สารส่องใจ Enlightenment

การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว



วิสัชนาธรรม โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย




ปุจฉา - การทำบุญอุทิศให้ผู้มีพระคุณทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้น
ทำอย่างไรจึงจะทราบได้ว่าผู้นั้นได้รับหรือเปล่า ถ้าผู้นั้นไม่ได้รับ บุญเหล่านั้นจะเป็นของใคร



วิสัชนา - ปัญหาเรื่องนี้กินความกว้างขวางมาก
มีผู้ถามปัญหาข้อนี้กับผู้เขียนตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณรอยู่ จนมาได้บวชพระ
นับเป็นเวลา ๖๐ กว่าปี แล้วก็ยังมีคนถามอยู่
นี่แหละผู้เขียนหวังว่าถึงผู้เขียนตายไปแล้ว ถ้ายังมีการทำบุญให้ผู้ตายไปแล้วอยู่
คงจะมีปัญหาอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
ผู้เขียนจะตั้งประเด็นไว้เป็นข้อๆ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย และกันความหลงลืม ดังนี้



(๑) ทำบุญให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว
(๒) ทำอย่างไรจึงจะทราบได้ว่าผู้นั้นได้รับหรือเปล่า
(๓) ถ้าผู้นั้นไม่ได้รับ บุญอันนั้นจะเป็นของใคร




(๑) ผู้ทำบุญโดยส่วนมาก ๙๙ เปอร์เซ็นต์ เพื่ออุทิศแก่ผู้มีพระคุณทั้งหลาย มีบิดามารดาเป็นต้น

ชาวพุทธมีดีตรงนี้แหละ พุทธศาสนาสอนให้รู้จักบุญคุณของผู้ที่มีพระคุณทั้งหลาย
แล้วทำดีเพื่อสนองพระคุณของท่านเหล่านั้น
ถ้าไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณแล้ว คนเราก็จะกลายเป็นเดรัจฉานไปหมด

การทำความดีคือบุญกุศลนี้ ย่อมทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษแก่ตนและคนอื่น
ทำในที่เปิดเผย ไม่ทำในที่ลับด้วย และทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ไม่เหมือนกับคนที่ทำความชั่ว ทำความชั่วนั้นทำด้วยความเศร้าหมองไม่ผ่องใส
และก็ทำในที่ลับไม่เปิดเผยด้วย
ทั้งไม่อุทิศส่วนบาปนั้นให้แก่ผู้มีพระคุณทั้งหลาย
ถึงแม้อุทิศให้แก่ใครก็ไม่มีใครอยากรับ เพราะเป็นของเศร้าหมอง



ทำบุญให้แก่ผู้มีพระคุณที่ตายไปแล้วนี้ จงทำด้วยของบริสุทธิ์
อย่าไปฆ่าเป็ด ไก่ ฆ่าวัว ฆ่าควายมาทำ จะบาปหนักเข้าไปอีก
ทำเล็กๆ น้อยๆ ด้วยใจผ่องใสบริสุทธิ์
เป็นต้นว่าตักบาตรถวายอาหารพระสงฆ์ บุญก็มากเอง
บุญมิใช่เกิดเพราะไทยทานมากๆ แต่เกิดขึ้นจากใจเลื่อมใสศรัทธาต่างหาก
เปรียบเหมือนเทียนที่เรามีอยู่ แล้วไปขอต่อจากคนอื่น
เทียนของคนอื่นก็ไม่ดับ ของเราก็ได้ไฟสว่างมา
เหตุนั้นบุญในพุทธศาสนาจึงหมดไม่เป็น
คนมากี่ร้อยกี่พัน เอาหัวใจของตนมาตักตวงเอา
บุญในพุทธศาสนานี้ก็ไม่มีหมด บุญยังเต็มเปี่ยมอยู่ตามเดิม
ถ้าทำด้วยความเลื่อมใสแล้ว วัตถุทานมีน้อยก็กลายเป็นของมากเอง




(๒) ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าผู้ตายไปนั้นได้รับหรือเปล่า

เรื่องนี้เป็นของพูดยาก เพราะผู้ที่ตายไปแล้วก็ไม่ได้ตอบรับเหมือนเราส่งจดหมายไปหากัน
อนึ่ง บุญนั้นก็มิใช่จะส่งไปได้อย่างพัสดุไปรษณีย์ เพราะเป็นของไม่มีตัวตน
เป็นความรู้สึกภายในใจว่าบุญที่ตนทำนี้ต้องถึงผู้ตายไปแน่
และเราเชื่อตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
พระองค์ตรัสว่าทำบุญให้แก่ผู้ตายไปแล้วต้องทำในพระภิกษุผู้มีศีล
และเมื่อต้องการอยากจะให้เขาได้บริโภคอาหาร ก็ต้องทำบุญถวายอาหาร
เมื่อต้องการอยากจะให้เขาได้เครื่องนุ่งของห่ม ก็ถวายผ้าผ่อนเครื่องนุ่งของห่ม
แล้วอุทิศกุศลนั้นไปให้แก่เขาเหล่านั้น
แล้วของเหล่านั้นก็จะปรากฏแก่เขาเหล่านั้นเองโดยที่ไม่มีใครนำไปให้เขา




(๓) เรื่องนี้บอกได้ชัดเลยว่า บุญเป็นของผู้ทำแน่นอน

เพราะผู้ทำเกิดศรัทธาเลื่อมใสพอใจในการกระทำบุญ
บุญก็ต้องเกิดในหัวใจของผู้นั้นเสียก่อน
แล้วอุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณที่ตายไปแล้ว
ได้ชื่อว่าทำบุญสองต่อ คือเราได้ทำบุญแล้วเพราะศรัทธาเลื่อมใสจึงทำบุญ
แล้วเราอุทิศส่วนบุญนั้นไปให้แก่ผู้ตายไปอีก เป็นอีกต่อหนึ่ง




ทำบุญให้ผู้ตายนี้ท่านแสดงไว้ว่ายากนักผู้ที่ตายจะได้รับ เหมือนกับงมเข็มอยู่ในก้นบ่อ
แต่ผู้ยังมีชีวิตอยู่ก็ชอบทำ นับว่าเป็นความดีของผู้นั้นอย่างยิ่ง
ท่านเปรียบไว้ สมมุติว่าบุญที่ทำลงไปนั้นแบ่งออกเป็น ๑๖ ส่วน
แล้วเอาส่วนที่ ๑๖ นั้นมาแบ่งอีก ๑๖ ส่วน
ผู้ตายไปจะได้รับเพียง ๑ ส่วน เท่านั้น ฟังดูแล้วน่าใจหาย
เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายจึงไม่ควรประมาท
ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้ มีสิ่งใดควรจะทำก็ให้รีบทำเสีย
ตายไปแล้ว เขาทำบุญไปให้ ไม่ทราบว่าจะได้รับหรือไม่ ถึงแม้ได้รับก็น้อยเหลือเกิน
เพราะคนตายแล้ว เขาเรียกว่าเปรต
ไม่ได้เรียกว่า บิดา มารดา ป้า น้า อา ครูบาอาจารย์ อย่างเมื่อเป็นมนุษย์อยู่นี้หรอก



ในบรรดาเปรตเหล่านั้นมี ๑๑ พวก
มีจำพวกเดียวที่จะได้รับส่วนบุญที่คนยังมีชีวิตอยู่อุทิศไปให้
เรียกว่าปรทัตตูปชีวีเปรต เปรตจำพวกนี้ได้รับทุกข์ร้อนลำบากมาก
เพราะในเปรตโลกนั้นไม่มีการทำนาค้าขาย แม้แต่ขอทานก็ไม่มี
เสวยผลกรรมของตนที่ทำไว้เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่นี้เท่านั้น
ฉะนั้นเปรตจำพวกนี้แหละ มนุษย์คนที่ยังเป็นอยู่ทำบุญอุทิศไปให้จึงจะได้รับ
เปรตนอกนั้นแล้วไม่ได้รับเลย เช่น ตายไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้รับ
นับประสาอะไร บางทีสามีภรรยานอนอยู่ด้วยกันแท้ๆ
ฝ่ายหนึ่งทำบุญขอให้อีกฝ่ายหนึ่งอนุโมทนาด้วย ก็ไม่รับ
พวกที่ไปเกิดเป็นเดรัจฉานยิ่งไม่รู้กันใหญ่ ไปเกิดในนรกหมกไหม้ทุกขเวทนามาก
ทำบุญอุทิศไปให้ก็ไม่รู้อะไร เพราะกำลังเสวยผลกรรมอันนั้นอยู่
หรือไปเกิดเป็นเทวดาชั้นใดชั้นหนึ่งก็เหมือนกัน เขากำลังเสวยผลบุญของเขาอยู่
เขาจะมาเอากุศลผลบุญของเราได้อย่างไร



ปรทัตตูปชีวีเปรต ดังเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสาร
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
พระเจ้าพิมพิสารเกิดอาเพศตอนกลางคืน
มีเสียงดังขลุกๆ ขลักๆ ทั่วไปหมดในห้องพระตำหนัก
พระเจ้าพิมพิสารกลัวจะเกิดเหตุเป็นอันตรายแก่ราชบัลลังก์
จึงเข้าไปกราบทูลเหตุอันนั้นแก่พระพุทธเจ้า
พระองค์ตรัสว่าไม่มีอันใดเลย พวกเปรตที่เป็นญาติของพระองค์
แต่ครั้งพระพุทธเจ้าชื่อว่าพระปุสสะ โน่น เขามาขอส่วนบุญกับพระองค์
ขอมหาบพิตรจงทำบุญให้เขา แล้วอุทิศส่วนบุญนั้นให้เขาเสีย เสียงนั้นก็จะหายไป
พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงกระทำทักษิณานุประทาน
ทำบุญอุทิศให้แก่เปรตเหล่านั้นแล้ว
พวกเปรตเหล่านั้นได้รับส่วนบุญแล้วก็มีกายอ้วนท้วนสมบูรณ์
แต่ยังไม่มีผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทีหลังก็มาปรากฏให้พระเจ้าพิมพิสารเห็นอีก
พระเจ้าพิมพิสารก็นำเอาเรื่องพฤติการณ์อันเปรตมาแสดงนั้นไปกราบทูลพระพุทธเจ้าอีก
พระองค์จึงตรัสว่าเพราะมหาบพิตรไม่ได้ทำบุญผ้า
พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงทำบุญถวายผ้าแก่พระสงฆ์
และอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่เปรตเหล่านั้น
พอเปรตเหล่านั้นได้รับแล้วก็ไปเกิดในสุคติภพในสวรรค์



ที่มาเล่าสู่กันฟังพอเป็นทัศนคติที่ว่า ทำบุญให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้วจะได้รับหรือไม่
เพราะผู้เขียนก็ไม่สามารถจะไปล่วงรู้เขาได้
และผู้ตายไปแล้ว แม้แต่โยมบิดามารดาของผู้เขียนก็ไม่เคยบอกว่า
บุญที่ทำแล้วอุทิศไปให้ได้รับหรือเปล่า
แต่ผู้เขียนก็ทำบุญอุทิศไปให้เสมอ
เป็นแต่ได้ฟังมาจากตำรา จะหาว่าเล่านิทานหลอกเด็กให้กลัวเฉยๆ
แต่ถ้าผู้ใหญ่กลัวอย่างเด็กๆ แล้ว บ้านเมืองก็ไม่เป็นอย่างทุกวันนี้
เด็กเชื่อง่ายหัวอ่อน สั่งสอนน้อมใจเชื่อเร็ว ผู้ใหญ่จึงชอบสอนเด็กๆ
แต่เมื่อโตขึ้นมาแล้ว ถือว่าเรามีสิทธิเสรีเต็มที่ไม่ต้องเชื่อความคิดของคนอื่น
เชื่อความคิดของตนเอง หรือเข้าสมาคมกับผู้ใหญ่เลยเป็นผู้ใหญ่ไปหมด
ความเชื่อและความคิดเมื่อยังเด็กอยู่ที่อบรมไว้เลยหายหมด
เลยกลายมาเป็นผู้ใหญ่อย่างผู้ใหญ่ทั้งหลายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้



อนึ่ง เรื่องการทำบุญใช้หนี้เจ้ากรรมนายเวร
เรื่องนี้ผู้เขียนไม่รู้จริงๆ จึงตอบไม่ได้
ขอผู้รู้ทั้งหลายได้เมตตาแนะแนวให้ผู้เขียนได้ทราบบ้างก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง


กรรมที่ตนกระทำไว้แล้ว ไม่ว่ากรรมดีและกรรมชั่ว
ผลของกรรมนั้นย่อมเกิดที่ใจของตนเอง
มิใช่ผู้ทำกรรมผู้หนึ่ง เจ้ากรรมนายเวรอีกผู้หนึ่ง

คล้ายๆ กับว่ามีเจ้ากรรมนายเวรเป็นผู้บัญชาการอยู่
ทำบุญอุทิศกุศลไปให้เจ้ากรรมนายเวรผู้บัญชาการ เพื่อให้เป็นสินน้ำใจ
แล้วเจ้ากรรมนายเวรก็จะลดหย่อนผ่อนผันให้อย่างนี้ เป็นต้น
หรือกรรมเวรที่เราทำแก่คนอื่นนั้น คนนั้นเองเป็นเจ้ากรรมนายเวร
เราเห็นโทษความผิดแล้วทำบุญอุทิศไปให้แก่เขา เพื่อเขาจะลดโทษผ่อนผันให้
อันนี้ก็ไม่ถูก เพราะเขาตายไปแล้ว ไม่ทราบไปเกิดในที่ใด และกำเนิดภูมิใด
ดังได้อธิบายมาแล้วในข้างต้น



คนที่ทำกรรมทำเวรแก่กันแล้ว เมื่อยังเป็นคนอยู่นี้ จะพ้นจากกรรมจากเวรได้
ก็เมื่ออโหสิกรรมให้แก่กันและกัน ในเมื่อยังเป็นคนอยู่นี่แหละ
ตายไปแล้วจะอโหสิกรรมให้แก่กันและกันไม่ได้เด็ดขาด
มิใช่ว่าเราได้ทำกรรมชั่วทุจริต ด้วยจิตที่เป็นบาปมีอกุศลมูลเป็นพื้น
มาภายหลัง ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี หรือเท่าไรก็ตาม
ระลึกถึงกรรมอันนั้นแล้วกลัวบาป
จึงทำบุญอุทิศไปให้แก่ผู้ที่เราได้กระทำแก่เขานั้น เพื่อให้เขาอโหสิกรรมให้
ดังนี้ เป็นการไม่ยุติธรรม เป็นการตัดสินคดีภายหลังจากเหตุการณ์
ถ้าถือว่าเราระลึกถึงความชั่วของตน
แล้วทำความดีเพื่อแก้ตัวหรือปลอบใจของตัวเอง เป็นการสมควรแท้



การทำบุญให้แก่ผู้ตายไปแล้วจะได้หรือไม่ มีอรรถาธิบายกว้างขวางมาก
อธิบายมาก็มากพอสมควร พอที่ผู้ฟังจะเข้าใจบ้างตามสมควร
จึงขอยุติไว้เพียงแค่นี้เสียก่อนเพื่อจะได้ตอบปัญหาคนอื่นต่อไป



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก ปุจฉาวิสัชนาในประเทศและต่างประเทศ
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี). กรุงเทพ
: ชวนพิมพ์ ๕๐, ๒๕๕๓



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP