กระปุกออมสิน Money Literacy

ออมเงินเดือนละพัน มันจะถึง ๑ ล้านบาทได้ไหม?


Mr.Messenger
สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger



             ฝันอันยิ่งใหญ่ของใครหลายคน ก็มีจุดกำเนิดเริ่มต้นมาจากก้าวเล็กๆด้วยกันทั้งนั้น นั่นคือคำกล่าวของผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

             เพราะฉะนั้น กับคำถามที่ว่า ออมเงินเดือนละพัน มันจะถึง ๑ ล้านบาทได้ไหม? นั้น คำตอบคือ ย่อมได้ครับ

             เงินล้าน สำหรับชนชั้นกลาง ดูจะเป็นจำนวนที่ไม่น้อย แต่ก็เป็นจำนวนที่คนส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายเอาไว้สำหรับเป็นหลักไมล์แรกในการก้าวเดินต่อไปในอนาคต ก้าวแรกนี่ล่ะครับที่แสนจะสำคัญ หากเริ่มต้นผิด วางแผนไม่ดี ก็มีสิทธิเดินผิดทาง กลายเป็นว่า เป้าหมายที่ใหญ่กว่า มันต้องพังทลายลงไปทั้งหมด

             ผู้อ่านบางคนอาจมองว่าเป็นไปได้ยากเหลือเกินที่จะเก็บเงินเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท แล้วหวังว่า มันจะไปแตะถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซักวัน นั้นเป็นเพราะท่านยังไม่เคยตั้งใจมองมันจริงๆต่างหาก บทความนี้ ผมตั้งใจจะทำให้คุณผู้อ่านเห็นว่า มันไม่มีอะไรยากหรอกครับ เราแค่ต้องการปัจจัยบางอย่างเท่านั้นที่จะทำมันให้ได้

             ถ้าสมมติ เก็บเงินเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท โดยนำไปฝากธนาคารกินดอกเบี้ยขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ที่ร้อยละ ๐.๖๕ ละก็ เงินของเราจะไปแตะหลักล้านก็ปาเข้าไปปีที่ ๖๖ ทีเดียว ดังนั้น จะไปถึงหลักล้านได้ ต้องไม่ใช่ฝากธนาคารแล้วครับ


ขั้นตอนการวางแผนไปถึงหลักล้าน หากเก็บเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท มี ๔ ขั้นตอน ดังนี้


๑.     วางกรอบระยะเวลาที่ต้องการออมในระยะยาวไว้

๒.     คำนวณหาผลตอบแทนคาดหวัง

๓.     ค้นหาสินทรัพย์ที่จะทำให้เงินออมของเราโตตามเป้าหมาย

๔.    ลงมือออมทุกเดือน ห้ามสนใจความผันผวนระหว่างทาง


สมมตินะครับ ผมต้องการเก็บเงินเดือน ๑,๐๐๐ บาท เป็น ระยะเวลา ๑๐ ปี คำนวณผลตอบแทนคาดหวัง โดยใช้สูตร


138 money1



แทนค่าดังนี้

FV      = เป้าหมายเงินออม ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท

PMT    = เงินออมเดือนละ -๑,๐๐๐ บาท

i         = อัตราผลตอบแทนคาดหวัง (คือ ตัวแปรที่เราต้องการหา)

n        = จำนวนเดือนที่เราต้องการออม ณ ที่นี้คือ ๑๐ ปี คูณ ๑๒ เดือน เท่ากับ ๑๒๐ เดือน

ซึ่งสามารถคำนวณใน Microsoft Excel ได้ตามนี้ครับ

          =RATE(๑๒๐,-๑๐๐๐,๐,๑๐๐๐๐๐๐)

ผลลัพธ์ที่ได้คือ เราต้องออมเงิน และเงินที่ออม จะต้องได้ผลตอบแทนเท่ากับ ร้อยละ ๒.๘๖ ต่อเดือน หรือ ร้อยละ ๓๔ ต่อปี นั่นเอง

ประเด็นคือ ร้อยละ ๓๔ ต่อปี ถือว่าเป็นไปไม่ได้เลยครับ เพราะนักลงทุนระดับโลกอย่างวอร์เรน บัฟเฟต และจอร์จ โซรอส เขายังทำผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวได้ไม่เกินร้อยละ ๒๘ เลยด้วยซ้ำ นั้นแปลว่า เป้าหมายที่ผมตั้งไว้นั้น เป็นไปไม่ได้ ณ ตอนนี้

ดังนั้น สิ่งที่ผมสามารถทำได้หลังจากนี้ก็มีสองอย่างคือ เลือกระหว่าง เพิ่มจำนวนเงินออมต่อเดือน หรือ ยืดระยะเวลาการมีเงินล้านออกไป หรือ ปรับมันทั้งสองอย่างเลยก็ได้



ตารางด้านล้างนี้ หวังว่า จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านนะครับ

โดยในตารางจะแสดงให้เห็นว่า ที่อัตราผลตอบแทนแต่ละช่วง และจำนวนเงินออมตั้งแต่ ๑,๐๐๐ บาท ไปจนถึง ๓,๐๐๐ บาทต่อเดือนนั้น เราจะใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่ ถึงจะได้เงินล้านในบัญชีกับเขา

ยกตัวอย่างเช่น ผมตั้งใจจะออมเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท โดยคาดว่า จะเอาไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ ๑๒ ต่อปี จากตารางก็จะพบว่า เงินออมผมจะกลายเป็น ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ณ ปีที่ ๒๐ หลังจากนี้นั้นเอง


138 money2


             ลองสำรวจเป้าหมายของคุณ กับความเป็นไปได้ดูนะครับ ถ้าพอเห็นทางเมื่อไหร่ ก็เหลือขั้นตอนสุดท้าย นั้นก็คือ ลงมือทำซะ ออมอย่างมีวินัย ไม่ขาดตกบกพร่อง นั้นคือ เคล็ดลับของความสำเร็จ ไม่ว่าคุณจะทำเรื่องอะไรก็ตาม อย่างที่ครูบาอาจารย์พระป่าท่านว่าไว้นะครับ ขยันก็ปฏิบัติ ขี้เกียจก็ปฏิบัติ ทำมันไปเรื่อยๆ นิพพานก็อยู่ไม่ไกล



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP