จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

หัดเจริญเมตตา


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it




132 destination



เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งในเรื่องหัดเจริญเมตตา
โดยเรื่องมีอยู่ว่าญาติธรรมท่านนี้จะแวะไปซื้ออาหารที่ร้านแห่งหนึ่ง
เพื่อนำไปให้เพื่อนที่ทำงานหลาย ๆ คนได้แบ่งกันทาน
ซึ่งก็มีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งได้ฝากซื้ออาหารดังกล่าวด้วย
เพื่อจะนำไปให้พ่อแม่ที่บ้านของเขาได้ทาน
แต่ญาติธรรมท่านนี้คิดว่าจะซื้ออาหารเฉพาะในส่วนที่นำไปให้เพื่อนที่ทำงานได้ทานเท่านั้น
สำหรับส่วนที่เพื่อนร่วมงานฝากซื้อนี้ เขาคิดว่าจะเอาข้อมูลที่อยู่ร้านไปให้เพื่อนร่วมงานที่ฝากซื้อ
เพื่อที่จะได้ให้เพื่อนร่วมงานที่ฝากซื้อมาซื้ออาหารเองที่ร้าน


ผมถามญาติธรรมท่านนี้ว่า ทำไมเขาถึงจะไม่ซื้อไปให้เพื่อนร่วมงานที่ฝากซื้อด้วยเลยล่ะ
ในเมื่อเขาก็ไปซื้ออยู่แล้ว อาหารมันแพงมาก มันซื้อยาก มันห่อหิ้วลำบากหรืออย่างไร
ญาติธรรมท่านนี้ตอบว่า ไม่ใช่อย่างนั้น การซื้อไปให้เพื่อนร่วมงานที่ฝากซื้อนี้ไม่ได้ลำบาก
และเขาสามารถซื้อไปให้เพื่อนร่วมงานที่ฝากซื้อได้ แต่เขารู้สึกว่าการรับฝากนี้เป็นภาระของเขา

เขาจึงรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานที่ฝากซื้อควรจะมาซื้อเองมากกว่า


ผมฟังแล้วก็แนะนำญาติธรรมท่านนี้ว่า ความรู้สึกของเขาไม่มีเหตุผลอะไร
ในเมื่อเขาสามารถซื้ออาหารไปให้เพื่อนร่วมงานหลายคนที่ไม่ได้ฝากซื้อนั้นแบ่งกันทานได้
และเป็นการซื้อให้ฟรี โดยที่ไม่มีเพื่อนร่วมงานคนไหนร้องขอ หรือต้องการเลย

แต่พอเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเขาฝากซื้ออาหารเหมือนกัน เพื่อนำไปให้พ่อแม่ของเขา
ทำไมเราจึงไม่อยากซื้ออาหารไปให้เพื่อนร่วมงานคนนั้นตามที่เขาฝากซื้อ
ทั้งที่เพื่อนร่วมงานคนนั้นมีความจำเป็นมากกว่า และได้ร้องขอมาแล้วด้วย
นอกจากนี้ เพื่อนร่วมงานคนนั้นก็ฝากซื้อเพื่อนำไปให้พ่อแม่ของเขาด้วย
ซึ่งก็เป็นกุศลกรรม และความกตัญญูที่ควรสนับสนุน


จากนั้น ผมก็เล่าเรื่องผู้หญิงคนหนึ่งให้ญาติธรรมท่านนี้ฟัง
ว่ามีผู้หญิงที่ผมรู้จักคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่ชอบทำทานมาก
เวลาเธอเข้าไปทำบุญในวัด บางทีก็หยอดเงินทำบุญใส่ตู้ทีละร้อยบาทก็มี
เธอเคยไปซื้อน้ำที่ร้านขายน้ำในวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งคนขายเขาขายราคาแก้วละ ๑๐ บาท
แต่เธอรู้สึกสงสารคนขาย เห็นว่าคนขายเป็นคนดี เธอเลยให้ไป ๕๐ บาทสำหรับน้ำ ๑ แก้ว
แต่เมื่อเธอพ้นออกมาจากวัดแล้ว และไปซื้อของอื่นที่ร้านอื่น ๆ

เช่น เธอไปซื้อผลไม้ที่ร้านแห่งหนึ่ง ซึ่งคนขายบอกราคา ๕๐ บาท
เธอก็กลับพยายามที่จะต่อราคาให้เหลือ ๔๐ บาท อยากให้คนขายลดให้ ๑๐ บาท
ทั้งที่คนขายก็ยืนยันแล้วยืนยันอีกว่า ลดให้ไม่ได้แล้ว เพราะไม่ได้บอกผ่าน

ผมก็ถามญาติธรรมท่านนี้ว่า ตรรกะในการทำบุญของผู้หญิงคนนี้แปลกไหม
ทำไมเวลาทำบุญทีละร้อยบาท เธอก็ทำได้
ซื้อน้ำแก้วละ ๑๐ บาท โดยให้เงินไป ๕๐ บาท เธอก็ทำได้
แต่พอเวลาซื้อของราคา ๕๐ บาท เธอกลับพยายามที่จะให้คนขายลดให้ ๑๐ บาท
ทั้งที่เงิน ๑๐ บาทนั้นไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญอะไรสำหรับเธอเลย
แต่อาจจะเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนขายผลไม้นั้นก็ได้


ญาติธรรมท่านนี้ฟังผมแล้วก็บอกว่า เรื่องของผู้หญิงคนนี้คล้ายกับเขา
โดยเขาก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมตนเองถึงคิดหรือรู้สึกอย่างนั้น
แล้วเขาก็ถามผมว่ามีข้อแนะนำให้เขาทำอย่างไร?
ผมแนะนำว่า กรณีน่าจะมีข้อแนะนำได้หลายอย่างนะ
แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมขอแนะนำให้เขาฝึกหัด “เจริญเมตตา”
เพราะว่าหากญาติธรรมท่านนี้มีเมตตาต่อเพื่อนร่วมงานที่ฝากซื้อนั้นมากเพียงพอแล้ว
ญาติธรรมท่านนี้ก็จะไม่เกี่ยงหรือไม่หลีกเลี่ยงที่จะซื้อของให้ตามที่เขาฝากซื้อ
ในทำนองเดียวกัน หากผู้หญิงคนที่ผมเล่าถึงนั้น
หากเธอมีเมตตามากเพียงพอต่อคนขายผลไม้ (นอกวัด) ใกล้เคียงกับคนขายน้ำ (ในวัด) แล้ว
เธอก็ย่อมจะไม่ต่อราคาขายผลไม้นั้น และยินดีที่จะซื้อผลไม้ในราคา ๕๐ บาทนั้น
ฉะนั้นแล้ว ผมจึงแนะนำให้ญาติธรรมท่านนี้หมั่นเจริญเมตตาให้มากขึ้น


ญาติธรรมท่านนี้บอกว่า เขาเองก็หมั่นสวดบทแผ่เมตตาอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว
อย่างเช่น เขานั่งสมาธิในรูปแบบเสร็จ หรือตักบาตรเสร็จ เขาก็สวดบทแผ่เมตตา
อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการเจริญเมตตาวิธีการหนึ่งหรือเปล่า
ผมตอบว่า ไม่แน่เสมอไป โดยการสวดบทแผ่เมตตาอาจจะไม่ได้เจริญเมตตาเลยก็ได้
ญาติธรรมท่านนี้ถามผมว่า หมายความว่ายังไง ขอให้อธิบายด้วย
ผมจึงบอกญาติธรรมท่านนี้ว่า ให้เขาสวดบทแม่เมตตาในใจหรือสวดเบา ๆ ในตอนนี้เลย
โดยในระหว่างที่เขาสวดบทแผ่เมตตานั้น ผมจะทำธุระอย่างอื่นไปก่อน


ผ่านไปสักพักหนึ่ง ผมก็ถามญาติธรรมท่านนี้ว่า
ตอนที่สวดเมื่อสักครู่นี้ รู้สึกไหมว่าจิตใจจมอยู่ที่บทสวดแผ่เมตตาเป็นหลัก
โดยไม่ได้เกิดความรู้สึกเมตตาขึ้นมาในใจเลย
(ญาติธรรมท่านนี้ดูจิตเป็นนะครับ)

เขาก็ตอบว่า “จริงด้วยนะ เมื่อครู่นี้ ใจอยู่ที่บทสวดตลอดเลย”
ผมอธิบายเขาว่า ไม่ใช่ว่าผมมีความสามารถไปรู้จิตของเขาได้นะครับ
แต่ที่ผมบอกไปอย่างนั้น เพราะผมเองก็เคยมีปัญหานี้เหมือนกัน
กล่าวคือเวลาที่สวดบทแผ่เมตตานั้น ใจไม่ได้รู้สึกเมตตา หรือเกิดความเมตตาขึ้น
แต่ว่าใจกลับหมกมุ่นอยู่กับบทสวด ครุ่นคิดว่าประโยคต่อไปคือประโยคว่าอะไร
โดยลักษณะนั้นแล้ว ก็ย่อมจะเป็นการฝึกสวดบทสวดมากกว่าที่จะเป็นการฝึกเจริญเมตตา
เพราะใจไม่ได้รู้สึกเมตตา หรือเกิดความเมตตาขึ้น
ดังนั้นแล้ว ถ้าจะเจริญเมตตาด้วยการสวดบทแผ่เมตตา
ใจเราควรจะรู้สึกแผ่เมตตาจริง ๆ ตามบทสวดนั้นด้วย ก็พึงหมั่นตรวจสอบตนเอง


ญาติธรรมท่านนี้ก็ถามผมว่า แล้วจะแนะนำให้เขาทำอย่างไรเพื่อฝึกเจริญเมตตา?
ผมแนะนำว่า แต่ละคนอาจจะถนัดไม่เหมือนกันนะ
แต่ก็มีวิธีการหนึ่งที่ผมใช้อยู่ก็คือ เวลาไปไหนมาไหน และเห็นคนอื่นหรือสัตว์อื่น
ก็ให้ฝึกพิจารณาเห็นว่าคนอื่น ๆ หรือสัตว์อื่น ๆ น่าสงสารอย่างไร
อย่างเวลาเราเดินไปในซอยแล้วเห็นสุนัขจรจัด ก็เห็นว่ามันน่าสงสารนะ
ไม่มีอาหารกินอย่างเพียงพอ ต้องอยู่อย่างยากลำบาก โดยคนอื่นหรือสุนัขตัวอื่นทำร้าย
หรือเรานั่งรถไปในท้องถนน แล้วเห็นคนชราเข็นรถขายของ เราก็เห็นว่าเขาน่าสงสาร
หรืออยู่ในบ้าน เห็นฝูงมด ก็เห็นว่าพวกมดน่าสงสาร โดยต้องหากินอย่างลำบาก
หรือจะเห็นใครทำอะไรอยู่ก็ตาม ก็ให้ฝึกหัดเห็นว่าเขาน่าสงสารอย่างไร
แม้กระทั่งอยู่ในบ้าน เห็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยในบ้าน เราก็เห็นได้ว่ามันน่าสงสารอย่างไร

โดยที่เราได้เห็นคนทั้งหลายหรือสัตว์ทั้งหลาย แล้วเห็นจนเกิดความรู้สึกเมตตาสงสารเขา
ก็ย่อมเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยฝึกหัดเจริญเมตตาได้


อีกอย่างหนึ่งที่ควรทำควบคู่กันก็คือ หมั่นฝึกฝนภาวนาให้มาก
จนกระทั่งเห็นภัยของสังสารวัฏ เห็นว่าสังสารวัฏนี้โหดร้าย และน่ากลัว
ซึ่งเมื่อเรารู้สึกอย่างนั้นแล้ว ก็จะเห็นว่าเราเองน่าสงสารที่ต้องมาวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ
และคนอื่นหรือสัตว์อื่นที่ร่วมสังสารวัฏก็น่าสงสารเช่นเดียวกับเราที่ต้องมาวนเวียนเช่นกัน
หรืออย่างเวลาที่เราเจ็บป่วย หรือเห็นคนอื่นเจ็บป่วย

เราก็มองได้ว่าการเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดาที่เราเองและคนอื่น ๆ ก็ย่อมประสบได้
ทั้งเราเองและคนอื่นจึงน่าสงสารเช่นกัน
หรือเราไปงานศพของคนอื่น หรืออ่านข่าวพบเห็นคนอื่นตาย
เราก็มองได้ว่าเมื่อถึงวันหนึ่งเราเองก็ต้องตาย และคนอื่นก็ต้องตาย
เพราะความตายเป็นเรื่องธรรมดาที่เราเองและคนอื่น ๆ ต้องประสบ

โดยไม่มีทางหลีกหนีได้พ้น ทั้งเราเองและคนอื่นจึงน่าสงสารเช่นกัน


บางท่านอาจจะบอกว่า หากเราเมตตาคนอื่นเยอะ เราก็จะช่วยคนอื่นเยอะ
อย่างนี้เราก็เสียเปรียบ หรือทำให้เราเสียประโยชน์น่ะสิ
สู้ว่าเราไม่เมตตาคนอื่น แล้วเราก็ไม่ต้องช่วย ก็ไม่เสียเปรียบหรือเปล่า?
ขอตอบว่า เรื่องเมตตากับเรื่องช่วยเขาเป็นคนละเรื่องกันนะครับ

เรารู้สึกเมตตาเขาก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องช่วยเขาเสมอไป
เพราะว่าการช่วยคนอื่นนั้นจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย
เช่น มีคนมาขอความช่วยเหลือจากเรา บางอย่างที่เราช่วยเขาไม่ได้หรือเกินกำลัง
เราก็สามารถรู้สึกเมตตาเขาได้ แต่เราก็ไม่ได้ช่วย เพราะช่วยไม่ได้หรือเกินกำลัง
หรือหากสิ่งที่เขามาขอความช่วยเหลือเรานั้นไม่เหมาะสม
เราก็สามารถรู้สึกเมตตาเขาได้ แต่เราก็ไม่ได้ช่วย เพราะมันไม่เหมาะสมเป็นต้น



ดังนั้น การเจริญเมตตานั้นไม่ได้ทำให้เราเสียประโยชน์หรือเสียเปรียบนะครับ
ในทางกลับกัน การหมั่นเจริญเมตตานั้นมีอานิสงส์ถึง ๑๑ ประการ
ได้แก่ ๑. หลับเป็นสุข ๒. ตื่นเป็นสุข ๓. ไม่ฝันร้าย ๔. เป็นที่รักของคนทั่วไป
๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั่วไป ๖. เทวดารักษาคุ้มครอง ๗. ไฟ ศาสตรา ยาพิษ ไม่แผ้วพาน
๘. จิตเป็นสมาธิเร็ว ๙. หน้าตาผิวพรรณจะผ่องใส ๑๐. ไม่หลงเวลาตาย
และ ๑๑. เมื่อไม่อาจบรรลุธรรมชั้นสูง ย่อมเข้าถึงพรหมโลก
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=31&A=8449&Z=8691&pagebreak=0


นอกจากนี้ การเจริญเมตตายังมีส่วนสนับสนุนทำให้เราได้สร้างกุศลมากขึ้น
เช่น บางคนอาจจะชอบตักบาตรและถวายสังฆทาน โดยตั้งใจว่าต้องทำบุญกับวัดเท่านั้น
แต่เมื่อเจริญเมตตาแก่คนอื่น ๆ แล้ว ก็ย่อมจะเปิดใจช่วยเหลือคนอื่น ๆ ได้ด้วย
อย่างผมเองก็เคยพบคนที่เดินมาขอเงินเพื่อจะไปซื้อข้าวอยู่บางคราว

บางคนนั้นได้รับเงินแล้ว เขาก็ไหว้ขอบคุณแล้วเดินจากไป
แต่ก็มีอยู่คนหนึ่งที่ว่าเขาได้เงินจากเราแล้ว เขาเดินไปที่รถเข็นขายส้มตำใกล้ ๆ
แล้วก็เอาเงินที่เราเพิ่งให้นั้นไปซื้อปีกไก่ย่างกับข้าวเหนียวมาทานทันที
ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเขามาขอเราก็เพราะเขาหิวและจำเป็นจริง ๆ


แต่ทั้งนี้ ก็ต้องดูสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ด้วยนะครับ
เพราะบางทีเราทำทานในบางกรณีแล้ว อาจจะส่งผลกระทบอื่น ๆ ทำให้เสียหายก็ได้
ย่างเช่น เราไปให้อาหารนกในสถานที่เขาห้ามให้อาหาร
ซึ่งหากเราให้อาหารนกในบริเวณนั้นแล้ว
นกก็จะมาเยอะและสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนอื่น ๆ เป็นต้น
หรือเราเห็นเด็กเล็ก ๆ นั่งขอทาน หรือเห็นผู้หญิงอุ้มเด็กมานั่งขอทาน
เราก็ควรต้องพิจารณาด้วยว่าการที่ให้เงินเด็กไปนั้น
จะยิ่งทำให้แก๊งจับเด็กมาขอทานเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า
ในกรณีเช่นนั้น แม้ว่าเราจะรู้สึกเมตตาต่อเขา แต่เราก็อาจจะไม่ให้อาหารนก
หรือไม่ให้เงินแก่ขอทานเด็ก หรือผู้หญิงอุ้มเด็กขอทานก็ได้


บางท่านอาจจะสงสัยว่า สมมุติว่าคน ๆ หนึ่งทำเลวทำชั่วมากมาย
แล้วเราจะมีความเมตตาให้เขาได้อยู่หรือไม่?
ขอตอบว่า แม้กระทั่งคนทำเลวทำชั่วมากมาย แต่เราก็เมตตาให้เขาได้ครับ
พราะการรู้สึกเมตตาต่อคนอื่นกับการปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างไรเป็นคนละเรื่องกัน

ยกตัวอย่างเช่น ตำรวจจับโจรคนหนึ่งไปส่งให้อัยการฟ้องศาลเพื่อลงโทษโจรคนนั้น
ซึ่งตำรวจก็อาจมีความรู้สึกเมตตาสงสารต่อโจรคนนั้นก็ได้
เพียงแต่ว่าตำรวจก็ต้องทำตามหน้าที่ของตนเองในการจับโจร
ในทำนองเดียวกัน เราเห็นบางคนทำเลวทำชั่วมากมาย
เราก็สามารถรู้สึกเมตตาสงสารเขาได้ว่า เขาต้องได้รับวิบากกรรมหนักในอนาคต
อันเป็นผลจากสิ่งอกุศลกรรมชั่วทั้งหลายที่เขาได้ทำลงไป
แต่ถึงเราจะรู้สึกเมตตาสงสารเขาก็ตาม
ในส่วนที่จะพึงปฏิบัติต่อเขา เราก็พึงเลือกว่าจะปฏิบัติต่อเขาอย่างไรตามที่สมควร
โดยไม่ได้แปลว่าเมตตาแล้ว จะต้องสนับสนุนเขา หรือไปคบหาสมาคมด้วยนะครับ
แต่เราพึงพิจารณาว่าตามที่สมควรแล้ว ควรจะปฏิบัติต่อเขาอย่างไร
เช่น ไม่สนับสนุนเขา หรือพึงหลีกเลี่ยงห่างไกล เป็นต้น


ในท้ายนี้ ขอเรียนว่าวิธีการฝึกเจริญเมตตาไม่ได้มีแค่เฉพาะที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นเท่านั้น
โดยแต่ละท่านก็พึงฝึกเจริญเมตตาในวิธีที่เหมาะสมกับแต่ละท่านครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP