ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ปเจตนสูตร ว่าด้วยความคดของไม้และของคน


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๔๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายในที่นั้นแล

ด้วยพระพุทธพจน์ว่า ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลขานรับต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำว่า พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า


ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ยังมีพระราชานามว่า ปเจตนะ
ครั้งนั้น พระเจ้าปเจตนะ ตรัสเรียกช่างทำรถมารับสั่งว่า แน่ะสหายช่างทำรถ
แต่นี้ล่วงไป ๖ เดือน สงครามจักมีแก่ข้า เจ้าอาจทำล้อรถใหม่คู่หนึ่งให้ข้าได้หรือไม่
ช่างทำรถทูลรับพระเจ้าปเจตนะว่า ได้พระเจ้าข้า
ครั้งนั้น ช่างทำรถทำล้อได้ข้างเดียวสิ้นเวลาถึง ๖ เดือน หย่อนอยู่ ๖ วัน
พระเจ้าปเจตนะจึงตรัสเรียกช่างทำรถมารับสั่งถามว่า
แน่ะสหายช่างทำรถ แต่นี้ล่วงไป ๖ วัน สงครามจักเกิดละ ล้อรถคู่ใหม่สำเร็จแล้วหรือ
ช่างทำรถทูลว่า ขอเดชะ โดยเวลา ๖ เดือนหย่อนอยู่ ๖ วันนี้ ล้อข้างหนึ่งเสร็จแล้ว
พระราชารับสั่งว่า ก็เจ้าจะทำล้อข้างที่ ๒ ให้เสร็จโดยเวลา ๖ วันนี้ได้หรือไม่
ช่างทำรถทูลรับว่า ได้ แล้วก็ทำล้อข้างที่ ๒ เสร็จ โดยเวลา ๖ วัน
แล้วนำล้อคู่ใหม่ไปเฝ้าพระเจ้าปเจตนะ ครั้นเข้าไปถึงแล้วกราบทูลว่า
ขอเดชะ ล้อรถคู่ใหม่ของพระองค์เสร็จแล้ว
พระราชารับสั่งว่า สหายช่างทำรถ ล้อข้างที่ทำเสร็จ ๖ เดือน หย่อน ๖ วัน
กับล้อข้างที่ทำเสร็จ ๖ วันนี้ ต่างกันอย่างไร ข้าไม่เห็นความต่างกันสักหน่อย
ช่างทูลว่า ความต่างกันของล้อทั้ง ๒ นั้น มีอยู่ พระเจ้าข้า
ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรความต่างกัน
ว่าแล้วช่างทำรถก็หมุนล้อข้างที่ทำเสร็จ ๖ วัน
มันกลิ้งไปพอสุดกำลังหมุนแล้วก็ตะแคงล้มลงบนพื้นดิน
แล้วก็หมุนข้างที่ทำ ๖ เดือน หย่อน ๖ วันนั้น
มันกลิ้งไปสุดกำลังหมุนแล้วก็ตั้งอยู่ราวกะติดอยู่กับเพลา


พระเจ้าปเจตนะตรัสถามว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย สหายช่างทำรถ
ล้อข้างที่ทำเสร็จ ๖ วันนี้ กลิ้งไปสุดกำลังหมุนแล้วจึงตะแคงล้มลงบนพื้นดิน
อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ล้อข้างที่ทำเสร็จ ๖ เดือนหย่อน ๖ วันนั้น
กลิ้งไปสุดกำลังหมุนแล้วจึงตั้งอยู่ราวกะติดอยู่กับเพลา
ช่างทูลชี้แจงว่า ขอเดชะ ล้อข้างที่ทำแล้ว ๖ วันนี้
กงของมันประกอบด้วยไม้ที่คด ที่มีโทษ ที่มีกสาวะ
กำของมันประกอบด้วยไม้ที่คด ที่มีโทษ ที่มีกสาวะ
ดุมของมันก็ประกอบด้วยไม้ที่คด ที่มีโทษ ที่มีกสาวะ
เพราะความที่กงประกอบด้วยไม้ที่คด ที่มีโทษ ที่มีกสาวะ
กำประกอบด้วยไม้ที่คด ที่มีโทษ ที่มีกสาวะ
ดุมประกอบด้วยไม้ที่คด ที่มีโทษ ที่มีกสาวะ
มันกลิ้งไปสุดกำลังหมุนแล้วจึงตะแคงล้มลงบนพื้นดิน
ส่วนว่าล้อข้างที่ทำเสร็จ ๖ เดือนหย่อน ๖ วัน
กงของมันก็ไม่มีคด ไม่มีโทษ ไม่มีกสาวะ
กำของมันก็ไม่มีคด ไม่มีโทษ ไม่มีกสาวะ
ดุมของมันก็ไม่มีคด ไม่มีโทษ ไม่มีกสาวะ
เพราะความที่กงก็ไม่มีคด ไม่มีโทษ ไม่มีกสาวะ
กำก็ไม่มีคด ไม่มีโทษ ไม่มีกสาวะ
ดุมก็ไม่มีคด ไม่มีโทษ ไม่มีกสาวะ
มันกลิ้งไปสุดกำลังหมุนแล้วจึงตั้งอยู่ได้ราวกะติดอยู่กับเพลา


ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอคงนึกอย่างนี้ว่า ช่างทำรถคราวนั้นเป็นคนอื่นเป็นแน่
แต่เธอทั้งหลายอย่าเข้าใจอย่างนั้น เราเองเป็นช่างทำรถครั้งนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น เราเป็นผู้ฉลาดต่อความคดของไม้ โทษของไม้ กสาวะของไม้
แต่บัดนี้ เราเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
เป็นผู้ฉลาดต่อความคดทางกาย ความคดทางวาจา ความคดทางใจ
เป็นผู้ฉลาดต่อโทษทางกาย โทษทางวาจา โทษทางใจ
เป็นผู้ฉลาดต่อกสาวะทางกาย กสาวะทางวาจา กสาวะทางใจ


ภิกษุทั้งหลาย ความคดทางกาย ความคดทางวาจา ความคดทางใจ
โทษทางกาย โทษทางวาจา โทษทางใจ
กสาวะทางกาย กสาวะทางวาจา กสาวะทางใจ ของผู้ใดผู้หนึ่ง
เป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม ยังละไม่ได้
ภิกษุภิกษุณีเหล่านั้นก็ตกไปจากธรรมวินัยนี้ เหมือนล้อรถที่ทำเสร็จ ๖ วัน
ฉะนั้น ความคดทางกาย ความคดทางวาจา ความคดทางใจ
โทษทางกาย โทษทางวาจา โทษทางใจ
กสาวะทางกาย กสาวะทางวาจา กสาวะทางใจ ของผู้ใดผู้หนึ่ง
เป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม ละได้แล้ว
ภิกษุภิกษุณีเหล่านั้นก็ตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัยนี้ได้
เหมือนล้อรถที่ทำเสร็จ ๖ เดือน หย่อน ๖ วันฉะนั้น


ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาในข้อนี้อย่างนี้ว่า
เราทั้งหลายจักละความคดทางกาย โทษทางกาย กสาวะทางกาย
จักละความคดทางวาจา โทษทางวาจา กสาวะทางวาจา
จักละความคดทางใจ โทษทางใจ กสาวะทางใจ
ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล.


ปเจตนสูตร จบ



หมายเหตุ “กสาวะ” แปลว่า น้ำฝาด ซึ่งสามารถใช้ในความหมายว่า สิ่งเลวร้าย สิ่งไม่ดี


(ปเจตนสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP