สารส่องใจ Enlightenment

ความจริงของชีวิต (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย




ความจริงของชีวิต (ตอนที ๑)


บัดนี้เมื่อผู้ใดมาฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วมาฝึกฝนอบรมจิตใจ อบรมสติ สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้นในดวงจิตนี้ได้แล้ว
ก็สามารถละบาปอกุศลเหล่านั้นออกไปได้
บำเพ็ญแต่บุญกุศลให้เกิดให้มีขึ้นในจิตใจเรื่อยไป
เช่นนี้แล้ว ผู้นั้นก็จะไม่เบียดเบียนใครต่อใคร และจะไม่ยอมทะเลาะวิวาทกับใคร
ใครจะสรรเสริญและใครจะนินทาว่าร้ายอย่างไร
ก็ให้อภัยไปเรื่อยๆ ไม่ถือสา ไม่เอาความต่อบุคคลผู้มาล่วงเกินตน
ก็เพราะมองเห็นอัตภาพร่างกายนี้ มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรหวงแหน
เพราะหวงแหนไว้มันก็ไม่ยั่งยืน ไม่เป็นไปตามใจหวัง
มันมีการแตกดับเป็นที่สุด ไม่ทราบจะหวงไว้ทำไม
ใครจะสรรเสริญก็สรรเสริญไป ใครจะนินทาว่าร้ายก็นินทาไป



อย่างนี้แหละ เมื่อปลงวางได้อย่างนี้มันแสนสบายใจ ไม่ต้องเดือดร้อนใจ


ใครติฉินนินทาว่าไม่ดีมา อย่างนี้เราก็ตรวจดูว่า
เอ๊ะ! ที่เขานินทาว่าเราไม่ดีนั้นน่ะ ไม่ดีจริงหรือ
เราไม่ดีตรงไหน เราทำผิดศีลข้อไหนบ้าง เราผิดธรรมข้อไหนบ้าง เอามาตรวจค้นดู
ถ้าตรวจค้นดูแล้วเห็นว่าไม่ได้ทำผิดศีลข้อไหน แล้วก็ไม่ได้ประพฤติผิดธรรมข้อไหน
ประพฤติตรงต่อศีลต่อธรรมอยู่ เช่นนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปเดือดร้อน
ที่เขาว่าเราไม่ดีนั้นน่ะ จะเป็นดั่งที่เขาว่านั้นก็หาไม่
ในเมื่อเรามีความประพฤติสม่ำเสมออยู่ในศีลในธรรมแล้ว
มันก็ไม่เสียหายไปเหมือนอย่างที่เขาว่า
แต่ถ้าเห็นว่าเรามีข้อบกพร่องอยู่ในศีลบางข้อ
หรือว่าในธรรมบางข้ออย่างนี้นะ เขาถึงได้ตำหนิติเตียน
เออ! จริง เรามันบกพร่องในศีลข้อนั้น ในธรรมข้อนั้นจริง
อย่างนี้เราจะได้ประพฤติตามศีลข้อนั้น ธรรมข้อนั้นให้ดีขึ้น ให้สมบูรณ์ขึ้น
นี่มันก็เป็นครูสอนอยู่ในตัว



คำสรรเสริญและคำนินทา ถ้าบุคคลไม่ถือมั่นนะ
นับว่าเป็นเครื่องเตือนใจให้เราชำระความชั่วออกจากตัว
หมายความว่าเช่นนั้น มันก็เป็นผลดีเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าทรงสร้างพระบารมีมา
แม้ใครจะนินทาสรรเสริญอย่างไร พระองค์ก็ไม่หวั่นไหว
เลือกทำ เลือกพูดเอาแต่กิจการงานที่เป็นประโยชน์เท่านั้น
ไอ้เรื่องที่ไม่ดีไม่งามของบุคคลอื่น ไม่ถือสาหาความ ไม่เอามาเป็นอารมณ์
พระองค์จึงได้สั่งสมบารมีให้แก่กล้ามาโดยลำดับ จนเต็มบริบูรณ์ได้
แต่หากว่าพระองค์ไปผูกเวรกับบุคคลอื่นและสัตว์อื่น
ที่เขาล่วงเกินพระองค์มาอยู่อย่างนั้นแล้ว
พระบารมีธรรมของพระองค์จักไม่แก่กล้าได้ง่ายๆ
แล้วจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าไม่สำเร็จ
นั่นขอให้พากันนึกถึงพระพุทธเจ้านั้นมาเป็นอารมณ์



แม้เราไม่ได้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่ก็เดินทางเส้นเดียวกัน
คือพยายามละชั่ว ทำแต่ความดีไปเรื่อยๆ
แล้วพยายามฝึกฝนจิตใจนี้ ให้บริสุทธิ์จากบาปธรรมต่างๆ ไปเรื่อยๆ
ไม่ยอมปล่อยให้ใจมันหลงยึดถือ เอากิเลสบาปธรรมอันชั่วร้ายมาหมักหมมไว้ในจิตใจ
เพราะภาวนาดูมันอยู่ทุกวันทุกคืนอย่างนี้นะ



ทำไมมันถึงจะละไม่ได้บาปธรรมน่ะ หรือกิเลสก็ดี มันจะทำให้เบาบางไปไม่ได้หรือ
เพราะเราภาวนามองดูดวงจิตนี้ทุกวันทุกคืนเช่นนี้นะ
พอมันจะเผลอไปในทางไม่ดี มันก็รู้ตัวได้อยู่อย่างนี้
รู้ตัวแล้วก็ตั้งจิตสำรวมใหม่ ไม่ให้เผลอไปในทางชั่ว
เช่นนี้จิตมันก็มีแต่สะสมเอากุศลความดีไว้เรื่อยไป
บุญกุศลมันก็มากขึ้นตามลำดับ
เมื่อบุญกุศลมันมากขึ้นเท่าใด ความชั่วมันก็อ่อนกำลังลงไปเท่านั้น
เพราะว่าจิตใจไม่ส่งเสริมความชั่วแล้ว ความชั่วมันจะมากขึ้นได้อย่างไร
นี่พากันคิดดูให้ดี



อันความชั่วหรือบาปธรรมมันจะมากขึ้นมาได้นั้น ก็เพราะว่ามันพอใจ
มันพอใจต่อกิเลสบาปธรรมนั้นๆ มันถึงสะสมให้มันมากขึ้นโดยลำดับ

แต่นี่เมื่อเราไม่พอใจแล้ว เราไม่สะสมแล้ว มันจะเกิดได้อย่างไร มันเกิดไม่ได้
พระธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นทั้งบุญเป็นทั้งบาป หรือไม่ใช่บุญไม่ใช่บาปนั้น
ล้วนแต่มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจทั้งนั้น

เมื่อใจมันไม่สร้างสิ่งใดแล้ว สิ่งนั้นจะเกิดมีได้อย่างไร นี่ต้องพิจารณาดูให้ดี



ดังนั้นนะใจดวงเดียวเท่านี้น่ะ เรารักษามัน
เอาตัวเองนั่นแหละรักษาตัวเอง ไม่ใช่ว่าจะไปให้ใครมารักษา
เอ้า! ให้พระธรรมน่ะรักษา พระธรรมก็คือดวงใจนั่นเอง
เช่นอย่างว่าขันติธรรมอย่างนี้นะ ถ้าใจไม่อดทนแล้ว มันจะเป็นขันติธรรมได้อย่างไร
นั่น ลองคิดดู



ฉะนั้นเมื่อใจอดทนลงไปแล้วอย่างนี้ ขันติธรรมก็เกิดขึ้นที่ใจ
เราจะไปน้อมขันติธรรมจากภายนอกมาสวมใส่ให้ ไม่ได้ไม่ถูก
เราต้องอดทนในใจนั้น ขันติธรรมมันก็เกิดขึ้นในนั้น
หรือว่าหิริความละอายต่อบาป
โอตตัปปะความสะดุ้งกลัวต่อผลของบาป ว่ามันจะตามสนองให้เป็นทุกข์อย่างนี้นะ
ก็อาศัยใจนั่นแหละ มันละอายในการที่จะทำความชั่ว
เพราะว่าการทำชั่วนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายท่านไม่นิยมกัน
ท่านรู้แจ้งด้วยปัญญา ว่ามันเป็นทางดำเนินไปสู่ทุกข์
เช่นนี้แล้วมันจะทำยังไง เพราะมันรู้ชัดอยู่ในใจแล้ว มันไม่ทำกันหรอก
ไอ้ที่มันทำกันอยู่ เพราะมันไม่รู้ด้วยปัญญาเกิดขึ้นในจิตใจ
ดังนั้นควรพากันใคร่ครวญพิจารณาให้ดี



ใจไม่กล้าทำเพราะว่าใจมันเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้ว
มันมองเห็นว่าความชั่วนั้น จะตามสนองให้เป็นทุกข์ได้จริงๆ
เมื่อมันเห็นแจ้งอย่างนี้แล้ว มันไม่กล้าทำ
เพราะฉะนั้นจึงว่าอะไรๆ มันก็เกิดจากดวงจิตดวงเดียวนี้ บุญก็ดี บาปก็ดี
ทีนี้เมื่อมันละอายใจในการที่จะทำความชั่วแล้ว มันก็พอใจในการที่จะทำความดี
เมื่อทิ้งอย่างหนึ่ง มันก็เอาอย่างหนึ่ง
เมื่อมันทิ้งของไม่จริง มันก็ได้ของจริงขึ้นมา เป็นอย่างนั้น
เมื่อมันทิ้งสมมุติมันก็ได้ปรมัตถ์ขึ้นในจิตใจ



เมื่อมันปล่อยวางคำว่าเขาว่าเรา สัญญาอารมณ์คำว่าเขาว่าเรา มันดับลงไป
ความรู้ความเห็นว่าในอัตภาพร่างกายทุกๆ ส่วนนี้ ไม่มีเขาไม่มีเราอยู่ในนี้เลย
ความรู้ความเห็นอย่างนี้มันก็เกิดขึ้นมาแทน
ถ้ามันเกิดขึ้นมาด้วยอำนาจอริยมรรคจริงๆ จะไม่ลบเลือนหายเลย
ความรู้ความเห็นอย่างว่านี้นะ กำหนดเวลาใดก็ปรากฏเห็นอยู่เวลานั้นแหละ
เป็นอย่างนั้นไม่ลบเลือนหาย
แต่ถ้ามันไม่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งอริยมรรคนี้
มันอาจจะลบเลือนหายไปเป็นบางคราว อาจจะรู้ขึ้นมาเป็นบางครั้ง



ดังนั้นการที่เราเจริญวิปัสสนาญาณนี้น่ะ
ก็จงพยายามเจริญให้มันต่อเนื่องกันไปเลย ทุกอิริยาบถน่ะ ยืน เดิน นั่ง นอน
ยืนอยู่ก็กำหนดเห็นสังขาร นามรูปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่อย่างนั้น
เดินไปก็กำหนดเห็นอยู่ นั่งก็กำหนดเห็นอยู่
นอนลงไปก็กำหนดเห็นอยู่
กำหนดเห็นอยู่อย่างนั้น เห็นนามเห็นรูป
เห็นอัตภาพร่างกายต่างๆ นี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่อย่างนั้น
นี่เราพยายามเจริญความรู้ความเห็นอันนี้ ให้มันต่อเนื่องกันไปเรื่อย
ถึงจะได้มีกำลังแก่กล้าขึ้นไปโดยลำดับ
ใครหมั่นขยัน ใครไม่ประมาท สำรวมจิตของตนให้ได้ดี
ไม่ปล่อยให้จิตมันเมามันเพลินไปในอารมณ์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของวิปัสสนาญาณนี้
ผู้นั้นก็จะพลันพ้นทุกข์พ้นภัยในสงสารนี้ได้โดยเร็ว



แต่ว่าส่วนมากคนเรานี้มันก็ชักประมาท
เมื่อตนได้ความสงบใจ ความเย็นใจสบายใจ พอสมควรแล้วนี่
มันไม่อยากคิดนะ ไม่อยากคิดไม่อยากวิจารณ์ ไม่ค่อยอยากเพ่งพิจารณาเช่นนี้
เมื่อมันไม่พิจารณาดูสภาวธาตุ สภาวธรรม ดังกล่าวมานี้
เอ้า! มันก็ต้องคิดไปเรื่องอื่น มันอยู่นิ่งๆ ไม่ได้จิตใจอันนี้



ดังนั้นผู้ไม่ประมาทแล้วก็มีสติสัมปชัญญะ
สำรวมจิตใจของตนให้มันแน่วแน่ไว้ภายใน แล้วก็เพ่งพิจารณานามรูปอันนี้เสมอๆ
แม้ว่ามันจะคิดไปในเรื่องอื่น ก็เรียกว่า ให้มันคิดไปพอประมาณ
พอคิดรู้เรื่องเหล่านั้นแล้ว ก็ปลงก็วางก็ปล่อย
แล้วก็กลับมาพิจารณาสังขารนามรูปของเก่าเป็นอารมณ์
มาชำระความรู้ความเห็นนี้ให้มันผ่องใส ให้มันแจ่มกระจ่าง อย่าให้มันมัวหมองต่อไป
พยายามเพ่งพิจารณาอยู่อย่างนี้แหละ จึงเรียกว่าเป็นผู้ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
เมื่อพากันเข้าใจอย่างนี้แล้ว แม้ว่าเราจะอยู่ที่ไหน
หากเราปฏิบัติลงไป เมื่อทำใจให้สงบลงได้ มันก็ถูกทาง
เมื่อจิตสงบแล้วพิจารณาสังขารนามรูปอันนี้ได้
เมื่อพิจารณาเห็นตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ก็ปล่อยวางไว้ตามสภาพ
ให้จิตใจมันรวมลงเป็นหนึ่งอยู่ตามเดิม
ก็รักษาความรู้ความเห็นอันนั้นไว้ อย่าให้มันเสื่อม ก็ถึงเรียกว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
เมื่อเราทำบุญกุศลคุณงามความดีมาโดยลำดับ จนมากถึงขั้นนี้ได้



โอ! ไม่ใช่ของง่าย เรียกว่า บุญกุศลแรงพอสมควร
กว่าจะบำเพ็ญมาถึงขั้นนี้ได้ ก็นับว่าบุญมากพอสมควรทีเดียว
ดังนั้นผู้ใดหากบำเพ็ญมาอย่างนี้ เกิดความรู้ ความเห็นขึ้นมาอย่างว่านี้
ก็พยายามรักษาความรู้ความเห็นอันนี้ไว้อย่าให้มันเสื่อม
ค่อยขยับไปทีละน้อย ทีละน้อย เมื่อมันรู้มันเห็นถูกทางแล้วนะ
ใจนี้หากเป็นกลาง ความรู้สึกอันนี้ มันจะรู้สึกเป็นกลางอยู่อย่างนั้น มันไม่ค่อยลำเอียง
แม้นว่ามันจะมีเรื่องไม่ดีไม่งาม เรื่องอะไรภายนอกมันกระทบกระทั่งมา ก็ไม่ค่อยตื่นเต้น
มันก็รับฟัง รับรู้ รับพิจารณา
ไม่ใช่ว่าไม่พิจารณาเรื่องภายนอกต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางตา เหล่านี้เป็นต้น
ก็รับพิจารณา พิจารณาแล้วมันก็ไม่นอกเหนือไปจากไตรลักษณ์



ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อมีความเกิดขึ้น มันก็ต้องมีความดับไปในที่สุด
สิ่งใดไม่เกิดสิ่งนั้นจึงจะไม่ดับ ให้สรุปลงเอาอย่างนี้นั่นละเป็นการดี
เมื่อหากว่าเรากำหนดได้อย่างนั้นนะ
จิตนี้มันก็จะคลายความยึดความถือในสังขารทั้งหลาย
คือว่าคลายความยึดถือสภาพที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาในโลกอันนี้
ได้แก่ นามธรรม รูปธรรมนั้นนะ เป็นธรรมภายในนะ
ภายนอกได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ ทั้งที่น่ายินดีก็มี ทั้งที่น่ายินร้ายก็มี
ของพวกนี้ล้วนแต่มีความเกิดขึ้น แล้วมีความแตกดับไปทั้งหมด
ก็ต้องเจริญปัญญา เจริญความเห็นอันนี้ให้มันแจ่มแจ้งขึ้นไปโดยลำดับ
พิจารณาของเก่านี้แหละ ไม่ใช่เป็นของใหม่ ธรรมะนี้นะเป็นของเก่าแท้ๆ
แม้เป็นของเก่า จิตก็ไม่รู้แจ้ง มันก็ยังหลงอยู่ เพราะอะไรล่ะ
เพราะเหตุว่าไม่ได้เจริญให้มาก ไม่ได้พิจารณาให้มาก มันถึงไม่เกิดความรู้ยิ่งขึ้นมาได้
เมื่อมันไม่รู้ยิ่ง มันก็ละไม่ได้ ปลงมันก็ปลงก็วางไม่ลง



ถ้าพิจารณาไม่ท้อไม่ถอย กำหนดจิตให้ตั้งมั่นลงไปแล้ว
ใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะอยู่นั้น ไม่ท้อไม่ถอยแล้ว
มันก็รู้เห็นแจ่มแจ้งขึ้นมาโดยลำดับ
ต้องอาศัยความพากเพียรพยายามนี่แหละ ไม่ท้อถอย
มันถึงเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ความเห็นจริง เพื่อความดับ เพื่อพระนิพพานโดยแท้จริง



ธรรมของจริงทั้งหลายไม่ใช่เป็นเรื่องเดาเอา
เป็นเรื่องทำจิตให้สงบ ผ่องใส สะอาด แล้วถึงจะรู้จริงเห็นแจ้งในธรรมของจริงขึ้นมาได้
เพราะฉะนั้นเราต้องทำจริงๆ
จิตก็มีดวงเดียวเท่านี้ไม่ใช่มีหลายดวง พากันรักษาเอาให้ได้
อย่าให้มันมีความเห็นผิดเกิดขึ้นมา ต้องบำเพ็ญความเห็นถูกให้ติดต่อกันไปเรื่อยๆ
ความเห็นถูกก็เห็นว่าทุกข์นั้นมีจริง
ทุกข์นั้นเป็นสิ่งควรกำหนดรู้เท่า ไม่ใช่ละ ละไม่ได้
ในเมื่อขันธ์ ๕ นี้มีอยู่ตราบใด ทุกข์ก็มีอยู่ตราบนั้น
ที่ทรงสอนให้ละนั้น คือละสมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ต่างหาก



สิ่งใดที่จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อทบทวนดูเห็นแจ้งในใจแล้ว ก็ปล่อยวางละออกไปเสีย
เมื่อเหตุเหล่านั้นดับไป ทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น นี่หมายเอาทุกข์ทางใจ
ดังนั้นควรศึกษาให้รู้ให้เข้าใจเรื่องเหตุให้เกิดทุกข์
การที่จะศึกษาให้รู้ได้ก็เพราะอาศัยบำเพ็ญข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์
แล้วก็ทาน ศีล ภาวนา ต้องบำเพ็ญให้พร้อมกันไป
มันจึงจะเกิดพลังคือความรู้ยิ่งขึ้นมาได้
ถ้าขาดไปเสียอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นไปไม่ได้
โดยเฉพาะขาดศีลกับสมาธิแล้ว ปัญญามันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย



ดังนั้นก็ต้องบำเพ็ญให้พร้อมกันไป
ควรสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่น
อันนี้นับว่าเป็นบทบาทเบื้องต้น ที่จะทำจิตให้เข้าถึงความสงบ



ในอันดับต่อไปก็เจริญปัญญา ดังอธิบายมาแล้วโดยลำดับนั้น
นับว่าเป็นบทบาทอันสำคัญในชีวิตเรา
ผู้ไม่มีบุญกุศลมากพอ ก็ไม่สามารถจะเจริญจิตภาวนาดังกล่าวมานี้ได้
ผู้ใดมีศรัทธาแรงกล้า สามารถบำเพ็ญจิตภาวนานี้ได้
ผู้นั้นนับว่าเป็นผู้มีลาภอันประเสริฐทีเดียว



เพราะว่าการบำเพ็ญจิตภาวนานี้
มันเป็นการบำเพ็ญใกล้ต่อความพ้นทุกข์ไปโดยลำดับ
ไม่ได้อยู่ห่างไกลจากความพ้นทุกข์
เนื่องจากว่าจิตนี้มีดวงเดียว แล้วอะไรๆ ก็จิตเป็นผู้สร้างทั้งหมด
กิเลสบาปธรรมต่างๆ ก็ดี เมื่อจิตไม่ชอบมันแล้ว กิเลสก็หมดไปๆ
สำคัญว่าทำอย่างไรจิตถึงจะเบื่อหน่ายต่อกิเลส
และกองทุกข์ต่างๆ ที่มีอยู่ในขันธ์ทั้ง ๕ อันนี้ อยู่ตรงนี้เอง



แต่คนส่วนมากมันไม่เบื่อหน่าย มันพอใจอยู่ในกิเลสและกองทุกข์
เหตุฉะนั้นมันจึงไม่ค่อยพากเพียร พยายามที่จะละเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้น
มีแต่สะสมตัณหาให้มากขึ้นโดยลำดับ



ในพระพุทธศาสนานี้ พระศาสดาทรงสอนให้ลงมือกระทำ
ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ แล้วกิเลสมันจะแห้งไป เหตุแห่งทุกข์มันจะดับไปเอง
โดยไม่ได้ทำความเพียรทางจิตใจ ไม่ได้ใช้ปัญญาสอนจิตให้ละเหตุนั้นๆ
เช่นนี้นั้น ไม่มีทางที่เหตุต่างๆ มันจะดับลงได้

มันต้องพากเพียรพยายามให้เห็นโทษของกิเลสบาปธรรมต่างๆ จริงๆ
เมื่อมันเห็นโทษแล้ว มันก็เบื่อหน่ายเท่านั้นเอง
แต่เมื่อมันยังไม่เห็นโทษ มันก็พอใจอยู่
มันก็พยายามสร้างกิเลสให้เกิดขึ้นในใจอยู่เรื่อยไป นับว่าสำคัญมาก



ดังนั้น ขอให้พากันตั้งอยู่ในอัปปมาทธรรม
คือ ความไม่ประมาท พยายามสำรวมใจนี้อยู่เสมอ

สำรวมในความอดทนเพ่งพินิจไว้ให้ได้
ความสำรวมนี้นับว่าพระศาสดาทรงบำเพ็ญมาแล้ว เป็นตัวอย่างของพุทธสาวกทั้งหลาย
ในฐานะที่เราเป็นพุทธสาวก เราก็ต้องพยายามดำเนินตามรอยของพระศาสดา
มันถึงจะพ้นจากทุกข์ไปได้



อันความเห็นผิดนี้ นับว่าเป็นบทบาทสำคัญมากั้นกลางไม่ให้คนเราพ้นจากทุกข์ไปได้
เหมือนอย่างคนเดินทางไปหลงทาง เรียกว่าเดินไปในทางที่ผิด
ไม่ใช่หนทางที่เราจะพึงไป แต่มันก็เฉไปทางผิด
มันก็ไม่ถึงจุดหมายปลายทางได้ง่ายๆ ต้องวกไปเวียนมาหลายรอบกว่าจะรู้หนทางที่ถูกต้อง
ถ้าผู้ไม่พยายามก็จะไปผิดทางเสียอย่างนี้



อันนี้ฉันใดก็ฉันนั้น ต้องพากเพียรพยายามเพ่งพินิจเข้ามาภายในให้มาก
สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ทวนกระแสจิตเข้ามาภายในนี่แหละ
มาเพ่งพินิจทั้งกลางวันกลางคืน ยืน เดิน นอน นั่ง
ทำธุรกิจการงานใดๆ ก็ดี อย่าไปลืมกายลืมจิต
อันนี้ต้องหมั่นทบทวนอยู่เสมอๆ ทบทวนให้ไตรลักษณญาณมันแจ่มแจ้งอยู่ในใจเสมอ
อันนี้นับว่าสำคัญมาก มันจะทำให้อริยมรรคนั้นแก่กล้าขึ้นไปโดยลำดับ
เพราะว่าผู้ปฏิบัติในอริยมรรคก็มุ่งหวังให้เกิดญาณความรู้แจ้งในสังขารธรรมทั้งปวง
นี่เองน่ะจุดสำคัญ



เมื่อมารู้แจ้งในสังขารธรรมทั้งปวงตามเป็นจริงแล้ว ก็จะปล่อยวาง
เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดควรถือ
เมื่อญาณความรู้เกิดขึ้นแล้ว มันจะมองเห็นแต่ของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน
เห็นแต่ความแปรผันอ่อนไหวแห่งสรรพสิ่งทั้งปวง
ทั้งภายในทั้งภายนอก ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด
อันใดก็มีสภาวะเหมือนกันหมด



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก “ความจริงของชีวิต” ใน วรลาโภวาท
ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพพระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP