นั้นเป็นชั่วระยะกาลที่เราจะนำมาใช้ ไม่ใช่เป็นธรรมพื้นเพเสมอไป เป็นธรรมเสมอไป
เฉพาะสมาธิอบรมปัญญา ดังที่ท่านกล่าวไว้แล้วนั้น



ที่กล่าวมาเหล่านี้ ได้เริ่มกล่าวตั้งแต่เรื่องความหนักใจ
ความท้อถอยอ่อนแอเกี่ยวกับเรื่องการงาน ในเบื้องต้นเป็นการลำบาก
ทำให้เกิดความท้อถอยน้อยใจ อาจคิดไปว่าตนไม่มีวาสนาบ้าง ตนมีวาสนาน้อยบ้าง
ซึ่งเป็นเรื่องให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย



ความจริงเรามีอุปนิสัยวาสนามาด้วยกันทุกคน
เวลานี้เราก็ได้เป็นพระตั้งหน้ามาบวชในพระพุทธศาสนาด้วยศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส
กิเลสก็มีประเภทเดียวกันกับครั้งพุทธกาล ไม่ได้นอกเหนือไปจากนั้นเลย
ธรรมะที่เป็นเครื่องปราบกิเลส คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น
ก็เป็นธรรมะที่เคยปราบปรามกิเลสให้สิ้นซากมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงสมัยนี้
ไม่มีคำว่าล้าสมัย ธรรมเหล่านี้แลเป็นธรรมที่ทันกับกิเลสทุกประเภท ขอให้นำมาใช้
เฉพาะอย่างยิ่งสติกับปัญญา ให้ถือเป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่ง
มีความเพียรเป็นเครื่องหนุนหลัง
เราจะเห็นแดนแห่งความพ้นทุกข์ขึ้นที่ใจโดยไม่สงสัยเพราะความพากเพียร



ใจที่เคยอัดอั้นภายในตัวเองเพราะอำนาจแห่งกิเลสบีบบังคับ
เมื่อได้รับการบุกเบิกด้วยความเพียร มีสติปัญญาเป็นเครื่องมือแล้ว
จิตใจจะค่อยเบิกกว้างและสิ่งเหล่านั้นจะเพิกถอนออกไป
จิตใจจะเกิดความโล่งโถงสว่างไสวภายในตน มีความสะดวกสบาย อยู่ที่ไหนก็สบาย
เพียงแต่ขั้นสงบเท่านั้นเราก็สบาย มีต้นทุนพอได้อาศัยบ้างแล้ว



จงพิจารณาทางด้านปัญญาดังที่เคยอธิบายให้ฟังแล้ว
อุบายวิธีแห่งการพิจารณาทางด้านปัญญานั้น
ขึ้นอยู่กับจริตนิสัยของท่านผู้ใดจะควรคิดค้นขึ้นมา
ให้เป็นความถนัดเหมาะสมกับจริตจิตใจของท่านผู้นั้น
และเป็นสิ่งที่จะทำให้กิเลสหลุดลอยออกไปได้
นั้นเป็นอุบายที่ถูกต้องด้วยกัน
อย่าคอยกวาดต้อนเอาตามแบบตามแผน ตามตำรับตำรามาแก้กิเลสโดยถ่ายเดียว
จะไม่ทันกาลไม่ทันกับกิเลสที่นอกจากคัมภีร์มีเยอะแยะ
ไม่ใช่ว่ากิเลสจะโง่ ไปนอนคอยตายกองกันอยู่ในคัมภีร์
ให้เราไปฟาดไปฟันมันด้วยมรรคซึ่งอยู่ในคัมภีร์เดียวกันนั้น
ให้กิเลสฉิบหายตายไปหาได้ไม่



กิเลสมันอยู่นอกคัมภีร์ เข้ามาอยู่ในหัวใจเรานี้ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นปัญญาจึงผลิตขึ้นให้ทันกัน
เราได้เงื่อนได้หลักฐานมาจากการศึกษาเล่าเรียนพอประมาณแล้ว
จงนำมาตีแผ่ออกแต่ละแขนงๆ ให้เป็นอุบายวิธีการของตนเอง
นำมาใช้ฆ่ากิเลส ปราบกิเลสภายในใจ
นี่ชื่อว่าเป็นผู้มีความแยบคายไปตามจริตนิสัยของแต่ละรายๆ
ที่ควรนำมาใช้สำหรับตน ซึ่งถูกต้องด้วยกันทั้งนั้น



อิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน ขอให้มีสติอยู่โดยสม่ำเสมอ
แม้จะไม่ได้พิจารณาอะไร ความรู้สึกตัวให้เป็นสัมปชัญญะ พยายามฝึกให้ดี
เมื่อสติมีความสืบเนื่องอยู่กับตัว ท่านเรียก สัมปชัญญะ
ถ้านึกรู้เป็นขณะๆ ไปเรียกว่า สติ
ถ้าละเอียดเข้าไปจนถึงกับเป็นอัตโนมัติของสติของปัญญาแล้ว
ท่านก็เรียก มหาสติ มหาปัญญา เพราะเป็นไปได้อย่างนั้นจริงๆ



สติเมื่อถึงขั้นแก่กล้าสามารถ ปัญญาเมื่อถึงขั้นฉลาดแหลมคมแล้ว
คนเราไม่ได้โง่อยู่ตลอดเวลา มันฉลาดได้ด้วยกันทั้งนั้น
ยิ่งถึงคราวจนตรอกจนมุมด้วยแล้ว สติปัญญาจะหมุนรอบตัว
ใครจะไปยอมจนตรอก ใครจะไปยอมตายเฉยๆ
ทั้งๆ ที่สติปัญญาพอที่จะคิดค้นหามาแก้ไข พอเล็ดลอดไปได้ ยังมีอยู่ภายในหัวใจ
ใครจะไปยอมตายเปล่าๆ แบบโง่ๆ
ตอนนั้นละตอนสติปัญญาเกิดและพลิกแพลงแก้ไขเอาตัวเล็ดลอดไปได้
และได้หลักฐานพยานยืนยันอย่างองอาจกล้าหาญในวาระต่อไป
ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจใช้หัวคิดปัญญาให้เกิดความฉลาด



ให้มีความห้าวหาญต่อแดนพ้นทุกข์
สิ่งอื่นๆ ก็เคยได้พบได้เห็นได้สัมผัสสัมพันธ์มาแล้วดังที่ได้พูดแล้วนั้นแล
เรื่องของโลกไม่มีใครโกหกใครได้ เพราะต่างคนต่างเคยสัมผัสสัมพันธ์มาด้วยกัน
โทษคุณขนาดไหนก็เห็นแล้วด้วยใจของเรา
ส่วนธรรมนี้เรายังไม่เคยรู้เคยเห็น
ท่านผู้วิเศษเสียด้วยเป็นผู้แสดงไว้ แต่เราก็ยังไม่เคยรู้เคยเห็นอย่างท่าน



ผู้วิเศษคือใคร ก็คือ พระพุทธเจ้า เป็นผู้ทรงค้นพบธรรมอัศจรรย์
ธรรมอัศจรรย์นี้ผู้จะรับทราบ ผู้จะรับรอง ผู้จะยืนยัน ผู้จะทรงรสชาติธรรมอัศจรรย์นั้นก็คือใจ
คำว่าตรัสรู้ธรรมหรือบรรลุธรรมก็ตรัสรู้ที่ใจบรรลุที่ใจ
ฆ่ากิเลสหมอบราบไปหมดแล้ว เหลือแต่ธรรมล้วนๆ เต็มพระทัยเต็มหัวใจ
นั่นแหละที่เรียกว่า ศาสดาองค์วิเศษ สาวกองค์วิเศษ



ธรรมะที่กล่าวไว้ว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นมีพอประมาณเท่านั้น ไม่ได้มากมายอะไรเลย
ถ้าตามภูมิของศาสดาแล้ว ทรงสั่งสอนโลกมากต่อมาก
สอนอยู่ถึง ๔๕ พระพรรษาจึงเสด็จปรินิพพาน
ธรรมจะมีเพียง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์เท่านั้น
จะทันกับโรคกิเลสตัณหาของสัตว์ทั้งสามโลกธาตุนี้ได้อย่างไร
ถ้าธรรมไม่มากมายยิ่งกว่านั้นเป็นไหนๆ ธรรมต้องมีมากต่อมากสมภูมิศาสดานั่นแล
จึงจะทันกับกิเลสของสัตว์ซึ่งมีมากต่อมากด้วยกัน
คือ มีมากทั้งมวลสัตว์ มีมากทั้งกิเลสบนหัวใจสัตว์โลก
การสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่ซ้ำรอยกัน
นอกจากจริตนิสัยของสัตว์โลกจะซ้ำรอย อุบายวิธีการแห่งธรรมที่ทรงแสดงออกจึงจะซ้ำกัน


วันคืนหนึ่งสัตว์โลกมาเกี่ยวข้องกับพระองค์มีมากต่อมากถึงสามโลกธาตุ
นับแต่วันตรัสรู้แล้วทรงสั่งสอนโลกจนถึงวันเสด็จปรินิพพาน
มีสัตว์โลกมาเกี่ยวข้องอย่างมหาศาล ธรรมต้องเป็นธรรมมหาศาลจึงจะสมดุลกัน
การสั่งสอนก็สอนไปตามจริตนิสัยของนานาจิตตัง
ธรรมจึงไม่อาจซ้ำกันได้ถ้าจริตไม่เหมือนกัน



ลงเป็นศาสดาสอนโลกแล้วต้องเป็นคลังแห่งธรรม สอนโลกอย่างไม่อัดไม่อั้น เต็มภูมิศาสดา
สัตว์โลกจึงสนุกตักตวงผลประโยชน์จากคลังแห่งธรรมของศาสดา
โดยสำเร็จเป็นพระโสดาบ้าง ไม่เป็นโสด้นโสเดาดังเราๆ ท่านๆ ที่เป็นกันอยู่
สำเร็จเป็นพระสกิทาคาบ้าง เป็นพระอนาคาบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง
ไม่ขาดวรรคขาดตอนตลอดวันนิพพาน ธรรมเพื่อสัตว์โลกจำต้องมากพอแก่เหตุการณ์



พวกเราเพียงตัวเท่าหนูนี้ก็ลองให้รู้ซิ รู้อรรถรู้ธรรมขึ้นภายในใจ
ต้องพูดได้อย่างเต็มปากและอาจหาญ ควรที่จะนำธรรมมาอบรมสั่งสอน
ลึกตื้นกว้างแคบ หยาบละเอียด ต้องพูดได้เต็มปากไม่กระดากอาย
เพราะได้รู้ได้เห็นทั้งเหตุทั้งผลเต็มภูมิของตนมาแล้วด้วยกัน
ทำไมจะพูดจะแนะนำสั่งสอนกันไม่ได้ ต้องได้โดยไม่สงสัย
ธรรมจริงภายในใจกับธรรมจดจำมาจากตำรา
ความรวดเร็วทันเหตุการณ์ต่างกันอยู่มาก พูดก็สาธุ
มิได้ประมาทการเรียนเพราะเราก็เคยเรียนมา พอด้นเดาได้บ้าง
แต่จะยกภาษิตแต่ละบทออกแสดง กลับวิ่งเข้าตำราหมด
สุดท้ายก็คว้าธรรมะป่า ออกมาด้นเดาตามประสีประสา พอผ่านรอดตัวไปเป็นคราวๆ นั่นแล



เพียงเท่านี้ก็พอให้ทราบได้ว่า พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นจอมศาสดานั้น
ทรงแสดงธรรมแก่โลกมีธรรมประมาณเท่าไร
ต้องมีขนาดครอบโลกธาตุน่ะซิ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ทันกับกิเลสของสัตว์
กิเลสก็จะหาเรื่องตำหนิเอาว่า ภูมิธรรมของศาสดาสู้ภูมิกิเลสของมารไม่ได้
เป็นศาสดาองค์บกพร่องในธรรมนโยบายการสั่งสอน
แต่กิเลสหมอบราบทั้งสิ้นเพราะนโยบายแห่งธรรมของพระองค์
จึงแน่ใจว่า พระธรรมมีมากเต็มภูมิของศาสดาซึ่งนอกจาก ๘๔
,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ออกไป


นี่ก็พยายามอบรมสั่งสอนหมู่เพื่อนเพื่อให้ได้หลักได้เกณฑ์ ผู้มาใหม่ก็มีผู้อยู่เก่าก็มี
จงตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ อย่ามาแบบเถลไถล
มาสักแต่มา อยู่สักแต่อยู่ ไปสักแต่ไปไม่ได้เรื่องได้ราว
และมาเอาชื่อเอานามเอาเกียรติยศชื่อเสียง
ว่าเคยไปอยู่กับอาจารย์นั้นเคยไปอยู่กับอาจารย์นี้ ไปจับจ่ายขายกิน
อย่างนั้นก็ยิ่งเลวไปใหญ่ ไม่ตรงกับความมุ่งหมายของผู้รับ
และให้การอบรมเพื่ออรรถเพื่อธรรมด้วยความบริสุทธิ์ใจ แก่บรรดาท่านผู้มาอาศัย
เพราะฉะนั้นจงเห็นใจ ได้พยายามแนะนำสั่งสอนเพื่อนฝูงมาเต็มสติปัญญากำลังความสามารถ
ไม่ว่าธรรมะขั้นใดภูมิใด ไม่เคยมีการปิดบังลี้ลับไว้แม้แต่น้อยเลย
เปิดเผยให้ฟังทุกแง่ทุกมุมเพื่อเป็นคติเพื่อเป็นอุบายเพื่อเป็นกำลังใจ
และดำเนินตามหลักธรรมที่สอนด้วยความแน่ใจว่าได้สอนโดยถูกต้องแล้วทุกขั้นแห่งธรรม
คำว่า พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา นั้นจงพลีชีพด้วยการปฏิบัติบูชาท่านจริงๆ
ผลแห่งการพลีชีพนั้นจะเป็นธรรมอัศจรรย์ขึ้นที่ใจแทนศาสดา
ประหนึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ประทับอยู่ตรงหน้าเราขณะนี้แล



จึงขอยุติเพียงเท่านี้


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา http://bit.ly/10PxSDP


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP