จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

แก้ปัญหาตรงไหนดีที่สุด


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



133 destination



หลายท่านคงเคยเห็นรถบางคันที่ติดสติ๊กเกอร์บอกว่ารถคันนี้สีนั้นสีโน้น
อย่างเช่นรถสีฟ้าแต่ก็ติดสติ๊กเกอร์ว่ารถคันนี้สีขาว

หรือรถสีเหลืองแต่ก็ติดสติ๊กเกอร์ว่ารถคันนี้สีเขียว เป็นต้น
ซึ่งบางท่านอาจจะสงสัยว่าเจ้าของรถจะติดสติ๊กเกอร์เหล่านั้นไปเพื่ออะไร
เพราะข้อความในสติ๊กเกอร์ก็ขัดแย้งกับสีของรถคันนั้นในความเป็นจริง


กรณีดังกล่าวเข้าใจว่าหลายท่านติดสติ๊กเกอร์นั้นเพื่อเป็นการแก้เคล็ด
ซึ่งไม่ได้หมายถึงการแก้เคล็ดขัดยอก หรือแก้ปวดตรงไหนตามร่างกายนะครับ
แต่หมายถึงการกระทำเพื่อปัดเป่าหรือป้องกันภัยร้ายหรือสิ่งไม่ดีใด ๆ ในชีวิต
(เช่น มีปัญหาเรื่องการเงิน ปัญหาเรื่องครอบครัว ปัญหาเรื่องสุขภาพ ฯลฯ)
กรณีก็ทำนองเดียวกับบางท่านเปลี่ยนเลขโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่เดิม
โดยไปใช้เลขใหม่ที่เห็นว่าเป็นเลขมงคล หรือถูกชะตากับตนเองมากกว่า
หรือก็เป็นกรณีทำนองเดียวกันกับบางท่านที่ติดป้ายในบ้านเพื่อบอกว่า
บ้านนี้อยู่แล้วร่ำรวย หรือบ้านนี้อยู่แล้วมีความสุข เป็นต้น


กรณีของการติดสติ๊กเกอร์บอกว่าสีรถยนต์เป็นสีอื่นก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
โดยในอันที่จริงแล้ว เจ้าของรถอาจจะต้องการเปลี่ยนสีรถเป็นสีอื่น
ที่จะเป็นมงคลแก่ตนเองมากกว่า หรือถูกชะตากับตนเองมากกว่า
แต่ว่าการนำรถไปเข้าอู่เพื่อเปลี่ยนสีรถเป็นสีอื่นนั้นย่อมจะต้องใช้เงินมาก
จึงหันมาใช้วิธีการติดสติ๊กเกอร์บอกว่ารถคันนี้มีสีอื่นนั้น ๆ แทน


ในเวลาที่เรามีปัญหาใด ๆ ในชีวิตหรือมีสิ่งไม่ดีใด ๆ ในชีวิตก็ตาม
และเราต้องการจะแก้ไขปัญหาหรือสิ่งไม่ดีนั้น ๆ
เราควรที่จะเลือกแก้ไขที่ต้นเหตุแห่งปัญหาหรือสิ่งไม่ดีนั้น ๆ

ไม่ใช่ไปแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ หรือไปแก้ไขในสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน


ยกตัวอย่างสมมุติว่าเราเป็นชาวนาปลูกข้าว
และเราต้องการให้ต้นข้าวขึ้นเต็มผืนนาของเรา
แต่หากในเวลาที่เราปลูกข้าวนั้น เรากลับหว่านเมล็ดพันธุ์ถั่วลงในผืนนา
เราไม่ได้หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปในผืนนาเลย
เมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏว่าต้นถั่วก็ขึ้นเต็มผืนนาไปหมด
ถามว่าเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อให้ต้นข้าวขึ้นเต็มท้องนา?
สิ่งที่เราพึงทำก็คือ เราพึงหยุดหว่านเมล็ดพันธุ์ถั่ว และถอนต้นถั่วออก
และก็เริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในผืนนาให้มาก ปลูกข้าวให้มาก

แล้วเมื่อเวลาผ่านไป ต้นข้าวก็จะขึ้นในผืนนามากขึ้น ๆ จนเต็มผืนนา


ทีนี้ ถ้าหากเราไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุดังนั้นแล้ว
แต่เราเลือกไปแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหา เช่น
เราไปปิดป้ายตรงหน้าผืนนาบอกว่า นาผืนนี้มีแต่ต้นข้าวเต็มไปหมด

ทั้ง ๆ ที่ในผืนนามีแต่ต้นถั่ว และไม่มีต้นข้าวเลย
เพราะเราไม่ได้หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวเอาไว้
ถามว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ไหม
?
ตอบว่า การทำเช่นนั้นอาจจะช่วยให้รู้สึกว่าสบายใจขึ้นบ้างชั่วคราวสำหรับบางท่าน
แต่ว่าสิ่งที่ทำเช่นนั้นไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาเลย

และไม่ได้เป็นการเพิ่มต้นข้าวในผืนนาเลยแม้แต่น้อย


ในทำนองเดียวกัน สมมุติว่าเราหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในท้องนาแล้ว
แต่ว่าเราไม่ได้ใส่ปุ๋ย และไม่ได้ให้น้ำแก่ต้นข้าว
เราไม่ได้คอยดูแลต้นข้าว คอยป้องกันนก และแมลง
แล้วในที่สุดเมล็ดพันธุ์ข้าวก็ไม่โต หรือต้นข้าวตายหมด เหลือแต่ผืนนาโล่ง ๆ
แล้วเราจะแก้ไขปัญหาด้วยการปิดป้ายบอกว่า นาผืนนี้มีแต่ต้นข้าวเต็มไปหมด
ก็ย่อมจะไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงเหตุเช่นกัน


เช่นนี้แล้ว การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดก็คือ การแก้ไขที่ต้นเหตุแห่งปัญหา
โดยเราพึงพิจารณาโดยใช้สติปัญญา และเหตุผลว่า
ต้นเหตุแห่งปัญหาอยู่ตรงไหน แล้วเราก็พึงแก้ไขปัญหาที่ตรงนั้น
หลายท่านหรือคนจำนวนมากในโลกนี้มักทุ่มเทแก้ไขปัญหาตรงที่ปลายเหตุ

ซึ่งอาจจะช่วยให้สบายใจเพียงชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง


ยกตัวอย่างเช่น บางทีเรามีปัญหาว่าเราต้องการบางสิ่งบางอย่างในชีวิต
แล้วก็ทำให้เรามีความทุกข์ใจในเรื่องนั้น ๆ
เราจึงพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการทุ่มเทขวนขวายเพื่อให้ได้สิ่งนั้น ๆ มา
แต่หากเราลองพิจารณาต้นเหตุแห่งปัญหาแล้ว
ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าเราไม่ได้หรือไม่มีบางสิ่งบางอย่างนั้น
แต่ปัญหาอาจจะอยู่ที่ความอยากจะได้บางสิ่งบางอย่างนั้น
ซึ่งตัวความต้องการนี้แหละที่เป็นต้นเหตุแห่งปัญหา
โดยหากเราย้อนมาจัดการตรงความต้องการนี้ได้ ปัญหาก็จบลงได้
และจะดีกว่าเราไปมัวตอบสนองความต้องการในทุก ๆ เรื่องที่ไม่สมควร

อย่างเช่น บางคนทุกข์ใจว่าไปหลงรักคนมีสามีแล้ว หรือมีภรรยาแล้ว
กรณีนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าไม่ได้สามีคนอื่น หรือไม่ได้ภรรยาคนอื่นมาครอบครอง
แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวความอยาก ซึ่งเราควรจะหันมาจัดการตัวความอยากนี้


หากบางท่านจะพิจารณาไล่หาต้นเหตุย้อนขึ้นไปอีก
ก็อาจจะพบว่าการที่เรามีความต้องการบางสิ่งบางอย่างนั้น
ก็เพราะเหตุแห่งความไม่รู้ และความเข้าใจผิดว่ามีเราหรือมีตัวมีตนเป็นต้นเหตุ
จึงควรมุ่งที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้มีความรู้ และความเข้าใจถูก
เพื่อแก้ไขความไม่รู้ และความเข้าใจผิดเหล่านั้นว่ามีเราหรือมีตัวมีตน
ซึ่งเมื่อแก้ไขความไม่รู้ และความเข้าใจผิดเหล่านั้นได้แล้ว
ก็ย่อมจะทำให้ไม่ดิ้นรนที่จะต้องการบางสิ่งบางอย่างนั้นเพื่อเราอีกต่อไป


บางท่านอาจจะมองว่า การแก้เคล็ดดังกล่าวน่าจะช่วยให้มีอะไรดีขึ้นบ้าง
เพราะถือว่าเป็นความเชื่อของคนที่แก้เคล็ดนั้น
ในประเด็นนี้ขอตอบว่าลำพังเพียงความเชื่อ หรือลำพังเพียงความคิด

ย่อมไม่สามารถทำให้เรื่องราวใด ๆ สามารถสำเร็จลุล่วงลงไปได้
ยกตัวอย่างสมมุติว่า เราเป็นนักศึกษาต้องการสอบและเรียนจบให้ได้เกียรตินิยม
เราก็ทำการแก้เคล็ดต่าง ๆ ตามความเชื่อ
เช่น เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือเปลี่ยนสีของต่าง ๆ ของเรา
แต่เราไม่ได้ทุ่มเทขยันตั้งใจเรียนและตั้งใจสอบ
ถามว่าเรื่องดังกล่าวจะสำเร็จได้ตามความเชื่อของเราหรือไม่?
ก็ตอบว่าย่อมไม่สำเร็จนะครับ แถมเราอาจจะสอบตกและเรียนไม่จบเสียด้วย


ดังนั้นแล้ว หากเราต้องการแก้ไขปัญหาใด ๆ ในชีวิตหรือต้องการให้สิ่งไม่ดีหายไปจากชีวิต
เราก็พึงแก้ไขที่ต้นเหตุ โดยไม่สร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปัญหาหรือสิ่งไม่ดีดังกล่าวเกิดขึ้น
ในทางกลับกัน หากเราต้องการสิ่งดี ๆ ใด ๆ เกิดขึ้นในชีวิต

เราก็พึงสร้างเหตุปัจจัยเพื่อให้สิ่งดี ๆ นั้น ๆ เกิดขึ้นในชีวิต
ก็ย่อมจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และจะส่งผลดีกว่า
การไปหมกมุ่นแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ หรือแก้ไขในสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาเลย
อย่างสมมุติว่าบางท่านปิดป้ายในบ้านบอกว่า บ้านนี้อยู่แล้วมีความสุข
เพราะในบ้านไม่มีความสุข เนื่องจากแต่ละคนในบ้านมักโกรธและทะเลาะกัน
เช่นนี้แล้ว แทนที่จะมาปิดป้ายฝากความหวังไว้ที่บ้านว่าบ้านนี้จะช่วยให้เรามีความสุข

เราก็ควรจะหันมาจัดการที่ต้นเหตุคือ ไม่ปล่อยให้ความโกรธเข้าครอบงำใจเรา
แล้วพยายามสอนกันอย่างใจเย็น และมีเมตตา ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้มากกว่านะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP