จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

อย่าเจ็บ อย่าจน


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



138 destination



เมื่อเดือนที่แล้ว ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งในเรื่องคำอวยพร
โดยที่ในสมัยนี้ เราอาจจะเคยได้ยินบางท่านอวยพรว่า “อย่าเจ็บ อย่าจน”
(บางทีก็อาจจะเพิ่มด้วยว่าขอให้มีแต่รวย ๆ ๆ)
ไม่ว่าเป็นการอวยพรโดยพระภิกษุ หรือฆราวาสก็ตาม

โดยได้สนทนากันว่าเราควรจะยึดถือคำอวยพรดังกล่าวได้เพียงใด


ผมได้ให้ความเห็นว่าคำอวยพรดังกล่าว ถ้าแปลความหมายตรง ๆ แล้ว
ก็เป็นสิ่งที่ฝืนกับความเป็นจริง และไม่ตรงกับพระธรรมคำสอน
เราลองพิจารณาคำว่า “อย่าเจ็บ” ก่อนนะครับ
ใน “สุขุมาลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
“ปุถุชนเป็นผู้มีความป่วยไข้ ความแก่ และความตายเป็นธรรมดา
มีอยู่ตามธรรมดา แต่พากันรังเกียจ
ก็การที่เราพึงรังเกียจความป่วยไข้ ความแก่ และความตายนี้
ในหมู่สัตว์ซึ่งมีธรรมดาอย่างนี้ ข้อนั้นไม่สมควรแก่เราผู้มีปรกติอยู่เช่นนี้”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=3773&Z=3826


นอกจากนี้ ใน “ฐานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
ได้สอนให้เราพิจารณาเนือง ๆ ว่า
เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
เพราะเหตุที่ว่าความมัวเมาในความไม่มีโรคมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย
และเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
แต่เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ
ย่อมละความมัวเมาในความไม่มีโรคนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=1649&Z=1741


เช่นนี้แล้ว เราจึงจะเห็นได้ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
เราเป็นผู้มีความป่วยไข้เป็นธรรมดา
และให้เราพิจารณาเนือง ๆ ว่าเรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
ซึ่งแม้แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเองก็ยังทรงประชวรได้เช่นกัน
แต่บางท่านที่เป็นสาวกกลับอวยพรกันว่า “อย่าเจ็บ”


ในส่วนของคำว่า “อย่าจน” นั้น
ใน “โลกธรรมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
ได้สอนว่า “โลกธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลก
และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑
ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ .....
ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑
ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑
เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว
พิจารณาเห็นว่ามีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ .....”


ดังนี้ โดยสภาพของโลกแล้ว เมื่อมีลาภ ก็ย่อมเสื่อมลาภ
เราจะไปบังคับว่า “จงอย่าเสื่อมลาภ” หรือ “จงอย่าจน” ย่อมเป็นการฝืนโลก
เพราะธรรมเหล่านี้มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา


ทีนี้ แม้ว่าจะมีความเห็นเช่นที่กล่าวมาข้างต้นก็ตาม
แต่ผมไม่แนะนำให้ท่าน ๆ ไปคัดค้านหรือโต้แย้งในเรื่องการอวยพรดังกล่าวนะครับ
เพราะเราพึงเข้าใจสภาพการณ์ในปัจจุบันที่ว่า
โยมจำนวนมากชื่นชอบและต้องการให้อวยพรทำนองดังกล่าว
ยกตัวอย่างสมมุติว่า มีโยมคนหนึ่งใส่บาตรให้พระภิกษุรูปหนึ่ง
แล้วพระภิกษุรูปนั้นให้พรว่า “โยมมีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา
มีความตายเป็นธรรมดา โยมจงระลึกถึงความแก่ ความเจ็บ ความตายไว้นะโยม”
เห็นว่ากรณีย่อมอาจจะเป็นเหตุให้พระภิกษุรูปนั้นต้องมีปัญหากับโยมคนนั้นก็ได้
ดังนี้ หากมีท่านใด ๆ จะให้พรแก่เราเช่นนั้นก็ตาม เราก็พึงรับไว้ได้ครับ
โดยอาจจะมองว่าเป็นธรรมเนียมในสังคม หรือเป็นความปรารถนาดีก็ได้
เพียงแต่เราไม่ควรฝากความหวังว่า เราจะไม่เจ็บ หรือจะไม่จน ดังเช่นพรนั้น
และก็ไม่ควรไปหลงหมกมุ่นในความไม่ป่วย หรือความไม่จนนั้น
แต่ในทางกลับกัน เราพึงระลึกว่าเรามีความเจ็บ ความแก่ และความตายเป็นธรรมดา


หรือยกตัวอย่างว่าเวลาเราไปร่วมงานแต่งงานและเขียนอวยพรในสมุดอวยพร
เรา ๆ ท่าน ๆ ก็คงเขียนอวยพรในสิ่งดี ๆ ประเภทว่าขอให้มีความสุขความเจริญ
หรือคิดหวังสิ่งใดให้สมปรารถนา ทำนองนั้น
เราคงไม่ได้เขียนอวยพรว่ามีลาภ เสื่อมลาภ มีสุข ก็มีทุกข์ ดังเช่นโลกธรรม
เพราะว่าเจ้าภาพน่าจะต้องการได้เห็นคำอวยพรที่ทำให้รู้สึกดีมากกว่า
ฉะนั้นแล้ว “อย่าเจ็บ อย่าจน” นี้ก็เป็นทำนองเดียวกันครับ
ว่าคนรับพรส่วนใหญ่ได้ฟังแล้วย่อมรู้สึกดี (บางท่านอาจจะรู้สึกเฉย ๆ)
ส่วนว่าจะเป็นจริงหรือไม่ หรือเป็นไปได้แค่ไหน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง



ญาติธรรมที่สนทนาด้วยกับผมได้ให้ความเห็นว่า
เขาเห็นว่าพรดังกล่าวมักจะให้ภายหลังจากการให้ทาน หรือถวายทาน
ซึ่งการให้ทานหรือถวายทานก็ย่อมจะส่งผลให้เราไม่เจ็บ และไม่จนในอนาคตได้

ในส่วนนี้ ผมเห็นว่าเราก็น่าจะต้องพิจารณาเป็นส่วน ๆ ไปนะครับ
เริ่มต้นด้วยในส่วนของคำว่า “อย่าเจ็บ”
ถามว่าการให้ทานจะช่วยให้เราไม่เจ็บป่วยได้ไหม?
ใน “ทานานิสังสสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
ได้กล่าวถึง อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการนี้ ได้แก่
ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก ๑
สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน ๑
กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป ๑
ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์ ๑
ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=887&Z=899&pagebreak=0
โดยอานิสงส์แห่งการให้ทานไม่ได้รวมถึงการช่วยไม่ให้เจ็บป่วยนะครับ


ใน “จูฬกัมมวิภังคสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)
ได้สอนว่า ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา
เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้
หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคมาก
ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคมากนี้ คือ
เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา


ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา
เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้
หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคน้อย
ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคน้อยนี้ คือ
เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=14&A=7623&Z=7798&pagebreak=0


ฉะนั้นแล้ว ใน “จูฬกัมมวิภังคสูตร” สอนว่าเหตุที่ทำให้มีโรคมากหรือโรคน้อยนั้น
ขึ้นอยู่กับศีลในข้อปาณาติบาต โดยหากปกติเบียดเบียนสัตว์อื่น ก็จะทำให้มีโรคมาก
แต่หากปกติไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นแล้ว ก็จะทำให้มีโรคน้อย
ดังนั้นแล้ว การที่ไปให้ทานย่อมจะไม่ได้มีผลช่วยทำให้มีโรคน้อย
และพึงสังเกตว่าใน “จูฬกัมมวิภังคสูตร” ไม่ได้ใช้คำว่า “ไม่ป่วย” หรือ “ไม่มีโรค” นะครับ
แต่ใช้คำว่า “มีโรคน้อย” ซึ่งแตกต่างจาก “ไม่มีโรค” หรือ “อย่าเจ็บ”


นอกจากนี้แล้ว กรณีก็ย่อมจะขึ้นกับกรรมในปัจจุบันของเราเองด้วย
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราให้ทาน หรือถวายทานมากมาย
แต่ว่าเราทานอาหารเสียสุขภาพเป็นประจำ แถมยังดื่มสุรา สูบบุหรี่
พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย และใช้ชีวิตด้วยความเครียดตลอด
ซึ่งแม้ว่าเราจะถวายทานมากมายอย่างไรก็ตาม
แต่ในเมื่อเราสร้างเหตุที่จะทำให้เราเจ็บป่วยเสียแล้ว
เราก็ย่อมจะเจ็บป่วยตามเหตุและปัจจัยที่เราได้สร้างขึ้นมาครับ


ในส่วนของคำว่า “อย่าจน” นั้น ก็ถือว่าใกล้เคียงครับ
เพราะใน “จูฬกัมมวิภังคสูตร” ได้สอนว่า
ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
ย่อมไม่เป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน
ที่อาศัย เครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์
เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้
หากตายไปไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคะน้อย
ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะน้อยนี้ คือ ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์


ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน
ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์
เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้
หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคะมาก
ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะมากนี้ คือ ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์


ดังนี้ เราย่อมจะเห็นได้ว่าการที่ถวายทานอันสมควรแก่สมณะหรือพราหมณ์
ย่อมเป็นเหตุให้เราเป็นผู้มีโภคะมากในอนาคตได้
แต่ถึงแม้จะมีโภคะมาก ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีโอกาสจนนะครับ
เพราะว่าถึงจะมีโภคะมาก แต่หากใช้จ่ายทรัพย์ฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักรักษาทรัพย์
หรือหมกมุ่นในอบายมุข ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้ทรัพย์ทั้งหลายหมดสิ้นไปได้
อันย่อมเป็นไปตามโลกธรรมที่ว่ามีลาภ ก็เสื่อมลาภเป็นธรรมดา


ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น เป็นการแปลความหมายของ
คำว่า “อย่าเจ็บ อย่าจน” โดยอ่านความหมายตรง ๆ นะครับ
แต่เราอาจจะพิจารณาความหมายในมุมมองอื่น ๆ อีกด้วยก็ได้
เช่น คำว่า “อย่าจน” หากเราจะมองในความหมายที่แท้ของการให้ทาน
ก็คือว่าเมื่อให้ทานด้วยใจที่รู้สึกว่าเราพอแล้ว
หรือเรายินดีสละสิ่งที่เรามีเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น
ในเวลาที่เราให้ทานด้วยใจที่รู้สึกว่าพอ หรือเสียสละเช่นนั้น เราก็ไม่จนแล้ว
แต่หากเราให้ทานด้วยใจที่รู้สึกว่าเราต้องการได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็คือยังจนอยู่
ฉะนั้นแล้ว คำว่า “อย่าจน” นี้ เราไม่ต้องรออนาคต หรือรอชาติหน้าหรอกครับ
หากเราให้ทานด้วยใจที่เรารู้สึกว่าเราพอ และเรายินดีเสียสละแบ่งปัน
ในขณะเวลานั้น เราก็ “ไม่จน” แล้วครับ
ส่วนบรรดาท่านที่มีมากมาย แต่ยังไม่พอ และแบ่งปันไม่ได้ ก็เรียกว่า “จน” ครับ
เพราะแท้ที่จริงแล้ว คำว่า “จน” นั้นไม่ได้วัดกันที่สิ่งของที่เรามี แต่วัดกันที่ใจเราเอง


หากมองความหมายในมุมมองอื่น ๆ อีก
ถามว่าทำอย่างไร เราจึงหลุดพ้นจากความเจ็บป่วย และความจนได้อย่างสิ้นเชิง
ตอบว่า เราต้องไม่เกิด เพราะเมื่อไม่เกิด ก็ไม่มีป่วย และไม่จนตามมา
ดังนี้แล้ว เราอาจจะมองในความหมายนี้ และขอรับคำอวยพรดังกล่าว
ในฐานที่อวยพรให้เราไม่เกิดอีกก็ได้ (ขึ้นอยู่กับใจเรา)


ใน “ทุติยอัปปมาทสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า
ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี
ย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์แปด ย่อมกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้ อย่างนี้แล
ดูกรอานนท์ โดยปริยายแม้นี้ พึงทราบว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี
มีจิตน้อมไปในคนที่ดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว
ดูกรอานนท์ ด้วยว่าอาศัยเราเป็นมิตรดี
สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความเกิดได้
สัตว์ทั้งหลายผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความแก่ได้
สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความเจ็บป่วยได้
สัตว์ทั้งหลายผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความตายได้
สัตว์ทั้งหลายผู้มีความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความเสียใจ
และความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความโศก
ความร่ำไร ความทุกข์ ความเสียใจ และความคับแค้นใจได้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=2791&Z=2866&pagebreak=0


ดังนี้ เราจึงจะเห็นได้ว่าหนทางหลุดพ้นจากความเจ็บป่วย และความจนได้อย่างสิ้นเชิง
ก็คืออาศัยพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า และเจริญอริยมรรคมีองค์แปด
ซึ่งย่อมเป็นหนทางให้เราหลุดพ้นจากความเกิดได้
โดยเมื่อหลุดพ้นจากความเกิดแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากความแก่
ย่อมหลุดพ้นจากความเจ็บป่วย ย่อมหลุดพ้นจากความตาย
ย่อมหลุดพ้นจากความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความเสียใจ และความคับแค้นใจได้



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP