สารส่องใจ Enlightenment

ชีวิตเป็นของน้อย



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย




จะเทศน์ถึงเรื่อง "ชีวิตเป็นของน้อย" ให้ฟัง
เป็นการตักเตือนเพื่อให้มีสติ
ระมัดระวังจิตใจให้มั่นคงต่อไป
พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่า

อจฺจยนฺติ อโหรตฺตา ชีวิตํ อุปรุชฺฌติ
อายุ ขียติ มจฺจานํ กุนฺนทีนํว โอทกํ

อจฺจยนฺติ อโหรตฺตา วันคืนล่วงไปล่วงไป
ชีวิตํ อุปรุชฺฌติ ชีวิตคนเราหมดเปลืองไป สิ้นไป
อายุ ขียติ มจฺจานํ อายุของสัตว์ทั้งหลายย่อมสิ้นไป
กุนฺนทีนํว โอทกํ
เปรียบเหมือนน้ำที่มีน้อย อยู่ในรอยโค
พลันที่จะเสื่อม พลันที่จะแห้งด้วยแสงแดด



ชีวิตของคนเราเป็นของน่าเสียดาย ในวันหนึ่งๆ ซึ่งมันหมดเปลืองไป
โดยที่วันเวลา นาที วินาที หมดไป หมดไป
วันเวลา นาที วินาทีมันเป็นเครื่องวัดคนเรา
วินาทีล่วงไปก็เรียกว่าหมดไปแล้ว ตลอดถึงนาที ตลอดถึงชั่วโมง หมดไป เสื่อมสูญสิ้นไป
แต่ว่าคนผู้ที่เป็นเจ้าของชีวิตนั้น ลืมคิดนึกถึงเรื่องมันหมดไป มันเสื่อมไป
จึงว่าน่าเสียดายคุณค่าของชีวิต



การยังตัวเราให้เป็นอยู่ เป็นคุณค่าของชีวิต
แต่ว่ามันค่อยเสื่อมไปทีละเล็กละน้อย เสื่อมไปโดยไม่รู้ตัว เราไม่เห็นการเสื่อมสูญสิ้นไป
เปรียบเหมือนกับน้ำในรอยโค ถูกแสงแดดย่อมพลันสูญไปฉะนั้น
อันนั้นมันยังไกลไป หากเปรียบน้ำมันเบนซินอยู่ในถัง
เปิดมาแล้วย่อมหายไป หายไป โดยที่มองไม่เห็น เราไม่รู้จักว่าชีวิตของเราหายไปหมดไป
เมื่อชีวิตหายไปหมดไป ก็ยังเหลือแต่ถัง คือตัวของเรา
ยังเหลือแต่โครงกระดูก ยังเหลือแต่ซากศพ
นั่นแหละเรียกว่ายังเหลือแต่ภาชนะใส่น้ำมัน
ชีวิตมันค่อยๆ หายไปนั้น คือมันค่อยๆ ตายไปนั่นเอง



ผู้ประมาทย่อมลืมนึกคิดถึงตัวของตน ที่มันหมดไปแล้ว ได้อะไรบ้าง
เราได้ทำคุณงามความดีอะไรไว้แก่ตัวของเราบ้าง
ถ้าหากเป็นผู้ไม่ประมาท คิดถึงชีวิตที่หมดไป
เราจะตั้งสติให้มั่นคง ให้แน่วแน่ลงไป
ถึงชีวิตมันหมดไป แต่ตัวสติของเรายังคงอยู่
นั่นคือคุณงามความดี ความดีนั้นไม่หมดสิ้นไป



เรามีชีวิตอยู่ชั่วขณะหนึ่งก็ตาม
หากว่าเรามีสติตั้งมั่น เรารักษาควบคุมจิตของเราอยู่ได้
ไม่ให้กวัดแกว่ง ไม่ให้ดิ้นรนกระเสือกกระสนไปในที่ต่างๆ
เรียกว่าเราคุมสติอยู่ มีสติมั่นคง
ธรรมดาชีวิตมันเป็นอยู่ของมันอย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเสื่อมสูญสิ้นไป
คนเกิดมาตั้งร้อยปีพันปีก็ช่างเถิด ก็ได้ชื่อว่าตายทุกๆ วันนั่นแหละ ที่มันจะไม่ตายไม่มี
คนที่มีสติตั้งมั่นอยู่ ผู้นั้นได้คุณค่าของชีวิต ตายแล้วไม่ได้ทำอย่างนี้หรอก



มิหนำซ้ำ สติที่เรารักษาไว้ดีแล้วนั้น เวลาจะตายยังกระสับกระส่าย
เดือดร้อนวุ่นวาย ด้วยความไม่อยากตาย อาลัยอาวรณ์สิ่งต่างๆ
สติที่เรารักษาดีๆ อยู่นี่ เวลาจะตายเข้าจริงๆ จังๆ มันไม่ได้อย่างนี้หรอก
เช่น บางคนกล้าหาญ อาจหาญ ว่าจะตายอย่างนั้นอย่างนี้
เราจะรักษาสติไว้อย่างนั้นๆ ให้มั่นคงถาวร อันนั้นเป็นความคาดคะเน
ก็ดีอยู่เพื่อความกล้าหาญ ผจญต่อสู้กับความตายก็ได้



แต่เวลาจะตายจริงๆ มันไมได้เป็นอย่างนั้น มันต้องเสื่อมไปทีละนิดละหน่อย
โดยการเจ็บ การป่วย โดยการทุรนทุราย
แล้วการที่เราไม่ได้ทำความเพียรภาวนา ไมได้ฝึกฝนอบรมอะไรไว้
มัวแต่เจ็บมัวแต่ป่วยไข้ สติก็ต้องอ่อนลงไปตามธรรมดา
คนที่มีสติกล้าหาญ ต่อสู้ได้ต่างๆ มีน้อยนัก
โดยมากมีแต่เสื่อมลงไป เวลาตายจริงๆ จังๆ มันเป็นอย่างนั้น
ใครจะมีความกล้าหาญสักเท่าใดก็ตาม มีวิชาความรู้สักเท่าใดก็ตาม



เหตุนั้นจึงว่า ในเมื่อจะตายนั่น มันเสื่อมสูญไปหมด
มันยังเหลือแต่ความกระสับกระส่าย ยังเหลือแต่ความกระวนกระวาย
ยังเหลือแต่กิเลสอันที่เราละแล้ว ที่เราละเราถอนอยู่ทุกๆ วันนั่น
อันนี้มันจะกลับฟื้นคืนมา เป็นผลให้เรายึดถือ
ผู้มีสติมั่นคงดำรงไว้ซึ่งจิตที่มั่นคงนั่นแหละ จึงรักษาได้ เป็นของทำได้น้อยนักน้อยหนา



ผู้มีสติตั้งมั่นจึงได้ชื่อว่ามีอายุยืน
คนที่อายุตั้งร้อยปี แต่หากว่าเกิดความประมาทเสีย
มีความลุ่มหลงมัวเมาด้วยข้าวของ ด้วยบ้านช่องเรือนชาน สิ่งต่างๆ
เมาไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ติดข้องหมดทุกอย่าง มีอายุตั้งร้อยกว่าปีไม่มีดีอะไรเลย
เด็กเกิดมาในวันนั้นมีสติมั่นคง ยังดีกว่า



ทุกศาสนา ทุกสถาบัน ทุกแห่งหน ผู้ที่มีสติมั่นแล้ว ท่านชมเชยทั้งนั้นแหละ
พระพุทธเจ้าทรงสอน “สติ” อันเดียว นอกจาก “สติ” แล้วไม่มีอะไร
จะมีความรู้ความสามารถอาจหาญเท่าไรก็ตาม
ถ้าขาด “สติ” แล้วได้ชื่อว่า หลงไปตามตำรับตำรา หลงไปตามความรู้วิชชา
แต่ขาดการรักษาตัว คือต้องมี “สติ” รักษาตัว
สติ
เรียกว่า ผู้รักษา รักษาตัวเอง


สติมา วิเนยฺยโลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ
ท่านเทศนาว่า สติ เป็นเครื่องระลึกได้
สติอันนี้แหละระงับเสียซึ่งอภิชฌาและโทมนัส
คือ ความโลภอยากได้ของเขาและความทุกข์ใจทั้งหมดในโลก
เราจึงควรที่จะรีบเร่งฝึกฝนอบรมไว้
อายุของเราป่านนี้แล้วทุกคน อย่างน้อยก็ต้อง ๒๐, ๓๐ ปีขึ้นไป
นั่นคือ ตายไปหมดแล้ว ๒๐, ๓๐ ปี
ที่นับอายุนั่นไม่ใช่อะไรหรอก คือนับความตายไปแล้ว
อันที่ยังเหลือนั้นยังไม่มีใครนับสักคนเดียว ไม่มีใครนับได้
จึงหลงถึงเรื่องอันที่มันยังเหลือนี่แหละ



เรามาตั้งสติกำหนดจิต รักษาจิตของตนอยู่ทุกเมื่อเชื่อยาม
เป็นผู้ไม่ประมาท เป็นผู้ขยันหมั่นเพียรพยายาม ประกอบด้วยสติอยู่ตลอดเวลา
อันนี้เป็นหนทางพ้นจากทุกข์
เป็นหนทางพ้นจากบ่วงแห่งมาร พ้นจากเครื่องผูกมัดของมาร



พ้นอย่างไร? เมื่อมีสติแล้ว อะไรจะมาผูกมัดไม่ได้
ถ้ามีสติอยู่ทุกเมื่อ มันก็ไม่หลงใหล นั่นแหละมารไม่สามารถจะมองเห็นได้
ตัวมาร คือ ไม่มีสติ ตัวมาร คือ ความลุ่มหลง คือ ความประมาท เพลิดเพลินในกามคุณทั้งห้า
อันมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัสกาย) เป็นดอกไม้ของมาร
เมื่อไปชมดอกไม้ มันก็ดักเอาตรงนั้นน่ะซี ตาเห็นรูป มารก็ไปดักเอาตรงนั้น
มีความยินดีพอใจ หลงมัวเมาประมาท ตรงนั้นแหละไปถูกบ่วงมารแล้ว
หูได้ยินเสียง มันก็ดักเอาตรงนั้น ที่ชอบใจไม่ชอบใจอะไรต่างๆ ถูกบ่วงหมด
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งหมดทั้งดีและชั่ว เรียกว่าถูกบ่วงมารทั้งนั้น
เราทุกคนไม่มี “สติ” ได้ชื่อว่า ถูกบ่วงของมารแล้วเวลานี้



พระพุทธเจ้าทรงเทศนาให้พวกที่อยากพ้นจากทุกข์
ต้องการพ้นจากทุกข์ฟัง ด้วยประการอย่างนี้แหละ
ถ้าหากว่าผู้ปรารถนาพ้นจากทุกข์ไม่ดำเนินตาม
ก็ไม่มีทางที่จะดำเนินให้พ้นทุกข์ ไม่ทราบว่าจะเดินไปทางไหน



ฆราวาส ไม่ใช่พระ ไม่ใช่เณร ไม่ใช่บรรพชิตผู้บวชในศาสนา
เมื่อต้องการพ้นทุกข์ ก็ต้องดำเนินตามทางนี้เหมือนกัน นอกจากนี้ไม่มีทางอื่นแล้ว
เป็นพระเป็นเณรไม่ดำเนินตามรอยนี้ ก็ได้ชื่อว่าไม่ผิดแปลกอะไรกับฆราวาสเลย
เครื่องวัดของพระและเครื่องวัดของฆราวาสอยู่ตรงนี้แหละ
ฆราวาสจะเป็นพระก็ตรงนี้ พระจะเป็นฆราวาสก็อยู่ตรงนี้



เพราะฉะนั้น จงพากันตั้งสติกำหนดจิต ให้คิดพิจารณาอย่างนี้
อยู่ด้วยความไม่ประมาท อาจจะถึงความหลุดพ้นได้
ถ้าไม่หลุดพ้นก็ได้ชื่อว่าเบาบางลงไป เห็นจิตของตนเบาบางลงไปจากกิเลส
ได้รับความเยือกเย็นเป็นสุข
เอาละ



นั่งสมาธิ
(พระอาจารย์อบรมนำก่อน)



ที่อธิบายมาว่า “ชีวิตเป็นของน้อย” ก็หมายถึงเรื่องมรณานุสตินั่นเอง
ให้พิจารณามรณานุสติว่า กายของเรานี้มันเป็นสิ่งที่ตาย
พิจารณาหมดทุกส่วน มันตายไปตั้งแต่มือ เท้า มันเย็น มันเหน็บ มันชา
มันเย็นเลยตายไปทุกชิ้นทุกส่วน หมดไปๆ ยังอุ่นๆ อยู่แต่หัวใจ เต้นอยู่ที่กลางอก
มันอุ่นอยู่ตรงนั้น กับลมหายใจตรงนั้นแหละ ความอบอุ่นมันเป็นเครื่องให้เกิดลมหายใจ
ถ้าไม่อบอุ่น มันเย็นหมด ก็ไม่มีลมหายใจ



ไม่มีลมคราวนี้ ตัวใจแท้ มันไปไหน? ใจแท้ มันก็ไปตามเรื่องของกรรม
หากว่าหมดลมหายใจแล้ว ตัวใจนั้นมันอยู่เป็นกลางไม่ได้ อยู่กับลมหายใจก็จริงอยู่
ถ้ามีลมมันจึงค่อยอยู่ในนั้น ถ้าไม่มีสติแล้วมันก็ไม่อยู่ในนั้น

ถ้ากรรมดีมันก็ไปติดในกรรมนั้นเสีย กรรมชั่วมันก็ไปติดกรรมชั่วนั้นเสีย
อันนั้นละเป็นที่รักษาไว้ไม่ได้
เมื่อเรายังมีชีวิตดีๆ อยู่นี่ ก็รักษาตรงนั้นแหละให้อยู่เป็นกลาง
หากไม่รักษา เมื่อหมดลมหายใจแล้ว ก็ไม่มีทางแล้ว มันไปตามเรื่อง



เหตุนั้นถ้าหากว่าเรารักษา สติคุมจิตอยู่ได้ คืออยู่ตรงกลาง
เมื่อลมหายใจหมด ก็อยู่ตรงกลางนั้น ด้วยอำนาจพลังจิต มีพลังเพียงพอ
มันถึงไม่หวั่นไหวเอนเอียงไปทางไหน มันก็อยู่คงที่
เมื่อมันไม่ไปตามกรรมชั่วและกรรมดีแล้ว มันจะเกิดที่ไหนล่ะ?
มันก็หมดเรื่อง ความเกิดไม่มี นั่นแหละจึงต้องรักษาตรงนั้น



สรุปว่าในเมื่อรายังมีสติอยู่ ชีวิตยังมีอยู่นี่แหละ
พิจารณาความตายเบื้องต้น ส่วนไหนมันตายไป มันเย็นไปหมดทุกอย่าง
ให้พิจารณาตรงนั้น จนกระทั่งจิตแน่วแน่จริงๆ
กายก็ไม่ปรากฏ ไม่ทราบมันหายไปไหน
จะปรากฏแต่ใจที่ตรงนั้น ตรงกลางๆ นั่นแหละ
ความสุขความสบายเกิดจากจิตที่ไม่ไปยึดถือในสิ่งใด เป็นของโล่งของว่าง
นั่นเป็นสิ่งที่ปรารถนาอย่างยิ่ง คำว่า “ปรารถนา” นั้น เป็นคำพูด
ที่ตรงนั้นมันไม่มีปรารถนาอะไร มันหมดเรื่องแล้ว ไม่มีปรารถนา
จึงให้พิจารณาเอาตรงนั้นแหละ



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา “ชีวิตเป็นของน้อย”
ใน พระธรรมเทศนาของพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี)
บุญศิริการพิมพ์, กรุงเทพฯ,
๒๕๔๓.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP