จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ไหวพริบในการโต้เถียง


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



142 destination

 

เมื่อประมาณเดือนที่แล้ว มีญาติธรรมท่านหนึ่งได้ส่งข้อเขียนเรื่องหนึ่ง
เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้นำมาให้ผมอ่านทางไลน์กลุ่ม
โดยในข้อเขียนบอกว่า การเป็นผู้นำที่ดีต้องมีคุณสมบัติหลายอย่าง
เช่น ความรอบรู้ ความอดทน เป็นคนดี มีศีลธรรม ฯลฯ
แต่คุณสมบัติหนึ่งที่ผู้นำพึงมี ขาดเสียไม่ได้ คือ ไหวพริบกับการพูด
โดยข้อเขียนนี้ก็ได้ยกตัวอย่างเรื่องของท่านมหาตมะคานธีมาเล่าดังนี้ครับ


สมัยที่คานธีกำลังศึกษาวิชากฎหมายอยู่ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน
มีอาจารย์ผิวขาวคนหนึ่งชื่อปีเตอร์ ซึ่งเกลียดคานธีมาก
ทั้งเหยียดผิวและแสดงอาการไม่เป็นมิตรในทุกโอกาส
การที่คานธีไม่ก้มศีรษะในขณะที่อาจารย์คุยด้วย
ก็มีส่วนทำให้เกิดการปะทะคารมระหว่างกันบ่อย ๆ


วันหนึ่ง ในขณะที่อาจารย์กำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย
คานธีเดินถือถาดอาหารผ่านมา และนั่งลงข้าง ๆ อาจารย์
อาจารย์จึงพูดว่า “คุณคานธี คุณไม่เข้าใจเลยนะ
หมูกับนกจะนั่งกินอาหารด้วยกันไม่ได้หรอก”
คานธีมองอาจารย์แบบผู้ใหญ่มองเด็กดื้อแล้วตอบว่า
“ไม่มีปัญหา ผมบินไปให้พ้นก็ได้ครับ” ว่าแล้วคานธีก็ยกถาดเดินไปนั่งที่โต๊ะอื่น
อาจารย์โกรธจนหน้าแดง และตั้งใจว่าสอบคราวหน้า จะหาทางเอาคืนให้ได้


แต่ปรากฏว่าคานธีตอบถูกหมดทุกข้อ อาจารย์ไม่พอใจและหงุดหงิด จึงถามคานธีว่า
“คุณเจอกล่อง ๒ ใบ ใบนึงมีความรู้ และอีกใบนึงมีเงินจำนวนมาก คุณจะเลือกใบไหน”
คานธีตอบโดยไม่ลังเลว่า จะเลือกใบที่มีเงินจำนวนมาก
อาจารย์ยิ้มเยาะและพูดประชดประชันว่า
“ถ้าผมเป็นคุณ ผมจะเลือกใบที่มีความรู้ น่าจะเหมาะสมมากกว่านะ”


คานธียักไหล่ และตอบอาจารย์ว่า “คนเรามักจะเลือกในสิ่งที่ตนเองไม่มี”
มาถึงตอนนี้อาจารย์หงุดหงิดเต็มทีและอารมณ์เสียมาก
จึงเขียนคำว่า “ไอ้โง่” ลงบนกระดาษข้อสอบของคานธี
คานธีนำกลับไปอ่านที่โต๊ะ และสงบสติอารมณ์คิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ไม่กี่นาทีต่อมา คานธีลุกขึ้นและเดินไปที่โต๊ะอาจารย์
เขาพูดอย่างมีศักดิ์ศรี แต่แอบประชดอย่างสุภาพว่า
“อาจารย์ครับ อาจารย์เซ็นซื่อแล้ว แต่ยังไม่ได้ให้คะแนนผมครับ”
(ข้อความก็จบลงเพียงเท่านี้นะครับ)


เวลาเราอ่านข้อเขียนเรื่องนี้ บางท่านอาจจะรู้สึกชื่นชอบการโต้เถียงในลักษณะนี้
เพราะแสดงให้เห็นถึงความมีไหวพริบในการโต้เถียงระหว่างกัน
และก็ได้ความสะใจที่คานธีสามารถพูดจาตอบโต้อาจารย์ให้เงิบได้
แต่หากเราจะบอกว่าความมีไหวพริบในการโต้เถียงในลักษณะนี้
จะถือว่าเป็นคุณสมบัติของผู้นำแล้ว โดยส่วนตัวแล้ว ผมเองยังไม่เห็นด้วยนะครับ
เพราะว่า ๑. การโต้เถียงกันในรูปแบบนี้ มีแต่สร้างความอาฆาตพยาบาทกัน
และไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ระหว่างอาจารย์และคานธีดีขึ้นแต่อย่างใด
๒. คนที่คานธีโต้เถียงด้วยนั้นเป็นครูอาจารย์ที่ให้ความรู้แก่คานธี
โดยคานธีเป็นผู้เรียนและรับความรู้จากอาจารย์
ซึ่งหากมองในแง่ของคุณธรรมในเรื่องความกตัญญูแล้ว
คานธีย่อมไม่สมควรจะไปโต้ตอบอาจารย์ในลักษณะดังกล่าวนั้น
แม้ว่าอาจารย์อาจจะใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมกับคานธีก่อนก็ตาม


หากเราจะเปรียบเทียบความสำคัญในเรื่องคุณสมบัติของผู้นำ
ระหว่างคุณธรรมจริยธรรม และไหวพริบในการโต้เถียงให้คนอื่นเจ็บแค้นแล้ว
คุณธรรมจริยธรรมย่อมมีความสำคัญกว่าอย่างไม่ต้องสงสัยนะครับ
ดังนี้แล้ว เวลาที่เราพบเห็นว่าใครบางคนสามารถโต้แย้งเก่ง เถียงให้เจ็บแสบเก่ง
ย่อมไม่ได้แปลว่าเนื้อหาในสิ่งที่เขาโต้เถียงนั้นจะต้องมีคุณธรรมด้วย
และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาคนนั้นจะมีคุณสมบัติสมควรเป็นผู้นำ


ในเรื่องของการโต้เถียงกันนี้ หากเราสามารถเลือกพูดได้
เราก็ควรเลือกที่จะพูดในเชิงที่จะไม่ทำให้เขาพยาบาทดีกว่า
โดยสามารถอธิบายด้วยเหตุผลและคุณธรรมจะเหมาะสมกว่าการโต้เถียงให้เจ็บแสบ
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติอาจารย์บอกเราว่า หมูกินข้าวกับนกไม่ได้
เราก็สามารถชี้แจงอธิบายได้ว่า ทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน
แต่จะแตกต่างกันว่าใครจะเป็นคนดีหรือไม่ดีนั้น อยู่ที่การกระทำ
ไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด สัญชาติ หรือผิวพรรณ
หรือหากอาจารย์ถามว่า เราจะเลือกกล่องใส่ความรู้ หรือกล่องใส่เงิน
เราก็ตอบได้ว่าเรามีความรู้เยอะแล้วเพราะได้เรียนกับอาจารย์ เราจึงเลือกกล่องใส่เงิน
หรืออาจารย์เขียนด่าเราว่า “ไอ้โง่” เราก็สามารถให้อภัย และไม่ถือโทษโกรธอาจารย์ได้
และไปขอให้อาจารย์เขียนคะแนนให้เรา โดยไม่ต้องไปด่าอาจารย์กลับก็ได้
หรือก็อาจมีวิธีการพูดหรือเจรจาอื่น ๆ อีกมาก โดยไม่จำเป็นต้องทะเลาะกันครับ


อย่างในยุคสมัยนี้ เราก็อาจจะได้พบว่ามีเด็กบางคนเถียงผู้ใหญ่เก่งนะครับ
โดยผู้ใหญ่บางคนก็ชื่นชอบว่าเด็กฉลาด รู้จักเถียง หรือเถียงเก่ง
แต่อาจจะลืมพิจารณาไปว่าการเถียงเก่งนั้น เป็นประโยชน์แก่เด็กหรือไม่
และการเถียงนั้นมีคุณธรรมจริยธรรมหรือเปล่า
ทั้งที่การเถียงหรือปรามาสพ่อแม่เก่ง หรือการเถียงหรือปรามาสครูบาอาจารย์เก่งนี้
อาจจะเป็นสิ่งที่ทำลายตัวเด็กอย่างแรง เพราะอาจเป็นการก่ออกุศลกรรมหนักก็ได้
ดังนี้แล้ว กรณีที่โต้เถียงเก่ง ด่าเก่ง ปรามาสเก่งนี้ อาจจะไม่ใช่พรสวรรค์นี้นะครับ
แต่อาจจะเป็นพรนรก คือช่วยให้เราสร้างอกุศลกรรมได้โดยง่ายก็ได้


(หมายเหตุ - กรณีที่ท่านมหาตมะคานธีเถียงกับอาจารย์สมัยที่ยังเป็นหนุ่มเรียนที่อังกฤษนี้
เป็นเพียงเกร็ดเล็กน้อย ไม่ใช่สาระสำคัญ
และไม่ได้เป็นคุณธรรมหรือเป็นสิ่งที่ทำให้หลาย ๆ คนนับถือท่านนะครับ
ส่วนสำคัญที่เป็นคุณธรรมหรือเป็นสิ่งที่ทำให้หลาย ๆ คนนับถือท่านนั้น
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ท่านเรียนจบแล้ว
และท่านได้มานำประชาชนต่อสู้กับสหราชอาณาจักร โดยวิธีอหิงสา
รวมถึงการห้ามสงครามกลางเมืองระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิม ด้วยวิธีอหิงสาเช่นกัน
โดยขอท่านผู้อ่านกรุณาอย่านำเพียงเรื่องในข้อเขียนที่เล่ามานี้
มาพิจารณาชี้วัดท่านมหาตมะคานธีนะครับ
เพราะเรื่องเล่าดังกล่าวนี้ ไม่ใช่สาระสำคัญของท่านดังที่กล่าวแล้ว)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP