จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

อนุโมทนาบาป


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


141 destination


เมื่อไม่นานมานี้ หลายท่านคงได้เห็นข่าวการพิพากษาลงโทษ
คนร้ายที่ข่มขืนเด็กคนหนึ่งบนรถไฟ
แล้วจับเด็กนั้นโยนออกมาจากรถไฟทำให้เด็กถึงแก่ความตาย
โดยศาลได้พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตคนร้ายรายนี้
ผมได้อ่านข่าว และได้อ่านความเห็นที่เกี่ยวกับข่าวนี้แล้ว
เห็นว่าบางความเห็นก็แสดงความเห็นไปในทางยินดี พึงพอใจหรือสะใจ
ที่คนร้ายรายนี้โดนลงโทษประหารชีวิตจากการกระทำความผิดในกรณีนี้


บางท่านอาจจะถามว่าแล้วเราไม่ควรยินดี พึงพอใจ หรือสะใจหรืออย่างไร
หรือเราไม่ควรเห็นด้วยกับการลงโทษตามคำพิพากษาหรอกหรือ?
ในอันที่จริงแล้ว การที่เราเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาล
ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องยินดี พึงพอใจ หรือสะใจในการลงโทษประหารชีวิตไปด้วย
เพราะการที่เรายินดี พึงพอใจหรือสะใจในเรื่องปาณาติบาตนั้น
ก็ย่อมจะทำให้เราเกิดอกุศลหรือถือว่าเป็นการสร้างบาปอกุศลได้เช่นกัน


ทุกท่านคงเคยได้ยินคำว่า “อนุโมทนาบุญ” กันอยู่บ่อย ๆ นะครับ
ในกรณีที่เรายินดี พึงพอใจ หรือสะใจในเรื่องบาปอกุศลก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
กล่าวคือย่อมถือว่าเป็นการ “อนุโมทนาบาป” ได้เช่นกัน
อย่างเรื่อง “อนุโมทนาบุญ” ถือเป็นการทำบุญวิธีการหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐
การที่เราไปยินดี พึงพอใจ หรือสะใจที่ทราบว่าใครเขาโดนฆ่า
นั่นก็ถือว่าได้เป็น “พยาบาท” หรือเข้าข่าย “ปาณาติบาต” ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้เช่นกัน


บางท่านอาจจะสงสัยว่าอกุศลกรรมที่เกิดจากการยินดี พึงพอใจ หรือสะใจ
ที่ได้เห็นเขาฆ่ากันตาย หรือในปาณาติบาตนี้ จะให้ผลกรรมมากน้อยเพียงไหน
ผมขอยกเรื่องบุพกรรมในอดีตของพระโพธิสัตว์มาเปรียบเทียบนะครับ
ในสมัยพุทธกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาพาธที่ศีรษะ คือมีเวทนาที่ศีรษะ
ซึ่งมีเหตุเกิดจากกรรมในสมัยอดีตกาลที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่
โดยมีอยู่ในพระชาติหนึ่งที่พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นชาวประมงในหมู่บ้านชาวประมง
อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์นั้นกับพวกบุรุษชาวประมงได้ไปยังที่ที่ฆ่าปลา
และได้เห็นปลาทั้งหลายตาย แล้วได้ทำโสมนัสให้เกิดขึ้นในเรื่องที่ปลาตายนั้น
แม้เหล่าบุรุษชาวประมงที่ไปด้วยกันก็ทำความโสมนัสให้เกิดขึ้นอย่างนั้นเหมือนกัน


ด้วยอกุศลกรรมนั้น พระโพธิสัตว์ได้เสวยทุกข์ในอบายทั้ง ๔
และในอัตภาพท้ายสุดนี้ แม้จะได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าโดยลำดับแล้ว
ก็ยังได้เสวยความเจ็บป่วยที่ศีรษะด้วยพระองค์เอง
ส่วนบุรุษชาวประมงที่ไปด้วยกันและยินดีด้วยกันนั้น ได้บังเกิดในตระกูลศากยะด้วยกัน
และเจ้าศากยะเหล่านั้นถึงความพินาศกันหมดในสงครามของเจ้าวิฑูฑภะ


ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า
เราเป็นลูกชาวประมงในหมู่บ้านชาวประมง เห็นปลาทั้งหลายถูกฆ่า
ได้ยังความโสมนัสดีใจให้เกิดขึ้น
เพราะวิบากของกรรมนั้น ความทุกข์ที่ศีรษะได้มีแก่เราแล้ว
ในคราวที่เจ้าวิฑูฑภะฆ่าสัตว์ทั้งหมด (คือเจ้าศากยะ) แล้ว
(พระสุตันตปิฎก อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๑. พุทธาปทาน ปัญหาข้อที่ ๙)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=1&p=11#ปัญหาข้อที่_๙


ในเรื่องบุพกรรมในอดีตของพระโพธิสัตว์ที่ยกมาข้างต้นนั้น
เพียงแค่ยินดีในการที่ได้เห็นเขาฆ่าปลา ก็ยังต้องไปอบายภูมิทั้ง ๔
และได้รับผลกรรมอื่น ๆ ถึงเพียงนี้
แล้วหากว่าเราได้ทราบถึงการฆ่าคนแล้ว เรายินดีพอใจในเรื่องดังกล่าว
เราจะได้รับผลกรรมเพียงไหน
กรณีคงไม่ต้องกล่าวถึงการที่ลงมือฆ่าปลาเอง หรือสั่งให้ฆ่าปลา
หรือลงมือฆ่าคนเอง หรือสั่งให้ฆ่าคนนะครับ
ผลกรรมก็ย่อมจะหนักหน่วงว่าเพียงยินดีหรือพึงพอใจในบาปอกุศลนั้นมากมาย


ดังนี้แล้ว เวลาที่ได้พบเห็นหรือได้ทราบอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องปาณาติบาต
หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องผิดศีล
แล้วเรารู้สึกยินดีพอใจในเรื่องดังกล่าวนั้น ก็พึงระมัดระวังนะครับว่า
เราพลาดไปอนุโมทนาบาปเข้าเสียแล้ว และก็ย่อมเป็นอกุศลกรรมแก่เราเอง


บางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วจะให้ทำใจอย่างไร?
ผมเห็นว่าเราสามารถเห็นด้วยกับคำพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตได้

แต่ให้ระมัดระวังว่า เราไม่ควรยินดีพอใจในการที่เขาจะฆ่ากัน หรือใครจะโดนฆ่า
ในทางกลับกัน เราพึงถืออุเบกขาไว้ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
หรือไม่เราก็เจริญเมตตาว่า เขาเป็นสัตว์ร่วมโลกที่พลาดทำกรรมไม่ดี
และกำลังจะได้รับผลแห่งกรรมไม่ดีนั้นเราก็แผ่เมตตาให้เขาไป
ก็จะเป็นการปลอดภัยแก่เราเองมากกว่าการสร้างพยาบาทในใจเรานะครับ




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP