จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ดาบสองคม


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it




135 destination



เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ท่านผู้อ่านคงได้ทราบข่าวข่มขืนฆ่าเด็กคนหนึ่งบนรถไฟ
ซึ่งเป็นข่าวสะเทือนขวัญ และกระทบกระเทือนใจต่อสังคมเป็นอย่างมาก
จนเกิดกระแสของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ต้องการให้
เพิ่มโทษความผิดฐานข่มขืนเป็นประหารชีวิต
โดยได้มีการรณรงค์กันว่า “ข่มขืน = ประหารชีวิต”


ก่อนที่เราจะไปคุยกันในเรื่องข้อดีและข้อเสียของการเพิ่มโทษนั้น
ผมขอนำข้อมูลของโทษสำหรับความผิดฐานข่มขืนในปัจจุบันมาเล่าก่อนนะครับ
เพราะกรณีที่ข่มขืนและฆ่าผู้เสียหายนั้น ในปัจจุบันโทษก็ถึงประหารชีวิตอยู่แล้ว
แต่กรณีข่มขืนธรรมดาเพียงใช้กำลังนั้น โทษสูงสุดยังเพียงแค่จำคุกเท่านั้น
โดยกรณีข่มขืนธรรมดาในปัจจุบัน (เช่น โดยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้าย)

มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๔ ปีถึง ๒๐ ปี และปรับตั้งแต่ ๘ พันบาทถึง ๔ หมื่นบาท
(ส่วนค่าเสียหายทางแพ่งนั้น ผู้เสียหายต้องฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งต่างหาก)


หากการข่มขืนนั้นได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด
หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง
(คือมีผู้กระทำชำเราตั้งแต่ ๒ คนเป็นต้นไป) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑๕ ปีถึง ๒๐ ปี

และปรับตั้งแต่ ๓ หมื่นบาทถึง ๔ หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต


หากการข่มขืนทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑๕ ปีถึง ๒๐ ปี
และปรับตั้งแต่ ๓ หมื่นบาทถึง ๔ หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต


หากการข่มขืนทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย
ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต



กรณีร่วมประเวณีกับเด็กนั้น แม้ว่าเด็กจะยินยอมก็มีความผิดนะครับ
เช่น การร่วมประเวณีกับเด็กอายุยังไม่เกิน ๑๕ ปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน
โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๔ ปีถึง ๒๐ ปี
และปรับตั้งแต่ ๘ พันบาทถึง ๔ หมื่นบาท
หรือการร่วมประเวณีกับเด็กอายุยังไม่เกิน ๑๓ ปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน
โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๗ ปีถึง ๒๐ ปี
และปรับตั้งแต่ ๑ หมื่น ๔ พันบาทถึง ๔ หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต


ทั้งนี้ หากเป็นการกระทำโดยมีอาวุธ หรือกระทำโดยรุมโทรม ก็จะเพิ่มโทษขึ้นไปอีก
หรือถ้าเป็นการกระทำจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส
หรือถึงแก่ความตายก็จะได้รับโทษเพิ่มขึ้นไปอีกตามลำดับจนถึงประหารชีวิต
โดยข้อมูลยกมานี้เป็นเพียงรายละเอียดคร่าว ๆ นะครับ
เพราะคงจะต้องใช้เนื้อที่มาก หากจะแจกแจงและอธิบายในรายละเอียดทั้งหมด
แต่สรุปโดยย่อก็คือ หากข่มขืนแล้วทำให้ผู้เสียหายเสียชีวิต โทษก็ถึงประหารชีวิต
แต่ถ้าข่มขืนธรรมดาที่ไม่ได้ทำให้ผู้เสียหายเสียชีวิต โทษก็ยังไม่ถึงประหารชีวิต


ในเรื่องของการเสนอให้เพิ่มโทษความผิดฐานข่มขืนเป็นประหารชีวิตนี้
กลุ่มที่สนับสนุนให้เพิ่มโทษเห็นว่าเพื่อเป็นการลงโทษให้สาสมกับความผิด
และเพื่อเป็นการทำให้ผู้ที่คิดจะกระทำผิดไม่กล้ากระทำความผิดดังกล่าว
เพราะเกรงกลัวโทษที่รุนแรง โดยเชื่อว่าจะทำให้การกระทำผิดข่มขืนลดน้อยลง
ซึ่งก็ดูเหมือนว่าน่าจะเป็นข้อเสนอที่ดีและน่าสนับสนุน



อย่างไรก็ดี ในเรื่องของการลงโทษผู้กระทำความผิดนั้น
เราคงไม่ได้มองแต่เฉพาะเรื่องการลงโทษให้รุนแรงสะใจอย่างเดียว
หรือมองแต่เพียงว่ากำหนดโทษหนัก ๆ เพื่อให้เกรงกลัวเท่านั้น

โดยในทางทฤษฎีแล้ว การลงโทษมีวัตถุประสงค์ใน ๓ เรื่องได้แก่


๑. การลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน โดยรัฐเป็นผู้ทำหน้าที่ลงโทษผู้กระทำผิด
ให้สาสมหรือเหมาะสมกับการกระทำผิด โดยหากลงโทษเบาเกินไป

ผู้เสียหายหรือบรรดาญาติผู้เสียหายก็จะไม่พอใจ
และอาจมีการตั้งศาลเตี้ยลงโทษกันเอง ทำให้สังคมเกิดความวุ่นวายได้
แต่ถ้าลงโทษรุนแรงเกินไป ก็จะไม่เป็นธรรมแก่ผู้กระทำผิดเช่นกัน
ยกตัวอย่าง สมมุติผู้กระทำผิดมาด่าผู้เสียหายหนึ่งประโยค
แต่รัฐลงโทษโดยการประหารชีวิตผู้กระทำผิดหรือจำคุกตลอดชีวิต
เช่นนี้ย่อมถือเป็นการแก้แค้นทดแทนที่รุนแรงเกินสมควร เป็นต้น


๒. การลงโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้ง โดยลงโทษเพื่อมิให้ผู้กระทำผิดนั้นกระทำผิดซ้ำอีก
หรือเพื่อให้ผู้อื่นที่คิดจะกระทำผิดเกิดความเกรงกลัว และไม่กล้ากระทำความผิด



๓. การลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู โดยเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดได้มีโอกาส
สำนึกผิด ปรับปรุงแก้ไขตนเอง และกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้
เพราะผู้กระทำผิดบางรายนั้นกระทำผิดเพราะจำเป็น หรือเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
หรือยังมีโอกาสที่จะกลับตัวมาเป็นคนดีในสังคมได้


การเสนอให้เพิ่มโทษความผิดฐานข่มขืนเป็นประหารชีวิตนี้ดูเหมือนว่า
จะมีข้อดีในเรื่องความพึงพอใจของผู้เสียหาย หรือญาติพี่น้องของผู้เสียหาย
ที่ว่าผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษรุนแรงสาสมกับความผิด
และดูเหมือนว่าจะเป็นการทำให้ผู้ที่คิดจะกระทำผิดไม่กล้ากระทำความผิด
เพราะเกรงกลัวโทษที่รุนแรง อันจะมีส่วนช่วยให้การกระทำผิดน่าจะลดน้อยลง
แต่ในทางกลับกัน ทางเลือกนี้ก็เป็นเสมือนดาบสองคมที่มีอันตรายเช่นกัน

เพราะหากกำหนดโทษของการข่มขืนในทุกกรณีเป็นประหารชีวิตเท่านั้นแล้ว
ย่อมเท่ากับว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้กระทำผิดนั้นฆ่าผู้เสียหาย

และซ่อนศพผู้เสียหาย เพื่ออำพรางคดี เพราะโทษไม่ได้ต่างกันหรือเพิ่มขึ้นเลย
ไม่ว่ายังไงผู้กระทำผิดก็จะต้องโดนประหารชีวิตอยู่ดี และไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว
ผู้กระทำผิดอาจมองได้ว่าการฆ่าผู้เสียหายปิดปาก และซ่อนศพ
ยังอาจจะทำให้ตนเองมีโอกาสรอดพ้นจากโทษประหารชีวิตได้
ซึ่งก็มีนักสิทธิมนุษยชนหลาย ๆ ท่านมองในมุมนี้
และเห็นว่าทางเลือกนี้จะทำให้ความเสี่ยงที่ผู้เสียหายจะโดนฆ่าปิดปากจะยิ่งสูงขึ้น
และยิ่งทำให้เกิดความเสียหายมากยิ่งขึ้นแก่ผู้เสียหายอื่น ๆ ในอนาคต
ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงเดือนกรกฎาคมเดียวกันนี้ เราก็คงได้ทราบอีกข่าวหนึ่ง

ซึ่งผู้กระทำผิดความผิดได้ทำการข่มขืนหญิงคนหนึ่ง ซึ่งมีลูกเป็นเด็กอายุ ๕ ขวบ
จากนั้น เขาก็ทำการฆ่าหญิงคนนั้น และฆ่าเด็กเพื่อทำการปิดปาก แล้วหลบหนีไป


ในขณะที่การเพิ่มโทษรุนแรงนั้นอาจจะไม่ได้เป็นการป้องกันปัญหา
หรือทำให้ผู้ที่คิดจะกระทำผิดเกิดความเกรงกลัวเสมอไป

โดยเราจะเห็นได้จากความผิดฐานค้ายาบ้าที่กำหนดโทษประหารชีวิต
แต่ปริมาณคดีหรือการกระทำความผิดฐานค้ายาบ้าก็ยังมีอยู่มากมาย
โดยแทนที่ผู้กระทำผิดจะเกิดความเกรงกลัวและไม่กระทำผิด
ในทางกลับกัน ผู้กระทำผิดกลับลงทุนจัดหาอาวุธมาต่อสู้กับตำรวจ เพื่อหาทางหลบหนี


โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าคนดี ๆ ทั้งหลายทุกคน
ย่อมไม่มีใครอยากจะให้เกิดเหตุการณ์กระทำความผิดเช่นนั้นหรอกครับ
แต่ว่าการเพิ่มโทษนั้นอาจจะไม่ใช่หนทางป้องกันปัญหาเสียทีเดียว
ในทางกลับกันอาจจะส่งผลกระทบทางลบแก่ผู้เสียหาย
และเพิ่มความเสี่ยงแก่บรรดาผู้เสียหายด้วยซ้ำว่าจะโดนฆ่าปิดปากอีกด้วย


เราสามารถพิจารณาได้ไม่ยากว่า การเพิ่มโทษเป็นประหารชีวิตนั้น
จะสามารถป้องกันปัญหาเหตุการณ์ข่มขืนดังกล่าวในอนาคตได้หรือไม่
โดยเราลองพิจารณาว่าข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ข่มขืนฆ่าบนรถไฟดังกล่าว
ซึ่งผู้กระทำผิดได้เสพยาบ้า และดื่มสุราบนรถไฟก่อนกระทำผิด
เราลองถามตัวเองว่า ถ้าสมมุติว่าโทษของความผิดฐานข่มขืนธรรมดาคือประหารชีวิตแล้ว
ณ เวลานั้น ๆ ผู้กระทำความผิดจะเกิดความเกรงกลัว และไม่กระทำผิดหรือเปล่า?
ถ้าเราตอบว่า เขาน่าจะกลัว และไม่กระทำผิดแล้ว
การเพิ่มโทษดังกล่าวก็น่าจะเป็นหนทางป้องกันปัญหาได้
แต่ถ้าเราตอบว่า เขาคงไม่กลัวหรอก และก็คงกระทำความผิดอยู่ดี
เพราะขณะนั้นผู้กระทำผิดเสพยาบ้า และดื่มสุราไปแล้ว สติสัมปชัญญะหายไปหมดแล้ว

ดังนั้นแล้ว การเพิ่มโทษเป็นประหารชีวิตก็ย่อมจะไม่ได้เป็นการป้องกันปัญหาได้
แต่กลับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงแก่ผู้เสียหายกรณีอื่น ๆ ที่จะโดนฆ่าปิดปาก
ส่วนผู้กระทำความผิดในคดีนี้ โทษก็ถึงประหารชีวิตอยู่แล้ว


หากถามว่าถ้าเราไม่เสนอให้เพิ่มโทษแล้ว เราน่าจะแก้ไขปัญหาที่ตรงไหนล่ะ?
โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่า เราควรจะแก้ไขปัญหาที่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือ



๑. ยาบ้า และสุรา โดยห้ามดื่มสุราในระบบขนส่งคมนาคม
และมีการตรวจสารเสพติดในพนักงานระบบคมนาคมทุกระบบเป็นระยะ ๆ เป็นต้น


๒. วางมาตรการระบบความปลอดภัยในรถไฟ (รวมทั้งระบบคมนาคมอื่น ๆ)
และสถานที่เสี่ยงอื่น ๆ ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น


๓. สร้างความตื่นรู้และใส่ใจของประชาชนในเรื่องการระมัดระวังความปลอดภัย
และช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กันและกันให้มากขึ้น เช่น

หากเห็นพนักงานในระบบคมนาคมใดดื่มสุรา หรือมีอาการมึนเมา
หรือเห็นผู้โดยสารอื่น ๆ มีอาการมึนเมา ก็ควรต้องช่วยกันร้องเรียน
หรือช่วยกันตักเตือนให้ระมัดระวังด้วยกัน
หรือกรณีที่เห็นเด็ก ๆ หรือผู้หญิงเดินทางโดยลำพัง ก็ควรช่วยเหลือดูแลระวังภัยให้


๔. มุ่งสอนและสร้างจริยธรรมให้แก่สังคม รวมทั้งเด็กรุ่นใหม่
รวมถึงช่วยกันปรับค่านิยมในเรื่องการแต่งตัว (เลิกการนุ่งสั้นหรือนุ่งโป๊)
ร่วมกันต่อต้านดาราที่นุ่งโป๊เป็นตัวอย่างไม่ดีแก่เยาวชน
(หรืออย่างดาราบางคนแต่งตัวนุ่งสั้นนุ่งโป๊เข้าวัดก็มีตัวอย่างให้เห็น เป็นต้น)
ร่วมกันต่อต้านละครที่มีเนื้อเรื่องหรือฉากข่มขืน (เช่น พระเอกข่มขืนนางเอก เป็นต้น)

และร่วมกันต่อต้านการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารต่าง ๆ
(รวมทั้งป้ายโฆษณาหรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่มีภาพโป๊ไม่เหมาะสม) เป็นต้น


อนึ่ง เวลามีละครที่พระเอกข่มขืนนางเอกในบางเรื่อง
คนจำนวนมากในสังคมก็ไม่เห็นจะต่อต้านอะไร แต่กลับติดตามชมกันอย่างมากมาย
สื่อมวลชนเองยังแจ้งโปรแกรมล่วงหน้าอีกว่าตอนพระเอกข่มขืนนางเอกจะฉายวันไหน
เด็ก ๆ ในสังคมก็โตขึ้นมาโดยถูกปลูกฝัง และเห็นสิ่งเหล่านี้ล่ะครับ


ในเรื่องการนุ่งสั้นนั้น บางท่านอาจจะบอกว่าการแต่งตัวนั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล
แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้กระทำผิดต่างหากที่ว่าไม่ยอมควบคุมตนเองให้ดี

โดยสำหรับตนเองนั้นย่อมมีสิทธิแต่งตัวโป๊หรือแต่งสั้นอย่างไรก็ได้
ในมุมมองเช่นนี้ก็ควรจะนึกถึงความเป็นจริงบ้างนะครับว่า
คนอื่น ๆ ในสังคมไม่ใช่ว่าจะเป็นพระอรหันต์กันทุกคน
หรือจะเป็นคนดีที่สามารถควบคุมกาย วาจา ใจตนเองได้ทุกคน
ทีนี้ หากเราไปแต่งสั้นแต่งโป๊ให้คนหนึ่งเขาเห็นจนถูกราคะครอบงำรุนแรงแล้ว
เขาอาจจะไม่สามารถมาข่มขืนเราได้
เพราะด้วยข้อจำกัดในเรื่องเวลา สถานที่ บุคคล หรืออื่น ๆ ก็ดี
แต่หากเขามีโอกาสกระทำต่อคนอื่น เขาก็ไปกระทำต่อผู้เสียหายคนอื่นที่เขาทำได้

เราเองก็พึงถามตนเองว่า หากเราได้มีส่วนกระตุ้นให้ราคะครอบงำเขา
และทำให้เขาไปกระทำความผิดแล้ว เราเองมองว่าเราควรจะลดละเลิกหรือไม่


โดยมุมมองนี้ก็เป็นมุมมองเดียวกับบางท่านที่แต่งตัวโป๊แต่งสั้นเข้าวัด
แล้วก็บอกว่าพระภิกษุก็มีหน้าที่ต้องควบคุมจิตใจตนเอง
ไม่ใช่มาจำกัดสิทธิในการแต่งตัวของเขานะครับ
ในทางกลับกัน ท่าน ๆ เหล่านี้มองแต่สิทธิของตนเอง
แต่ไม่ได้พิจารณามองถึงหน้าที่ของตนเองที่ควรเคารพสถานที่ และบุคคล
หน้าที่ของตนเองในการช่วยกันรักษาวัฒนธรรมไทย

หน้าที่ของตนเองในการช่วยกันดูแลรักษาพระศาสนา
และหน้าที่ของตนเองที่มีต่อสังคมส่วนรวมบ้างเลย


การกำหนดโทษข่มขืนธรรมดาเป็นโทษประหารชีวิตทุกกรณีนั้น
ก็ยังจะมีผลกระทบอื่น ๆ อีก เช่น เราอาจจะเคยเห็นข่าวกรณีพ่อข่มขืนลูก
ซึ่งถ้าโทษคือต้องประหารชีวิตเท่านั้น ลูกก็ต้องเป็นพยานชี้ตัวเพื่อให้พ่อโดนประหาร
(โดยลูกก็อาจจะมีจิตใจพยาบาทต้องการให้พ่อตายเพื่อแก้แค้น
และเมื่อพ่อโดนประหารเพราะการนั้น ลูกก็ย่อมมีส่วนแห่งอนันตริยกรรมในจิตใจ)
หรืออาจจะมีกรณีที่เด็กวัยรุ่นข่มขืนแฟนตนเอง ซึ่งก็จะต้องโดนโทษประหารชีวิต

ทั้งที่จริง ๆ แล้วกรณีอาจจะมีทางออกว่าเด็กสองคนอาจจะแต่งงานกันก็ได้ เป็นต้น


บางคนเสนอว่าไม่ควรให้มีการลดโทษผู้กระทำความผิดในระหว่างจำคุก
ในกรณีนี้ก็ต้องเข้าใจข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยก็มีงบประมาณจำกัด
และไม่สามารถที่จะกักขังและดูแลผู้กระทำผิดได้ทั้งหมดทุกคน
แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีการลดโทษผู้กระทำผิดบางรายก็ตาม
แต่ปัญหาผู้ต้องโทษจำคุกล้นเรือนจำก็ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ประสบอยู่
ในขณะเดียวกัน ก็มีมุมมองอื่น ๆ ว่าผู้ต้องโทษจำคุกบางรายได้สำนึกผิด

และตั้งใจที่จะกลับตัวเป็นคนดีแล้ว กรณีที่รัฐขังเขาต่อไป โดยไม่ลดโทษ
ย่อมเท่ากับว่าเป็นการขังคนดี ไม่ใช่เป็นการขังคนไม่ดีในอดีตแล้ว เป็นต้น


ผมได้คุยในเรื่องของการลงโทษมายาวพอสมควรแล้ว
ว่าการเพิ่มโทษสำหรับความผิดในฐานนี้อาจจะไม่ได้เป็นการป้องกันปัญหาเสียทีเดียว
หรือจะมีแต่ข้อดีเสมอไป เพราะกรณีอาจเป็นดาบสองคม และมีข้อเสียไม่น้อยเช่นกัน
ทีนี้ ถามว่าแล้วเราควรจะเลือกสนับสนุนในด้านไหนล่ะ ควรจะให้เพิ่มโทษหรือไม่?
ขอเรียนว่า ในทางโลกนั้น เราจะสนับสนุนด้านไหนก็แล้วแต่เหตุผลและวิจารณญาณ
ของแต่ละท่าน ซึ่งแต่ละท่านก็อาจะเห็นเหมาะสมแตกต่างกันไปนะครับ
แต่สิ่งสำคัญในทางธรรมที่ควรพิจารณาก็คือ

เราพึงรู้ทันจิตใจตนเองว่าที่เราสนับสนุนหรือร่วมรณรงค์ในเรื่องใด ๆ เหล่านี้ก็ดี
เราทำไปด้วยโทสะ ด้วยความพยาบาท หรือต้องการล้างแค้นแทนผู้เสียหายเปล่า
หรือเราทำไปด้วยเมตตา ด้วยกรุณา หรือต้องการป้องกันปัญหาแก่ผู้เสียหายอื่น ๆ
โดยเราพึงตรวจสอบใจตนเองด้วยความซื่อตรง และมีสติรักษาใจไว้ครับ


ยกตัวอย่างว่า คน ๒ คนเสนอให้เพิ่มโทษฐานข่มขืนเป็นประหารชีวิตเหมือน ๆ กัน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจ และกุศลอกุศลในจิตใจของทั้ง ๒ คนอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้
โดยคนแรกอาจจะรู้สึกในใจว่าคนกระทำผิดฐานข่มขืนนี้สมควรตาย
ใครที่ข่มขืนผู้หญิงก็ควรต้องตาย จึงจะเป็นการล้างแค้นทดแทนที่สมสม
จิตใจก็เต็มไปด้วยโทสะและพยาบาท และความต้องการฆ่าฟันผู้กระทำความผิด
อีกคนหนึ่งอาจจะรู้สึกในใจว่า ถ้ากำหนดโทษสูงขึ้น ก็น่าจะช่วยป้องกันผู้หญิงคนอื่น ๆ ได้

จิตใจประกอบด้วยความเมตตาและกรุณาแก่บุคคลผู้บริสุทธิ์อื่น ๆ
โดยไม่ได้ไปคิดโกรธแค้นหรือต้องการฆ่าหรือล้างแค้นผู้กระทำผิดใด ๆ
หากเราอยากจะรู้ว่าเราอยู่ในกลุ่มของคนที่หนึ่ง หรือในกลุ่มของคนที่สอง
ก็พึงสำรวจใจตัวเองครับว่า จิตใจเราประกอบด้วยพยาบาท หรือประกอบด้วยเมตตา
ในที่นี้ ผมไม่มีคำตอบสรุปให้ทุกท่านว่าควรจะสนับสนุนการเพิ่มโทษหรือไม่

แต่สิ่งที่ต้องการจะสรุปให้ทุกท่านก็คือ
ไม่ว่าเราจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการเพิ่มโทษก็ตาม
เราก็พึงต้องมีสติรู้ทันใจตนเองอยู่เสมอ ๆ นะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP