สารส่องใจ Enlightenment

อุบายแก้ความกลัว (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๒



ศาสนาคือน้ำดับไฟ ไฟราคะ ไฟตัณหา หรือว่าไฟโลภ ไฟโกรธ ไฟหลง ไหม้หัวใจสัตว์โลก
ถ้าไม่มีน้ำ คือ ธรรมะเป็นเครื่องระงับดับกันบ้างเลย
หัวใจดวงนั้นๆ จะเป็นเหมือนไฟทั้งกองเผาลนอยู่ตลอดเวลา
หาความสงบสุขไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดๆ
ไม่สำคัญที่สถานที่ แต่สำคัญที่ความรุ่มร้อนเผาลนจิตใจ
เพราะอำนาจแห่งกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่างๆ มันเผาลนอยู่ภายใน
ไม่มีเวล่ำเวลา ไม่มีอิริยาบถใดพอที่จะว่างเว้น
นอกจากมีธรรมเข้าไประงับดับกันเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ศาสนาจึงเป็นธรรมจำเป็นต่อมวลสัตว์อยู่มากทีเดียว



ผู้ต้องการหวังความสุขความเจริญ หวังหนีร้อนพึ่งเย็น
ก็ต้องเห็นโทษแห่งไฟทั้งหลายที่สุมอยู่ภายในจิตใจ
และเห็นคุณแห่งธรรมซึ่งเป็นเสมือนน้ำสำหรับดับไฟเหล่านี้
ให้พอลดหย่อนผ่อนคลายพอหายใจได้บ้าง
หรือพอบรรเทาไม่รุ่มร้อนจนเกินเหตุเกินผล เกินประมาณที่จะทนได้
เกินสติกำลังความสามารถที่จะแก้ไขได้
บางรายถึงกับเป็นบ้าไป เพราะไฟเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อย
ในโลกเราที่ปราศจากธรรมเป็นเครื่องเยียวยารักษา
เพราะฉะนั้นธรรมจึงเป็นธรรมชาติที่จำเป็นอยู่มากจะขาดธรรมเสียมิได้
ถ้าไม่อยากเห็นโลกเป็นไฟทั้งกองแผดเผามวลสัตว์ไม่มีเวลาว่างเว้น



ราคะดับด้วยน้ำอันใด พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ดับด้วยธรรมซึ่งเป็นคู่ปรับของกันและกัน
เช่น ให้ดับด้วยการพิจารณาอสุภะ ปฏิกูลโสโครก
และ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซึ่งมีประจำอยู่กับสิ่งที่จิตใจไปพัวพันหรือรักชอบ
เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอสุภะ เรื่องปฏิกูล เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อไฟประเภทนี้



โทสะเกิดขึ้น พึงระงับด้วยความเมตตาหนึ่ง
ระงับด้วยการมองคนอื่นในแง่เหตุผลหนึ่ง
มองกันในแง่ให้อภัยหนึ่ง
มองกันในสมานัตตตา ไม่ถือตัวหนึ่ง
พิจารณาเรื่องราวที่ให้เกิดโทสะนั้นด้วยเหตุผลหนึ่ง
และย้อนเข้ามาดูตัวที่กำลังโกรธกำลังโมโหโทโสอยู่นั้น
คือ ตัวพิษตัวภัยตัวไฟเผาลนจิตใจอยู่ในขณะนั้น
ก่อนอื่นที่จะลุกลามไปไหม้ผู้อื่น ต้องไหม้ผู้โกรธผู้โมโหโทโสก่อนผู้อื่น
นี่เป็นจุดสำคัญ ให้ดูที่จุดนี้ซึ่งเป็นจุดเกิดขึ้นแห่งภัย
คือโทสะหรือความโกรธ เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นภัย
ก็ระงับดับกันที่ตรงนี้ด้วยอุบายวิธีการต่างๆ ที่จะระงับดับมันได้



เช่นเดียวกับเราคิดในทางผิดมันเกิดโทสะขึ้นมา
ก็ให้เห็นว่าโทสะเป็นภัยแก่ตัวเราเอง แล้วรีบระงับดับที่ตรงมันเกิด
คือ เกิดที่จิตนั้น ไม่ให้กระจายออกไปสู่ผู้อื่น



บางคราวคนอื่นไม่มีความผิด แต่เราไปเข้าใจเสียเองว่าผู้นั้นมีความผิด
หรือผู้นั้นมีอะไรแก่ตนทั้งๆ ที่เขาไม่มีอะไรเลย
ก็เพราะความสำคัญของใจหลอกลวงตนเองให้เกิดโทสะขึ้นมา
เกิดความโกรธความแค้นขึ้นมาก็ได้
แม้จะมีผู้แสดงปฏิกิริยาอันเป็นความกระทบกระเทือน
ให้เกิดความโกรธความไม่พอใจขึ้นมาก็ตาม
ผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรไปมองในแง่นั้น มองดูคนนั้น มองเรื่องนั้น คิดเรื่องนั้น
ให้มากยิ่งกว่าการย้อนเข้ามาสู่จุดแห่งเหตุ คือ ตัวโทสะซึ่งเกิดขึ้นที่ใจ



ค้นคว้าหาเหตุหาผลแห่งความโกรธ
ถือความโกรธเป็นจุดหมายหรือเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา
ถือตัวโกรธนั้นเป็นตัวโทษตัวภัยที่ทำลายตนเองอยู่ในขณะนั้น
แล้วระงับกันด้วยอุบายวิธีการต่างๆ ไม่ยอมเคลื่อนคลาดจากจุดนั้นไปเลย
ความโมโหโทโสหรือความโกรธจะลุกลามไปไม่ได้
เมื่อสติความระลึกรู้ย้อนเข้าสู่จุดแห่งเหตุนั้น ซึ่งเป็นจุดที่ถูกต้อง
ด้วยการพิจารณาโดยทางปัญญาจนความโมโหโทโสระงับลงด้วยอุบายนั้นๆ
คราวต่อไปก็จับจุดที่เคยปฏิบัติได้ผลมาแล้ว และพิจารณาระงับลงได้เรื่อยไป



ส่วนความหลงนั้นเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งละเอียดมาก
มีแทรกอยู่กับกิเลสประเภทต่างๆ เต็มไปหมดไม่มีเว้น
เพราะเป็นประเภทซึมซาบละเอียดลออ สามารถเข้าแทรกซึมได้ในกิเลสทุกประเภท
เพราะฉะนั้น เราจะยกออกมาพูดเฉพาะโมหะเสียทีเดียวก็ไม่ได้
เช่น ความโลภก็มีความหลงมาแทรก ความโกรธก็มีความหลงมาแทรก
ความรักก็มีความหลงมาแทรก ความชังก็มีความหลงมาแทรกทั้งนั้น
มันแทรกได้หมด จึงระงับดับกันด้วยสติปัญญาอันแหลมคมเท่านั้น
ที่จะให้โมหะนี้สิ้นสุดลงไปได้
อวิชชาได้สิ้นสุดลงไปจากจิตเมื่อใด พึงทราบว่าเมื่อนั้นแหละ
โมหะอันสำคัญซึ่งเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งหลายจึงจะสิ้นลงไป
หากอวิชชายังไม่สิ้นเมื่อไรโมหะก็ยังต้องมีอยู่นั่นแหละ
รากแก้วจริงๆ ออกมาจากโมหะอวิชชา



เราเป็นนักปฏิบัติทำหน้าที่ของการบวชเต็มภูมิของเราทุกวันเวลาทุกอิริยาบถ
ด้วยการชำระสะสางกิเลสประเภทต่างๆ
ซึ่งมีอยู่กับใจและเกิดขึ้นที่ใจ และลุกลามไปสู่ภายนอก
ต้องถือเป็นกิจเป็นงานสำคัญ
อย่าเห็นงานอื่นๆ ว่าเป็นงานจำเป็นหรือหนักแน่นมีคุณค่ายิ่งกว่างาน
คือ การชำระกิเลสประเภทต่างๆ ภายในใจ
ด้วยความเพียรท่าต่างๆ อุบายวิธีต่างๆ อยู่โดยสม่ำเสมอ
อย่าเสียดายเวล่ำเวลา อย่าเสียดายอารมณ์แห่งความคิดความปรุงของใจ
ซึ่งเคยเป็นมาและเคยหลอกหลอนมาเป็นเวลานานแล้ว
ที่ว่า สังขารขันธ์ หรือ สัญญาขันธ์ นี้ออกหน้าออกตาอยู่ตลอดเวลา
ผู้มีสติเท่านั้นถึงจะทราบเรื่องของสังขารและเรื่องของสัญญาที่ออกหน้าออกตาอยู่
ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอะไรมากระทบให้คิดให้ปรุงให้เกิดความสำคัญมั่นหมายก็ตาม
แต่มันเกิดขึ้นมาโดยลำพังของมันได้อย่างคล่องตัว
ไม่เหมือนกับวิญญาณที่คอยรับทราบสิ่งภายนอกที่มาสัมผัสจึงจะปรากฏขึ้นมา



การพิจารณาจึงต้องถือใจเป็นสำคัญ มีสติคอยระมัดระวังเสมอ
อย่าไปคุ้นเคยกับความเพียรแบบโลกๆ
ซึ่งเป็นพิธีการของกิเลสแต่งกลอนแต่งบทเพลงให้เดินตามจังหวะของมัน
เช่น เคยเดินจงกรมแล้วก็เดินไปเฉยๆ นั่งไปเฉยๆ
ไม่มีความจดจ่อต่อเนื่องด้วยสติสัมปชัญญะกำกับใจในประโยคแห่งความเพียร
ไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะสิ่งที่จะให้เกิดประโยชน์ตามหลักแห่งความเพียรนั้น
ต้องมีสติเป็นเครื่องจดจ่อต่อเนื่องกันกับงานที่ทำ
เช่น ผู้บริกรรมก็มีสติกำกับการบริกรรมของตนสืบเนื่องกันไปโดยลำดับ



ผู้พิจารณาทางด้านปัญญา สติเป็นของสำคัญไปตลอดสาย
ไม่มีที่จะละเว้นสติเลย การยืน การเดินไปที่ไหนสติให้มีอยู่กับตัว
ความมีสติอยู่กับตัวนั้นเหมือนกับมีเครื่องรับทราบ
สติปัญญาท่าทางต่างๆ ที่จะระมัดระวังหรือต่อสู้ต้านทานกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้องนั้น
ย่อมทำหน้าที่ได้รวดเร็วกว่าคนไม่มีสติ ฉะนั้นจึงต้องฝึกสติ



ตั้งแต่พื้นๆ ภาวนา การอบรมเบื้องต้นก็อาศัยสติ จะเห็นได้
เช่น เวลาไปอยู่ในสถานที่น่ากลัวมาก
ซึ่งได้เคยไปอยู่แล้วและได้เห็นเหตุเห็นผลกันกับเรื่องของสติได้ดี
พอเป็นหลักฐานพยานยืนยัน และนำมาพูดให้หมู่เพื่อนฟังได้โดยไม่สงสัย
คือ เราไปอยู่ในสถานที่น่ากลัว สติย่อมตั้งตัวอยู่เสมอ



การตั้งสติอยู่โดยสม่ำเสมอเพราะความระวังตัว ทั้งกลัวตายก็กลัว
ทั้งกลัวจิตจะส่งออกไปสู่สิ่งที่กลัวนั้นก็กลัว
จึงต้องระมัดระวังทั้งด้านอันตรายเกี่ยวกับสิ่งภายนอก เช่นเสือเป็นต้น
ทั้งภายในกลัวสติจะเผลอตัวจากความเพียรนี้ก็ระวัง
บังคับจิตไม่ให้เสียดายในอารมณ์ที่น่ากลัว เช่น คิดไปเรื่องเสือ เรื่องอันตรายต่างๆ
ไม่ยอมให้จิตเล็ดลอดออกไปคิดเป็นอันขาด
บังคับให้คิดปรุงอยู่กับคำบริกรรมโดยเฉพาะเท่านั้น
จิตปรุง พุทโธ ก็ให้อยู่กับ พุทโธ สืบเนื่องกันเป็นลำดับ
สละทุกสิ่งทุกอย่างในความคิดภายนอก ให้สติกับจิตกลมกลืนกันเป็นอันเดียว



ทีนี้เมื่อสติมีความสืบต่อ งานของจิตที่กำลังภาวนาก็เป็นชิ้นเป็นอันเป็นเนื้อเป็นหนังขึ้นมา
สามารถสั่งสมพลังขึ้นมาได้ในขณะนั้น กลายเป็นจิตที่มีความสงบตัวแน่นหนามั่นคงขึ้น
ทั้งๆ ที่เดินก็เดินได้อยู่ เดินจงกรมกลับไปกลับมาก็เดินได้
แต่จิตมีความเหนียวแน่นมั่นคงอยู่ภายในตัวเอง
ด้วยความมีสติเป็นเครื่องระวังรักษาอยู่ตลอดเวลา
อารมณ์ที่เคยกลัวก็หายเงียบไป ไม่อยากคิด
ไม่เสียดายในความคิดเกี่ยวกับอารมณ์ประเภทนั้นๆ
แม้จะคิดออกไปถึงอารมณ์ที่น่ากลัว จิตก็เลยไม่กลัว
พอคิดออกไป ขณะเดียวก็ถอยกลับเข้ามาทันทีอยู่ด้วยความมั่นคงของใจ
ใจเลยกลายเป็นใจที่กล้าหาญขึ้นมาในขณะนั้น



ทั้งๆ ที่ในเบื้องต้นเริ่มเดินจงกรมจิตกลัวมาก
แต่พอได้หลักเลยกลายเป็นจิตที่กล้าหาญขึ้นมาในขณะนั้น
จะเดินนานสักเท่าไรก็ได้ ไม่มีความสะท้านหวั่นไหวต่อเรื่องความกลัวใดๆ ทั้งสิ้น
เวลาจิตมีความแน่นหนามั่นคงเต็มกำลังของตัวในภูมินั้นแล้ว
อย่าว่าแต่ไม่กลัวเฉยๆ เลย แม้เสือจะเดินเข้ามาผ่านทางจงกรม
ก็สามารถจะเดินเข้าไปลูบคลำหลังเสือได้อย่างมิตรสหายเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน
ด้วยจิตที่มีความอ่อนโยน ไม่คิดเลยว่าเสือนั้นจะทำอันตรายอะไรแก่ตนได้เลย



แต่ความจริงนั้นเสือจะทำได้หรือไม่ได้เป็นอีกแง่หนึ่ง
แต่ความรู้สึกในขณะนั้นไม่มีกลัวอะไรทั้งสิ้น
ขึ้นชื่อว่าอันตรายไม่มีความสะทกสะท้าน เพราะจิตมีความแน่นหนามั่นคงเต็มตัว
เกินกว่าที่จะไปหมอบไปกลัวไปอ่อนน้อมต่อสิ่งนั้นว่าเป็นของน่ากลัว
กลายเป็นจิตที่สง่าผ่าเผยองอาจกล้าหาญเต็มตัวขึ้นในเวลานั้น
นี่ได้เห็นประจักษ์ใจกับตัวเองมาแล้ว



เพราะฉะนั้นการประกอบความพากเพียร
แม้จะเป็นนิสัยขี้ขลาดหวาดกลัวของมนุษย์เราที่มีชีวิตอยู่เช่นสัตว์ทั้งหลายกลัวกันก็ตาม
แต่ก็ต้องบังคับตนให้เข้าไปสู่สถานที่น่ากลัวนั้น เพื่อการประคองความเพียรได้ดีเสมอมา
ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ชายป่า ชายเขา ที่เปลี่ยวๆ อันเป็นที่น่ากลัว
พระองค์ทรงเห็นเหตุเห็นผลโดยสมบูรณ์แล้ว



เวลาไปอยู่สถานที่น่ากลัว ท่านก็แสดงให้เราได้เห็นได้อ่านอยู่แล้ว
เช่น ธชัคคสูตร ว่าหากไปอยู่ในสถานที่น่ากลัว เกิดความเปลี่ยวเปล่าขึ้นภายในจิตใจ ใจว้าเหว่
ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ความกลัวนั้นจะหายไป
หากระลึกถึงพระพุทธเจ้าความกลัวยังไม่หาย
พึงระลึกถึงพระธรรมอันเป็นนิยยานิกธรรม แล้วความกลัวจะหายไป
หากระลึกถึงพระธรรมความกลัวยังไม่หาย ให้ระลึกถึงพระสงฆ์ ความกลัวจะหายไป
นี้แหละคือหลักประกันจิตไม่ให้กลัว คือหลักธรรม จะเป็นพุทธ ธรรม สงฆ์
บทใดก็ตามเป็นธรรมด้วยกันทั้งนั้น และเป็นหลักยึดของใจได้เป็นอย่างดีหายห่วง



เวลาเรานำมาประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านสั่งสอนไว้
โดยไม่ให้จิตเล็ดลอดออกไปสู่สิ่งอื่นๆ ที่เป็นของน่ากลัวหรือไม่กลัวก็ตาม
ให้จิตมีความกลมกลืนกันอยู่กับธรรมบทนั้นๆ
จิตจะมีความแน่นหนามั่นคงขึ้นภายในตนโดยลำดับจนแน่ชัดภายในจิตใจ
ว่าจิตนี้หาความสะทกสะท้านหวั่นไหวไม่ได้แล้ว เกี่ยวกับเรื่องความกลัวใดๆ ทั้งสิ้น
ทีนี้เดินนานเท่าไรก็เดิน จะไปไหนก็ไปได้ ไม่มีความรู้สึกกลัว



ที่กล่าวนี้เป็นตามเวลา ไม่ใช่จะเป็นอยู่เสมอไป
เมื่อจิตถอยออกมาจากนั้นแล้วมันก็มีความกลัวได้อีก
แต่อย่างไรก็ตาม เราพอมีหลักฐานพยานเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า
เราเคยทำด้วยอุบายวิธีนั้นๆ จิตของเราได้รับความสงบร่มเย็น ได้รับความกล้าหาญ
เราจะต้องทำอย่างนั้นไม่ทำอย่างอื่น เรียกว่าได้หลักเกณฑ์
ไปไหนก็ใช้อุบายอย่างนั้นจริงๆ เป็นประจำ
เป็นก็เป็นตายก็ตาย จิตจะไม่ยอมปล่อยวางจากหลักธรรมที่นำเข้ามากำกับใจนี้เลย
เมื่อเป็นเช่นนั้นผลก็ต้องปรากฏขึ้นมาดังที่เคยปรากฏแล้ว นี่ได้เคยปฏิบัติมาแล้ว



ตั้งแต่สมัยก่อนที่สัตว์เสือชุกชุมโน้น ผิดกับสมัยนี้อยู่มาก
กาลเวลาผ่านกันมาไม่กี่ปี ความเปลี่ยนแปลงของโลกเปลี่ยนไปมาก
เช่น ในป่า ในเขา แต่ก่อนมีแต่สัตว์แต่เสือมีแต่อันตราย
ทุกวันนี้ป่าก็ถูกทำลายไปหมด ไปที่ไหนก็มีแต่ผู้แต่คน
หาคำว่าสัตว์ว่าเสือชักจะไม่มี นานไปกว่านี้พูดเรื่องสัตว์เรื่องเสือ คนอาจจะไม่เชื่อก็ได้
ทั้งๆ ที่มันก็เคยมีเคยเป็นอยู่แล้ว



ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย พึงถือสติเป็นสำคัญ ให้กำกับตัว
ถือเป็นภาระหน้าที่ของตัว อย่าเสียดายความคิดความปรุงเกี่ยวกับโลกสงสารใดๆ
เราเคยคิดเคยปรุงเคยสัมผัสสัมพันธ์มาแล้วได้ผลดีชั่วประการใด
พอที่จะนำมาเทียบเคียงเลือกเฟ้นได้แล้ว ไม่ควรจะเสียดายในอารมณ์ที่เคยเป็นมา



แต่พึงทราบว่าขึ้นชื่อว่าเรื่องกิเลสแล้ว ไม่ว่าประเภทใดๆ
ต้องเป็นเครื่องกล่อมใจสัตว์ให้เคลิบเคลิ้มหลับใหลได้เป็นอย่างดี
อย่าลืมนี้เป็นสำคัญ
เราผู้ปฏิบัติก็พ้นไปจากความเป็นสัตว์โลกที่ถูกกล่อมจากกิเลสประเภทต่างๆ ไม่ได้เหมือนกัน
จึงพึงตั้งสติรอรับไว้เสมอ ว่ากิเลสทุกประเภทจะต้องมากล่อมที่ใจ
ใจจะต้องต่อสู้กับกิเลสด้วยธรรมมีสติธรรม ปัญญาธรรม วิริยธรรม ขันติธรรม เป็นสำคัญ



ขึ้นชื่อว่าธรรมต้องฝืนต้องต้านทานกับกิเลสเพราะการต่อสู้กัน
อันใดฝืนอันนั้นมักเป็นธรรม อันใดที่ไม่ฝืนและเป็นความชอบพอ
มักเป็นกิเลสเสมอในขั้นเริ่มแรกปฏิบัติ
เว้นเสียแต่ธรรมะขั้นกลางถึงขั้นละเอียดแล้วนั้นเป็นอีกแง่หนึ่ง ผิดกัน
นับตั้งแต่ธรรมขั้นกลางขึ้นไปแล้ว จิตใจมีความดูดดื่มในธรรม
คลายโลกามิสทั้งหลายออกไปเป็นลำดับ
สิ่งเหล่านั้นจึงไม่มีกำลังดึงดูดจิตใจให้อยู่ใต้อำนาจได้
ใจดูดดื่มและหนักแน่นในธรรม เพราะธรรมมีกำลังและมีรสชาติเหนือกว่าไปเป็นลำดับ



เฉพาะอย่างยิ่ง สติปัญญา ศรัทธา ความเพียร นับวันมีกำลังกล้าไปโดยลำดับ
จนถึงธรรมขั้นละเอียดเพียงไร จิตยิ่งมีความเพลิดเพลินรื่นเริงในธรรม
จนเกินความพอดีไปก็มีในบางครั้ง
ท่านจึงเรียกอุทธัจจะในสังโยชน์เบื้องบนว่า ความฟุ้ง ความเพลินในการพิจารณา
จนลืมเวล่ำเวลา ลืมความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
ซึ่งเป็นสังโยชน์เครื่องติดข้องประเภทหนึ่ง
เพราะขัดต่อความพอดี คือ มัชฌิมา ความพอดีเหมาะสม



ดังที่มีในตำราที่พระท่านเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตกนั้น
ถ้าความรู้สึกนึกคิดธรรมดาทั่วๆ ไปแล้ว ต้องว่าท่านฝึกท่านทรมานตนเอง
บังคับตนเองให้เดินเสียจนฝ่าเท้าแตก
ซึ่งทำให้ผู้เริ่มฝึกหัดปฏิบัติเกิดความท้อใจ อิดหนาระอาใจว่ายากเกินไปหนักเกินไป
ไม่สามารถทำตามนั้นได้ แล้วหมดกำลังใจที่จะอุตส่าห์ขวนขวาย



แต่ถ้าคิดตามหลักปฏิบัติแล้ว ความเพียรขั้นนั้นหากเป็นอย่างนั้นเอง
คือ เป็นความเพียรอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน
เว้นแต่เวลาหลับอย่างเดียว นอกนั้นเป็นความเพียรทั้งสิ้น
เช่น เดินจงกรมจิตใจหมุนติ้วอยู่กับธรรม
ระหว่างธรรมกับกิเลสที่ต่อสู้กัน พัวพันฟัดเหวี่ยงกันอยู่ตลอดเวลา
ไม่คิดถึง เดือน ปี นาที โมง เช้าสายบ่ายเย็น หิวกระหายใดๆ ทั้งสิ้น
ระหว่างสติปัญญา ศรัทธา ความเพียรอัตโนมัติกับกิเลสเข้าตะลุมบอนกัน
จะไปเผลอตัวได้อย่างไร นั่นแหละความเพียรที่ทำให้เพลิน
เดินจงกรมจนกระทั่งฝ่าเท้าแตกไม่รู้สึกตัว เพราะไม่สนใจกับฝ่าเท้ายิ่งกว่าธรรม
และเพราะพลังของจิตที่มีกำลังมาก เร่งต่อความพากเพียรเพื่อความหลุดพ้น
ฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสไม่มีคำว่าท้อถอยปล่อยวาง
นอกจากให้ได้ชัยชนะหรือกิเลสหมอบราบไปหมด จนไม่มีกิเลสตัวใดเหลืออยู่ภายในใจเลย
รอบๆ ตัวกลายเป็นซากกิเลสไปหมด นั้นแลเป็นที่พอใจของความเพียรประเภทนั้น



ฉะนั้นการประกอบความเพียรจนฝ่าเท้าแตกนั้น
จึงเป็นฐานะที่เป็นไปได้ไม่สงสัยในธรรมขั้นนี้
นี่พูดทางภาคปฏิบัติ ต้องเอาความจริงมาพูดกันให้ถึงใจผู้ปฏิบัติบ้าง
จะได้เป็นกำลังใจต่อสู้กับกิเลสตัวโลกทั้งหลายเกรงขาม



ทั้งนี้เพราะความเพลินในธรรมและความพากเพียร
ไม่ใช่เป็นไปเพราะบังคับจิตเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก
ทั้งๆ ที่จิตก็เร่ร่อนวุ่นนั่นวุ่นนี่หาสาระอะไรยังไม่ได้ แล้วก็เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตกนี้
คิดว่าจะเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้พอๆ กัน
แต่ถ้าเพราะความเพียรเป็นเครื่องดึงดูด
ทำความเพียรท่าต่างๆ จนลืมเวล่ำเวลาลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจนฝ่าเท้าแตกนั้น
เป็นไปได้โดยไม่สงสัย ในหลักปฏิบัติที่เคยผ่านมาเป็นอย่างนั้น



นับแต่ธรรมขั้นกลางไปถึงขั้นนั้น ซึ่งเป็นขั้นละเอียดไปโดยลำดับแล้ว
กำลังของโลกภายในใจอ่อนลงโดยลำดับแทบไม่ปรากฏ
แต่กำลังของธรรมมีมากขึ้นๆ จึงทำให้ความเพียรหรือการบำเพ็ญทุกๆ ประโยค
หมุนเป็นธรรมจักรไปได้โดยไม่รู้สึกฝืนเลย



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา http://bit.ly/10PxSDP


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP