จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

หาทรัพย์และใช้จ่ายทรัพย์อย่างถูกวิธี (ตอนจบ)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



131 destination



(ต่อจากตอนที่แล้ว)


คราวที่แล้วคุยมาถึง “ทีฆชาณุสูตร” ซึ่งได้อธิบายว่า
ธรรม ๔ ประการที่ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร

ได้แก่ อุฏฐานสัมปทา ๑ อารักขสัมปทา ๑ กัลยาณมิตตตา ๑ สมชีวิตา ๑
โดยธรรม ๔ ประการนี้ เราอาจจะเคยได้ยินบางท่านเรียกว่าเป็น “หัวใจเศรษฐี”
ทั้งนี้ เราจะเห็นได้ว่าใน “ทีฆชาณุสูตร” นั้น ไม่ได้ใช้คำว่าปฏิบัติแล้วจะเป็นเศรษฐีนะครับ
แต่ใช้คำว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร
ซึ่งมีประโยชน์มากมายยิ่งกว่าการเป็นเศรษฐีเสียอีก

เพราะการเป็นเศรษฐีสำหรับบางคนนั้น อาจจะเป็นโทษ หรืออาจจะไม่มีความสุขก็ได้


บางท่านอาจจะบอกว่า เป็นเศรษฐีแล้วไม่มีความสุขนี้ เข้าใจได้ไม่ยาก
(โดยหลายท่านอาจจะได้เห็นตัวอย่างเยอะมากในชีวิตจริง)
แต่การเป็นเศรษฐีแล้วไม่เป็นประโยชน์นั้นจะเป็นไปได้ด้วยหรือ
?
ตอบว่าหากเราไม่ได้มีศีลธรรมแล้ว
ยิ่งเรามีทรัพย์มาก เรายิ่งทำผิดศีลธรรมได้ง่ายขึ้นโดยอาศัยทรัพย์นั้น
ยกตัวอย่างเช่น มีเงินมาก ก็สามารถซื้อสุรามาดื่มได้มาก

หรือบางคนก็โดนทายาทฆ่าตายเพราะหวังแย่งทรัพย์
หรือบางคนมีทรัพย์มากก็ใช้ทรัพย์นั้นซื้อเสียงซื้อตำแหน่งเข้าไปโกงประเทศชาติ เป็นต้น
ซึ่งทรัพย์เหล่านั้นย่อมเป็นการสร้างโทษให้แก่ตนเอง โดยไม่ได้เป็นประโยชน์ใด ๆ


ต่อมา เรามาพิจารณาการจัดสรรใช้จ่ายทรัพย์ว่าควรใช้จ่ายเพื่ออะไรบ้าง
ใน “อาทิยสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต) สอนว่า
ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ๕ ได้แก่ การใช้จ่ายโภคทรัพย์
ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน
อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เพื่อ
๑. เลี้ยงตนให้เป็นสุข เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข เลี้ยงบุตร ภรรยา
ทาสกรรมกร คนใช้ ให้เป็นสุข
๒. เลี้ยงมิตรสหายให้เป็นสุข
๓. ป้องกันอันตรายที่เกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
และทำตนให้สวัสดี
๔. ทำพลี ๕ อย่าง คือ (ก) ญาติพลี (บำรุงญาติ) (ข) อติถิพลี (ต้อนรับแขก)
(ค) ปุพพเปตพลี (บำรุงญาติผู้ตายไปแล้วคือทำบุญอุทิศกุศลให้)
(ง) ราชพลี (บำรุงราชการ คือบริจาคทรัพย์ช่วยชาติ) และ
(จ) เทวตาพลี (บำรุงเทวดา คือทำบุญอุทิศให้เทวดา)
๕. เพื่อบำเพ็ญทักษิณามีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุขแด่สมณพราหมณ์
ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ
ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับดับกิเลสโดยส่วนเดียว


ถ้าอริยสาวกนั้นถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ เมื่อโภคทรัพย์หมดสิ้นไป
อริยสาวกนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นั้นแล้ว

และโภคทรัพย์ของเราก็หมดสิ้นไป ด้วยเหตุนี้ อริยสาวกนั้น ย่อมไม่มีความเดือดร้อน
ถ้าอริยสาวกนั้นถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้
เมื่อโภคทรัพย์เจริญขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า
เราถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นี้แล้ว และโภคทรัพย์ของเราก็เจริญขึ้น
อริยสาวกนั้นย่อมไม่มีความเดือดร้อน
อริยสาวกย่อมไม่มีความเดือดร้อนด้วยเหตุทั้ง ๒ ประการ


นรชนเมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ว่า เราได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงตนแล้ว
ได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงแล้ว ได้ผ่านพ้นภัยที่เกิดขึ้นแล้ว
ได้ให้ทักษิณาอันมีผลสูงเลิศแล้ว ได้ทำพลี ๕ ประการแล้ว
และได้บำรุงท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว
บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือน พึงปรารถนาโภคทรัพย์ เพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้น เราก็ได้บรรลุแล้ว เราได้ทำสิ่งที่ไม่ต้องเดือดร้อนแล้ว
ดังนี้ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงอยู่ในธรรมของพระอริยะ
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้
เมื่อเขาละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=1001&Z=1054&pagebreak=0


ใน “ปัตตกรรมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต) ได้สอน
เกี่ยวกับการใช้จ่ายโภคทรัพย์ในทำนองเดียวกันกับอาทิยสูตรว่า
โภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน
มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรมได้มาแล้วโดยธรรม ย่อมพึงใช้เพื่อ ๔ ประการ ได้แก่
๑. ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข เลี้ยงมารดา บิดา ให้เป็นสุข
เลี้ยงบุตร ภรรยา คนใช้ คนงาน และบริวารให้เป็นสุข เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข
๒. อริยสาวกย่อมป้องกันอันตรายทั้งหลายที่เกิดแต่ไฟ แต่น้ำ แต่พระราชา แต่โจร
หรือแต่ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักเห็นปานนั้น
๓. ทำพลี ๕ ประการ คือ ญาติพลี อติถิพลี ปุพพเปตพลี ราชพลี เทวตาพลี
๔. ทำทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก

เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ให้ตั้งไว้เฉพาะในสมณพราหมณ์
ผู้งดเว้นจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกฝนตนผู้เดียว
ยังตนผู้เดียวให้สงบ ยังตนผู้เดียวให้ดับกิเลส


โภคทรัพย์ของใคร ๆ ถึงความสิ้นไป นอกจากกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้
เราเรียกว่าสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ สิ้นเปลืองไปโดยไม่สมควร ใช้สอยโดยไม่สมควรแก่เหตุ
ส่วนโภคทรัพย์ของใคร ๆ ถึงความสิ้นไปด้วยกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้
เราเรียกว่า สิ้นเปลืองไปโดยเหตุอันควร สิ้นเปลืองไปโดยสถานที่ควร
ใช้สอยโดยสมควรแก่เหตุ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=21&A=1758&Z=1845&pagebreak=0


ทั้งนี้ มีข้อที่ควรพิจารณาว่าในอาทิยสูตร และปัตตกรรมสูตรสอนว่า
โภคทรัพย์ที่ใช้จ่ายนั้นจะต้องได้มาโดยชอบธรรม ได้มาโดยธรรมด้วยนะครับ
ไม่ใช่ว่าจะได้มา โดยไม่ชอบธรรมก็ได้ เช่นไปโกงเขามา หรือไปปล้นเขามา เป็นต้น
เมื่อได้มาโดยชอบธรรมแล้ว พึงจัดสรรใช้จ่ายอย่างเหมาะสม

แต่ในชีวิตจริงนั้น อาจจะมีบางท่านที่เน้นใช้จ่ายไปในทางใดทางหนึ่งอย่างเดียว
โดยไม่ได้กระจายใช้จ่ายโภคทรัพย์นั้นอย่างเหมาะสม
ยกตัวอย่างเช่น มีทรัพย์เท่าไร ก็เลี้ยงแต่ตนเองทั้งหมด ไม่แบ่งเลี้ยงญาติ
หรือมุ่งแต่เลี้ยงญาติ ไม่เลี้ยงดูตนเอง ปล่อยให้ตนเองอยู่อย่างลำบาก
หรือมุ่งแต่ทำบุญเป็นทักษิณา โดยไม่เลี้ยงดูญาติ ไม่เลี้ยงดูตนเองให้เหมาะสม

(เช่น ปล่อยให้พ่อแม่พี่น้อง คนในครอบครัว หรือตนเองอยู่อย่างลำบาก
แล้วเอาทรัพย์ของตนเองไปทุ่มเททำบุญเป็นทักษิณาเป็นส่วนใหญ่)
หรือเลี้ยงดูตนเอง เลี้ยงญาติ ทำบุญเป็นทักษิณา แต่ไม่จ่ายภาษีรัฐ เป็นต้น
ก็ย่อมถือว่าไม่ได้ใช้จ่ายทรัพย์อย่างเหมาะสมตามพระธรรมคำสอนครับ


ทีนี้ หากถามว่าต้องแบ่งจัดสรรใช้จ่ายอย่างไหนเท่าไร?
คำถามนี้ตอบยากครับ โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า แต่ละคนน่าจะมีเหตุปัจจัยไม่เหมือนกัน
อย่างเช่นบางคน พ่อแม่ถึงแก่กรรมหมดแล้ว ไม่มีญาติที่ต้องดูแลอะไร
ค่าใช้จ่ายที่จะต้องเลี้ยงดูญาติก็ย่อมจะมีน้อยลงตามสภาพ
หรือบางคน พ่อแม่แก่ชรามากและป่วยหนักด้วย ต้องได้รับการดูแลและรักษา
ค่าใช้จ่ายที่จะต้องเลี้ยงดูญาติก็ย่อมจะมีมากขึ้นตามสภาพ
หรือหากเราไปอยู่ในประเทศที่รัฐบาลเก็บภาษีน้อย ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็น้อย
แต่หากเราไปอยู่ในประเทศที่รัฐบาลเก็บภาษีมาก ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็มาก เป็นต้น
ฉะนั้นแล้ว ก็พึงพิจารณาจัดสรรใช้จ่ายให้เหมาะสมกับปัจจัยในชีวิตของเรา


นอกเหนือจากการจัดสรรใช้จ่ายแล้ว ในพระธรรมคำสอนได้สอนให้เก็บออมไว้ด้วย
โดยใน “สิงคาลกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) สอนว่า
เมื่อบุคคลออมโภคสมบัติอยู่เหมือนแมลงผึ้งผนวกรัง
โภคสมบัติย่อมถึงความสั่งสมดุจจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้น
ฉะนั้น คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถ ครั้นสะสมโภคสมบัติได้อย่างนี้แล้ว
พึงแบ่งโภคสมบัติออกเป็น ๔ ส่วน ดังนี้

๑. พึงใช้สอยโภคสมบัติส่วนหนึ่ง
๒. พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน

๓. เก็บเอาไว้เผื่อไว้ในยามอันตรายด้วยส่วนหนึ่ง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=3923&Z=4206&pagebreak=0


ในอรรถกถาของสิงคาลกสูตรได้อธิบายว่า
ในส่วนทั้งหลาย ๔ เหล่านี้ พึงเก็บส่วนไหน ๆ ไว้บำเพ็ญกุศล?
ตอบว่า ถือเอาส่วนที่ท่านกล่าว ในบทว่า “โภเค ภุญฺเชยฺย.
ควรถือเอาจากส่วนนั้น บริจาคทานแก่ภิกษุทั้งหลายบ้าง
แก่คนกำพร้าและคนเดินทางเป็นต้นบ้าง
ควรให้รางวัลแก่ช่างหูกและกัลบกเป็นต้นบ้าง
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=172
ซึ่งส่วนที่ว่า “โภเค ภุญฺเชยฺย.” ก็คือ ส่วนแรก คือส่วนสำหรับใช้สอยโภคสมบัตินะครับ


เราจะเห็นว่าพระสูตรสอนให้แบ่งโภคทรัพย์ไว้ใช้ประกอบการงานด้วยสองส่วน
ทีนี้ สมมุติว่าเราเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทหรือบุคคลอื่น
เราไม่ได้ทำอาชีพกสิกรรมที่ต้องลงทุน หรือประกอบกิจการค้าขายที่ลงทุนแล้ว
ปัจจัยชีวิตของเราก็อาจจะไม่ได้สอดคล้องเข้าลักษณะในสิงคาลกสูตรโดยตรง
ดังนั้นแล้ว สองส่วนสำหรับใช้ประกอบการงานนี้
เราก็อาจจะนำไปใช้จัดสรรเป็นส่วนอื่น ๆ เช่น เป็นส่วนเพื่อใช้สอยโภคสมบัติ
เพื่อลงทุนให้เกิดผลกำไร หรือเพื่อเก็บออม แล้วแต่กรณี
ตามที่เหมาะสมกับปัจจัยของแต่ละท่าน


แต่จะเห็นได้ว่าไม่ว่าอย่างไรแล้ว การจัดสรรทรัพย์เพื่อแบ่งใช้จ่ายทรัพย์
ก็จะต้องแบ่งจัดสรรอย่างเหมาะสมนะครับ ไม่ได้ทุ่มเทไปด้านใดด้านหนึ่งเกินสมควร
เช่น ทุ่มเทใช้จ่าย (รวมทั้งทำบุญ) ไปเป็นส่วนใหญ่
โดยไม่ใช้เพื่อประกอบการงาน และไม่แบ่งเก็บออมไว้ ก็ไม่เหมาะสม
หรือทุ่มเทนำไปใช้เพื่อประกอบการงานเป็นส่วนใหญ่
โดยไม่แบ่งไว้ใช้จ่าย (รวมทั้งทำบุญ) และไม่แบ่งเก็บออมไว้ ก็ไม่เหมาะสม
หรือทุ่มเทนำไปเก็บออมไว้ เป็นส่วนใหญ่
โดยไม่แบ่งไว้ใช้จ่าย (รวมทั้งทำบุญ) และไม่เก็บไว้เพื่อประกอบการงาน ก็ไม่เหมาะสม
ดังนี้ เราพึงจัดสรรสัดส่วนของการใช้จ่ายให้มีความสมดุลเหมาะสมครับ


ในลำดับต่อมา เราพึงพิจารณาเหตุที่ทำให้สกุลต้องคับแค้นยากลำบาก
โดยใน “กุลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค) ได้อธิบายว่า
เหตุปัจจัย ๘ อย่างเพื่อความคับแค้นแห่งสกุลทั้งหลาย คือ

สกุลทั้งหลายถึงความคับแค้นจากพระราชา ๑ จากโจร ๑
จากไฟ ๑ จากน้ำ ๑ ทรัพย์ที่ฝังไว้เคลื่อนจากที่ ๑
ย่อมวิบัติเพราะการงานที่ประกอบไม่ดี ๑ ทรัพย์ในสกุลเกิดเป็นถ่านไฟ ๑
คนในสกุลใช้จ่ายโภคทรัพย์เหล่านั้นฟุ่มเฟือย ให้พินาศสูญหายไป ๑ และความไม่เที่ยง ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=8173&Z=8227&pagebreak=0


สังเกตว่า “ความไม่เที่ยง” เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สกุลอาจจะต้องคับแค้นยากลำบาก
ดังนั้นแล้ว เราเองก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้นะครับ
พึงทำใจไว้ล่วงหน้าว่าความสบายทั้งหลายที่เราได้ประสบในขณะนี้ มันไม่เที่ยง
ในฉับพลัน เราอาจจะต้องมากลายเป็นคับแค้นยากลำบากก็ได้


นอกจากนี้ ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อภิญญาวรรคที่ ๖
ได้อธิบายถึงเหตุที่สกุลที่เป็นใหญ่ในโภคทรัพย์ ไม่ตั้งอยู่ได้นาน
เพราะเหตุ ๔ ประการ กล่าวคือ ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว ๑
ไม่ซ่อมแซมพัสดุที่คร่ำคร่า ๑ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ๑
ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีลให้เป็นพ่อบ้านแม่เรือน ๑
ในทางกลับกัน เหตุ ๔ ประการที่ทำให้สกุลที่เป็นใหญ่ในโภคทรัพย์ ตั้งอยู่ได้นาน
ได้แก่ แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว ๑ ซ่อมแซมพัสดุที่คร่ำคร่า ๑
รู้จักประมาณในการบริโภค ๑ ตั้งสตรีหรือบุรุษผู้มีศีลให้เป็นพ่อบ้านแม่เรือน ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=21&A=6569&Z=6722&pagebreak=0


เหตุแห่งความเสื่อมที่เราพึงหลีกเลี่ยงยังรวมถึงอบายมุข ๖ ประการ
โดยใน “สิงคาลกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) ได้สอนว่า
อริยสาวกย่อมไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ ได้แก่

๑. การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๒. การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน
๓. การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการเที่ยวดูมหรสพ
๔. การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๕. การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร
๖. และการประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเกียจคร้าน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=3923&Z=4206&pagebreak=0


โภคทรัพย์นั้นไม่ได้มีแต่อานิสงส์เท่านั้น แต่ก็มีโทษเช่นกัน
ใน “โภคสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต) สอนว่า
“โทษ” ในโภคทรัพย์ ๕ ประการ ได้แก่ โภคทรัพย์เป็นของทั่วไปแก่ไฟ ๑

เป็นของทั่วไปแก่น้ำ ๑ เป็นของทั่วไปแก่พระราชา ๑ เป็นของทั่วไปแก่โจร ๑
เป็นของทั่วไปแก่ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ๑
“อานิสงส์” ในโภคทรัพย์ ๕ ประการ ได้แก่ เพราะอาศัยโภคทรัพย์
บุคคลจึงเลี้ยงตนให้เป็นสุข เอิบอิ่มบริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ ๑
เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ ๑
เลี้ยงบุตรภรรยา คนใช้ คนงาน และบริวารให้เป็นสุขเอิบอิ่ม
บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ ๑ เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข
เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ ๑
ย่อมบำเพ็ญทักษิณาทานที่มีผลเลิศเป็นทางสวรรค์ มีสุขเป็นผล
เป็นไปเพื่อสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=6079&Z=6093&pagebreak=0


เราได้คุยเรื่องการหา การจัดสรร และการใช้จ่ายโภคทรัพย์มาพอสมควรแล้วนะครับ
แต่ที่สำคัญกว่า “โภคทรัพย์” มากมายก็คือ “อริยทรัพย์”
โดยใน “อุคคสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต) สอนว่า
โภคทรัพย์ย่อมเสื่อมสูญไปได้เพราะไฟ น้ำ พระราชา โจร และทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
แต่ทรัพย์ ๗ ประการที่ไม่เสื่อมสูญเพราะไฟ น้ำ พระราชา โจร และทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญา
ทรัพย์ ๗ ประการเหล่านี้มีแก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม เป็นผู้มีทรัพย์มากในโลก
อันอะไร ๆ พึงผจญไม่ได้ในเทวดาและมนุษย์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=136&Z=157&pagebreak=0


ใน “ธนสูตรที่ ๑” และ “ธนสูตรที่ ๒” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย
สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต) สอนว่าทรัพย์ ๗ ประการ คือ
ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญา
ทรัพย์ ๗ ประการเหล่านี้มีแก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=88&Z=98&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=99&Z=135&pagebreak=0


สังเกตว่าใน “ธนสูตรที่ ๑” และ “ธนสูตรที่ ๒” กล่าวว่า
หากเรามีทรัพย์ ๗ ประการนี้แล้ว บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน
และชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์
เช่นนี้แล้ว หากเราต้องการได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ยากจน และชีวิตไม่เปล่าประโยชน์แล้ว

เราพึงขวนขวายหาและมีอริยทรัพย์ ๗ ประการเหล่านี้ครับ
แต่ทั้งนี้ การขวนขวายหาอริยทรัพย์ ๗ ประการเหล่านี้

เราก็พึงหา จัดสรร ใช้จ่าย และเก็บออมโภคทรัพย์ให้สอดคล้องกับพระธรรมคำสอน
เช่นในพระสูตรต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้วด้วยนะครับ
กรณีไม่ใช่ว่าเราใช้จ่ายโภคทรัพย์อย่างไม่เหมาะสมแล้วก็อ้างว่าไม่สนใจโภคทรัพย์
โดยสนใจมุ่งแต่อริยทรัพย์อย่างเดียว เพราะตราบใดที่เรายังเป็นฆราวาสอยู่
เราก็ต้องเกี่ยวข้องใช้จ่ายโภคทรัพย์อยู่ เราจะปัดทิ้งไม่สนใจโภคทรัพย์เลยนั้นไม่ได้ครับ
จึงต้องจัดหา จัดสรร ใช้จ่าย และเก็บออมตามที่เหมาะสมแก่เหตุและปัจจัยด้วย



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP