ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

อวกุชชิตสูตร ว่าด้วยผู้มีปัญญา ๓ จำพวก


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[๔๖๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ นี้ มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๓ เป็นไฉน คือ
บุคคลมีปัญญาดังหม้อคว่ำ บุคคลมีปัญญาดังหน้าตัก บุคคลมีปัญญามาก

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลมีปัญญาดังหม้อคว่ำเป็นอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักภิกษุทั้งหลายเนือง ๆ
ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนแก่บุคคลนั้น
เขานั่ง ณ ที่นั่งนั้น ไม่ใส่ใจทั้งเบื้องต้น ไม่ใส่ใจทั้งท่ามกลาง
ไม่ใส่ใจทั้งที่สุด แห่งกถานั้น แม้ลุกไปจากที่นั่งนั้นแล้ว
ก็ไม่ใส่ใจทั้งเบื้องต้น ไม่ใส่ใจทั้งท่ามกลาง ไม่ใส่ใจทั้งที่สุด แห่งกถานั้น
เปรียบเหมือนหม้อคว่ำ น้ำที่บุคคลราดลงไปบนหม้อนั้น ย่อมไหลไป ไม่ขังอยู่ฉันใด
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักภิกษุทั้งหลายเนือง ๆ
ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนแก่บุคคลนั้น
เขานั่ง ณ ที่นั่งนั้น ไม่ใส่ใจทั้งเบื้องต้น ไม่ใส่ใจทั้งท่ามกลาง
ไม่ใส่ใจทั้งที่สุด แห่งกถานั้น แม้ลุกไปจากที่นั่งนั้นแล้ว
ก็ไม่ใส่ใจทั้งเบื้องต้น ไม่ใส่ใจทั้งท่ามกลาง ไม่ใส่ใจทั้งที่สุด แห่งกถานั้น ฉันนั้น

ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า บุคคลมีปัญญาดังหม้อคว่ำ

ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลมีปัญญาดังหน้าตักเป็นอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักภิกษุทั้งหลายเนือง ๆ
ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนแก่บุคคลนั้น
เขานั่ง ณ ที่นั่งนั้น ใส่ใจทั้งเบื้องต้น ใส่ใจทั้งท่ามกลาง ใส่ใจทั้งที่สุด แห่งกถานั้น
ลุกจากที่นั่งนั้นแล้ว ไม่ใส่ใจทั้งเบื้องต้น ไม่ใส่ใจทั้งท่ามกลาง ไม่ใส่ใจทั้งที่สุด แห่งกถานั้น
เปรียบเหมือนของเคี้ยวต่าง ๆ วางรายอยู่บนหน้าตักของคน
เช่น งา ข้าวสาร แป้ง พุทรา คนนั้นเผลอตัวลุกขึ้นจากที่นั่งนั้น
(ของเคี้ยวนั้น) ก็ตกเกลื่อนไป ฉันใด
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักภิกษุทั้งหลายเนือง ๆ
ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนแก่บุคคลนั้น
เขานั่ง ณ ที่นั่งนั้น ใส่ใจทั้งเบื้องต้น ใส่ใจทั้งท่ามกลาง ใส่ใจทั้งที่สุด แห่งกถานั้น
ลุกจากที่นั่งนั้นแล้ว ไม่ใส่ใจทั้งเบื้องต้น ไม่ใส่ใจทั้งท่ามกลาง
ไม่ใส่ใจทั้งที่สุด ฉันนั้น

ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า บุคคลมีปัญญาดังหน้าตัก

ภิกษุทั้งหลาย ก็แล บุคคลมีปัญญามากเป็นอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักภิกษุทั้งหลายเนือง ๆ
ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
เขานั่ง ณ ที่นั่งนั้น ใส่ใจทั้งเบื้องต้น ใส่ใจทั้งท่ามกลาง ใส่ใจทั้งที่สุด แห่งกถานั้น
แม้ลุกไปจากที่นั่งนั้นแล้ว ก็ใส่ใจทั้งเบื้องต้น ใส่ใจทั้งท่ามกลาง ใส่ใจทั้งที่สุด แห่งกถานั้น
เปรียบเหมือนหม้อหงาย น้ำที่บุคคลเทลงไปในหม้อนั้น ย่อมขังอยู่ ไม่ไหลไป ฉันใด
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักภิกษุทั้งหลายเนือง ๆ
ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนแก่บุคคลนั้น
เขานั่ง ณ ที่นั่งนั้น ใส่ใจทั้งเบื้องต้น ใส่ใจทั้งท่ามกลาง ใส่ใจทั้งที่สุด แห่งกถานั้น
แม้ลุกไปจากที่นั่งนั้นแล้ว ก็ใส่ใจทั้งเบื้องต้น ใส่ใจทั้งท่ามกลาง
ใส่ใจทั้งที่สุด แห่งกถานั้น ฉันนั้น

ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า บุคคลมีปัญญามาก

ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ นี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก.


นิคมคาถา  

คนมีปัญญาดังหม้อคว่ำ โง่เขลา ไร้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
แม้หากไป (ฟังธรรม) ในสำนักภิกษุทั้งหลายเนือง ๆ
คนเช่นนั้นก็ไม่อาจเรียนเอาเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่ง (ธรรม) กถาได้
เพราะปัญญาของเขาไม่มี.

 

คนมีปัญญาดังหน้าตัก เรากล่าวว่าดีกว่าคนมีปัญญาดังหม้อคว่ำนั่น
ถ้าแม้ไป (ฟังธรรม) ในสำนักภิกษุทั้งหลายเนืองๆ
คนเช่นนั้นนั่ง ณ ที่นั่งนั้น เรียนพยัญชนะ ทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลาง ทั้งที่สุด
แห่ง (ธรรม) กถานั้น ลุกไปแล้วไม่รู้ เพราะความจำของเขาฟั่นเฟือน.

ส่วนคนมีปัญญามาก เรากล่าวว่าดีกว่าคนมีปัญญาดังหน้าตักนั่น
ถ้าแม้ไป (ฟังธรรม) ในสำนักภิกษุทั้งหลายเนือง ๆ
คนเช่นนั้นนั่ง ณ ที่นั่งนั้น เรียนพยัญชนะได้ทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลาง ทั้งที่สุด
แห่ง (ธรรม) กถา แล้วทรงจำไว้ได้ เป็นคนมีความดำริประเสริฐ
มีใจไม่เคลือบแคลง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พึงกระทำที่สุดทุกข์ได้.


อวกุชชิตสูตร จบ


(อวกุชชิตสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)
 



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP