จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

หาทรัพย์และใช้จ่ายทรัพย์อย่างถูกวิธี (ตอนที่ ๑)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



130 destination



ในคราวนี้ เราจะมาสนทนากันเรื่องวิธีหาทรัพย์ และใช้จ่ายทรัพย์ของฆราวาส
ซึ่งตามพระธรรมคำสอนก็มีอยู่หลายเรื่อง
โดยผมขอเริ่มต้นในเรื่องการประกอบอาชีพหาทรัพย์นะครับ
ใน “วณิชชสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
สอนว่าการค้าขาย ๕ ประการที่ฆราวาสไม่พึงกระทำได้แก่
๑. การค้าขายศาตราหรืออาวุธ ๒. การค้าขายสัตว์ ๓. การค้าขายเนื้อสัตว์
๔. การค้าขายน้ำเมา และ ๕. การค้าขายยาพิษ
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=4838&Z=4843


ในอรรถกถาของวณิชชสูตรได้อธิบายขยายความเพิ่มเติมว่า
“สตฺถวณิชฺชา” ได้แก่ ให้เขาทำอาวุธแล้วก็ขายอาวุธนั้น
“สตฺตวณิชฺชา” ได้แก่ ขายมนุษย์
“มํสวณิชฺชา” ได้แก่ เลี้ยงสุกรและเนื้อเป็นต้นขาย
“มชฺชวณิชฺชา” ได้แก่ ให้เขาทำของเมาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ขายของเมา

“วิสวณิชิชา” ได้แก่ ให้เขาทำยาพิษแล้วก็ขายยาพิษนั้น
การทำด้วยตนเอง การชักชวนคนอื่นให้ทำการค้านี้ทั้งหมด ก็ไม่ควรด้วยประการฉะนี้
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=177


ในการค้าขายเหล่านี้ บางทีเราอาจจะไม่ได้เปิดร้านทำการค้าเองโดยตรง
แต่เราอาจเป็นเจ้าของกิจการเหล่านี้บางส่วน โดยการเข้าซื้อหุ้นก็ได้
ซึ่งก็ถือว่าเราพึงหลีกเลี่ยงการเป็นเจ้าของในกิจการเหล่านี้
หรือเราเปิดร้านขายของชำ ร้านขายของสะดวกซื้อ ร้านโชห่วย
หรือกระทั่งเปิดร้านอาหารก็ตาม
ภายในร้านเราก็พึงหลีกเลี่ยงการค้าสุราหรือเครื่องดื่มของมึนเมาต่าง ๆ เช่นกัน


การงานที่เราไม่ควรทำนั้นไม่ได้มีเพียงอาชีพที่ระบุในวณิชชสูตรเท่านั้น
การงานหรืออาชีพอื่น ๆ ที่ต้องทำผิดศีล หรือก่ออกุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ไม่พึงทำเช่นกัน
เช่น รับจ้างเป็นอันธพาลทำร้ายคนอื่นเพื่อทวงหนี้ ก็ย่อมเป็นการผิดศีล

หรือรับจ้างตามด่าลูกหนี้เพื่อทวงหนี้ เป็นการก่ออกุศลกรรมบถ
หรือมีอาชีพเปิดบ่อน หรือรับแทงหวยเถื่อน ก็เป็นการพนันและอบายมุข เป็นต้น


ในบางอาชีพนั้นก็มีโอกาสจะทำให้เราไปอบายภูมิได้ง่าย
อย่างเช่น อาชีพนักร้อง นักแสดง นักเต้นรำ ซึ่งใน “ตาลปุตตสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค) ได้อธิบายว่า
การแสดงของอาชีพนี้เป็นสร้างราคะ โทสะ โมหะแก่ผู้ชมมากยิ่งขึ้น
และผู้แสดงเองก็มัวเมาตั้งอยู่ในความประมาท เช่นนี้เมื่อแตกกายตายไปแล้ว

ย่อมมีทางไปคือนรกหรือสัตว์เดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=7768&Z=7822&pagebreak=0
หรืออาชีพนักรบ ซึ่งใน “โยธาชีวสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)
ได้อธิบายว่า นักรบคนใดได้อุตสาหะพยายามในสงคราม
ผู้นั้นยึดหน่วงจิตกระทำไว้ไม่ดี ตั้งจิตไว้ไม่ดีก่อนว่า สัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูกแทง
จงขาดสูญ จงพินาศ เป็นต้น ต่อมาได้มีคนอื่นฆ่าผู้นั้นถึงความตาย
ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมมีทางไปคือนรกหรือสัตว์เดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=7823&Z=7861


ฉะนั้นแล้ว เราพึงเลือกประกอบอาชีพเพื่อหาทรัพย์ด้วยครับ
ไม่ใช่เห็นว่าประกอบอาชีพอะไรก็ได้ หรือทำอย่างไรก็ได้ ขอเพียงให้ได้ทรัพย์มาก็พอ
โดยหากเราสามารถเลือกประกอบการงานที่ปราศจากโทษ

ก็จะพึงอำนวยความสุขให้มากกว่าการมีทรัพย์สินมากมายเสียอีก
ใน “อันนนาถสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต)
ได้อธิบายว่า ความสุข ๔ ประการอันฆราวาสพึงได้รับตามกาลตามสมัย ได้แก่

๑. ความสุขเกิดแต่ความมีทรัพย์
๒. ความสุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค
๓. ความสุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้ และ
๔. ความสุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ


ความสุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ คือโภคทรัพย์ของบุคคลในโลกนี้
เป็นของที่เขาหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน
มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม
เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า โภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม


ความสุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค คือบุคคลในโลกนี้ ย่อมใช้สอยโภคทรัพย์
และย่อมกระทำบุญทั้งหลาย ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม
ความสุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้ คือบุคคลในโลกนี้ ย่อมไม่เป็นหนี้อะไร ๆ
ของใคร ๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม


ความสุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษ คืออริยสาวกในธรรมวินัย
เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้


บุคคลทั่วไปนั้น ย่อมรู้ว่าความไม่เป็นหนี้เป็นสุข
รู้ว่าความมีทรัพย์เป็นสุข และรู้ว่าการใช้สอยโภคทรัพย์เป็นสุข
ส่วนบุคคลผู้มีปัญญาดีหรือความรู้ดีนั้น ย่อมรู้ว่าแม้สุขทั้ง ๓ อย่างดังกล่าวนี้
ก็ไม่ได้ถึง ๑ ใน ๑๖ ของความสุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษ
http://www.84000.org/tipitaka/book/v.php?B=21&A=1846&Z=1878
ฉะนั้นแล้ว การที่เราประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้
ย่อมจะอำนวยความสุขให้มากกว่าการมีทรัพย์ การใช้ทรัพย์
และการไม่เป็นหนี้เสียอีกครับ


เมื่อรู้วิธีประกอบอาชีพเพื่อหาทรัพย์แล้ว
พึงรู้จักการขวนขวายหาทรัพย์พึงกระทำด้วยความขยันขันแข็ง
รู้จักที่จะรักษาทรัพย์นั้นไว้ รู้จักที่จะคบเพื่อนดี (หรือที่เรียกว่ากัลยาณมิตร)
รู้จักที่จะใช้จ่ายอย่างพอเหมาะพอควร ไม่มากไป ไม่น้อยไป

ไม่ใช้จ่ายเกินกว่ารายได้ของตนเอง
และก็พึงรู้จักหลีกเลี่ยงทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ที่หามาได้แล้วนั้น
ใน “ทีฆชาณุสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
อธิบายว่า ธรรม ๔ ประการนี้ คือ อุฏฐานสัมปทา ๑ อารักขสัมปทา ๑

กัลยาณมิตตตา ๑ สมชีวิตา ๑
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร


อุฏฐานสัมปทาเป็นอย่างไร? กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน
คือ กสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับราชการฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน
หรือศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานนั้น
ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำได้
นี้เรียกว่าอุฏฐานสัมปทา


อารักขสัมปทาเป็นอย่างไร? กุลบุตรในโลกนี้ มีโภคทรัพย์ที่หามาได้
ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ชอบธรรม
ได้มาโดยธรรม เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูลด้วยทำไว้ในใจว่า
ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่พึงลัก
ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป
นี้เรียกว่าอารักขสัมปทา


กัลยาณมิตตตาเป็นอย่างไร? กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด
ย่อมดำรงตน เจรจา สั่งสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น
ซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจารบริสุทธิ์
ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
ศึกษาศรัทธาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
ศึกษาศีลสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
ศึกษาจาคสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ
ศึกษาปัญญาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา นี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา


สมชีวิตาเป็นอย่างไร? กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์
แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า
รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้
เปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่ง หรือลูกมือคนชั่งตราชั่ง
ยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมลดออกเท่านี้ หรือต้องเพิ่มเข้าเท่านี้ ฉันใด
กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์
แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า
รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้
ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่โถง
จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์เหมือนคนเคี้ยวกินผลมะเดื่อฉะนั้น
ก็ถ้ากุลบุตรผู้ที่มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง
จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้จักตายอย่างอนาถา
แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์
แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า
รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้
นี้เรียกว่าสมชีวิตา


นอกจากนี้ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ
อันเราพึงหลีกเลี่ยง คือ เป็นนักเลงหญิง ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑
เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑
เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ทางไหลออก ๔ ทาง
หากบุรุษปิดทางไหลเข้า เปิดทางไหลออกของสระนั้น ฝนก็มิตกต้องตามฤดูกาล
ด้วยประการฉะนี้ สระน้ำใหญ่นั้นพึงหวังความเสื่อมอย่างเดียว ไม่มีความเจริญ ฉันใด
โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ


โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ
อันเราพึงกระทำ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑ ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑
ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ๑
เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ไหลออก ๔ ทาง
หากบุรุษเปิดทางไหลเข้า ปิดทางไหลออกของสระนั้น ทั้งฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล
ด้วยประการฉะนี้ สระน้ำใหญ่นั้นพึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อม ฉันใด
โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=5934&Z=6025&pagebreak=0


สังเกตว่าการเลือกคบมิตรดี หลีกเลี่ยงมิตรชั่ว เป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ
เพราะเป็นทั้งเรื่อง “กัลยาณมิตตตา” เป็นทั้งทางเจริญแห่งโภคทรัพย์
และเป็นการหลีกเลี่ยงทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ด้วยในเวลาเดียวกัน
(นอกจากนี้ยังถือเป็น “มงคลชีวิต” ใน ๒ ข้อแรกด้วยตามที่เคยคุยแล้วในตอนก่อน ๆ)
โดยคำว่า “มิตรดี” ในข้อนี้ ไม่ได้มุ่งหมายถึงมิตรที่ร่ำรวย หน้าตาดี หรือมิตรที่เก่ง
แต่มุ่งหมายถึงมิตรที่เป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์
และเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาครับ


บางท่านอาจจะรู้สึกว่า หากมีเพื่อนรวยแล้ว น่าจะเป็นประโยชน์กว่ามีเพื่อนดีแต่จน
แต่จริง ๆ แล้ว หากเพื่อนรวยแต่ไม่ดีแล้ว เขาก็ชักชวนเราไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
ใช้จ่ายเกินรายได้ แล้วท้ายสุด เขาก็ชักนำเราไปโกงทรัพย์ หรือหาทรัพย์ในทางไม่ชอบธรรม
หรือนำพาให้เราไปก่ออกุศลกรรมอื่น ๆ (ดีไม่ดี เขาอาจจะมาโกงเราอีกด้วย)
แล้วท้ายสุด เราเองก็ต้องรับผลวิบากกรรมแห่งอกุศลกรรมนั้น
ในขณะที่เพื่อนดีอาจจะไม่ได้มีกำลังทรัพย์มาช่วยเหลืออะไรเราได้

แต่ก็จะชักนำให้เราขยันขันแข็ง และหาทรัพย์ในทางที่ชอบธรรม
และนำพาให้เราไปสร้างกุศลกรรมต่าง ๆ หลีกเลี่ยงอกุศลกรรมทั้งหลาย
แล้วเราก็ย่อมจะได้รับผลแห่งกุศลธรรมนั้น ๆ
หรืออาจจะถึงขนาดนำพาให้เราพ้นจากสังสารวัฏนี้เลยด้วยก็ได้
ฉะนั้นแล้ว ฐานะ หน้าตา และความเก่งของเพื่อนไม่สำคัญครับ
สำคัญอยู่ที่ความเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์
และเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาครับ


(ขอคุยต่อในคราวหน้าครับ)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP