สารส่องใจ Enlightenment

อริยสัจ ๔



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑



พระพุทธเจ้าเป็นผู้เช่นไรเราถึงได้กราบ เราถึงได้เคารพ
มอบกายวาจาใจ ตลอดชีวิตไว้กับพระพุทธเจ้า
เราเป็นชาวพุทธ นับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นชีวิตจิตใจ
เวลาเขาถามถึงพระพุทธเจ้า ถามถึงศาสนา ว่าถือศาสนาอะไร
เราต่างก็ตอบเขาทันทีว่า ถือศาสนาพุทธ
เมื่อเขาถามว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไร ศาสนาพุทธเป็นอย่างไร และสอนว่าอย่างไร
จะไม่พ้นความติดเขาจนได้ เพราะมีแต่ความนับถือเป็นส่วนมากสำหรับชาวพุทธเรา
แต่ไม่ได้สนใจศึกษาและปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาเท่าที่ควรแก่เพศและวัยของตน



คำตอบก็คือ พระพุทธคือท่านผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวง
ใจบริสุทธิ์เป็นพุทธะเต็มดวง จึงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์วิเศษกว่าโลกทั้งสาม
ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของกิเลสอาสวะครอบงำจิตใจ และเป็นบ๋อยเป็นทาสรับใช้ของกิเลส
จิตใจแม้รู้ก็รู้อย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไปตามอำนาจของกิเลสครอบงำ ไม่รู้แจ้งเห็นจริงดังพระพุทธเจ้า
พระองค์เป็นผู้อยู่เหนือกิเลสจึงเท่ากับอยู่เหนือโลกที่มีกิเลสทั้งมวล
เป็นผู้วิเศษกว่าโลกทั้งสามที่อยู่ใต้อำนาจของกิเลส



พระพุทธเจ้าอยู่เหนือกิเลส
เพราะสามารถเหยียบย่ำทำลายกิเลสแหลกแตกกระจายจากพระทัย
จึงเป็นผู้วิเศษอย่างสง่าผ่าเผย
ความบริสุทธิ์ในพระทัยคือ ความประเสริฐแห่งพุทธะที่บริสุทธิ์ทั้งดวง
ไม่มีอะไรเสมอเหมือนในโลกสมมุติ
ผู้เป็นพุทธะด้วยความบริสุทธิ์นั้นแล คือพระพุทธเจ้าผู้ประกาศพุทธศาสนา



การประกาศธรรมสอนโลก ก็ไม่มีใครประกาศสอนได้ทั่วทั้งสามโลกธาตุเหมือนพระพุทธเจ้า
เราจะเห็นว่าใครเป็นผู้ฉลาดเหนือพระพุทธเจ้าในโลกทั้งสาม
ซึ่งสามารถประกาศธรรมทุกขั้นทุกภูมิอย่างถูกต้องแม่นยำแก่สัตว์โลกที่มีจริตนิสัยต่าง ๆ กัน
คำว่าธรรมที่ท่านนำออกประกาศสอนโลกนั้น
เป็นเพียงกิริยาที่ออกมาจากธรรมแท้ซึ่งมีอยู่ในพระทัยที่บริสุทธิ์ล้วนๆ เท่านั้น
มิใช่ธรรมแท้ดังที่สถิตอยู่ในพระทัยของพระองค์เลย
คำว่าธรรมแท้กับพระทัยที่บริสุทธิ์เป็นอันเดียวกัน
กิริยาที่แสดงออกจากธรรมแท้นั้นเรียกว่า ศาสนธรรม
คือธรรมที่เป็นคำสั่งคำสอนเพื่อปฏิบัติให้ถึงธรรมแท้ ซึ่งจะประจักษ์กับใจตัวเองด้วยกัน
ธรรมประเภทนั้นกับใจที่บริสุทธิ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นของประเสริฐ ธรรมประเสริฐ
คำว่าธรรมๆ นั้น ทั้งธรรมภายในใจของท่านผู้รู้ ทั้งธรรมในหลักธรรมชาติที่มีอยู่ประจำโลก
ใครไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ เพราะไม่ใช่ด้านวัตถุ แต่เป็นนามธรรมล้วนๆ



ถ้าธรรมในพระทัยของพระพุทธเจ้า ธรรมในใจของสาวกและธรรมในหลักธรรมชาตินั้น
เป็นด้านวัตถุ เช่น เป็นสินค้าประเภทต่างๆ นำออกโชว์และจำหน่ายให้โลกได้เห็น
และนำไปใช้เหมือนวัตถุและสินค้าทั้งหลายแล้ว
ทรัพย์สินและสินค้าทั่วโลก จะแตกกระจายล้มละลายไปทันที
ไม่มีทรัพย์สินหรือสินค้าใดจะวิเศษศักดิ์สิทธิ์ ต้องเนื้อต้องใจ
ต้องหูต้องตาและต้องการยิ่งกว่าสินค้าคือธรรมนั่นเลย
สินค้าต่างๆ ในแดนโลกธาตุที่เคยประกาศและนิยมกันมาตั้งกัปตั้งกัลป์
จะต้องล้มละลายไปในขณะเดียว



ไม่ว่าสัตว์ว่าบุคคลในกำเนิดและสถานที่ต่างๆ จะหลั่งไหลเข้ามาชมมาซื้อสินค้าแห่งธรรมนี้
ไม่มีเวลาว่างเว้นเลย ไม่มีใครสนใจสินค้าทั้งหลายที่เคยสนใจมาก่อนนั้นเลย
เพราะความมีคุณค่า ความถูกเนื้อต้องใจ
ความประเสริฐเลิศเลอแห่งธรรมที่กังวานอยู่ในแดนโลกธาตุ
หากสามารถผลิตออกมาเป็นด้านวัตถุได้เหมือนสินค้าทั่วๆ ไป
จะผลิตชนิดใดออกมาก็ตาม จะเป็นของประเสริฐไปตามๆ กัน
ไม่มีชิ้นใดส่วนใดแห่งสินค้าธรรมนี้ จะไม่เป็นที่ต้องเนื้อต้องใจของบุคคลและสัตว์ทั่วไป
จะเป็นสิ่งที่พึงใจทั้งสิ้น
แต่ธรรมชาตินี้ไม่สามารถจะผลิตออกมาได้เช่นนั้น
จึงปรากฏอยู่จำเพาะใจของผู้ปฏิบัติได้บรรลุถึงธรรมขั้นนั้นๆ เท่านั้น
ไม่ทั่วไปแก่ผู้ไม่ได้ไม่ถึง และผู้ไม่ปฏิบัติ



ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงเป็นแนวทางออกมา
เช่นแสดงออกมาทางเหตุ เหตุดี เหตุชั่ว
สอนให้รู้เรื่องบาปเรื่องบุญซึ่งเป็นความผิดความถูก และสอนให้ละบาปบำเพ็ญบุญ
นี่เป็นกิริยาแห่งธรรม ไม่ใช่ตัวธรรมอย่างแท้จริง
แต่ให้ดำเนินตามหลักที่ทรงสอนนี้ ซึ่งเป็นเข็มทิศทางเดินเพื่อเข้าสู่ธรรมอันแท้จริงโดยลำดับ
เมื่อได้ประพฤติปฏิบัติตามเข็มทิศทางเดินแห่งธรรม ใจย่อมจะได้สัมผัสธรรมอันแท้จริง
เพราะธรรมแท้ มีใจเท่านั้นเป็นผู้รับทราบ เป็นผู้สัมผัส
นับแต่ธรรมขั้นต่ำจนถึงธรรมขั้นสูงสุดวิมุตติพระนิพพาน
จะนอกเหนือไปจากเหตุอันดีและใจผู้ปฏิบัติดำเนินไปไม่ได้



คำว่าพระสงฆ์ก็คือ ผู้สิ้นกิเลสแล้วด้วยความตะเกียกตะกาย
ตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าโดยทางปฏิปทา
จนสามารถหลุดพ้นสิ่งที่ต่ำช้าเลวทรามทั้งหลาย ซึ่งเคยมีอำนาจเหนือจิตใจบังคับจิตใจ
ออกไปโดยสิ้นเชิง กลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์วิเศษขึ้นมา
นี่แหละพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นธรรมชาติที่แปลกจากโลกมากอย่างนี้แล
โลกสมมุติทั้งมวล ไม่มีโลกใดจะเสมอด้วยพุทธ ธรรม สงฆ์นี้
ฉะนั้นการถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือการถือพุทธศาสนา
จึงเป็นความถูกต้องดีงามอย่างยิ่งของจิตซึ่งเป็นของที่ควรประเสริฐได้
อัตภาพร่างกายมนุษย์ก็เป็นของคู่ควรกับศาสนาอยู่แล้ว
จึงนับว่าเป็นผู้มีวาสนา ไม่ผิดพลาดไปยึดถือสิ่งต่างๆ ที่ไม่เกิดประโยชน์ ดังที่เห็นๆ อยู่ทั่วไป
ซึ่งเป็นที่น่าสงสารมากทั้งที่ช่วยอะไรไม่ได้



นี่เราเป็นนักบวช เป็นผู้มีโอกาสตลอดอิริยาบถ
คือทุกๆ อิริยาบถที่จะบำเพ็ญจิตใจ ชำระสะสางจิตใจ อบรมจิตใจ
ชำระสิ่งไม่ดีซึ่งเป็นเครื่องกดถ่วงจิตใจเราให้น้อยลงและหมดไปโดยลำดับ
เรามีโอกาสมากมีเวลามาก จะเรียกว่าเราได้เปรียบชาวบ้านก็ถูก
แต่ไม่มีเจตนาจะเอารัดเอาเปรียบใคร เพราะการปฏิบัติธรรมไม่มีการกระทบกระเทือนกัน
เป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ของผู้ออกบวชและบำเพ็ญธรรมแต่ละราย ๆ
เราพึงเห็นโอกาสของเราที่ได้มาบวชในพระพุทธศาสนานี้ ว่าเป็นโอกาสอันเหมาะสมอย่างยิ่ง
งานของเราก็เป็นงานที่มีคุณค่ามาก ยิ่งกว่างานใดๆ ที่เคยผ่านมาในโลก
ผลที่พึงจะได้รับจากงานที่ทำนี้ ก็เป็นผลที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง
หากเราไม่ยินดีในงานนี้ คือการบำเพ็ญการประพฤติปฏิบัติกำจัดกิเลสด้วยจิตตภาวนา
ก็เรียกว่าเราพลาดจากโอกาส เป็นผู้ลืมเนื้อลืมตัว
ลืมหน้าที่การงานของตัวไปมากจนน่าใจหาย
โดยเห็นงานอย่างอื่น เรื่องอย่างอื่นดีกว่าเรื่องนี้งานนี้ เห็นสิ่งที่ไม่ดีว่าเป็นของดีไปเสีย
ชื่อว่าจิตนี้มีความรู้สึกนึกคิดปีนเกลียวกันกับธรรมอย่างมากสำหรับนักบวชเรา
ในขณะเดียวกันก็เรียกว่าความคิดนั้นเป็นข้าศึกแก่ธรรมและตัวเราเองด้วย
จงระวังให้มากอย่านอนใจ



ความคิดใดที่จะเป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นมา
จะเป็นประเภทความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหา แม้น้อยก็ตาม
ให้พึงทราบว่าความคิดประเภทนั้นทำลายศาสนา หรือทำลายตัวเราเอง
ศาสนาก็คือเราเป็นผู้รักษา การทำลายก็คือเราเป็นผู้ทำลาย
ผลเกิดขึ้นจากการทำลายก็คือเราเป็นผู้จะต้องรับ
เพราะฉะนั้นจึงต้องสำรวมระวังตนอย่างยิ่ง
เพราะเราบวชมาเพื่อสำรวม เพื่อกลั่นกรองความคิดความเห็นการแสดงออกต่างๆ
ให้เข้ากับหลักธรรมวินัยไม่ให้ผิดพลาดได้



การฝืนกิเลสนั้นต้องฝืน ฝืนให้สุดขีดสุดแดน
เพราะได้เชื่อกิเลสคล้อยตามกิเลส โดยไม่สำนึกตัวเลยว่า
กิเลสเป็นข้าศึกแก่ตัวมาเป็นเวลานานแล้ว
เวลานี้ได้มาศึกษาอบรมธรรมะซึ่งเป็นเครื่องชี้ผิดชี้ถูก
เป็นเครื่องทดสอบยืนยันซึ่งกันและกันได้แล้วว่า
ธรรมเป็นของประเสริฐ กิเลสเป็นของต่ำช้าเลวทราม
ไม่ว่าจะหมักหมมอยู่ภายในจิตใจ ไม่ว่าจะแสดงกิริยาออกมาจากความคิดความปรุง
การพูดการจา การกระทำ เป็นสิ่งที่ต่ำทรามด้วยกัน
ไม่ยังผลให้เกิดสุขอันพึงหวังเหมือนธรรมเลย
ดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ ระหว่างกิเลสกับธรรมเดินสวนทางกัน เดินหันหลังให้กันแต่ไหนแต่ไรมา
ไม่เคยลงรอยกับความถูกความจริงคือธรรมเลย



เพราะฉะนั้นเราเป็นผู้ปฏิบัติศาสนา เป็นผู้รักษาจิตใจ ปฏิบัติจิตใจ
จึงต้องมีความเข้มงวดกวดขันต่อภัยของกิเลสทุกประเภท
ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในและออกเที่ยวกว้านเอาสิ่งต่างๆ ภายนอกมาเป็นอารมณ์เผาลนตัว
ส่วนมากก็ระวังใจเรามากกว่าจะไประวังภายนอก
เพราะใจเราเมื่อได้สัมผัสกับสิ่งภายนอก
ด้วยอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เกี่ยวโยงกันกับอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส
แล้วจะคิดปรุงขึ้นมาในแง่ต่างๆ ซึ่งส่วนมากอยากจะพูดว่า ๙๙% มันเป็นเรื่องของกิเลส
เป็นการสั่งสมกิเลส และการส่งเสริมกิเลสทั้งมวล



ถ้าไม่มีสติก็เป็นไปได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ในวันหนึ่งคืนหนึ่งโดยไม่เลือกท่า
ในอิริยาบถทั้งสี่สั่งสมได้ทั้งนั้น จะไม่รู้สึกตัวเลยว่าเราส่งเสริมกิเลส เพื่อทำลายธรรมที่เราต้องการ
ขณะแห่งความคิดปรุงของจิตแต่ละขณะ มักเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสภายในผลักดันออกมา
โดยอาศัยอายตนะสัมผัสกัน และธรรมารมณ์ซึ่งได้สัมผัสผ่านเป็นอตีตารมณ์ไปแล้ว
นำเข้ามาครุ่นคิดปรุงแต่งต่างๆ อยู่ภายในใจ
ใจแทนที่จะมีความสงบผ่องใส ก็กลับกลายเป็นความเศร้าหมองยิ่งขึ้น
ถ้าขาดความระมัดระวังด้วยสติ



ความเพียรใดก็ตามไม่เหมือนความเพียรพยายามรักษาจิต
และพยายามกำจัดสิ่งไม่ดีทั้งหลายซึ่งมีอยู่ภายในจิตออกไป
และพยายามรักษาไม่ให้จิตออกไปกว้านเอาอารมณ์ต่างๆ
มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น เข้ามาทำลายจิตใจ
หรือเข้ามาเพิ่มกิเลสที่มีอยู่แล้วให้กำเริบยิ่งขึ้น

งานนี้เป็นงานสำคัญมากสำหรับนักบวชเรา
จึงต้องต่อสู้กันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช สุดกำลังความสามารถ สุดสติปัญญาที่จะต่อสู้ได้
จึงชื่อว่าเป็นผู้เชื่อธรรม เป็นผู้ต้องการมรรคผลนิพพานอย่างแท้จริง
ไม่เช่นนั้นจะต้องแพ้กิเลสไปเรื่อย ๆ โดยที่เข้าใจว่าตนประกอบความเพียรเพื่อชำระกิเลส
แต่กิเลสสวมรอยเข้ามาในท่าและประโยคแห่งความเพียรไม่รู้ตัว
โดยที่สติปัญญารู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่รู้เท่าทันมัน
จึงต้องสั่งสมสติปัญญาขึ้นให้พอตัว การระมัดระวังจิตให้อยู่กับตัว
อย่าให้เผลอได้เป็นการดี ถ้าไม่อยากเห็นเราเองตกเวทีความเพียรให้กิเลสหัวเราะเย้ยหยัน



อย่าระวังสิ่งใดยิ่งกว่าระวังการกระเพื่อมของจิตที่จะคิดปรุงในแง่ต่างๆ
ที่เรียกว่าจิตแสวงหาอาหาร ความจริงนั้นจิตแสวงหายาพิษมาเผาตัวเอง
ถ้าได้คิดได้ปรุงเรื่องใด ด้วยความชอบใจพอใจต้องเพลินจนลืมตัว
ซึ่งส่วนมากจิตที่เป็นพื้นๆ นี้ ความคิดปรุงต่างๆ มักจะเป็นยาพิษทั้งนั้น
เว้นเสียแต่จิตที่มีสติเท่าที่ควร หรือมีสติค่อนข้างจะสมบูรณ์และมีสติโดยสมบูรณ์
ถ้าเป็นเช่นนั้นจิตจะผลิตแต่อรรถแต่ธรรม ชำระสะสาง
หรือฟาดฟันแต่กิเลสเรื่อยไปไม่มีคำว่าถอย



จิตเรายังไม่ถึงขั้นนั่น จึงมักมีแต่ขั้นทำลายตัวอยู่ด้วยความคิดความปรุง โดยเจ้าตัวก็ไม่ทราบ
ทำลายอยู่ในทางจงกรม เดินมีแต่ก้าวขาเดินกลับไปกลับมา
นั่งก็มีแต่ร่างนั่งอยู่เฉยๆ เหมือนหัวตอ
แต่จิตลอยอยู่เหมือนว่าวเชือกขาดอยู่บนอากาศ
จิตลอยไปตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรส เครื่องสัมผัสต่างๆ
แล้วก็กว้านมาเป็นอตีตารมณ์ครุ่นคิดอยู่ภายในใจ เผาลนตนอยู่ด้วยอิริยาบถต่างๆ
โดยที่ตนสำคัญว่า ประกอบความเพียร
ความจริงเป็นการเพียรเพื่อสั่งสมกิเลสโดยไม่รู้สึกตัว
เพราะสติปัญญาไม่ทันกลมายาของกิเลส



ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีความเข้มแข็งในการระวังรักษา
จุดที่จะต้องรักษามากเพื่อถูกต้องเหมาะสมก็คือจิต
จิตเป็นตัวคิดตัวปรุงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการยับยั้ง ไม่มีเวลาพักผ่อนตัวเลย
นอกจากจะได้รับความสงบจากการภาวนาที่ถูกบังคับด้วยธรรมบทใดบทหนึ่งเท่านั้น
แม้จิตจะยังไม่สงบ แต่การบริกรรมธรรมบทใดบทหนึ่งนั้น ก็เป็นทางที่จะทำใจให้สงบได้
ท่านจึงสอนทางสมถะด้วยธรรมหลายประเภท
ตามแต่จะเลือกหาบทที่ถูกกับจริตนิสัยของผู้ปฏิบัติจิตตภาวนาเป็นราย ๆ ไป
มี ๔๐ ห้องด้วยกัน ท่านเรียกกรรมฐาน ๔๐ มีอนุสสติ ๑๐ เป็นต้น
งานของใจถ้าเป็นไปด้วยการบริกรรมโดยความมีสติแล้ว
เป็นงานแท้ เป็นงานเพื่อจะทำความสงบให้แก่ใจโดยถ่ายเดียว
ถ้าปราศจากสติ แม้บริกรรมอยู่ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
เหมือนนกขุนทองร้องแก้วเจ้าขานั่นเเล พึงทราบไว้อย่างถึงใจ



จุดที่รักษาคือใจ อย่าลืม มีใจดวงเดียวเท่านั้นแหละ
กาย วาจาเป็นเครื่องมือ จิตเป็นนายผู้บงการ กายเป็นบ่าว
กาย วาจา เป็นเพียงเครื่องมือ เป็นเครื่องใช้ของใจ
ใจเป็นสำคัญ จึงควรได้รับการอบรมศึกษาและการระมัดระวังอยู่เสมอ
อย่าเห็นสิ่งใดดีและประเสริฐเลิศเลอ
ยิ่งกว่างานคือการรักษาใจด้วยสติ ไม่ให้สิ่งอื่นใดมากระทบกระเทือน
อันจะเป็นเหตุให้เกิดอารมณ์ฟุ้งซ่านรำคาญ เพิ่มทุกข์เข้าไปอีก



ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์ เพราะเราทำงาน
อย่าถือความทุกข์ความลำบากในการประกอบการงานที่ชอบนี้มาเป็นอุปสรรค
จะก้าวไม่ออก ไปไม่รอด ทุกข์ก็ยอมรับในเวลาทำงาน
แม้แต่ตายเรายังจะยอมตาย เหตุใดเราจะยอมทุกข์เพื่อการงานที่ชอบธรรมนี้ไม่ได้ล่ะ
นี่คืออุบายวิธีการอบรมหรือซักซ้อมตนเอง โต้ตอบระหว่างกิเลสกับธรรมภายในใจเราเอง
ไม่อย่างนั้นฝ่ายธรรมต้องแพ้กิเลส ต้องมีการโต้ตอบกันด้วยอุบายวิธีต่างๆ



ความทุกข์อยู่เฉย ๆ มันก็ทุกข์ การสั่งสมกิเลสด้วยกิริยาต่างๆ มันก็ทุกข์
แต่เราไม่สนใจเพราะใจชอบ จึงเข้าใจว่ามันไม่ทุกข์
ความจริงมันทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น
เมื่อได้เคลื่อนใจเคลื่อนกายออกไปจากความเป็นปกติแล้วย่อมทุกข์
เราตั้งหน้าตั้งตาประกอบความพากเพียรเพื่อบำรุงรักษาใจ ก็ย่อมเป็นทุกข์เป็นธรรมดา
ไม่ว่างานของกิเลสและงานของธรรม ย่อมเป็นทุกข์ด้วยกัน
ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องรักษาเพื่อความปลอดภัยของใจ
สมเจตนาที่มาบวชเพื่อบำรุงรักษาตัวด้วยศีลธรรม



กิเลสที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่ยอมให้เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วฝังอยู่ภายในใจก็พยายาม ชำระสะสางออกไป
นี่คืองานที่ชอบ งานอันแท้จริงของพระ
ได้แก่งานขุดค้นทำลายกิเลสทุกประเภทที่ฝังจมอยู่ภายในใจด้วยความพากเพียร
มีสติปัญญาเป็นเครื่องมืออันสำคัญ นี่คืองานที่ชอบแท้

ผลที่จะพึงได้รับจากการรักษาจิตด้วยอุบายดังกล่าวนี้
อย่างน้อยก็คือความสงบเย็นใจ ยิ่งกว่านั้นก็สงบละเอียดลงไป
และเกิดความแยบคายทางปัญญาคือการค้นคิดการพินิจพิจารณา
จิตจะมีโอกาสขยายตัวได้ มีช่องทางที่จะขยายตัวออกจากเครื่องหุ้มห่อพัวพัน
ให้เห็นความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ของธรรมภายในใจโดยลำดับ
เมื่อเพิกถอนกิเลสออกไปเรื่อยๆ
เพราะกิเลสเป็นผู้ปิดบัง เป็นผู้หุ้มห่อจิตดวงประเสริฐนั้นไว้
ให้มืดมิดปิดทวารทั้งกลางวันกลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน ล้วนอยู่กับความมืดบอดเรื่อยมา
ไม่สามารถมองเห็นของประเสริฐที่มีอยู่ในใจนั้นได้
เพราะถูกปิดบังไว้อย่างมิดชิดจากกิเลสทั้งหลาย



บัดนี้เป็นเวลาที่เรามารื้อถอนกิเลสทั้งมวล
ด้วยความเพียรที่ได้รับการศึกษา อบรมมาจากตำรับตำราและจากครูอาจารย์
นำความรู้หรือคติธรรมต่างๆ นั้นเข้าไปทำหน้าที่ถอดถอนกิเลสประเภทต่างๆ ให้หมดสิ้นไปจากใจ
ใจจะได้มีความสงบร่มเย็น ใจสงบคือใจไม่คะนอง
ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญกับสิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟทั้งหลายที่เคยเป็นมา
คิดก็คิดในแง่อรรถแง่ธรรม แม้จะเป็นความคิดเหมือนกันก็ตาม
แต่ความหมายแห่งความคิดที่เป็นภัยกับความคิดที่เป็นคุณนั้นต่างกัน
คิดในแง่ธรรมย่อมเป็นความสงบร่มเย็น เป็นความคิดที่ถูกต้อง
คิดในแง่ผูกมัดในแง่ทำลายตนเอง เป็นความคิดที่ผิดและเกิดโทษทุกข์แก่ตน
จงระมัดระวังไม่ชินชาหน้าด้านจะกลายเป็นสันดาน
กิเลสพอกหัวต่อไปอีก และแบกกองทุกข์ไม่มีเวลาจบสิ้นลงได้



เดินไปไหนก็ดี อยู่สถานที่ใดก็ดีอย่างน้อยให้มีสติอยู่กับตัว
หรือผู้บริกรรมก็ให้สติอยู่กับคำบริกรรมของตัว
เวลาบริกรรมไปนานๆ จิตมีความละเอียดแล้ว
คำบริกรรมแทบจะไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏก็ให้ระลึกรู้อยู่เป็นคำบริกรรม
จนจิตกับคำบริกรรมกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ก็ปล่อยคำบริกรรมนั้น ๆ ได้ ในขณะนั้นเหลือแต่ความรู้เด่นดวงโดยลำพังเท่านั้น
เมื่อจิตขยับตัวจะคิดปรุงก็เริ่มคำบริกรรมเข้าอีก
นี่คืออุบายทำใจให้สงบจากอารมณ์ก่อกวน ทำไป ใจสงบไปเป็นพัก ๆ
ไม่ละความเพียร เพียรเรื่อยไป เพียรไม่ถอยจิตก็ค่อยก้าวไปเอง
กิเลสก็ค่อยสงบตัวลง ธรรมก็มีกำลังมากขึ้น
อย่าชะล่าใจว่า กิเลสเป็นของไม่สำคัญ นี่แลคือตัวสำคัญในไตรภพ
มันพาสัตว์โลกให้ล่มจมอยู่ใต้อำนาจของมันมากี่ภพกี่ชาติแล้ว จนไม่สามารถนับอ่านได้เลย
เพราะฉะนั้น การที่จะถอดถอนให้ได้อย่างใจหวัง เพียงกะพริบตาเดียวเท่านั้นจึงเป็นไปไม่ได้
อย่าพากันหาญคิดเป็นอันขาด ถ้าไม่อยากถูกกิเลสหลอกเข้าไปอีก



หากเป็นไปได้แล้ว ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็จะทรงสอนว่า ธรรมะกะพริบตาเดียว
ไม่จำเป็นต้องมีมากถึง ๘๔
,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ซึ่งเป็นอุบายเพื่อแก้เพื่อถอดถอนกิเลสทั้งนั้น
ถ้าลงปฏิบัติเข้าขั้นกะพริบตาก็สำเร็จแล้ว ธรรมเหล่านั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีมากมาย
มีเพียงว่าธรรมะกะพริบตาเดียว กิเลสก็เสร็จเรียบวุธมุดหัวไปเลย
โลกก็จะได้ผ่านพ้นจากทุกข์ไปหมด ไม่มีใครเหลือตกค้างอยู่ในโลกวุ่นวายซ้ำซากนี้เลย



กิเลสไม่ใช่เป็นของจะหักจะฟันให้ขาดได้ง่ายๆ ไม่มีกิเลสตัวไม่เหนียวแน่น
เหนียวที่สุดแน่นที่สุดก็คือกิเลส
เป็นธรรมชาติที่กล่อมจิตใจสัตว์ให้เคลิบเคลิ้มหลงใหลได้ง่ายที่สุดก็คือกิเลส
ไม่ว่าจะเป็นประเภทหยาบ ประเภทกลาง ประเภทละเอียด
ล้วนแต่หลอกสัตว์โลกให้หลงได้อย่างง่ายดายสบายมาก
จะเห็นได้ชัดๆ เช่น ความโลภ ก็ทราบแล้วว่าความโลภไม่ใช่ของดี ยังพอใจโลภ
คำว่าพอใจโลภก็เพราะเชื่อกิเลสตัวโลภนั้นเองมันถึงพอใจ
ถ้าไม่พอใจก็ต้องต่อสู้กัน ความพอใจย่อมไม่มีทางต่อสู้นอกจากคล้อยตาม



ความโกรธ โกรธให้เขาอยู่ภายในจิตใจ มันก็เป็นไฟอยู่ภายในใจของตนอยู่แล้ว
ยังแสดงออกมาทางอาการอีก จนตาดำตาแดง
ดูรูปลักษณะในขณะที่โกรธเหมือนยักษ์เหมือนผีก็ยังพอใจทำ ยังเห็นว่าตัวดี
ถือว่าตัวดียิ่งกว่าคู่ทะเลาะวิวาท กว่าคนที่ไม่โกรธ และกว่าเวลาอยู่ปกติเสียอีก
นั่นไม่เชื่อจะทำได้อย่างนั้นหรือคนเรา
ไม่เชื่อความโกรธน่ะ จะยอมสละคุณค่าแห่งความสงบงามตาพลีบูชาความโกรธได้ลงคอหรือ
จนคนอื่นทนดูไม่ได้ตนยังสำคัญว่าดีอยู่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะความเชื่อกิเลสนั่นเอง
โกรธขนาดไหนก็พอใจโกรธ จนดูไม่ได้ก็พอใจ



ความหลงน่ะ หลงกันจนไม่มีวันมีคืนมีปีมีเดือน
หลงมานานเท่าไร โลกเคยมีความอิ่มพอกันเมื่อไร ยิ่งดื่มด่ำกว่าเขาติดเฮโรอีน
กลอุบายใดๆ ของกิเลสมันเป็นเยี่ยมทั้งนั้น ไม่มีคำว่าเลว ล้าสมัย ไร้ค่า
มีแต่ทันสมัยหรือล้ำยุคมาตลอดไปตลอด
อย่าพากันหวังจับหรือฆ่ากิเลสตัวล้าหลัง ด้วยความเพียรแบบกอนแล้วนิน กินแล้วนอน



แม้ประเภทละเอียด มันก็สามารถหลอกสติปัญญาขั้นละเอียดได้อีกเช่นเดียวกัน
เพียงขั้นหยาบๆ นี้ เราก็เห็นกันได้อย่างชัดๆ ไม่น่าสงสัยแล้วว่า
กิเลสมันแหลมคมขนาดไหน จึงหลอกคนได้ทุกแง่ทุกมุมและทุกประเภทแห่งมวลสัตว์
ไม่มีใครรู้สึกตัวว่า ตัวได้เสียเปรียบให้กิเลส
นอกจากนักปฏิบัติที่ปักสติปัญญาเข้าสู่ใจ ตั้งหลักไว้ที่ใจ
ความคิดปรุงต่างๆ จะออกไปในแง่ใด แง่ความโลภหรือความโกรธ
หรือความหลงหรือราคะตัณหา คือความรักความชอบประการใด
จะแสดงขึ้นมาที่จิตนี้ก่อนอื่น



เมื่อมีธรรมเป็นเครื่องสอดส่อง มีธรรมเป็นเครื่องทดสอบคือสติปัญญา
ต้องทราบความกระเพื่อมความเคลื่อนไหวของจิตว่าออกไปในแง่ใด ในแง่ผิดหรือแง่ถูก
ถ้าแง่ผิดก็รู้ทันทีและดับไปพร้อมๆ กัน ไม่มีการลุกลามไปได้และหักห้ามกันได้
แม้จะพอใจคิดไปก็ตาม ธรรมพาให้ฝืนคือพาให้หักห้าม เพราะเราเชื่อธรรมเราก็หักห้ามมันได้
จะทุกข์ขนาดไหนก็พอใจในธรรม หักห้ามกิเลสซึ่งเป็นสิ่งที่เคยพอใจมาแล้วลงได้ด้วยธรรม
หากไม่มีธรรมเป็นเครื่องทดสอบเป็นเครื่องเทียบเคียงเป็นเครื่องสอดส่อง
ต้องเชื่อกิเลสวันยังค่ำคืนยังรุ่งตลอดไปทุกภพทุกชาติ หาทางพ้นจากกิเลสไปไม่ได้
การแก้กิเลสจึงไม่ใช่เป็นของแก้ได้ง่ายๆ ต้องอาศัยหลักธรรม อุบายสติปัญญา
เข้าประชิดติดพันอยู่ตลอดอิริยาบถต่างๆ



อย่าเสียดายความคิดความปรุงไปกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส
ซึ่งเคยคิดเคยปรุงเคยสัมผัสสัมพันธ์มาแล้วตั้งแต่รู้จักเดียงสาภาวะจนกระทั่งบัดนี้
ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นกว่าที่เคยผ่านมาเลย
ควรจะนำสิ่งที่เคยผ่านมาแล้วนั้น มาทดสอบบวกลบคูณหารกันดู
กับการระมัดระวังรักษาจิตใจด้วยความเข้มแข็ง โดยอาศัยสติปัญญาเป็นเครื่องรักษา
อันใดดีทางไหนดี
เพียงใจได้รับความสงบจากความฟุ้งซ่านเกี่ยวกับเรื่องโลกสงสาร
แม้ชั่วระยะเวลา เรายังรู้สึกมีความสุขมากและฝังใจจำไม่ลืม
เกิดความตื่นเต้นภายในใจ มีความกระหยิ่มยิ้มย่องขณะที่จิตมีความสงบตัวลงไป
นี้แหละเป็นคุณค่าแห่งธรรม
ที่เป็นกำลังใจพอจะฟัดเหวี่ยงกันได้กับกิเลส ที่เคยรู้รสชาติของมันมานาน
กับการมารู้รสชาติแห่งธรรม คือความสงบเย็นใจเพียงชั่วขณะเท่านั้น
เพราะการปฏิบัติก็พอเทียบเคียงให้เป็นที่เข้าใจกันได้



มันมีอะไรบ้างในโลกแห่งขันธ์นี้ เราตั้งความหวังเพื่ออะไร
ตั้งปัญหาถามตัวเองซิ ถามคนอื่นไม่ได้เรื่อง ดีไม่ดีทะเลาะกันเปล่าๆ
จงตั้งปัญหาถามตัวเองเพราะคดีที่เกี่ยวข้องกันมันมีอยู่ที่ใจดวงเดียวนี้
ระหว่างสมุทัยกับมรรคโต้วาทีหรือรบกันก็รบที่จิต
ถือจิตเป็นสนามรบ รบกันที่นี่ สู้กันที่นี่ ให้เห็นดำเห็นแดงกันที่นี่
อย่าหวังเอาชัยชนะ อย่าหวังเอาความประเสริฐเลิศเลอที่ไหน
นอกไปจากการรู้เหตุรู้ผลระหว่างกิเลสกับธรรมในใจดวงนี้
และแก้กันที่นี่ด้วยความเพียรอันเข้มแข็งเท่านั้น
จงประมวลมาว่า ไม่มีสิ่งใดจะตอบสนองความต้องการของเราให้เป็นที่พึงใจได้
นอกจากความเพียรเพื่อความหลุดพ้น สมกับเราเป็นนักบวชและนักปฏิบัติ

ความประเสริฐอยู่ตรงนี้ ความเป็นข้าศึกและเคยเป็นข้าศึกก็อยู่ตรงนี้
แก้ก็แก้ลงตรงนี้ให้ถูกจุดของหลักสัจธรรม



ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ทุกข์เป็นของจริงเต็มส่วนอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นของจริง
แต่ทำไมโลกจึงกลัวกันนักหนาเรื่องทุกข์
ก็เพราะหัวใจปลอม จากความผสมคละเคล้ากับกิเลสตัวจอมปลอม
ใจถึงได้กลัว เพราะมีสิ่งพาให้กลัว
ความกลัวนั้นคือตัวสมุทัย จึงทำให้ผู้ที่กลัวนั้นเกิดทุกข์เป็นลำดับ กลัวมากยิ่งทุกข์มาก
สัตว์โลกก็ไม่ทราบว่าความกลัวนั้นเป็นภัยแก่ตัวเอง จึงทุกข์หลายชั้นหลายเชิง
ทุกข์ตามหลักธรรมชาติแห่งธาตุแห่งขันธ์ก็เป็นทุกข์อันหนึ่งอยู่แล้ว
ความกลัวทุกข์จนเสียอกเสียใจวุ่นวายไปต่างๆ ย่อมสร้างความทุกข์ขึ้นที่ใจอีกชั้นหนึ่ง
เลยเป็นทุกข์ทั้งทางกายทุกข์ทั้งทางใจ จนหาที่ปลงวางไม่ได้ เป็นไฟไปทั้งกายทั้งใจ
เพราะจิตใจปลอมจึงหาความจริงจากทุกข์ไม่ได้ และปลงใจเชื่อธรรมว่าต่างอันต่างจริงไม่ได้
ฉะนั้นจึงหาความสุขจากสัจธรรมไม่ได้



สัจธรรมเป็นแดนแห่งความพ้นทุกข์ แดนพ้นทุกข์มีอยู่ในสัจธรรมนี้ไม่มีอยู่ในสถานที่อื่น
ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ได้กล่าวแล้วเมื่อกี้นี้ คือความทุกข์ทางกายทางใจ
ทุกข์ทางใจเป็นผลเกิดขึ้นจากสมุทัยแดนผลิตทุกข์
ท่านกล่าวไว้เป็นหลักใหญ่ว่า กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ความทะเยอทะยานอยากในกามคือ สิ่งที่ชอบใจ
ความอยากมีอยากเป็นในแง่ต่างๆ จนหาประมาณไม่ได้
ความอยากในของไม่มี อยากเท่าไรก็ไม่สำเร็จ อยากลมๆ แล้งๆ ให้เกิดทุกข์เปล่าๆ
เช่น เกิดแล้วจะไม่ให้ตาย ความแปรสภาพอยู่ตลอดเวลาก็อยากให้ยืนยงคงถาวร
มันจะยืนยงคงถาวรได้อย่างไร ธาตุขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่แล้ว
จะบังคับให้มันเป็นไปตามความอยากได้อย่างไร
นี่วิภวตัณหา คือ ความทะเยอทะยานอยากในของไม่มี
ถึงเวลาจะตายก็ยังไม่อยากตาย ดิ้นรนกระวนกระวาย ดิ้นเท่าไรก็ยิ่งเป็นทุกข์
เพราะหัวใจพาให้ดิ้นหัวใจพาให้เป็นทุกข์
นี่แหละท่านเรียกสมุทัย แล้วจะเอาอะไรมาระงับดับมัน



ท่านว่ามรรคเป็นเครื่องมือดับสัจธรรมทั้งสองประเภทนี้ได้
ทุกข์ท่านบอกว่า พึงกำหนดรู้เท่านั้น ไม่เป็นสิ่งสำคัญอะไรมากนักเลย
แต่การกำจัดนี้เป็นของสำคัญ คือกำจัดสมุทัยด้วยมรรค
เอ้า เรียนให้ถึงกัน พระพุทธเจ้าสอนธรรมให้ถึงความจริง
เราเรียนธรรม ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมต้องทำให้ถึงความจริง
เมื่อถึงความจริงแล้วจะหาความปลอมไม่ได้เลย



สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป หมายถึงองค์ปัญญา
ถ้าเป็นดาบก็เป็นดาบอันคมกล้า ไม่มีสิ่งใดที่ดาบนี้จะตัดไม่ขาด
กิเลสประเภทใดเป็นขาดสะบั้นไปเลย
เพราะ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ที่เรียกว่าองค์ปัญญา
สัมมาวาจา ก็กล่าวชอบในทางความพากเพียร ในสมณวาจา
ไม่กล่าวนอกลู่นอกทางของผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น
สัมมากัมมันตะ การงานชอบ ก็ดังที่เราทำกันอยู่นี้ การปัดกวาดลานวัด
การทำข้อวัตรปฏิบัติ การเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา นี้คือการงานชอบ
แต่ขอให้สติกับจิต สติกับปัญญามาควบคุมงานนี้จึงจะชอบ
ทำไปเฉยๆ สักแต่ว่าทำก็ไม่จัดว่างานชอบ
นอกจากจะจัดเข้าประเภทงานเผลอ งานรวนเร งานเร่ร่อน เพราะจิตไม่มีที่ยึด ที่หมาย
กลายเป็นงานลอยลมไปเท่านั้นเพราะทำด้วยโมหะ
ฉะนั้นสติจึงเป็นของสำคัญในสัมมากัมมันตะ



สัมมาอาชีวะ อย่างหยาบๆ ก็บิณฑบาตมาเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นงานที่ชอบธรรมของนักบวช
ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา. ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย.
บรรพชาอุปสมบทแล้ว ให้พวกเธอทั้งหลายไปเที่ยวบิณฑบาตมาฉันด้วยกำลังปลีแข้งของตนเถิด
นี้เป็นงานที่ชอบธรรมที่สุดกับเพศแห่งความเป็นนักบวช
จงทำความอุตส่าห์พยายามอย่างนี้ตลอดชีวิต อย่าขี้เกียจนะพูดง่ายๆ
อย่างภาษาพระภาษาธรรมะที่ตรงไปตรงมาก็ว่า
ถ้าไม่ขี้เกียจกินก็อย่าขี้เกียจไปบิณฑบาตมาฉันนะ ขี้เกียจบิณฑบาตแต่ขยันกินก็เข้ากันไม่ได้
นี่พูดอย่างภาษาของพระเรา เรียกสัมมาอาชีโวขั้นหนึ่ง
สัมมาอาชีโวอีกขั้นหนึ่งก็คือ ดูแลบำรุงรักษาจิตให้ชอบธรรม
นำธรรมอันเป็นความชุ่มเย็นเข้ามาหล่อเลี้ยงจิต
นำสติปัญญา ศรัทธา ความเพียรเข้ามาหล่อเลี้ยงจิต
อย่าให้จิตหิวโหยในอาหารที่ถูกกับมโนธาตุ
อย่านำอารมณ์อันเป็นยาพิษเข้ามาทำลายจิตใจ เช่น อารมณ์อันเป็นวิสภาค
คือเป็นข้าศึกต่อธรรมหรือต่อใจเข้ามาทำลายใจ เรียกว่าเลี้ยงจิตชอบธรรม
ชีวะ ความเป็นอยู่ จิตพาให้เป็นอยู่ ให้เลี้ยงอาหารคือธรรมแก่จิตโดยชอบธรรม
เพื่อจิตจะได้มีความรื่นเริงบันเทิงกระปรี้กระเปร่าขึ้นมา
เพราะได้อาหารเป็นที่ถูกกับธาตุของตน คือ มโนธาตุ
เมื่อจิตได้อาหารคือธรรมเข้าหล่อเลี้ยงย่อมมีกำลัง สมาธิ ปัญญา ย่อมจะเกิด
ย่อมจะเจริญทุกขั้นของสมาธิทุกขั้นของปัญญา จนกลายเป็นวิมุตติขึ้นมาได้



สัมมาวายาโม ท่านบอกว่าเพียรในที่สี่สถาน ก็เข้าใจอยู่แล้ว
เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เกิดขึ้น
เพียรสั่งสมกุศลคือความฉลาดให้เกิดขึ้นภายในจิตใจ
เอากันย่อๆ อย่างนี้ เพียรอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม นี่เรียกว่าเพียรชอบ
พิจารณากรรมฐาน เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ดูให้ตลอดทั่วถึง เพียรอยู่ที่ตรงนี้
หนังกำหนดถลกออกมาดูซิ ข้างนอกมีแต่ผิวบางๆ โลกตื่นกันที่ผิวนี้
เข้าข้างในเยิ้มไปด้วย ปุพฺโพ โลหิต น้ำเน่าน้ำหนอง เต็มไปด้วยของปฏิกูลทั้งสิ้น
น่าเกลียดน่ากลัว ป่าช้าผีดิบมันอยู่ในตัวของเราแต่ละคนๆ
นี่คือความเพียรชอบ ดูให้เห็นเหตุเห็นผลในความจริงอันนี้
ทำไมจึงเสกสรรปั้นยอกันว่าดีว่าสวยว่างามเอานักเอาหนา
เหมือนกับจะเหาะบินไปได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีปีก
เสกสรรกันไปหาสมบัติพระแสงอะไรมันขัดต่อความจริง
จนถึงกับธรรมก้าวไม่ออก เข้าทางจงกรมไม่ได้ นั่งภาวนาไม่ได้
เพราะกลัวของดิบของดีของสวยของงามนั้นจะถูกทำลาย จะบอบช้ำ จะทุกข์ลำบาก
จะตายจากไป จะไม่ได้รักสงวนและกอดรัดอยู่นาน ๆ เป็นทุกข์ไปนานๆ
จงดูให้เห็นตามความจริงของมัน สถานที่เกิดที่อยู่มันเป็นยังไงสิ่งเหล่านี้
มันเกิดมาจากที่สกปรกโสมมทั้งนั้น เวลาเป็นอยู่ก็อยู่ด้วยความสกปรกโสมม
สิ่งที่นำเข้าไปบำรุงรักษาก็ล้วนแต่เป็นของสกปรกโสมมทั้งสิ้น
ของสะอาดสะอ้านนำเข้าไปบำรุงรักษาไม่ได้
เพราะไม่ใช่วิสัยของกายอันเป็นของสกปรกจะรับไว้ได้
ความจริงเป็นดังนี้ หาความสะอาดที่ตรงไหนมี
พิจารณาอย่างนี้ซิ เรียกว่า สัมมาวายาโม



สัมมาสติ ก็ตั้งสติไว้ในสติปัฏฐานสี่ การพิจารณานี้ก็ตั้งสติไว้ชอบ
พิจารณาไปตรงไหนในอาการ ๓๒ อาการใดก็ตาม หรือทั้งหมดทุกอาการก็ตาม
ให้มีสติเป็นผู้ควบคุมงานไปเสมอ ท่านเรียกว่า สัมมาสติในองค์มรรค
สัมมาสมาธิ เมื่อพิจารณาชอบธรรมแล้ว ความสงบก็สงบโดยชอบ
คือสงบอยู่ภายในจิตดวงที่เคยฟุ้งซ่านนี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิ
ไม่หลงโลกหลงสงสารไปไหน แบบพอสงบแล้วความรู้ก็หลุดออกจากตัว
เหาะเหินเดินฟ้าไปเห็นนรก ไปเห็นสวรรค์ ไปเห็นโน้นไปเห็นนี้
ทั้งๆ ที่จิตยังไม่สงบตัวถึงไหนเลย มันขายก่อนซื้อไปแล้ว
ที่ถูกและไม่ล่อแหลมต่อความผิด คือให้เห็นนรกสวรรค์อยู่ภายในจิตใจนี้เสียก่อน
ภายนอกไม่เป็นปัญหาอะไรนักเลย ให้สงบอยู่ภายในใจนี้
เพราะใจเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ใจเป็นผู้ก่อทุกข์ ใจเป็นผู้ก่อความวุ่นวายให้แก่ตัวเอง
ให้สงบลงด้วยธรรม ด้วยการภาวนาอยู่ภายในกายในใจนี้
เมื่อจิตสงบลงด้วยวิธีนี้ ไม่ส่งกระแสใจออกไปสู่อารมณ์ภายนอก
อันเป็นการยุแหย่ก่อกวนตนเอง นั้นเรียกว่า สัมมาสมาธิ



นี่แล มรรคทั้งแปด สรุปเข้ามาแล้วเรียก ศีล สมาธิ ปัญญา รวมอยู่ที่นี่
นี่คือ เครื่องแก้กิเลสและเป็นสัจธรรม คือความจริงประเภทหนึ่ง



นิโรธ ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากนัก ขอให้ดำเนินมรรคปฏิปทานี้ให้พอตัวเถอะ
นิโรธคือความดับทุกข์ จะเป็นขึ้นเพราะอำนาจของมรรคนั่นแล
เช่นเดียวกับเรารับประทานอาหาร รับประทานลงไปๆ
ความอิ่มหนำสำราญก็ปรากฏขึ้นโดยลำดับๆ ความหิวโหยก็ดับลงไปๆ
มันเป็นเรื่องของมันเอง เราไม่จำเป็นต้องไปสร้างนิโรธขึ้นมา
ให้สร้างมรรคนี้ให้พอเพียง นิโรธพึงทำให้แจ้ง พึงทำให้แจ้งด้วยอะไร
ถ้าไม่ทำให้แจ้งด้วยมรรค คือศีล สมาธิ ปัญญา หรือด้วยมรรคแปดนี้เท่านั้น
ไม่มีอย่างอื่นที่จะทำนิโรธให้แจ้งได้
เพียรจะไปสร้างนิโรธให้แจ้งวันยังค่ำคืนยังรุ่งก็ตายทิ้งเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร
ถ้าไม่สร้างมรรคให้มีกำลัง อบรมมรรคให้มีกำลังขึ้นมาปราบกิเลสให้เรียบราบไป
นิโรธความดับทุกข์ก็เป็นขึ้นเอง โดยไม่ต้องไปทำหน้าที่เหมือนมรรค



มรรคนี่เป็นของสำคัญ สมุทัยเป็นของสำคัญเพียงไรมรรคมีความสำคัญเพียงนั้น
สัจธรรมทั้งสี่นี้มีสำคัญที่จะต้องทำจริงๆ ก็คือสมุทัยกับมรรค
ส่วนทุกข์มันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากสมุทัย เช่น ทุกข์ทางใจ
ส่วนทุกข์ทางกายนั้นพระพุทธเจ้า พระสาวกก็มี
เพราะท่านไม่ใช่คนตายก็ย่อมมีความทุกข์ทางกายเหมือนโลกทั่วไป
แต่ทุกข์เหล่านี้ไม่สามารถกระทบกระเทือนพระจิตของท่านได้
ใจของพระสาวกทั้งหลายก็เหมือนกัน
ท่านรู้ตามเป็นจริงของมันอยู่โดยหลักธรรมชาติ ตามคติธรรมดาธรรมนิยม



นี่คือการปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อฆ่ากิเลส
ถ้าดำเนินอยู่เช่นนี้เราอยู่ที่ไหนก็เป็นการต่อสู้กับกิเลสอยู่ตลอดเวลา
จะได้เห็นกิเลสหมอบราบให้ดูสักที
ส่วนมากมีแต่เราหมอบราบให้กิเลสดู เดินจงกรมก็ยังหมอบราบให้กิเลส
นั่งสมาธิ ก็หมอบราบให้กิเลส เพราะความเผลอสติเป็นของสำคัญ
อาการแห่งความเพียรทุกท่า มีแต่ท่าหมอบราบกราบกิเลสทั้งนั้น
เพราะความเผลอสติ ความใจลอย ความไม่ตั้งอยู่ในหลักธรรม
แห่งการชำระกิเลส แห่งการแก้กิเลส แห่งการปราบปรามกิเลส
กิเลสจึงมีอำนาจกดคอลงได้ทุกอาการแห่งความเพียร
ให้พึงเข้าใจอย่างนี้ ถ้าไม่ใช้สติปัญญาสอดแทรกให้รู้เรื่องของกิเลสแล้วจะไม่รู้
กิเลสมันสวมรอยตลอดเวลา



เอ้า เรียนให้จบสัจธรรม สัจธรรมมีอยู่ที่กายที่ใจนี้เท่านั้น
เรียนจบที่นี่แล้ว ไม่ต้องหาเรื่องว่าประเสริฐเลิศเลออะไรกันละ
นิพพานไม่ต้องไปหา หาทำไม
นิพพาน คืออะไร นิพพานก็เป็นชื่ออันหนึ่ง
ธรรมชาติที่ให้ชื่อว่านิพพานนั้นคืออะไร ก็ไม่ต้องหา ไม่ต้องถาม
เพราะรู้และละได้เต็มภูมิภายในใจนี้แล้ว กิเลสก็เป็นชื่ออันหนึ่ง
ธรรมชาติที่เราให้ชื่อว่ากิเลสนั้นมันคืออะไร
มันก็อยู่ที่หัวใจเรานี้ด้วยกันทั้งสองอย่าง คือกิเลสก็อยู่ที่ใจ
นิพพานก็คือใจที่บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสแล้วเท่านั้น
สอุปาทิเสสนิพพาน ก็ได้นิพพานแล้วทั้ง ๆ ที่ธาตุขันธ์ยังครองตัวอยู่นี้
อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อปล่อยขันธ์หมดความรับผิดชอบโดยประการทั้งปวงแล้ว
นั่นคือ อนุปาทิเสสนิพพาน นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเพียรที่พยายามตะเกียกตะกาย
ความเพียรนี้มีคุณค่าถึงขนาดนั้น



ฉะนั้นจงฟังและปฏิบัติให้ถึงใจ อย่าเสียดายกิเลสที่ฉุดลากลง
ทั้งที่ธรรมท่านลากดึงขึ้นทุกประโยคแห่งธรรม
เอา จงตัดสินบรรดานักบวชนักปฏิบัติเรา
ว่าจะรักกิเลสหรือจะรักพระพุทธเจ้าในหัวใจดวงเดียวกันนี้
แต่ระวังสิ่งหนึ่งจะกระซิบขึ้นมาในขณะนั้นนะว่า

ขอรักกิเลสเถิด เพราะยังรักความไม่เอาไหนอยู่เต็มใจ


ยุติ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา "อริยสัจ ๔"
ในรวมพระธรรมเทศนา
เข้าสู่แดนนิพพาน โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP